ไทยและเมียนมาเป็นสองประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ เลือกมาเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งแต่ประธานาธิบดีดูเตอร์เต ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ฟิลิปปินส์ก็กลายเป็นประเทศที่ถูกประเทศมหาอำนาจจับตามองเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ นโยบายการปราบปรามยาเสพติดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงคำพูดต่อต้านตะวันตกอย่างรุนแรง

ในการเมืองโลกทั้งฟิลิปปินส์และไทยถูกกล่าวหาว่า ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน’ เช่นเดียวกัน การเลือกมาเยือนไทยครั้งนี้จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าฟิลิปปินส์อาจมองเห็นไทยเป็นพันธมิตรสำคัญ เพราะทั้งสองต่างถอยห่างจากสหรัฐฯ ไปหาจีนที่ไม่สนใจว่าไทยจะถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร หรือฟิลิปปินส์จะละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ อีกทั้งหลายครั้งที่บุคลิกของทั้งสองคนนี้ยังถูกมองว่าโผงผางเหมือนกัน ไม่ยอมอ่อนข้อต่อตะวันตกเหมือนกัน แต่ในความเหมือนนั้นมีความแตกต่างหรือไม่เมื่อทั้งสองคนไปอยู่บนเวทีโลก?

ถอยห่างสหรัฐฯ หันหาจีนที่ไม่แทรกแซงการเมืองภายใน

การเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีดูเตอร์เตตั้งใจจะสานความร่วมมือกับไทยในหลากหลายด้านตามธรรมเนียมปกติทางการทูต ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง เกษตรกรรม พลังงาน การศึกษา และความร่วมมือด้านทหาร

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิลิปปินส์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออกประจำ The Asian Forum for Human Rights and Development มองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฟิลิปปินส์จะเลือกเดินทางมาเยือนไทย “ประเทศไทยถือว่าเป็นอีกประเทศฝั่งแผ่นดินใหญ่ของอาเซียนที่มีบทบาทมากที่สุด และสองประเทศนี้มีความร่วมมือด้านการค้ากันมายาวนาน อีกทั้งยังเป็นสองประเทศที่ในอดีตเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนานทั้งคู่”

หากเรามองฟิลิปปินส์ในฐานะประธานประเทศอาเซียนในปีนี้ การเดินทางมาเยือนประเทศเพื่อนบ้านจึงถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากมองไปที่การเมืองโลก จะพบว่าไทยกับฟิลิปปินส์กำลังเผชิญกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือเรื่อง ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชน’ โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด ส่วนรัฐบาลไทยถูกต่างชาติจับตามองเรื่องการละเมิดสิทธิพลเมือง เสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการที่ไทยยังถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร ดังนั้นสองประเทศนี้จึงมีทิศทางนโยบายต่างประเทศที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ การถอยห่างจากสหรัฐฯ และหันไปพึ่งพาจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ไม่สนใจเรื่องกิจการภายใน การมาเยือนไทยของประธานาธิบดีดูเตอร์เตครั้งนี้จึงสะท้อนว่า ฟิลิปปินส์มองไทยเป็นเพื่อนร่วมทาง

“ตั้งแต่ดูเตอร์เตขึ้นมารับตำแหน่ง ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาก็ขยับห่างขึ้นเรื่อยๆ แล้วหันมาใกล้ชิดกับจีนและรัสเซียมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นแนวโน้มและทิศทางเดียวกันกับประเทศไทย หลังจากที่รัฐบาลทหารขึ้นมามีอำนาจ เพราะนอกจากจีนจะมีอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจสูงที่สุดแล้ว จีนยังเป็นมหาอำนาจที่ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองภายในและสิทธิมนุษยชน แต่ปล่อยให้เป็นอำนาจอนาธิปไตยของแต่ละประเทศ เพราะจีนเองก็ใช้ข้ออ้างเดียวกันนี้ในการยันกับโลกตะวันตก”

นอกจากนี้นโยบายไม้แข็งของฟิลิปปินส์ด้านการปราบปรามยาเสพติด และการทำให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติด (Drug Free Area) ที่ถึงแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการปราบปรามที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่พิมพ์สิริมองว่ารัฐบาลทหารไทยคงไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้ ฟิลิปปินส์จึงมองว่าประเทศไทยจะเป็นพันธมิตรที่สำคัญในอาเซียน

โผงผาง ต่อต้านตะวันตก ชิงพื้นที่สื่อ สองผู้นำอาเซียนที่คล้ายคลึงกัน?

