ถือเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ของชาวฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้ หลังฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายแรงงานที่ชื่อ ‘Right to Disconnect’ ซึ่งอนุญาตให้ลูกจ้างและแรงงานทั่วไปไม่จำเป็นต้องตอบอีเมล หรือพิมพ์แชตที่เกี่ยวกับงานนอกเวลาทำงานอีกต่อไป และได้เริ่มต้นบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2017 ที่ผ่านมา

โดยมีข้อกำหนดว่า บริษัทหรือองค์กรใดในประเทศฝรั่งเศสที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไปจะถูกบังคับใช้กฎหมายนี้โดยอัตโนมัติ เพื่อลดปัญหาการทำงานล่วงเวลาและเพิ่มเวลาส่วนตัวให้กับลูกจ้างเหล่านั้น หากบริษัทใดที่มีรูปแบบการทำงานที่จำเป็นจะต้องติดต่อกับลูกจ้างนอกเวลางานก็ควรออกใบอนุญาตและระบุข้อตกลงที่ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการใช้งานสมาร์ตโฟน ไม่ว่าจะเพื่อการทำงานหรือความบันเทิงในปริมาณที่มากเกินไป ย่อมทำให้เกิดผลเสียตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ หรือความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีปัญหานี้ที่ลูกจ้างส่วนใหญ่มักจะถูกบีบให้ออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟนตลอดเวลาเพื่อติดตามงาน

เชื่อกันว่ากฎหมายนี้เป็นผลงานของ มีเรียม เอล กอมรี (Myriam El Khomri) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประเทศฝรั่งเศส ที่ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายนปี 2015 เจ้าตัวเคยแสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาโรคอ้วนที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของลูกจ้างในฝรั่งเศสมาแล้วเช่นกัน

ฝรั่งเศสในวันที่ Right to Disconnect

ทีมวิจัย Eleas ในฝรั่งเศสเผยผลวิจัยในช่วงเดือนตุลาคมปี 2015 ว่า ประชากรฝรั่งเศสมากกว่า 1 ใน 3 ใช้สมาร์ตโฟนของพวกเขาทำงานนอกเวลาเป็นประจำทุกวัน โดย 60% ของลูกจ้างในตัวอย่างสำรวจต่างสนับสนุนให้มีการออกมาตรการนี้เพื่อความชัดเจนในด้านสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาพึงได้รับ

หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Libération ได้กล่าวยกย่อง Right to Disconnect ว่าเป็นกฎหมายที่จำเป็นมากในฝรั่งเศส เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้างส่วนใหญ่มักถูกตัดสินจากความมุ่งมั่นของพวกเขา และความพร้อมในการทำงาน (นอกเหนือเวลาทำงาน)

ขณะที่บริษัทใหญ่หลายองค์กร อาทิ บริษัทผลิตพลังงานนิวเคลียร์ Areva, บริษัทประกันภัย Axa ในประเทศฝรั่งเศส ไปจนถึงค่ายผู้ผลิตรถยนต์อย่าง Volkswagen และ Daimler ในเยอรมัน ต่างก็ขานรับเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวด้วยการตัดการเชื่อมต่อระบบอีเมลในช่วงเลิกงานและสุดสัปดาห์ รวมถึงทำลายระบบส่งอีเมลอัตโนมัติที่รบกวนลูกจ้างในช่วงลาพักร้อน

ทั้งนี้สหภาพการค้าฝรั่งเศสได้ดำเนินการเรียกร้องการทำงานของลูกจ้างที่จำกัดแค่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (7 ชั่วโมงต่อวัน) มาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งการออกกฎหมาย Right to Disconnect นี้น่าจะก่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายแรงงานในฝรั่งเศสได้อย่างจริงจัง หลังจากที่ก่อนหน้านี้การลงโทษบริษัทที่ละเมิดสิทธิ์นอกเวลาทำงานของลูกจ้างอาจจะไม่ค่อยเข้มงวดเท่าที่ควร

ทนายความสิทธิมนุษยชนสนับสนุนให้ใช้กฎหมายนี้

นางสาวคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ดูแลกรณีร้องเรียนกฎหมายแรงงานกล่าวว่า “โดยปกติแล้ว เวลาทำงานของลูกจ้างจะมีการกำหนดชัดเจน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไทยก็จะใช้ระบบ 3-8 หมายถึงในหนึ่งวันคุณจะมีเวลาทำงานทั้งหมด 8 ชั่วโมง เวลาในการหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง 8 ชั่วโมง และเวลาในการพักผ่อนอีก 8 ชั่วโมง

