ก่อนเริ่มต้นไทยลีก ฤดูกาล 2017 วันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ แฟนบอลชาวไทยที่ติดตามชมและเชียร์ทีมรักของตนเองน่าจะได้เห็นสีสันที่เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลที่แล้ว และนี่คือ 5 ประเด็นที่ The Momentum คิดว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้ไทยลีกฤดูกาลนี้

Photo: Athit Perawongmetha, Reuters/profile

 

การบริหารงานอย่างเต็มตัวของทีมงานสมาคมฟุตบอลยุคใหม่

ย้อนไปช่วงสิ้นสุดฤดูกาล 2015 ถือเป็นอีกหนึ่งยุคการเปลี่ยนผ่านวงการฟุตบอลลีกไทย หลังจากที่ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ชนะการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก้าวขึ้นมาบริหารวงการฟุตบอลลีกไทยเต็มตัว ท่ามกลางปัญหาคาราคาซังมากมายที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2015 ทั้งเรื่องสิทธิ์การทำทีมของแต่ละสโมสรที่หาข้อสรุปไม่ได้ ปัญหาเรื่องข้อสรุปในฤดูกาล 2016 ว่าจะมีทีมลงแข่งได้กี่ทีม รวมถึงหนี้สินของทีมงานสมาคมฟุตบอลชุดเก่าที่ ‘บิ๊กอ๊อด’ เคยให้สัมภาษณ์ว่าตนเองจำเป็นต้องทำการผ่อนชำระหนี้สินดังกล่าว และต้องกู้เงินจากผู้สนับสนุนมาใช้บริหารงาน เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าว ทางผู้บริหารสมาคมทำการปลดหนี้เก่าลงเรียบร้อย

ในศึกไทยลีก 2017 ฤดูกาลที่ทีมงานผู้บริหารสมาคมฟุตบอลชุดใหม่ได้สิทธิ์บริหารจัดการเองอย่างเต็มรูปแบบนี้ ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มีนโยบายพัฒนาศักยภาพสโมสรฟุตบอลลีกอาชีพอย่างยั่งยืนและยกระดับลีกในประเทศให้ก้าวสู่สากลมากขึ้น เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งบริษัท ไทยลีก จำกัด พร้อมปรับชื่อลีกจากอดีตที่เรารู้จักทั้ง ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก, ไทยพรีเมียร์ลีก เหลือเพียง ‘ไทยลีก’ ปรับชื่อลีกระดับล่างเป็น ไทยลีก 2, 3, 4 และการแข่งขันอเมเจอร์ ทัวร์นาเมนต์ (ลีกสมัครเล่น) ตามลำดับ

อนึ่ง ในการแข่งขันระดับไทยลีก 4 หรือดิวิชั่น 2 เดิม สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กำหนดให้สโมสรจากลีกสูงสุดสามารถส่งทีมแข่งในลีกระดับนี้ ซึ่งเป็นระดับภูมิภาค แต่จะไม่มีการเลื่อนชั้นขึ้นไปยังลีกที่สูงกว่าแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังทำการปรับตัวโลโก้ที่ใช้ในการแข่งขันใหม่ โดยใช้ตัวอักษร T ย่อมาจาก Thailand ที่ว่ากันว่ามีการผสมผสานรูปร่างและรายละเอียดมาจากตัวช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ออกแบบมาให้ดูสากล เรียบง่าย พร้อมนำมาใช้กับทุกลีก โดยมีสีแตกต่างกันตามแต่ละระดับ พร้อมเปิดตัวเพลงประจำไทยลีกครั้งนี้ ผ่านกลุ่มนักดนตรีรุ่นใหม่อีกด้วย

รวมถึงยังเพิ่มแนวคิดใช้นักเตะอาเซียนเข้ามาเป็นหนึ่งในโควตานักเตะต่างชาติของแต่ละทีม เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของวงการฟุตบอลลีกอาเซียน อีกทั้งยังช่วยขยายฐานแฟนคลับไปยังเพื่อนบ้าน ซึ่งระยะแรกกำหนดให้ทีมระดับไทยลีก 2 หรือลีกดิวิชั่น 1 เดิม ทดลองใช้ก่อน โดยสามารถส่งลงสนามได้ 1 คน ไม่นับเป็นโควตาต่างชาติ 3 คน และเอเชีย 1 คน ก่อนจะประกาศใช้ในไทยลีกฤดูกาล 2019 ต่อไป

