การตื่นเช้าไปทำงานและเลิกงานในตอนเย็นกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของพนักงานประจำอย่างเรา แต่คุณรู้หรือไม่ว่าร่างกายก็มีกิจวัตรที่ต้องทำเช่นเดียวกัน

ร่างกายคนเราถูกควบคุมโดยนาฬิกาชีวภาพ หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘นาฬิกาชีวิต’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสมองที่คอยควบคุมระบบการทำงานของร่างกายให้สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ โดยทำงานเป็นวงจร 24 ชั่วโมง แบ่งออกเป็นช่วงกลางวันและกลางคืน ซึ่งนาฬิกาชีวิตจะค่อยๆ ทำงานเปลี่ยนไปตามอายุของคุณ

เพราะฉะนั้นในแต่ละช่วงอายุจึงมีนาฬิกาชีวิตที่เหมาะสมแตกต่างกันออกไป การตื่นเช้ามาทำงานและเลิกงานในตอนเย็นจึงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับทุกคน โดยผลวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นถึงช่วงเวลาทำงานที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัย

เวลาทำงานหรือเรียนหนังสือที่เหมาะสมในช่วงวัยรุ่นนั้นไม่ควรเริ่มก่อน 9 โมง
แต่ควรเริ่มตอน 10 โมง

ช่วงวัยรุ่นจนถึงอายุประมาณ 20 ต้นๆ: 10 โมง คือเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มทำงาน

ดร.เจสส์ แชตกิน (Dr.Jess Shatkin) จิตแพทย์จากศูนย์การศึกษาเด็กที่ NYU Langone Medical Center บอกว่า ถึงแม้ว่าตามกฎหมายคุณจะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวเมื่ออายุ 18 ปี แต่สมองของคุณอาจจะยังไม่ได้โตตาม หรือพูดง่ายๆ ก็คือสมองของคุณจะยังอยู่ในช่วงวัยรุ่นจนกว่าคุณจะอายุ 20 กว่าๆ

นอกจากนี้เขายังเผยถึงผลวิจัยว่า “วัยรุ่นมักจะนอนดึกและตื่นสาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมการนอนแบบนี้ไปจนกว่าพวกเขาจะอายุประมาณ 26 ปี”

โดยในหนึ่งวันวัยรุ่นจะเริ่มปล่อยฮอร์โมนเมลาโทนินช้ากว่าผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกง่วงนอน พวกเขาจะเริ่มปล่อยฮอร์โมนนี้ตอนประมาณ 4 ทุ่ม นั่นหมายความว่าพวกเขาจะนอนจริงๆ ดึกกว่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาตื่นสา

แล้วเวลาไหนล่ะที่เหมาะสมสำหรับพวกเขาในการเริ่มทำงานหรือเรียนหนังสือ?

ดร.เจสส์เผยว่า จริงๆ แล้วมันยากที่จะบอกว่าเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือเวลาใด เพราะร่างกายคนเราแตกต่างกันออกไป แต่จากผลวิจัยบอกว่า “เวลาทำงานหรือเรียนหนังสือที่เหมาะสมในช่วงวัยรุ่นนั้นไม่ควรเริ่มก่อน 9 โมง แต่ควรเริ่มตอน 10 โมง”

โรงเรียนในรัฐเคนทักกีได้มีการใช้นโยบายเริ่มเรียนช้าลงกว่าปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตของวัยรุ่น ผลปรากฏว่าโดยเฉลี่ยแล้วนักเรียนมีเวลานอนเพิ่มมากขึ้น แถมยังช่วยลดอุบัติเหตุรถชนจากวัยรุ่นตามที่วารสารการแพทย์ท้องถิ่นของ Clinical Sleep Medicine ได้ตีพิมพ์ไว้ในปี 2008 นอกจากนี้ในปี 2014 ยังพบผลที่คล้ายๆ กันของโรงเรียนในรัฐเวอร์จิเนียที่ใช้นโยบายเริ่มเรียนช้าลงว่า ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุรถชนจากวัยรุ่นเช่นเดียวกัน

และตามที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคบอกไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ถ้านอนไม่เพียงพอจะส่งผลให้เกิดอาการป่วยหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วนหรือภาวะซึมเศร้า ซึ่งส่วนมากจะเกิดในพวกที่ทำงานเกินเวลาหรือทำงานกะดึก

คนที่ทำงานเป็นกะที่ไม่ค่อยได้นอน หรือนอนไม่เพียงพอ
สมองของพวกเขาจะไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะกำจัดของเสียต่างๆ
ซึ่งของเสียเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อเซลล์ประสาท

ช่วงอายุประมาณ 20 กลางๆ ถึง 30 ปลายๆ: เวลาที่ดีที่สุดของการเริ่มงานคือ 9 โมงเช้า และเลิกตอน 5 โมงเย็น

สำหรับผู้ใหญ่ช่วงอายุ 30-40 ปี บางงานวิจัยได้บอกไว้ว่าเวลาที่เหมาะสมในการทำงานควรจะสะท้อนพฤติกรรมของแต่ละคน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ตื่นมาทำงานแต่เช้า หรือใช้เวลาทำงานในตอนกลางคืน พฤติกรรมเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับยีนของคุณ

แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนตื่นเช้าหรือตื่นสายก็ตาม ผลวิจัยก็แสดงให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องว่าการทำงานที่ไม่เป็นเวลา หรือทำงานกะกลางคืนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ

คริสเตียน เบเนดิกต์ (Christian Benedict) นักวิจัยแผนกประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala University) ประเทศสวีเดน บอกว่าการตรวจสอบว่าคนในครอบครัวคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคใดบ้างเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าหากมีคนในครอบครัวของคุณเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือโรคหัวใจ เวลาที่เหมาะสมในการทำงานของคุณควรจะเป็นเวลา 9 โมงเช้า – 5 โมงเย็น แต่ถ้าคุณจำเป็นที่จะต้องทำงานไม่เป็นเวลา ก็ขอให้คุณแน่ใจว่าคุณมีร่างกายและจิตใจที่ดีพอ

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยชิ้นใหม่ในวารสาร Neurobiology of Aging เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่เบเนดิกต์ได้ร่วมเขียนไว้บอกว่า การทำงานเป็นกะไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อร่างกาย หากยังส่งผลเสียต่อสมองอีกด้วย

โดยการศึกษาได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ใหญ่จำนวนมากกว่า 7,000 คน ในประเทศสวีเดน และนำมาเปรียบเทียบกับผลทดสอบความบกพร่องทางสติปัญญาที่นักวิจัยเรียกว่า ‘The Trail Making Test’

ผลการวิจัยพบว่า คนที่ทำงานเป็นกะและคนที่ทำงานไม่เป็นเวลามานานกว่า 5 ปี มีแนวโน้มที่จะมีผลทดสอบแย่ เมื่อเทียบกับข้อมูลในตอนแรก ในทางกลับกันไม่มีความแตกต่างระหว่างคนที่ไม่ได้ทำงานเป็นกะกับคนที่เลิกทำงานเป็นกะมามากกว่า 5 ปีแล้ว

งานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า การนอนหลับอย่างเพียงพอจะส่งผลดีต่อสมอง เพราะสมองจะสามารถกำจัดของเสียที่สร้างขึ้นมาในช่วงเวลาตื่นได้ ส่วนคนที่ทำงานเป็นกะที่ไม่ค่อยได้นอน หรือนอนไม่เพียงพอ สมองของพวกเขาจะไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะกำจัดของเสียต่างๆ ซึ่งของเสียเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อเซลล์ประสาท

บางบริษัทในสวีเดนตัดชั่วโมงการทำงานจาก 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
เป็น 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับพนักงานประจำ
พบว่าพนักงานเหนื่อยน้อยลง ทำงานมีประสิทธิภาพ และมีความสุขมากขึ้น

ช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป: ควรทำงานสัปดาห์ละ 25 ชั่วโมง

ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Melbourne Institute Working Paper Series เดือนกุมภาพันธ์ แนะนำว่า ‘ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรทำงานสัปดาห์ละ 3 วัน’ โดยการทำงานเป็นประจำทุกวันอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ชินยะ คะจิตะนิ (Shinya Kajitani) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเมเซ ในประเทศญี่ปุ่น ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยบอกว่า “ไม่ว่าจะทำงานมากหรือน้อยกว่า 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็สามารถส่งผลเสียต่อการทำงานของสมองได้เหมือนกัน”

เมื่อปีที่ผ่านมาบางบริษัทในสวีเดนตัดชั่วโมงการทำงานจาก 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับพนักงานประจำ พบว่าพนักงานเหนื่อยน้อยลง ทำงานมีประสิทธิภาพ และมีความสุขมากขึ้น

ชินยะยังบอกอีกว่า “งานสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง จึงช่วยรักษาระบบการทำงานของสมองได้ แต่ถ้าทำงานนานเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและภาวะเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายต่อการทำงานของสมองได้”

โดยนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลของพนักงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นผู้ชายจำนวน 3,000 คน และเป็นผู้หญิงจำนวน 3,500 คน และนำมาเปรียบเทียบกับผลทดสอบเกี่ยวกับสติปัญญา พบว่าการทำงาน 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เชื่อมโยงกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของสมอง แต่เมื่อทำงานเกิน 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะลดลง

แล้วชั่วโมงการทำงานนี้เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ในกลุ่มอายุอื่นๆ ด้วยหรือไม่?

จากผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Occupational and Environmental Medicine เมื่อเดือนที่ผ่านมาเผยว่า ผู้หญิงในช่วงอายุ 20, 30 หรือ 40 ที่ทำงานเฉลี่ย 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น อาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ และมีปัญหาเกี่ยวหัวใจ

ยิ่งไปกว่านั้น ผลวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ใน Lancet ปี 2015 ยังพบว่า การทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในสมอง แต่ถ้าหากจะต้องการความแตกต่างที่แน่ชัดในแต่ช่วงอายุเรื่องชั่วโมงการทำงาน ชินยะบอกว่ากำลังอยู่ในช่วงการทำการวิจัยเพิ่มเติม

แล้วตอนนี้คุณกำลังอยู่ในช่วงอายุไหน?

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai​

อ้างอิง:

Tags: ,