คุณเลือกงานจากเงินเดือนหรือสวัสดิการ?

ทุกวันนี้ตลาดการจ้างงานได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะนอกจากเงินเดือนสูง สวัสดิการก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยดึงดูดให้คนมาสมัครงาน และยังเป็นการรักษาพนักงานดีๆ ไว้กับบริษัทอีกด้วย

จากผลสำรวจเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในการจ้างงานของ Glassdoor ปี 2015 พบว่า ประมาณ 60% ของพนักงานที่ทำการสำรวจบอกว่า “สวัสดิการถือเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณารับข้อเสนอของบริษัท” นอกจากนี้ 80% ของพนักงานมักจะเลือกสวัสดิการเพิ่มเติมมากกว่าการเพิ่มเงินเดือน

กูเกิล (Google) ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านสวัสดิการของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น อาหารกลางวันที่ทำโดยพ่อครัวมืออาชีพ เก้าอี้นวดไว้สำหรับผ่อนคลายจากการทำงานหนัก คลาสโยคะ หรือแม้แต่บริการตัดผม ด้านทวิตเตอร์ (Twitter) ก็ดีไม่แพ้กัน พนักงานสามารถรับประทานอาหารได้ 3 มื้อต่อวัน มีบริการฝังเข็ม และคลาสสำหรับพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ ส่วนแซส (SAS) บริษัทซอฟต์แวร์ชื่อดังยังมีทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีสำหรับลูกของพนักงานอีกด้วย

ปัจจุบันบริษัทเล็กๆ หลายแห่งเริ่มหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับสวัสดิการเพิ่มเติมมากขึ้น เช่น การเบิกค่าใช้จ่ายในวันหยุด หรือบริการแจกหนังสือและคินเดอร์ให้อ่านฟรี

แล้วสำหรับบริษัทที่ไม่สามารถจ่ายค่าสวัสดิการได้เท่ากับกูเกิลล่ะ… ควรทำอย่างไร?

ไม่ต้องกังวลหากบริษัทของคุณไม่สามารถจ่ายค่าสวัสดิการให้พนักงานได้เท่ากับกูเกิลเพราะผลสำรวจล่าสุดของ เคอร์รี โจนส์ (Kerry Jones) ผู้จัดการการตลาดของ Fractl พร้อมทีมได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับสวัสดิการที่พนักงานต้องการพบว่า นอกเหนือจากประกันสุขภาพแล้ว พนักงานมักจะให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่บริษัทไม่จำเป็นจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเลย เช่น การยืดหยุ่นชั่วโมงทำงาน มีวันหยุดเพิ่มมากขึ้น และสามารถทำงานที่บ้านได้ นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบอีกว่า สวัสดิการบางอย่างสามารถดึงดูดพนักงานบางคนได้มากกว่างานที่มีเงินเดือนสูงแต่สวัสดิการน้อย

จากการสำรวจพนักงานชาวอเมริกันจำนวน 2,000 คน อายุตั้งแต่ 18-81 ปี พบว่า สวัสดิการที่พนักงานจะเลือกพิจารณาเวลาเข้าทำงานมากที่สุดถึง 88% ก็คือ ‘ประกันสุขภาพ ทันตกรรม และสายตา’ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดสำหรับบริษัท เฉลี่ย 6,435 เหรียญสหรัฐต่อคน หรือ 18,142 เหรียญสหรัฐต่อครอบครัว

สวัสดิการที่ได้รับความสนใจเป็นลำดับต่อมาก็คือ ‘การยืดหยุ่นชั่วโมงทำงาน’ เพื่อปรับสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงานให้พอดี โดยส่วนใหญ่ของพนักงานบอกว่าการยืดหยุ่นชั่วโมงทำงาน การเพิ่มวันหยุดให้มากขึ้น สามารถทำงานที่บ้านได้และไม่จำกัดวันลาหยุดนั้น เป็นสวัสดิการที่จะช่วยให้คนหันมาสนใจงานที่เงินเดือนน้อยมากกว่าเงินเดือนเยอะแล้วสวัสดิการน้อย

ยิ่งไปกว่านั้นตามผลสำรวจล่าสุดของ FlexJobs การยืดหยุ่นชั่วโมงทำงานยังเป็นสวัสดิการที่สำคัญของพนักงานที่มีลูก เพราะพวกเขาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากกว่าเงินเดือนและประกันสุขภาพเสียอีก

88% ของพนักงานบอกว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญในการพิจารณางานที่สามารถยืดหยุ่นชั่วโมงทำงานให้ ในขณะที่ 80% จะพิจารณางานที่พวกเขาสามารถทำที่บ้านได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นการยืดหยุ่นชั่วโมงทำงาน หรือสามารถทำงานที่บ้านได้ ก็ถือเป็นสวัสดิการที่มีค่าใช้จ่ายไม่มากสำหรับบริษัทที่ต้องการเสนอสวัสดิการให้แก่พนักงาน แต่ไม่มีงบประมาณมากพอ เพราะทั้งสองสวัสดิการนี้ทางบริษัทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย แถมยังเป็นการประหยัดเงินอีกด้วย