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง สายตาของคนทั่วไปมักจดจ้องกับเรื่องใหม่ๆ ว่าจะเข้ามาทดแทนเรื่องเดิมได้ดีกว่าหรือทำให้ดูด้อยลง และการได้รับโอกาสบริหารงานอย่างเต็มตัวของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่มีพลตำรวจเอก สมยศ เป็นนายใหญ่นั้น จะทดแทนศึกไทยลีกครั้งที่ผ่านมาได้ดีแค่ไหน ผลงานตลอดทั้งปี 2017 นี้ จะเป็นผู้ให้คำตอบ

Photo: FA THAILAND

เบียดแย่งแชมป์กันสนุกกว่าทุกฤดูกาลที่ผ่านมา

จากสถิติการคว้าแชมป์ฟุตบอลลีกสูงสุดของไทย จะเห็นว่าตลอด 8 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่วงการลูกหนังแดนสยามเริ่มเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้นในปี 2009 มีเพียง เมืองทอง ยูไนเต็ด และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เท่านั้น ที่ผลัดกันคว้าโทรฟีเจ้าสโมสรลูกหนังไทยอย่างละ 4 สมัย โดยทีมดังแห่งย่านแจ้งวัฒนะทำได้ในฤดูกาล 2009, 2010, 2012 และ 2016 ส่วนทีมจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำได้ในฤดูกาล 2011, 2013, 2014 และ 2015 ขณะที่ชลบุรี เอฟซี ถือเป็นทีมที่อกหักพลาดคว้าแชมป์ไทยลีกมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 หลังจอดป้ายคว้าตำแหน่งรองแชมป์ถึง 4 สมัย ในฤดูกาล 2009, 2011, 2012 และ 2014

เมื่อการคว้าแชมป์เกิดขึ้นแค่เพียง 2 สโมสร ส่งผลให้หลายทีมร่วมลีกต่างปรับโครงสร้างการทำทีมใหม่ เดินหน้าบริหารจัดการเต็มรูปแบบ ผ่านเม็ดเงินลงทุนและนโยบายที่เปลี่ยนไปจากเดิมของทีมผู้บริหาร ยกตัวอย่างเช่น แบงค็อก ยูไนเต็ด หรือทีมมหาวิทยาลัยกรุงเทพเดิมที่ได้ ขจร เจียรวนนท์ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรแบงค็อก ยูไนเต็ด คนใหม่ เมื่อปี 2013 พร้อมผู้สนับสนุนหลักอย่าง ทรูวิชั่นส์ เข้ามาทำทีมอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้สโมสรเจ้าของฉายา ‘แข้งเทพ’ กลายเป็นอีกหนึ่งทีมน่าจับตามองจนนำไปสู่ทีมลุ้นแชมป์อย่างเต็มตัวในฤดูกาล 2016 หลังจบอันดับ 2 พร้อมมีแต้มห่างจากเมืองทอง ยูไนเต็ด ทีมแชมป์เพียง 5 คะแนนเท่านั้น

อีกทั้ง ‘กว่างโซ้งมหาภัย’ เชียงราย ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลจากภาคเหนือทีมแรกในไทยลีก ภายใต้การบริหารงานของ มิตติ ติยะไพรัช ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการดึงนักฟุตบอลโปรไฟล์หรูทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น มาร์ก บริดจ์ กองหน้าผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลของ เวสเทิร์น ซิดนีย์ วันเดอเรอร์ส ในศึกเอลีก ออสเตรเลีย ด้วยมูลค่าราว 50 ล้านบาท ช่วงกลางปี 2016 หรือการดึงกองกลางดีกรีทีมชาติไทยอย่าง ธนบูรณ์ เกษารัตน์ มาจากเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ด้วยการทุ่มเงินประมาณ 50 ล้านบาท เมื่อช่วงปลายปี 2016 ที่ผ่านมา รวมถึงการดึง อเล็กซานเดอร์ กามา อดีตโค้ชทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ชุดพาทีมคว้า 5 แชมป์ภายใน 1 ฤดูกาล (2015) คงเป็นคำตอบอย่างไม่ต้องสงสัยว่าสโมสรจากดินแดนล้านนาพร้อมก้าวมาเป็นหนึ่งในทีมลุ้นแชมป์ในศึกไทยลีก 2017 ที่จะถึงนี้อย่างเต็มตัว

