20 ปีที่แล้วคนไทยคงจดจำได้ดีเมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้เศรษฐีไทยหลายคนในเวลานั้นกลายเป็นบุคคลล้มละลายในชั่วข้ามคืน ก่อนจะลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกที่ทิ้งบาดแผลขนาดใหญ่ไว้ในใจของใครหลายคน

10 ปีผ่านไปวิกฤตเศรษฐกิจได้วนเวียนกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ ซึ่งแม้คราวนี้จะเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา แต่คนทั่วโลกรวมถึงคนไทยต่างก็เจ็บตัวไปไม่น้อยจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้

มาถึงในปี 2560 หลายคนหวาดกลัวว่าวิกฤตเศรษฐกิจกำลังจะวนเวียนกลับมาอีกครั้งตามรอบวงโคจรที่ครบ 10 ปีแบบพอดิบพอดี

คำถามในวันนี้ก็คือ โอกาสที่วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ประเทศไทยจะพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่ และหนทางเอาตัวรอดของทุกคนอยู่ที่ไหน The Momentum จะทำหน้าที่พาทุกคนไปค้นหาคำตอบเหล่านี้ร่วมกัน

ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำธุรกิจ การค้า การลงทุน
จากเดิมที่เน้นตลาดอเมริกา ญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของการส่งออกเป็นหลัก
แต่เราต้องมองไปที่ประเทศที่กำลังเติบโต เพราะประเทศเหล่านี้เปิดรับการลงทุนมหาศาล
ซึ่งจะทำให้เราปรับตัวเองจากผู้ส่งออกกลายเป็นผู้ลงทุนและผู้ทำการค้าได้

4 เครื่องจักรเศรษฐกิจไทยยังขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี

ในงานเสวนาทางวิชาการ ‘เศรษฐกิจไทย 2560 : SOMTUM Crisis?!?’ ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เมื่อจะวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่นักเศรษฐศาสตร์จะต้องดู 4 ปัจจัยทางเศรษฐกิจประกอบกัน นั่นคือ ปัจจัยการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนจากภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐ และปัจจัยแวดล้อมจากต่างประเทศ

ซึ่งในวันนี้เครื่องจักรทั้ง 4 ตัวในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเริ่มเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาพืชผลทางการเกษตรอย่างข้าวและยางพาราจะอยู่ในภาวะตกต่ำ การส่งออกอยู่ในช่วงชะงักเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้รายได้ของประชาชนลดต่ำลง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการช้อปช่วยชาติ เที่ยวช่วยชาติ ทำให้การบริโภคของประชาชนและภาคบริการอย่างการท่องเที่ยวได้รับการกระตุ้นจนมีสัญญาณด้านบวก

ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ผลลัพธ์จะยังไม่เป็นรูปธรรม แต่การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่คิดเป็นเกือบ 20% ของ GDP ก็เป็นการส่งสัญญาณให้เอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปี 2560 ที่รัฐบาลเตรียมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้าทำพร้อมๆ กันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก

ด้านปัจจัยแวดล้อมจากต่างประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ ระบุว่า ในวันนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับความผันผวนทางเศรษฐกิจในยุโรป ที่แม้จะยังไม่ถึงขั้นคลี่คลาย แต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น ภาพการส่งออกของประเทศไทยจึงมีปัจจัยบวกมากขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่ในภาวะติดลบ

สุดท้ายด้านการลงทุนจากภาคเอกชนที่ทุกวันนี้กำลังขับเคลื่อนได้ดี แต่ปัญหาคือการลงทุนยังไม่กระจายไปในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมหนักบางประเภทเท่านั้น แม้จะมีเม็ดเงินในการลงทุนสูง แต่กลับไม่ได้ส่งผลต่อการจ้างงานมากนัก เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าวใช้แรงงานน้อยกว่าเครื่องจักร โจทย์วันนี้คือทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงการลงทุนดังกล่าวให้มีผลต่อเนื่องไปสู่อุตสาหกรรมขนาดย่อย หรือ SME ได้อย่างทั่วถึง

“ถ้ามองในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยไม่น่ามีปัญหา แต่ในระยะกลางเราคงต้องจับตามองไปที่นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับจีนที่จะมีท่าทีต่อกันอย่างไร ส่วนในประเทศยังไม่มีอะไรที่ต้องกังวล ยกเว้นธุรกิจ SME รายย่อยต่างๆ”

ข้อเท็จจริงคือเศรษฐกิจเรายังไม่เข้าสู่วิกฤต และยังไม่มีวี่แวว ตอนนี้ภาครัฐกำลังพยายามลงทุนนำและเศรษฐกิจไทยกำลังเชิดหัวขึ้นแบบช้าๆ

เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่กำลังเชิดหัวทะยานขึ้น

ด้านศาสตราจารย์วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า แม้จะมีปัจจัยทางด้านลบจากการส่งออกที่ยังอยู่ในช่วงชะงัก การบริโภคภายในประเทศที่ยังอยู่ในภาวะซึมเซาเนื่องจากแรงงานมีรายได้ลดน้อยลง ขณะที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนจนเกิดเป็นหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แล้วยังถือว่าดีกว่ามาก เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ค่อนข้างระมัดระวังเรื่องการปล่อยกู้ ทำให้ความเสี่ยงในภาคการเงินการธนาคารมีน้อย และเป็นการคานอำนาจกับรัฐบาล เศรษฐกิจโดยรวมจึงตกอยู่ในภาวะซึมเซา แต่จะไม่เกิดวิกฤตแบบต้มยำกุ้ง หรือแฮมเบอร์เกอร์แน่นอน เพราะธนาคารยังทำหน้าที่เป็นกำแพงพยุงเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

“ในมุมของสื่อ ผมเข้าใจว่าสื่อมักชอบอะไรที่หวือหวา เพราะประเด็นในทางลบมันขายได้มากกว่า แต่ขณะเดียวกันต้องบอกว่าข้อเท็จจริงคือเศรษฐกิจเรายังไม่เข้าสู่วิกฤต และยังไม่มีวี่แวว ตอนนี้ภาครัฐกำลังพยายามลงทุนนำและเศรษฐกิจไทยกำลังเชิดหัวขึ้นแบบช้าๆ ดังนั้นจึงไม่อยากให้พยายามสร้างประเด็นข่าวที่จะทำให้ภาคเอกชนกังวลว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาลง”

การปฏิรูปภาครัฐเป็นเรื่องจำเป็น และจะต้องมี KPI วัดผลที่ชัดเจน
ไม่ใช่บอกว่าจะเดินหน้าประเทศไทย 4.0
แล้วโยนภาระให้กับเอกชน สถาบันการศึกษา แต่รัฐกลับไม่เปลี่ยนตัวเองเลย

เกมเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจส่งผลมาถึงไทย

อีกปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยคือปัจจัยทางด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐอเมริกาที่นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเตรียมเปิดศึกทางการค้ากับประเทศจีน ที่นำโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่ง ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์เกมการค้ากระดานนี้ว่า

จากการสังเกตการณ์หลัง 2 เดือนแรกที่ได้รับตำแหน่ง จะเห็นว่าทรัมป์ค่อนข้างพูดจารุนแรง โดยเฉพาะการโจมตีจีนและยุโรปที่มีส่วนในการฉุดรั้งเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จนต้องหันมาปกป้องเศรษฐกิจของตัวเองแทนที่จะเปิดเสรี แต่สุดท้ายทรัมป์กลับไม่สามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างที่เขาพูด

“ลักษณะการทำงานของทรัมป์คือการบลัฟ สร้างแรงกระเพื่อมเพื่อให้คนสนใจ สร้างข่าว เล่นกับสื่อ ทำให้ทุกคนตกอกตกใจ วิธีดำเนินนโยบายของเขาเป็นการทุบโต๊ะเพื่อดึงคนมาเจรจา แต่บนโต๊ะเจรจาเขาจะไม่สามารถทำอย่างที่ตัวเองพูดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าทำจริงเขาเองก็รู้ว่าจะมีผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนอย่างมาก

“ส่วนสีจิ้นผิงเองก็รู้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะทุกๆ 5 ปี จีนจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจ เขาจึงไม่สามารถตอบโต้สหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรงได้ เพราะจะมีผลต่อการสืบทอดอำนาจต่อไป ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงต้องประนีประนอมร่วมกัน”

นอกจากนี้ ดร.สุทธิกร ยังระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองต่อจากนี้คือที่จีนจะไปเยือนสหรัฐอเมริกาในเดือนหน้า ซึ่งถึงเวลานั้นคงมีการเจรจาว่าจุดกึ่งกลางที่ทั้งคู่จะรับได้อยู่ที่ตรงไหน

ส่วนประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรต่อเกมการค้ากระดานนี้?

ดร.สุทธิกรมองว่า เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วง new normal ที่มีการเติบโตแบบน้อยๆ ไม่หวือหวาอย่างที่ผ่านมา ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องทำคือการพาตัวเองให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ยกระดับเศรษฐกิจ พยายามมองหาตลาดใหม่ๆ เช่น อินเดีย แอฟริกา หรือประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม)

“อีกเรื่องที่สำคัญคือประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำธุรกิจ การค้า การลงทุน จากเดิมที่เน้นตลาดอเมริกา ญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของการส่งออกเป็นหลัก แต่เราต้องมองไปที่ประเทศที่กำลังเติบโต เพราะประเทศเหล่านี้เปิดรับการลงทุนมหาศาล ซึ่งจะทำให้เราปรับตัวเองจากผู้ส่งออกกลายเป็นผู้ลงทุนและผู้ทำการค้าได้ แม้แต่ SME ก็ยังมีโอกาสที่จะไปลงทุนในประเทศเหล่านี้ได้เช่นกัน”

ถ้าเอกชนจะมาลงทุน เขาจะลงทุนบนฐานของเทคโนโลยี
ซึ่งเศรษฐกิจใหม่ที่รัฐบาลกำลังจะขับเคลื่อนน่าจะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานน้อยลงเรื่อยๆ
กระบวนการเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปได้

โจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัว

แม้ทุกคนจะยืนยันตรงกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจของไทยจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในระยะสั้น แต่ถึงอย่างนั้นประเทศไทยก็ยังมีโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรออยู่มากมาย โดยเฉพาะการปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยี และโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ ให้ความคิดเห็นว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของไทยกำลังเติบโตปีละ 2-3% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะผิดปกติ เพราะประเทศไทยกำลังเดินย่ำอยู่กับที่ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านกำลังขยับเข้ามาใกล้เราทุกขณะ

“เราต้องการมาตรการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เราทำแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว จะผลิตในภาคการเกษตรเยอะๆ แล้วขายแบบเดิมไม่ได้แล้ว การทำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นภาระของภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว เพราะหัวใจสำคัญคือการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการของภาครัฐ เพราะตอนนี้การบริหารจัดการของภาครัฐกำลังเป็นเหมือนคอขวด ภาครัฐจะต้องเก่งมากขึ้น มีประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น

“คำถามนี้ถูกตั้งมานานแล้ว แต่ยังไม่เคยมีใครตอบ คือรัฐบาลใช้เงินไปมากมายแล้วประเทศไทยได้อะไรกลับมาบ้าง การปฏิรูปภาครัฐเป็นเรื่องจำเป็น และจะต้องมี KPI วัดผลที่ชัดเจน ไม่ใช่บอกว่าจะเดินหน้าประเทศไทย 4.0 แล้วโยนภาระให้กับเอกชน สถาบันการศึกษา แต่รัฐกลับไม่เปลี่ยนตัวเองเลย”

ด้านศาสตราจารย์วิทวัส แสดงความกังวลว่า การลงทุนในยุคใหม่ที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานจะมาในรูปแบบของการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ เพราะหากต่างชาติต้องการค่าแรงถูก ประเทศไทยในตอนนี้ไม่สามารถตอบโจทย์นั้นได้อีกต่อไป ดังนั้นหากต้องการจะจูงใจนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของนักลงทุนรุ่นใหม่

“ถ้าเอกชนจะมาลงทุน เขาจะลงทุนบนฐานของเทคโนโลยี ซึ่งเศรษฐกิจใหม่ที่รัฐบาลกำลังจะขับเคลื่อนน่าจะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานน้อยลงเรื่อยๆ กระบวนการเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปได้ แต่จะเกิดภาวะรวยกระจุก จนกระจาย บัณฑิตจบใหม่จะได้เงินเดือนไม่สูงมากนัก เราจะโตในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ SME ที่จะปรับตัวเองให้เข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจนี้ได้จะมีน้อยลงกว่าเดิม รัฐจำเป็นต้องเปลี่ยน SME ให้กลายเป็น Smart SME เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาคธุรกิจรายใหญ่กับรายเล็กๆ ให้ได้”

ปิดท้ายที่ ดร.สุทธิกร ซึ่งมองว่าเร็วๆ นี้คงไม่เกิด ‘ต้มยำ Crisis’ อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นกลับเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

“เราเคยมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นล้านคน ปัจจุบันเหลือ 3 แสนคน เราเคยส่งออกฮาร์ดดิสก์ 15-20% ของโลก แต่ปัจจุบันความต้องการฮาร์ดดิสก์กำลังลดลงเรื่อยๆ นี่คือวิกฤตโครงสร้างที่ประเทศไทยต้องคิดตามให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง คำถามคือเรามีความสามารถในการสอนคนให้เปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิมๆ ได้ไหม การศึกษาเราพร้อมหรือยัง

“มันจะไม่ใช่ ‘ส้มตำ Crisis’ แต่เราอาจจะเผชิญกับ ‘ต้มกบ Crisis’ คือเราไม่ได้ใส่กบตัวนี้ลงในน้ำเดือดจนเกิดวิกฤตแบบทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากำลังปล่อยให้กบตัวนี้อยู่ในหม้อต้มที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กบเป็นสัตว์เลือดเย็น มันไม่รู้ตัวหรอกว่ามันกำลังจะตาย แต่พอวันหนึ่งที่น้ำอุณหภูมิถึง 100 องศา มันจะต้องตายอยู่ดี เหมือนกับเศรษฐกิจไทยที่เราอยู่ในภาวะเติบโตแบบช้าๆ หลายอย่างเราปรับตัวไม่ทัน เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ยานยนต์ รวมถึงภาคบริการต่างๆ ที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ถ้าเราปรับตัวไม่ทัน เราจะค่อยๆ ตายทีละส่วนอย่างช้าๆ”

ถ้าย้อนกลับไปถามผู้คนมากมายที่ได้รับบาดแผลจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งที่ผ่านๆ มาว่า พวกเขาเคยคาดคิดมาก่อนหรือไม่ คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้น่าจะเป็น ‘ไม่’

แต่กับความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปนี้เราอาจไม่สามารถพูดคำว่า ‘ไม่’ ได้อย่างเต็มปาก เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าในไม่ช้าเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และรูปแบบการทำธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนไหน ส่วนจะปรับตัวหรือไม่คงเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจกันเอาเอง

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

Tags: ,