“ส่วนตัวจึงเห็นด้วยและสนับสนุนการออกกฎหมายนี้ของฝรั่งเศส เนื่องจาก การพิมพ์ตอบอีเมลควรจะอยู่ภายในเวลาทำงานตามที่สัญญาการว่าจ้างได้มีการระบุไว้ ยกตัวอย่างทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น การทำงานที่รวมถึงการตอบเมลก็ไม่ควรเกินช่วงเวลาดังกล่าว เพราะบางบริษัทก็มองเรื่องการตอบเมลเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการทำงานหรือการขึ้นเงินเดือน ดังนั้นไม่ว่าลูกจ้างจะอยู่ในช่วงวันหยุดหรือลาพักร้อน มันก็กลายเป็นข้อบังคับที่ทำให้เขาต้องตอบเมลตลอดเวลา วันหยุดที่มีอยู่ก็ไม่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังพลอยทำให้ลูกจ้างไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี เนื่องจากมีเวลาในการพักผ่อนและการพัฒนาศักยภาพตนเองนอกเวลางานได้ไม่เพียงพอ

“ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ทำด้วย งานบางประเภทจำเป็นต้องติดตามงานเร่งด่วนตลอดเวลา หรืองานที่ต้องดีลกับลูกค้าต่างประเทศที่มีช่วงเวลาแตกต่างจากเราก็ถือเป็นข้อยกเว้น ไม่ได้ตายตัวเสมอไป เพราะในทางปฏิบัติจริงๆ การบังคับใช้กฎหมายนี้กับทุกองค์กรก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไปเหมือนกัน”

ก่อนจะ ‘Right to Disconnect’ ต้องทำความเข้าใจกับ ‘งาน’ ที่ทำ

ด้านนางสาวเบญจพร สุขศรี Senior HR Specialist บริษัท Rabbit’s Tale Digital Group กล่าวว่า “ส่วนตัวมองว่าการออกกฎหมายตัวนี้อาจจะเป็นการบีบบังคับบริษัทหรือองค์กรต่างๆ แบบตายตัวเกินไป มันควรจะเป็นแค่หลักปฏิบัติหรือธรรมเนียมประจำบริษัทมากกว่า เพราะการที่ฝรั่งเศสเขาออกกฎหมายนี้อาจจะแสดงว่าประเทศเขากำลังเผชิญปัญหาเรื่องแรงงานอยู่ก็ได้ เราก็ต้องย้อนกลับมาดูที่ประเทศของเรา หรือองค์กรที่เราอยู่ว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า

“บางบริษัทเขาก็อาจจะยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำงาน ครีเอทีฟบางทีมอาจจะต้องเลิกงานกันเที่ยงคืน ดังนั้นเขาก็ไม่สามารถระบุเวลาในการทำงานแบบเป๊ะๆ ได้ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานองค์กรและรูปแบบในการทำงานของคุณด้วยว่ามีลักษณะอย่างไร อย่าง Rabbit’s Tale ก็จะมีการแจ้งพนักงานตั้งแต่วันแรกของการสัมภาษณ์แล้วว่า ที่นี่ไม่มี OT, ชั่วโมงการทำงานจะยืดหยุ่น, บางทีมอาจจะต้องกลับดึกหรือสแตนด์บายพร้อมทำงานตลอดเวลา ซึ่งในสัญญาจ้างก็จะมีการระบุรายละเอียดพวกนี้ไว้อยู่แล้ว

“การตอบเมล หรือการทำงานล่วงเวลาแน่นอนว่าเป็นการรบกวนเวลาพักผ่อนของลูกจ้าง แต่ส่วนหนึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราวางตำแหน่งของตัวเองไว้อย่างไร เรารักงานที่ทำหรือเปล่า มันเป็นไปไม่ได้ที่ AE ที่รักงานบริการมากๆ เลือกที่จะไม่คุยกับลูกค้าในช่วงวันหยุดเลย แต่ถ้าคุณทำงานในสายโปรดักชันแล้วถูกบังคับให้ต้องทำงานเกินเวลาจริงไปมาก (8 ชั่วโมง) อันนี้ก็เกินไป ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของงานด้วย

“ถ้ากฎหมายนี้จะถูกบังคับใช้ในไทย เราเห็นด้วยนะ เพียงแต่มันต้องไม่เป็นรูปแบบการเหมารวมบังคับใช้ทุกธุรกิจ มันควรจะมีการลงพื้นที่หาข้อมูลว่าสำหรับประเทศไทยเหมาะสมที่จะใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานรูปแบบใด เพราะหากมีการกำหนดกฎหมายที่ระบุชัดเจนแล้ว บริษัทหรือองค์กรต่างๆ เสียหาย ผู้ที่ออกกฎหมายก็คงไม่สามารถรับผิดชอบไหว”

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai​
อ้างอิง:
Tags: , , , ,