นี่ยังไม่รวมทีมอย่างบางกอกกล๊าส เอฟซี, สุพรรณบุรี เอฟซี หรือแม้แต่ราชบุรี เอฟซี ที่ชื่อชั้นดูไม่เป็นรองจาก 5 สโมสรก่อนหน้า หากดูจากการเตรียมทีม เสริมตัวผู้เล่นในแต่ละฤดูกาล ซึ่งสโมสรเหล่านี้ก็พร้อมสร้างความกดดันและมีโอกาสเอื้อมถึงตำแหน่งแชมป์ได้เช่นกัน

Photo: FA THAILAND

 

เม็ดเงินลงทุนทีมมหาศาลขึ้นทุกปี

ครั้งหนึ่ง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เปรียบเทียบระหว่างฟุตบอลลีกที่มีลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดสูงสุดในโลกอย่างพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก เมื่อปี 2015 จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 4,058 ราย พบว่าแฟนฟุตบอลติดตามไทยพรีเมียร์ลีก อยู่ที่ร้อยละ 29.13 มากกว่าพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่มีแฟนติดตามร้อยละ 21.18

นอกจากนี้ นิด้าโพลยังเปรียบเทียบผล 3 ปี พบว่ามีผู้ติดตามฟุตบอลไทยลีกเพิ่มขึ้น จากปี 2556 และ 2557 และมีแนวโน้มผู้ติดตามสม่ำเสมอเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บรรดาสปอนเซอร์น้อยใหญ่ต่างสนใจเข้ามาให้การสนับสนุนทีมทุกลีก ทุกระดับในวงการลูกหนังแดนสยามอย่างไม่ขาดสาย

เรามักเห็นชื่อสปอนเซอร์แต่ละรายติดบนอกเสื้อสโมสร ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนทีม, ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่แต่ละสโมสรได้รับ, เงินอุดหนุนจากสปอนเซอร์หลักของไทยลีก, เงินรางวัลจากอันดับที่จบการแข่งขันในลีก รวมถึงเงินรางวัลผลงานจากการลงเตะบอลถ้วยแบบน็อกเอาต์ ตลอดจนรายได้เพิ่มเติมมาจากยอดการจำหน่ายตั๋วเข้าชม และยอดจากการขายของที่ระลึก ทั้งหมดนี้ทำให้แต่ละสโมสรของไทยมีงบการทำทีมแต่ละฤดูกาลเป็นหลัก 10 ล้านบาทไปจนถึงหลัก 100 ล้านบาท

ยกตัวอย่างเม็ดเงินการทำทีมของแชมป์ไทยลีกฤดูกาลที่ผ่านมาอย่าง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่หากดูจากเงินลงทุนทำทีมเมื่อฤดูกาล 2009 หลังเพิ่งเลื่อนชั้นมาเล่นในลีกสูงสุดของไทยนั้น ทีมฉายา ‘กิเลนผยอง’ มีงบประมาณในการเตรียมทีมที่วางไว้ในช่วงเริ่มต้นตกราว 25 ล้านบาท ทว่าในศึกไทยลีกฤดูกาล 2017 นี้ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด วางงบประมาณไว้ที่ 400 ล้านบาท โดยมีเอสซีจีร่วมทุนสนับสนุนสโมสรออกไปอีก 5 ปี ด้วยงบประมาณรวม 600 ล้านบาทเลยทีเดียว

โดยในฤดูกาล 2017 นี้กำหนดตัวเลขเงินสนับสนุนออกมาแล้ว แบ่งเป็นเงินสนับสนุนจากสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ให้ทีมในไทยลีก ทีมละ 5 ล้านบาท ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ทีมละ 20 ล้านบาท แตกต่างจากฤดูกาล 2015 ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ แบ่งเงินอุดหนุนให้เพียงทีมละ 1 ล้านบาทเท่านั้น