จากประเด็นเรื่องทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทยและฟิลิปปินส์ที่คล้ายคลึงกันแล้ว หลายครั้งที่บุคลิกของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต และนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกนำมาเปรียบเทียบว่ามีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็น คำพูดโผงผางที่ชิงพื้นที่สื่อได้เสมอ หรือแนวคิดที่ไม่ยอมอ่อนต่อตะวันตกของทั้งคู่ หากแต่ว่าคำพูดต่อต้านตะวันตกของประธานาธิบดีดูเตอร์เตนั้นจะปรากฏบนเวทีโลก ขณะที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์นั้นจะยอมให้กับกระแสการเมืองโลกมากกว่า

พิมพ์สิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิลิปปินส์แสดงความคิดเห็นเห็นว่า “ฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาแบบ Love-Hate Relationship เพราะฟิลิปปินส์เป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา จึงมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มายาวนาน และได้รับความร่วมมือในหลากหลากด้าน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกต่อต้านเจ้าอาณานิคม และมีคำพูดโผงผางต่อต้านชาติตะวันตกว่า ตะวันตกนั้นกดขี่คุกคาม จึงเป็นการเล่นกับอารมณ์ของชาวฟิลิปปินส์ เพื่อให้เขาได้รับความนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่ เพราะยิ่งพูดคนก็ยิ่งเฮ แต่อย่างไรก็ตามชนชั้นกลางบางส่วนของฟิลิปปินส์ยังมองว่า ฟิลิปปินส์ยังควรเป็นพันธมิตรที่ดีกับสหรัฐอเมริกาอยู่”

ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีดูเตอร์เตเคยออกมาต่อต้านสหรัฐอเมริกาด้วยถ้อยคำที่รุนแรงทั้ง “Son of the Bitch” “Go to Hell” หรือ “Monkeys”

ขณะที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากบ้านเรานั้น แม้ว่าจะมีบางครั้งที่ให้สัมภาษณ์สื่อในลักษณะไม่ยอมอ่อนต่อชาติตะวันตก แต่พิมพ์สิริมองว่าพลเอกประยุทธ์จะไม่กล้าเปิดหน้าแลกเท่ากับประธานาธิบดีดูเตอร์เต

“พลเอกประยุทธ์เหมือนกำนันหรือพี่ใหญ่อยู่ในตำบล ที่พอออกไปประชุมระดับมหาดไทยก็ยังต้องยอมให้กับกระแสการเมืองโลก เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ได้มีอำนาจต่อรองขนาดนั้นในระดับสากล และก่อนหน้าที่ไทยจะมีรัฐบาลทหารที่ตะวันตกแสดงท่าทีต่อต้านชัดเจน ไทยมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และตะวันตกมายาวนานตั้งแต่สมัยสงครามเย็น แต่ท่าทีของไทยที่หันไปหาจีนมากขึ้นนั้นเป็นเหมือนการประท้วงตะวันตกที่ไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร”

นอกจากนี้ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกของคนไทยไม่ได้รุนแรงดังเช่นคนฟิลิปปินส์ “พลเอกประยุทธ์รู้ว่าตัวเองก็อาจจะไม่ได้รับความนิยมในประเทศถ้าพูดแบบนั้น เพราะสังคมบ้านเราไม่ได้มีอารมณ์ต่อต้านตะวันตกรุนแรงขนาดเท่าคนฟิลิปปินส์ เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์การเป็นเมืองขึ้น ซึ่งถ้าพลเอกประยุทธ์พูดแบบประธานาธิบดีดูเตอร์เตไป ก็ใช่ว่าคนไทยจะเอาด้วย”

การที่ฟิลิปปินส์กล้าที่จะแสดงท่าทีต่อต้านตะวันตกมากกว่าไทย เพราะฟิลิปปินส์คิดว่า การหันไปสนิทกับจีนและรัสเซียจะช่วยคานอำนาจกับตะวันตกได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีสิ่งที่น่ากังวลสำหรับฟิลิปปินส์คือ เมื่อฟิลิปปินส์หันไปหาจีนก็เจอจีนรุกรานในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ อย่างล่าสุดที่จีนนั้นเข้าไปสร้างสิ่งก่อสร้างบริเวณหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ที่ยังเป็นพื้นที่พิพาทอยู่ นอกจากนี้พอถึงเวลาจริงๆ รัฐบาลของฟิลิปปินส์เองก็ต้องออกมาแก้ต่างแทนประธานาธิบดีดูเตอร์เตเวลาที่เขาพูดพาดพิงสหรัฐฯ เพราะฟิลิปปินส์ยังต้องพึ่งสหรัฐอเมริกาในหลายด้าน ด้านรัฐบาลทหารของไทยเองที่แม้จะพยายามหันไปหาจีนเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากตะวันตก แต่ก็ยังไม่สามารถตัดขาดจากตะวันตกได้อยู่ดี

สุดท้ายแล้วคำพูดต่อต้านตะวันตกของดูเตอร์เตก็อาจจะเป็นเพียงแค่สีสันบนสื่อต่างชาติเท่านั้น

อ้างอิง:

Tags: ,