ในที่สุด เฟซบุ๊กกับกูเกิลก็ออกมาประกาศมาตรการจัดการกับเว็บไซต์ข่าวปลอมแล้ว หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณีข่าวปลอมที่สะพัดบนโลกออนไลน์ ทั้งในกูเกิล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ที่อาจส่งผลต่อชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ผ่านมา

แต่รายที่โดนหนักสุด คงหนีไม่พ้นเฟซบุ๊ก ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักว่าเต็มไปด้วยบทความ ข่าวสาร และเว็บไซต์ ที่นำเสนอเนื้อหาหลอกลวง ไม่เป็นความจริง เช่น กรณีสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสออกมาสนับสนุนทรัมป์ และข่าวการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่สืบสวนคดีอีเมลของ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นทีมงานเฟซบุ๊กไม่ได้ออกมาจัดการแต่อย่างใด

เมื่อวันเสาร์ที่ 12 พ.ย. 2559 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้โพสต์ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวบนเฟซบุ๊กของเขาว่า ในบรรดาคอนเทนต์ทั้งหมดบนเฟซบุ๊กกว่า 99% ที่ผู้คนเห็นนั้นเป็นข้อมูลที่มาจากสื่อจริง ส่วนข่าวปลอมและเว็บข่าวลวง (hoax) ถือว่ามีน้อยมาก พร้อมกับย้ำว่าปริมาณของข่าวลือในเฟซบุ๊กนั้นไม่ได้อยู่ในระดับที่เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ได้

Photo: www.facebook.com/zuck

หลังจากเผชิญกับกระแสวิจารณ์อย่างหนัก วันที่ 15 พ.ย. 2559 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าเฟซบุ๊กได้ปรับนโยบายโฆษณาเพื่อแบนเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง ไม่เป็นจริง รวมทั้งบรรดาข่าวปลอม ขณะที่บริษัท Alphabet ของ Google กำลังปรับนโยบายป้องกันห้ามไม่ให้เว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาไม่ถูกต้องลงโฆษณากับ AdSense ซึ่งอยู่ในเครือของกูเกิล

แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือแม้แต่ผู้ใช้สื่อออนไลน์เองยังคงตั้งข้อสงสัยว่า ข่าวลวงเหล่านี้มีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อระบบอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการ ‘คัดกรองข้อมูล’ บนนิวส์ฟีดของผู้ใช้งาน จนเกิดกระแสเรียกร้องให้เฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มออนไลน์รายอื่น ออกมาแสดงความรับผิดชอบ

เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ในแง่มุมเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น The Momentum จึงชวน สโรจ เลาหศิริผู้มีความรู้ด้านสถิติสารสนเทศ มีประสบการณ์ด้านแบรนด์และดิจิทัลมากว่า 6 ปี และ จิตต์สุภา ฉิน ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และนักเขียน ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มาร่วมวิเคราะห์สถานการณ์และผลลัพธ์ที่อาจตามมา ตั้งแต่วิกฤตข่าวปลอมและข้อเท็จจริงที่ว่า เครื่องจักร Big Data และเทคโนโลยี AI เข้ามามีส่วนร่วมในศึกเลือกตั้งมากกว่าที่เคย

Photo: snopes.com/ Screenshot

เข้าใจระบบการทำงานของอัลกอริทึมที่ตกเป็นจำเลยจากการสะพัดข่าวลวง

ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กเคยถูกวิจารณ์เรื่องข่าวปลอมและการเลือกข่าวในกระแสหรือ Trending Topics อยู่หลายหน (จึงเปลี่ยนจากทีมงานมาให้ระบบคำสั่งทำงานแทน) และทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อมีการเผยแพร่ข่าวลวงเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเอนเอียงไปสนับสนุนฝ่ายทรัมป์มากกว่า อย่างไรก็ตาม มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้ออกมาปฏิเสธทั้งข้อกล่าวหาที่ว่าเฟซบุ๊กนั้นมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้ง และการเผยแพร่ข่าวปลอมนั้นเป็นปัญหาหลักของระบบอัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก

สโรจมองประเด็นนี้ว่า อัลกอริทึมจะเป็นตัวการจริงหรือไม่นั้น เราต้องเข้าใจหลักการทำงานของมันเสียก่อน “เป้าหมายของการจัดอัลกอริทึมคือ การนำเสนอ ‘The right message to the right person at the right time’ หน้านิวส์ฟีดของเฟซบุ๊กก็เปรียบเสมือนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ ซึ่งคนไม่ได้ใช้เวลากับมันมาก เพราะฉะนั้น อัลกอริทึมจะทำงานโดยเลือกคอนเทนต์ที่ถูกต้อง เพื่อให้คนมี engage เยอะ”

สโรจอธิบายต่อว่าหลักการพื้นฐานของอัลกอริทึมบนเฟซบุ๊ก ประกอบด้วย

1. Affinity ผู้ใช้งานสนใจและมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับคอนเทนต์ประเภทไหนเป็นประจำ ก็จะเห็นคอนเทนต์ประเภทนั้นบนนิวฟีดส์ของตัวเอง

2. Weight ผู้ใช้งานมีแนวโน้มที่จะเห็นคอนเทนต์ที่มีความสำคัญ โดยประมวลผลจากคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานไลก์ คอมเมนต์ และแชร์บ่อยๆ

3. Time Decay เช่น เพจที่เราไม่ค่อยได้ติดตามหรือใช้เวลาน้อยลง โอกาสที่จะเห็นคอนเทนต์ของเพจนี้ก็จะลดลงไปด้วย

“เฟซบุ๊กมองว่าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนคือ ไทม์ไลน์ คุณคงไม่อยากแชร์อะไรที่ไม่ใช่คุณ เพราะฉะนั้น การแชร์คือคุณได้สละพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคุณเพื่อแชร์ข่าวเรื่องนั้น และเฟซบุ๊กก็จะรู้ว่านี่คือเรื่องสำคัญที่สุดของคุณ

“ทีนี้ กลับมาที่ข่าวปลอม การที่มีข่าวปลอมขึ้นมา ส่วนหนึ่งมันคือการปลุกปั่น โจมตี มันคือการชกใต้เข็มขัด ซึ่งผมตอบไม่ได้จริงๆ ว่าใครทำ ทีมงานทรัมป์อาจจะปล่อย หรือพวกสนับสนุนทรัมป์ที่ต้องการทำลายคู่แข่ง หรือเป็นข่าวที่วิกิลีกส์ปล่อยออกมา ผลที่เกิดขึ้นคือข่าวปลอมของฮิลลารีที่มีถ้อยคำหรือข้อความเกี่ยวกับการเมืองก็จะป๊อปอัพบนนิวส์ฟีดของคนที่เชียร์ฮิลลารี หรือมีแนวโน้มจะซัพพอร์ตฮิลลารี

“สำหรับคนที่เป็นกลางหรือยังตัดสินใจไม่ได้ (Swing Voters) เขาก็จะเห็นคอนเทนต์ทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตจากการแชร์ของเพื่อนทั้งสองฝ่าย แต่เฟซบุ๊กฉลาดพอจะรู้ว่าอะไรที่เป็นเทรนด์อยู่ (ติด Trending Topics ของเฟซบุ๊ก) เช่น ข่าวปลอมกรณีเอฟบีไอที่สืบสวนคดีฮิลลารีติด Trending ปรากฏว่าเพื่อนที่เป็นฝั่งทรัมป์ก็แชร์สิ พอคนแชร์เยอะ เขาก็จะเห็นข่าวนั้นโดยอัตโนมัติ”

