ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะพบกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในวันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2017) ถือเป็นผู้นำคนแรกของเอเชียที่เดินทางไปเจอกับประธานาธิบดีทรัมป์ หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

ประเด็นหลักๆ ที่ชินโซ อาเบะ จะพูดคุยกับ โดนัลด์ ทรัมป์ คือเขายังต้องการให้สหรัฐฯ สนับสนุนด้านการค้า โดยยื่นข้อเสนอว่าการลงทุนของญี่ปุ่นจะสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน และญี่ปุ่นยังต้องการการสนับสนุนด้านการทหารของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้เช่นกัน ซึ่งเขาหวังว่าการเจรจาครั้งนี้จะทำให้อุณหภูมิความโกรธของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ลดลง

ผู้นำทั้งสองคนจะพบกันในการประชุมที่วอชิงตัน ดี.ซี. วันนี้ และจะออกรอบตีกอล์ฟด้วยกัน ที่สนามกอล์ฟใกล้กับรัฐฟลอริดา โดยนักการเมืองญี่ปุ่นคาดว่า ชินโซ อาเบะ จะใช้เวลาระหว่างการตีกอล์ฟกับ โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อเจรจาเรื่องสำคัญ ตามรอยปู่ของเขา หรืออดีตนายกรัฐมนตรีโนบุซุเกะ คิชิ (Nobusuke Kishi) ที่เคยเจรจาทางการทูตระหว่างตีกอล์ฟกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ในปี 1957 ซึ่งชาวญี่ปุ่นทั่วไปมักเจรจาธุรกิจระหว่างตีกอล์ฟ

จนหนังสือพิมพ์หลายฉบับของสหรัฐฯ พาดหัวว่า เกมการเล่นกอล์ฟครั้งนี้คือ ‘ชัยชนะทางการทูต’

เราไม่มีทางเลือกนอกจากต้องตามสหรัฐฯ ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีก็ตาม

Photo: Joshua Roberts, Reuter/Profile

อุณหภูมิความโกรธของทรัมป์ที่มีต่อญี่ปุ่น

ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พูดย้ำตลอดว่า การที่สหรัฐฯ ต้องไปช่วยสนับสนุนด้านทหารกับญี่ปุ่นและเกาหลีนั้นเป็นภาระด้านงบประมาณ

นอกจากนี้เขายังกล่าวหาญี่ปุ่น จีน และเม็กซิโก ว่าคือสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลจากการทำการค้าที่ไม่ยุติธรรม และกล่าวหาญี่ปุ่นว่าใช้นโยบายการเงินที่ลดค่าเงินเยนลง เพื่อกระตุ้นการส่งออก

ชินโซ อาเบะ จึงใช้โอกาสนี้เพื่อเจรจากับ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า ญี่ปุ่นจะสร้างงานให้กับชาวอเมริกันถึง 700,000 คน จากการลงทุนทางด้านสาธารณูปโภค เช่น รถไฟความเร็วสูง เขากับรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจะไปพร้อมกับข้อมูลที่ยืนยันว่า ญี่ปุ่นคือผู้ลงทุนต่างชาติของสหรัฐฯ ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากอังกฤษ เพื่อลบทัศนคติของทรัมป์ที่มองว่า การค้าระหว่างประเทศจะต้องเป็นสงครามแบบเก่า

Photo: Joshua Roberts, Reuter/Profile

ญี่ปุ่นเลือกได้หรือไม่มีทางเลือก? ในเวลาที่ทรัมป์อาจหันไปหาจีน

จากกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีจุดยืนชัดเจนว่า ต้องการยกเลิกข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) และก็เป็นสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งแรกหลังขึ้นเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ปฏิกิริยาของแต่ละประเทศในเอเชียนั้นแตกต่างกันไป อย่างสิงคโปร์เองนั้นประกาศว่า แม้สหรัฐฯ จะถอนตัวจาก TPP แต่ TPP ยังต้องดำเนินต่อไปให้บรรลุเป้าหมาย ขณะที่ญี่ปุ่นนั้นกลับมีความเห็นตรงกันข้าม เพราะชินโซ อาเบะ มองว่า หาก TPP ขาดสหรัฐฯ ไปนั้น TPP จะ ‘ไร้ความหมาย’ ทันที