และสำหรับ ‘การเพิ่มวันหยุด’ นั้นถือเป็นสวัสดิการที่ช่วยดึงดูดพนักงานได้ถึง 80% ตามการสำรวจของ FlexJobs แต่การเพิ่มวันหยุดนั้นจะเพิ่มภาระให้บริษัท ถ้าหากพนักงานไม่ได้ใช้วันหยุดตามที่กำหนด เพราะต้องจ่ายค่าชดเชยสำหรับวันหยุดที่พนักงานไม่ได้ใช้ตอนที่พวกเขาออกจากบริษัท

เพราะฉะนั้นการเสนอนโยบาย ‘การลาแบบไม่จำกัด’ นั้นเป็นข้อดีทั้งฝ่ายพนักงานและบริษัท ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลแมมมอท (Mammoth) เพราะไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการใช้นโยบายการลาแบบไม่จำกัด แต่ยังช่วยแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรที่แสดงว่า ‘พนักงานจะได้รับความไว้วางใจจากบริษัทและยังมีความรับผิดชอบในการบริหารงาน โดยที่บริษัทไม่คำนึงว่าเขาจะใช้วันหยุดกี่วันก็ตาม’

ตามที่งานวิจัยจากโครงการ ‘Time off is an initiative from the U.S. Travel Association to prove’ บอกไว้ว่า การเปลี่ยนไปใช้นโยบายการลาได้ไม่จำกัดนั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สินได้ เพราะทางบริษัทไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้วันหยุด ซึ่งสามารถประหยัดเงินบริษัทได้ 1,898 เหรียญสหรัฐ หรือราว 66,418 บาทต่อพนักงานหนึ่งคน

นอกจากนี้สมาคมการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Society for Human Resource Management) หรือ SHRM เผยว่า มีเพียงแค่ 1-2% ของบริษัทในสหรัฐฯ ที่กำลังใช้นโยบายการลาแบบไม่จำกัด ซึ่งถือเป็นสวัสดิการหนึ่งที่ทำให้บริษัทเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น

ผลสำรวจจาก The Creative Group พบว่า มีเพียงแค่ 9% ของผู้บริหารคิดว่าผลผลิตจะลดลงหากพนักงานใช้เวลาในวันหยุดมาก โดยทาง Fractl ลองนำนโยบายการลาแบบไม่จำกัดมาใช้เมื่อปีที่แล้วและไม่พบว่าจะมีผลเสียต่องาน ซึ่งผู้อำนวยการ ไรอัน แม็กกอนากิลล์ (Ryan McGonagill) แสดงความเห็นว่าผลงานกับการทำงานในออฟฟิศนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

ด้านสวัสดิการการกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการช่วยเหลือค่าเล่าเรียนก็ยังอยู่ในระดับที่สูงของรายการสวัสดิการที่พนักงานต้องการ แต่จากผลสำรวจของ SHRM พบว่า มีเพียงแค่ 3% ของบริษัทในปัจจุบันที่เสนอสวัสดิการการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาและช่วยเหลือค่าเล่าเรียน เพราะถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองของบริษัท

นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการอื่นๆ ที่ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อบุคคลหรือไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อาหารและกาแฟฟรีในบริษัท กิจกรรมเพื่อสานความสัมพันธ์ต่างๆ จะอยู่ลำดับท้ายๆ ของสวัสดิการที่พนักงานอยากได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าสวัสดิการเหล่านี้ไม่สำคัญต่อพนักงานแต่ว่ามันไม่สำคัญพอที่จะชักจูงให้พนักงานเลือกทำงานกับบริษัทนั้นๆ

ผลสำรวจยังสังเกตเห็นความแตกต่างทางเพศเกี่ยวกับการเลือกสวัสดิการ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเลือกสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว เช่น การจ่ายค่าชดเชยเมื่อต้องลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตร ที่สามารถชักจูงพนักงานหญิงถึง 25% ส่วนผู้ชายมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับสวัสดิการเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์และอาหารฟรี แต่ทั้งนี้ผู้หญิงและผู้ชายมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับสวัสดิการเรื่องฟิตเนสเหมือนกันอาจจะแตกต่างในเรื่องของชนิดกีฬาที่เล่น

จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าบริษัทเล็กๆ ก็สามารถเป็นที่น่าสนใจได้โดยการเลือกสวัสดิการที่ไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง แต่เป็นสิ่งที่พนักงานต้องการ

ข้ามมาดูตลาดแรงงานในไทย ที่ JobsDB เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดพบว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้คนทำงานมีความสุขกับงานมากที่สุด?

โดย 34% เผยว่าพนักงานไทยจะมีความสุขมากกว่าหากได้รับโอกาสที่ดี และสามารถเปลี่ยนไปทำงานที่บริษัทไหนก็ได้ ส่วน 19% เผยว่าจะมีความสุขมากกว่าหากอยู่กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งไปนานๆ ตราบใดที่พวกเขายังได้ขึ้นเงินเดือนเรื่อยๆ และอีก 8% ระบุว่าพวกเขาจะมีความสุขหากได้รับการยอมรับและเลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมไหน แต่อย่างน้อยผลสำรวจเหล่านี้ก็กำลังยืนยันกับเราว่าปัจจุบันแค่เงินเดือนสูงอย่างเดียวอาจไม่สามารถดึงดูดพนักงานให้จงรักภักดีกับองค์กรได้เสมอไป เพราะสิ่งสำคัญกว่าคือความสุขในการทำงานที่ต้องมาควบคู่กับความสุขในการใช้ชีวิตด้วย

อ้างอิง:

Tags: , ,