หากจะกล่าวหาว่าระบบอัลกอริทึมเป็นตัวการสำคัญเดียว โดยไม่สืบสาวไปถึงต้นตอของข่าวปลอมเลยก็คงไม่ยุติธรรมนัก เว็บไซต์ BuzzFeed เปิดเผยว่ากลุ่มวัยรุ่นในประเทศมาซิโดเนียได้รวมตัวกันสร้างเว็บข่าวปลอมที่สนับสนุนทรัมป์ขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 140 เว็บไซต์! (ซ้ำยังตั้งชื่อให้ดูเหมือนเป็นเว็บไซต์อเมริกัน) และข่าวเหล่านี้ถูกแชร์ในเฟซบุ๊กอย่างรวดเร็ว เช่น worldpoliticus.com, trumpvision365.com, usconservativetoday.com, donaldtrumpnews.co และ usadailypolitics.com

เครื่องจักร ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ เมื่อสมรภูมิเลือกตั้งไม่ได้มีแค่ ‘คน’ เท่านั้น

ก่อนหน้านี้ The Momentum เคยเขียนบทความวิเคราะห์บทบาทของเทคโนโลยี Big Data ในมิติของการเมือง (อ่านบทความ Big Data ชี้ชะตา! ใครคือผู้นำคนใหม่ของอเมริกา ว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นสงครามที่ประชันกันด้วยข้อมูล เพราะข้อมูลก็คืออำนาจใหม่

สำนักข่าวไทยพับลิก้าวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของทรัมป์ คือ ความสำเร็จของการทำโพล และความสำเร็จของการจัดการวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ทันสมัย อันหมายถึง Project Alamo

ก่อนผลการเลือกตั้งจะออกมา ลูกเขยของทรัมป์ได้ว่าจ้างบริษัท Cambridge Analytica และทีมงานจากซิลิคอนวัลเลย์มาทำงานร่วมกัน เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลผู้สนับสนุนทรัมป์ และวิเคราะห์ข้อมูลของ Swing Voters และจัดการโจมตีคู่แข่งอย่างฮิลลารี ด้วยการปล่อยข้อมูลและข่าวที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของฮิลลารีไปยังฐานผู้สนับสนุนของเธอ

สโรจกล่าวว่ากลยุทธ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนวงการดิจิทัล

“โดยทฤษฎีแล้ว Project Alamo มันไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในวงการดิจิทัล มันคือ re-targeting ที่เราเจอกันทุกวัน กับ Facebook Ads ที่เราทำ A/B Testing (การทดสอบกลยุทธ์การโฆษณาเพื่อเปรียบเทียบว่าวิธีไหนให้ผลลัพธ์ดีกว่ากัน)

แต่ A/B Testing นี้ไม่ได้ทำโดยมนุษย์ ถ้าพูดถึงทฤษฎีเรื่อง AI มันเป็น A/B Testing ที่ถูกรันโดย Programmatic Advertising ซึ่งก็คือการใช้หุ่นยนต์ในการยิงโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายแน่นอน เพราะว่าอเมริกาเขาก้าวหน้าเรื่องนี้ เขาใช้แน่ๆ ทีนี้สิ่งที่ผมสงสัยอย่างหนึ่งคือ การทำ Programmatic Advertising หรือใช้เทคโนโลยี AI ปกติแล้วจะมีการป้อนข้อมูล (input) เพื่อสอนเครื่องจักรให้เรียนรู้ ทำงาน และ optimise แต่ผมไม่รู้ว่าข้อมูล input เกี่ยวกับคนที่ซัพพอร์ตทรัมป์และฮิลลารีชอบอะไร อยู่รัฐไหน ผมไม่รู้ว่าเขาเอามาจากไหน อย่างไร มันเป็นข้อมูลเชิงบุคคลมากๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หุ่นยนต์มันจะยิ่งทำงานแม่น ถ้าคุณให้ข้อมูลที่ดี ถูกต้อง สอนมันด้วยหลักที่ถูก สมมติว่านักวิทยาศาสตร์ข้อมูลได้วิเคราะห์แล้วว่านี่คือคนกลุ่มที่ swing อยู่ ไม่แน่ใจว่าจะเชียร์ใคร แล้วถ้าเขาสามารถ crack ได้ว่าคนกลุ่มนี้อยู่รัฐไหน กี่เปอร์เซ็นต์ ชอบอะไรยังไง เขาก็จะยิงข้อความ และ optimise ไปเรื่อยๆ ก็มีผลครับ”

Photo: www.ted.com

ภัยต่อประชาธิปไตย หรือความน่ากลัวของสังคมฟองอากาศ?