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการยกเลิกข้อตกลงการค้าที่เป็นลักษณะพหุภาคี เพราะมองว่าแบบทวิภาคี หรือข้อตกลงระหว่างแค่สองประเทศนั้นทำให้สหรัฐฯ มีข้อผูกมัดน้อยกว่า และมีอิสระในการควบคุมเงื่อนไขข้อตกลงได้มากกว่า เพื่อไม่ให้กระทบกับผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ เองก็ต้องการทำข้อตกลงทางการค้าแบบหนึ่งต่อหนึ่งกับญี่ปุ่น แต่แท้จริงแล้วญี่ปุ่นนั้นยังคงต้องการทำข้อตกลงทางการค้าแบบพหุภาคี

แต่ฐานะของญี่ปุ่นตอนนี้อาจถูกมองได้ว่าไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการพึ่งสหรัฐฯ ทางด้านทหารและอาวุธในทะเลจีนใต้

“ผมไม่คิดว่าอาเบะจะปฏิเสธข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี แต่ก็คงไม่คิดว่ามันเป็นความคิดที่ดีเช่นกัน” เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์กับ Reuters

ที่สำคัญญี่ปุ่นกังวลว่าประธานาธิบดีที่คาดเดาไม่ได้อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ นั้น จะหันไปให้ความร่วมมือกับจีน และปล่อยให้ญี่ปุ่นโดดเดี่ยวในภูมิภาคนี้ ยิ่งโดยเฉพาะหลังจากที่ทรัมป์เพิ่งส่งจดหมายหาประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนว่า ต้องการร่วมมือกับจีน และจีนก็ได้ออกมาตอบกลับว่า จีนยินดีที่จะทำงานร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการเผชิญหน้าและความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้ทรัมป์ยังกลับลำว่าทรัมป์จะเคารพ ‘นโยบายจีนเดียว’ ของจีน ที่จีนยังถือว่าไต้หวันไม่ได้แบ่งแยกออกจากจีน เพราะก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้ต่อสายตรงหาประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อเดือนธันวาคม 2016 ซึ่งเขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกตั้งแต่ปี 1979 ที่ได้พูดคุยกับประธานาธิบดีไต้หวัน จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า เขาอาจจะไม่ทำตามนโยบายจีนเดียวอย่างเช่นประธานาธิบสหรัฐฯ คนก่อนๆ

นอกจากเรื่องการค้าแล้ว ครั้งนี้ชินโซ อาเบะ จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับทรัมป์ว่า ญี่ปุ่นเต็มใจที่จะเพิ่มงบประมาณทางด้านทหาร เพราะญี่ปุ่นต้องการมีบทบาทด้านทหารในภูมิภาคนี้มากขึ้น เพื่อให้สหรัฐฯ ยังช่วยเหลือญี่ปุ่นในเรื่องนี้อยู่

ขณะที่การเพิ่มงบประมาณทหารนั้นแม้จะเป็นที่พึงพอใจของสหรัฐฯ แต่กำลังสร้างความไม่พอใจให้กับชาวญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังเจอกับปัญหาหนี้สาธารณะ

จุน โอกุมุระ (Jun Okumura) อดีตผู้เจรจาด้านการค้าของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า “มันยากมากที่เราจะทำให้ทรัมป์พอใจ ในขณะที่ก็ไม่ทำให้ชาวญี่ปุ่นรู้สึกว่าจะต้องยอมสหรัฐฯ ไปเสียทั้งหมด”

ดังเช่นที่เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นบอกกับ Reuters ไว้ว่า “เราไม่มีทางเลือกนอกจากต้องตามสหรัฐฯ ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีก็ตาม”

อ้างอิง:

Tags: , , ,