Photo: FA THAILAND

แข้งนอกโปรไฟล์หรูตบเท้าลุยไทยลีกไม่ขาดสาย

นับตั้งแต่ที่วงการลูกหนังแดนสยามเริ่มก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้นตามมาตรฐานของเอเอฟซีที่กำหนดไว้เมื่อปี 2009 ส่งผลให้ทุกทีมจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับและปลุกกระแสฟุตบอลลีกไทยไปสู่นานาชาติ นำมาสู่การทุ่มทุนคว้านักฟุตบอลต่างชาติโปรไฟล์ดี ที่ผ่านเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติมาเสริมความแข็งแกร่งของทีมอย่างคับคั่ง ผ่านโควตานักเตะต่างชาติของแต่ละทีมซึ่งกำหนดไว้อยู่ที่ 3 (สำหรับนักเตะต่างชาตินอกทวีปเอเชีย) +1(สำหรับนักเตะเอเชีย) +1 (สำหรับนักเตะอาเซียน เริ่มใช้ฤดูกาล 2019)

โดยกระแส ‘แข้งนอกโปรไฟล์หรู’ เริ่มเป็นที่ฮือฮาในฤดูกาล 2010 เมืองทอง ยูไนเต็ด คือทีมที่เริ่มดึงนักเตะดีกรีชื่อดังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการดึงเบอร์คานท์ โกคธาน อดีตกองหน้าของบาเยิร์น มิวนิค ยักษ์ใหญ่ของวงการฟุตบอลเยอรมัน ไปจนถึงการคว้าอดีตแข้งดังผู้ผ่านการลงเล่นระดับยุโรป ทั้งโทนี คาลิโอ อดีตกองหลังทีมชาติฟินแลนด์และสโมสรฟูแล่ม ทีมในอังกฤษ (2011), ร็อบบี ฟาวเลอร์ อดีตกองหน้าลิเวอร์พูล (2011), โรแลนซ์ ลินซ์ อดีตกองหน้าทีมชาติออสเตรีย (2013), เจย์ โบธรอยด์ อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษ (2014) และซิสโก ฆิมิเนซ อดีตศูนย์หน้าของนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ที่ปัจจุบันยังคงอยู่ค้าแข้งร่วมกับ เอสซีจี เมืองทองฯ

หรือแม้แต่ยุคที่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทุ่มเงินคว้านักเตะสเปนจนกลายเป็นยุคที่คุ้นหูแฟนบอลไทยว่า ‘บุรีโลนา’ (เลียนแบบสโมสรบาร์เซโลนา) นำโดยนักเตะอย่าง คาร์เมโล กอนซาเลซ อดีตกองกลางของ สปอร์ติ้ง กิฆอน (2013-2014), ออสมาร์ อิบาเนซ อดีตกองหลังราซิง ซานตานเดร์ (2012-2013) และลูกครึ่งสเปน-ฟิลิปปินส์อย่าง ฮาเวียร์ ปาตินโญ ที่เคยเล่นให้กับกอร์โดบา (2013-2014) พาทีมเจ้าของฉายา ‘ปราสาทสายฟ้า’ เดินหน้าคว้าแชมป์เป็นว่าเล่นในระหว่างฤดูกาล 2013-2014 มาแล้ว

มาจนถึงทุกวันนี้ หลายสโมสรยังคงทุ่มเงินคว้านักเตะต่างชาติโปรไฟล์ดีมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมอยู่อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างล่าสุดจากฤดูกาลที่จะถึงนี้ อาทิ ลีรอย ลิต้า อดีตกองหน้าชาวอังกฤษจากสโมสรเรดดิ้ง ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่เดินทางมาค้าแข้งกับศรีสะเกษ เอฟซี รวมถึง อัสตรูบาล ปาดรอน ดาวยิงที่เพิ่งอำลา ลาส พัลมาส สโมสรในลาลีกา สเปน หรือฟุตบอลลีกสูงสุดของสเปนมาสวมยูนิฟอร์มการท่าเรือไทย เอฟซี และไม่มีทีท่าที่จะหมดไป ตราบใดที่ฟุตบอลลีกไทยพัฒนาต่อไปแบบก้าวกระโดดดังเช่นทุกวันนี้

แฟนบอลชาวไทยทุกคนคงทราบดีว่า ผลงานของทีมชาติขวัญใจมหาชนอย่าง ‘สิงโตคำราม’ หรืออังกฤษ กับการลงเล่นระดับนานาชาตินั้นล้มเหลวมาโดยตลอด ไร้ความสำเร็จอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลกปี 1966 แม้จะมีฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่แฟนบอลติดตามทั่วโลกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม

สาเหตุสำคัญก็เพราะพรีเมียร์ลีก อังกฤษ มีเปอร์เซ็นต์ของนักเตะเลือดผู้ดีเองกับการลงสนามให้ทีมยักษ์ใหญ่น้อยราย และหลายครั้งแทบไม่มีนโยบายดันดาวรุ่งชาวอังกฤษขึ้นมาเล่นเป็นตัวจริงมากนัก เน้นดึงแข้งซูเปอร์สตาร์มาเป็นแกนหลักมากกว่า เป็นเหตุให้ทีมสิงโตคำรามมักไปไม่ถึงฝั่งฝันทุกทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติเสียที

ย้อนกลับมาที่ฟุตบอลไทยลีก หลายสโมสรต่างพาเหรดกับการเสริมตัวผู้เล่นต่างชาติเป็นกำลังหลักเพื่อต่อกรกับทีมร่วมลีก และบางครั้งกับการต่อสู้ในการแข่งขันระดับทวีป คำถามที่ตามมาหลังจากที่ไทยลีกพัฒนาและยกระดับทั้งคุณภาพเกมและผู้เล่น นั่นเป็นเพราะการเข้ามาของนักเตะต่างชาติ ที่ช่วยกันยกระดับลีก พร้อมเป็นกำลังหลักให้แต่ละทีม ขณะที่บทบาทบางตำแหน่งของนักฟุตบอลไทยบางราย ที่กำลังมีโอกาสพัฒนาฝีเท้าในระดับสโมสรอาชีพ ถูกบดบังด้วยโอกาสลงนักฟุตบอลต่างชาติมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะเหมือนเป็นการปิดกั้นโอกาสพัฒนาสู่ทีมชาติชุดใหญ่หรือไม่?

Photo: FA THAILAND

‘คลับ ไลเซนซิง’ ใบอนุญาตฯ ที่จะยกระดับฟุตบอลไทย

ย้อนกลับไปช่วงปี 2009 สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี เริ่มมีมาตรการกำหนดให้มาตรฐานวงการฟุตบอลเอเชียก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น การแข่งขันฟุตบอลลีกของชาติสมาชิกที่ต้องมีมาตรฐาน มีความเป็นมืออาชีพทัดเทียมกับภูมิภาคอื่น เสมือนการมีใบอนุญาตที่รองรับโดยสมาพันธ์ฟุตบอลของทวีปนั้นๆ ภายใต้ชื่อเรียกว่า ‘คลับ ไลเซนซิง’

ก่อนหน้าปีที่แวดวงลูกหนังลีกไทยจะเริ่มบูมขึ้นมา การแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของไทยยังมีคุณสมบัติไม่ตรงกับมาตรฐานที่เอเอฟซีกำหนดไว้ เนื่องจากศึกไทยลีกในขณะนั้นยังถูกจัดการและควบคุมดูแลโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้ วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ (ในขณะนั้น) ทำการแต่งตั้ง ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง มาทำหน้าที่ประธาน บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ดูแลสิทธิ์ การบริหารจัดการ พร้อมออกคำสั่งให้บรรดาสโมสรในไทยลีกยุคนั้นทำตามข้อกำหนดจากเอเอฟซีอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการจดทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ, ผู้ฝึกสอนแต่ละทีมต้องมีใบประกาศนียบัตรระดับเอ ไลเซนส์ (หนึ่งในมาตรฐานของผู้ตัดสินที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล) ที่เอเอฟซีกำหนดไว้ หรือแม้แต่สโมสรจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

พูดง่ายๆ คือจะมีเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันของลีกสูงสุดอย่างไทยพรีเมียร์ลีก (ไทยลีกในปัจจุบัน) เป็นผู้ดูแลแจ้งต่อไปยังสโมสรสมาชิก และมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ตรวจสอบมาตรฐานต่างๆ ของสโมสรสมาชิก ส่งเรื่องให้เอเอฟซีรับทราบและอนุมัติต่อไป

ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้บางสโมสรในไทยมีอันต้องยุบทีม เนื่องจากบรรดาองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ดูแลโดยตรงหลายแห่งไม่มีนโยบายส่งทีมแข่งขันระดับอาชีพ อย่างสโมสรธนาคารกรุงเทพ ที่ยุบทีมลง หลังเคยยืนหยัดบนสารบบลีกไทยกว่า 50 ปี ไม่เว้นแม้แต่การปรับแนวทางการทำทีม การโอนสิทธิ์ ขายทีม เพื่อก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น เช่น สโมสรพนักงานกรุงไทย ที่เปลี่ยนสิทธิ์การทำทีมมาเป็นบางกอกกล๊าส เอฟซี หรือแม้แต่โค้ก-เทศบาลตำบลบางพระ ที่เปลี่ยนชื่อสโมสรและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็น พัทยา ยูไนเต็ด เป็นต้น

แม้วงการฟุตบอลลีกไทยจะรับนโยบายจากเอเอฟซีและเกิดการผลักดัน  ทว่าหลายสโมสรในไทยกลับยังไม่สามารถจัดการเพื่อก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพได้ โดยในปี 2015 นั้น มีเพียง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, บางกอกกล๊าส เอฟซี และชลบุรี เอฟซี เท่านั้น ที่ผ่านการประเมินอย่างเต็มรูปแบบ

ปัจจุบันมีการขีดเส้นตายมาตรฐานดังกล่าว โดยให้ทุกสโมสรในลีกไทยดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด ก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2017 มิเช่นนั้นอาจถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศ ไปจนถึงรายการชิงแชมป์สโมสรระดับทวีปเอเชียอย่าง เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก หรือเอเอฟซี คัพ ไปโดยปริยาย

กระทั่งปลายเดือนตุลาคม 2016 หลังการกำชับเรื่อง คลับ ไลเซนซิง มาอย่างยาวนาน มร.เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายคลับ ไลเซนซิง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทำการยืนยันว่าทุกสโมสรในไทยลีกมีสิทธิ์ร่วมการแข่งขันไทยลีกได้ เว้นแต่ 3 สโมสรจากลีกสูงสุดอย่าง นครราชสีมา เอฟซี, อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด, ไทย-ฮอนด้า ที่ยังไม่ได้รับการรับรองคลับ ไลเซนซิง และต้องทำตามเรื่องแผนงานการสร้างสนามให้เสร็จสิ้นช่วงปลายปี 2016

นั่นหมายความว่าทุกทีมจะมีโอกาสคว้าสิทธิ์ลงเล่นฟุตบอลสโมสรรายการใหญ่ของเอเชีย หากจบอันดับตารางคะแนนลีกที่กำหนดไว้ แต่ถ้ากรณีที่เกิดปัญหาอะไรบางอย่าง นอกเหนือไปจากการจบอันดับตารางคะแนนข้างต้น ก็จะถูกพิจารณาและสรุปผลในฐานะองค์การที่ถูกรองรับจากทางเอเอฟซีเสียก่อน

ล่าสุดในเดือนมกราคม 2017 แจ้งผลการออกใบอนุญาตคลับ ไลเซนซิง ให้กับสโมสรในไทยลีกประจำฤดูกาล 2017 ว่าตอนนี้ขาดเพียง สโมสรอุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด เท่านั้น ที่ทำการเปลี่ยนสนามแข่งของตนเอง โดยเจ้าหน้าที่จากเอเอฟซีจะตรวจสอบอีกครั้ง

ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด ทุกทีมในไทยลีกจะมีสิทธิ์ลงแข่งฟุตบอลรายการระดับนานาชาติตามมาตรฐานสากล ในฐานะสโมสรสมาชิกของเอเอฟซีอย่างเต็มตัว โดยมีคำว่า ‘คลับ ไลเซนซิง’ เข้ามารองรับ

ทั้งหมดนี้คือ 5 ประเด็นใหญ่ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้ไทยลีกฤดูกาล 2017 สนุกและมันกว่าที่เคย

เมื่อลีกในประเทศได้รับการยกระดับอย่างจริงจังและเป็นระบบ ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมในทุกฤดูกาล ไม่ต่างกับการไต่เต้าพัฒนาระบบฟุตบอลลีกอาชีพเหมือนทีมชั้นร่วมทวีปอย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้

และเมื่อลีกพัฒนายิ่งขึ้น คำถามว่าบอลไทยจะได้ไปบอลโลกหรือไม่?

คงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน และกลายเป็นคำถามที่เริ่มได้คำตอบ

Tags: ,