นอกจากประเด็นข่าวปลอมแพร่ระบาดแล้ว อิทธิพลของสื่อออนไลน์ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ออกมาพลิกโผ ก็ทำให้หลายๆ ฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบที่มองไม่เห็นจากอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย นักวิจารณ์จากเว็บไซต์ต่างประเทศตั้งคำถามว่าถ้าระบบการทำงานของเฟซบุ๊กซึ่งเป็นสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ส่งผลต่อการเลือกตั้งที่ผ่านมาจริง แล้วจะสั่นคลอนประชาธิปไตยหรือไม่ ขณะที่สื่อมวลชนพากันพูดถึงทฤษฎี ‘ฟองสบู่’ หรือ Filter Bubble ของ เอลี ปารีเซอร์ นักเคลื่อนไหวทางอินเทอร์เน็ต อีกครั้ง

ปารีเซอร์เคยกล่าวบนเวที TED ว่าความหมายของอินเทอร์เน็ตแตกต่างไปจากเดิมมาก จากที่เคยเชื่อมโยงทุกคนในโลกเข้าด้วยกัน ปัจจุบันพื้นที่ออนไลน์และเว็บไซต์ข่าวมีระบบกลไกคัดกรองข้อมูลตามความชอบและสิ่งที่ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบด้วยบ่อยๆ กลายเป็นว่าเรากำลังอยู่ในฟองสบู่ที่รับรู้เฉพาะบางข้อมูลข่าวสารเท่านั้น

“มันกำลังผลักดันเราไปสู่โลกอินเทอร์เน็ต แสดงให้เราเห็นสิ่งที่มันคิดว่าเราอยากเห็น แต่ไม่จำเป็นว่าเป็นสิ่งที่เราควรเห็น”

ทางเว็บไซต์ Vox ได้นำเสนอบทความวิจารณ์เฟซบุ๊กอย่างเผ็ดร้อน พร้อมระบุว่าปัญหาใหญ่ในเวลานี้ก็คือ อินเทอร์เน็ตได้ทำลายเส้นแบ่งระหว่างการรวบรวมข่าวอย่างมืออาชีพกับการปั่นข่าวลือของมือสมัครเล่นไปแล้ว และการแพร่ระบาดของบรรดาเว็บคลิกเบตและเว็บข่าวปลอม เช่น Denver Guardian (ซึ่งออกแบบเหมือนหนังสือพิมพ์ Colorado) ก็สามารถเข้าถึงผู้อ่านวงกว้างได้เช่นเดียวกับสำนักข่าวใหญ่ๆ

Photo: BuzzFeed News

จิตต์สุภา ฉิน มองว่าประเด็นนี้ไม่น่าจะถึงขั้นทำลายระบอบประชาธิปไตย “เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ประชาชนของเขามีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะไปเลือกตั้งผู้สมัครประธานาธิบดีที่พวกเขาชื่นชอบ ไม่ว่าความชื่นชอบนั้นจะมีพื้นฐานมาจากการเสพข่าวประเภทไหนมาก็ตาม

“แต่ข่าวปลอมหรืออัลกอริทึมของเฟซบุ๊กนั้นมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกใครหรือไม่ อันนี้มีส่วนแน่นอน อย่างที่บอกไปว่าตอนนี้เราใช้เฟซบุ๊กเป็นประตูเปิดเข้าไปหาข่าวที่เราต้องการเสพ หรือบางทีจังหวะที่รวดเร็วของการใช้ชีวิตประจำวันก็ทำให้เราอ่านแค่พาดหัวข่าวสั้นๆ บนเฟซบุ๊กเท่านั้น ทำให้การทำข่าวปลอมสามารถทำได้ง่าย แค่สร้างเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมาแบบง่ายๆ พาดหัวเรียกแขกสักหน่อย แล้วเอามาแปะไว้บนเฟซบุ๊ก บางครั้งคนยังไม่ทันอ่านก็แชร์ต่อไปแล้ว ในขณะที่อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กมีแนวโน้มจะเสนอข่าวที่ใกล้เคียงกับข่าวที่เราคลิกอ่านมาให้เราอ่านต่อ ก็อาจทำให้ผู้ใช้เข้าใจว่าข่าวจากทุกที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้”

เมื่อเส้นแบ่งความจริงกับความลวงพร่าเลือนในยุคดิจิทัล เราควรเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ครั้งนี้?

ทางเฟซบุ๊กและกูเกิลยืนยันว่าจะเร่งหาทางแก้ไขจัดการกับปัญหานี้โดยเร็วที่สุด โดยกูเกิลได้ออกโรงเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ B.S. Detector ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ของ Chrome extension ซึ่งจะแจ้งเตือนโพสต์ที่เข้าข่ายนำเสนอเนื้อหาหลอกลวงจากการเสิร์ชบนเว็บกูเกิล แต่ดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะยังคงถูกจับตามองและถกเถียงกันไปอีกนาน

แล้วเราควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้?

ถึงแม้ว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะปฏิเสธว่าเฟซบุ๊กไม่ใช่สื่อ แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยี แต่บทเรียนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น กรณีอาหรับสปริง การปฏิวัติร่มในฮ่องกง มาจนถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีนี้ ก็ยากจะปฏิเสธว่าพลังของโซเชียลมีเดียมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในทุกมิติ และเมื่อเทคโนโลยีรุดหน้าไปไกล ผลกระทบที่ตามมาก็ยิ่งทวีความหลากหลายซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

หรือนี่จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าโลกอินเทอร์เน็ตจะเข้าสู่ช่วง ‘ขาลง’?

“เฟซบุ๊กไม่ใช่สื่อ เพราะไม่ได้ผลิตเนื้อหาข่าวเอง พอๆ กับกูเกิลที่แสดงผลคำค้น ไม่ได้ทำเว็บทั้งหมดเหล่านั้นเอง” จิตต์สุภา ฉิน กล่าว

“ภัยที่แท้จริงน่าจะเป็นการ ‘ยาวไปไม่อ่าน’ หรือภาวะ ‘ไม่ฉุกคิด’ ของตัวผู้ใช้โซเชียลมีเดียเองนี่แหละค่ะ เฟซบุ๊กหรือกูเกิลก็ช่วยป้องกันให้เราได้ในระดับหนึ่ง แต่เลยจากนั้นไปทุกคนก็ควรต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย คลิกอ่านรายละเอียดข่าวให้หมด สังเกตชื่อเว็บไซต์ หรือ URL ของเว็บที่เราอ่านว่าน่าเชื่อถือหรือเปล่า แล้วอะไรที่ไม่แน่ใจเราก็หาข้อมูลเพิ่มเติมเอา เช่น พาดหัวข่าวบอกว่า ทรัมป์พูดในสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แม้เราอยากคลิกแชร์ทันทีเพราะมันดูดราม่าเหลือเกิน แต่ก็ควรกดเข้าไปอ่านก่อนว่าเนื้อข่าวเขาว่าอย่างไร หรือหากมีคลิปที่เขาพูดก็กดเข้าไปฟังบริบทรอบด้านให้ครบทั้งหมด แล้วค่อยตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเราคิดอย่างไรกับข่าวนั้น”

“แต่ละสื่อ แต่ละประเภท ล้วนก็มี agenda ของตัวเองในการนำเสนอข่าว ไม่สามารถพึ่งพาได้ว่าจะตรงไปตรงมาเสมอไป ไม่ใช่เพียงแค่สื่อออนไลน์ แต่สื่อที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสื่อทีวีเองก็เช่นเดียวกัน คนเสพข่าวควรทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน แต่สื่อที่นำเสนอข่าวเท็จ หรือข่าวคุณภาพต่ำนั้น กลไกทางสังคมออนไลน์ก็จะค่อยๆ กำจัดสื่อเหล่านั้นออกไปเองในที่สุด” จิตต์สุภา ฉิน กล่าว

เว็บข่าวปลอม telegraph-tv.co.uk นำเสนอข่าวการเสียชีวิตของ ทักษิณ ชินวัตร
ที่มา: manager.co.th

ขณะที่สโรจเห็นว่า “เราถูกเครื่องจักรควบคุมโดยไม่รู้ตัวเลย พวกระบบอัลกอริทึมบนเฟซบุ๊ก เพราะฉะนั้น ทางแก้ไขมันไม่ใช่การไปปรับอัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก หรือบอกให้มาร์กเปลี่ยน จะไปบังคับคนดูได้ยังไงล่ะ เพราะเขาไลก์เพจแบบนี้ เขาก็คงมีหลักการของเขาอยู่แล้ว มันก็ต้องไปเปลี่ยนที่คนครับ”

ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่ากรณีข่าวปลอมนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยอีกมากมายที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอในฐานะ ‘อิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ’ และ The Momentum ก็ได้นำเสนอบทความวิเคราะห์เบื้องหลังชัยชนะของทรัมป์และความพ่ายแพ้ของฮิลลารีอย่างหลากหลาย

อย่างน้อยที่สุด เราควรเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมกับสิ่งที่รออยู่ในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือแม้แต่การใช้สื่อสังคมออนไลน์จะยิ่งมีปัจจัยภายนอกเพิ่มขึ้นมาอีกมหาศาล เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์พัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุด ถึงเวลานั้น แค่ ‘วิจารณญาณการรับสื่อ’ ของมนุษย์เองก็อาจยังไม่เพียงพอ

ดังที่ เอลี ปารีเซอร์ ได้อธิบายว่า เราได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ ‘อัลกอริทึมกลายเป็นบรรณาธิการ’ ในสังคมแห่งการกระจายข่าวสารแทนมนุษย์แล้ว

ปัญหาคือ อัลกอริทึมเหล่านี้จะตัดสินใจว่าผู้ใช้งานแต่ละคนควรเห็นอะไร และไม่ควรเห็นอะไร แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องจรรยาบรรณของบรรณาธิการ

“เราต้องมั่นใจได้ว่ามันไม่ได้แสดงเพียงสิ่งที่สัมพันธ์กับเราอย่างเดียว เราต้องมั่นใจได้ว่ามันจะแสดงสิ่งที่เราไม่สบายใจที่จะดู ที่ท้าทาย หรือสิ่งที่สำคัญต่อเราเช่นกัน”

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

 

อ้างอิง:
     – www.bbc.com/news/technology-37983571
– www.vox.com/new-money/2016/11/6/13509854/facebook-politics-news-bad
– mashable.com/2016/11/15/bs-detector-chrome-extension-facebook/#OMjd64lTBOqU
– www.reuters.com/article/us-alphabet-advertising-idUSKBN1392MM
– www.ted.com/talks/eli_pariser_beware_online_filter_bubbles?language=th, http://thaipublica.org/2016/11/arm-tungnirun1

 

FACT BOX:

จากผลการสำรวจโดย Pew Research ระบุว่าปี 2016 ชาวอเมริกันยังคงรับข่าวสารทางโทรทัศน์มากที่สุด คิดเป็น 57% รองลงมาคือช่องทางออนไลน์ที่มีมากถึง 38% อาทิ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชัน โดยส่วนมากเป็นกลุ่มคนอายุ 18-29 ปี