เกษตรกรรมที่บุกรุกผืนป่านั้นถือเป็นการรบกวนและทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ตระกูลลิงในโลกนี้ถึง 76%
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการทำน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ยาง หรือแม้แต่การเข้าสู่ระบบฟาร์มปศุสัตว์

นักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าจำนวนกว่า 31 คน ได้ออกมาเรียกร้องให้เร่งอนุรักษ์สัตว์ตระกูล ‘ลิง’ (สัตว์ไพรเมต) หลังต้องเผชิญภาวะใกล้สูญพันธุ์

ถึงแม้ว่าลิงกอริลลา ลิงอุรังอุตัง และค่าง จะเป็นสัตว์ป่าที่มีเป็นจำนวนมาก แต่กองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่าก็ชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้สัตว์ในตระกูลเหล่านี้ต้องเผชิญวิกฤตการณ์การสูญพันธุ์เป็นเพราะ ‘มนุษย์’

ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ตระกูลลิงใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ การถูกล่าเพื่อนำมาปรุงเป็นอาหาร, นำอวัยวะบางส่วนไปทำเป็นของสะสม หรือจับมาเป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้านเรือน

นอกจากนี้ที่อยู่อาศัยของพวกมันบางส่วนก็ถูกรุกรานเพื่อทำฟาร์มอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันปาล์ม, สร้างเขื่อนทำเหมืองแร่ต่างๆ, การรุกคืบของบริษัทน้ำมันและแก๊ส ยังไม่นับรวมถึงปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและโรคต่างๆ ที่แพร่มาจากมนุษย์

ปัจจุบันสัตว์ตระกูลลิงจำนวนกว่า 504 สายพันธ์ุ ต้องเผชิญกับปัญหาการสูญพันธุ์ถึง 60% โดย 75% ของจำนวนดังกล่าวมีอัตราการลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบันสัตว์ตระกูลลิงจำนวนกว่า 504 สายพันธ์ุ ต้องเผชิญกับปัญหาการสูญพันธุ์ถึง 60%

 

วิกฤตกับทางออกที่เหลืออยู่

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้วิจัยในหัวข้อ ‘วิกฤตการสูญพันธุ์สัตว์ตระกูลลิง (สัตว์ไพรเมต) ที่กำลังคืบคลานเข้ามา: ทำไมสัตว์ตระกูลลิงถึงสำคัญ’ ยังเชื่อว่าพอจะมีหนทางในการป้องกันวิกฤตดังกล่าวได้บ้าง

“แม้ว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการสูญพันธุ์ของสัตว์ตระกูลลิง แต่เรายังพอจะมีความหวังได้บ้าง หากสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของมนุษย์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จะถูกจัดการด้วยมาตรการที่เข้มงวดโดยทันที

“ถ้าเราไม่เริ่มแสดงการเคลื่อนไหว พฤติกรรมมนุษย์ที่คุกคามต่อสิ่งแวดล้อมก็จะส่งผลให้จำนวนของพวกมันลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว พวกเรามีโอกาสในการช่วยลดหรือจัดการกับภัยคุกคามของมนุษย์ต่อสัตว์และที่อยู่อาศัยของพวกมัน สร้างแนวทางในการอนุรักษ์และความตระหนักรู้ให้แก่โลกถึงสถานการณ์เลวร้ายนี้

“ไพรเมตมีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติมาก ในเชิงชีวภาพพวกเขามีความใกล้เคียงกับเรามาก”

ถ้าเราไม่เริ่มแสดงการเคลื่อนไหว พฤติกรรมมนุษย์ที่คุกคามต่อสิ่งแวดล้อมก็จะส่งผลให้จำนวนของพวกมันลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

 

อีก 25 ปี ‘ลิง’ อาจสูญพันธุ์ หากมนุษย์ยังทำลายผืนป่าให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

ศาสตราจารย์ พอล การ์เบอร์ (Paul Garber) จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ และอเลฮานโดร เอสตราดา (Alejandro Estrada) จากมหาวิทยาลัยอิสระแห่งชาติเม็กซิโก (National Autonomous University of Mexico) ผู้ร่วมศึกษางานวิจัยกรณีดังกล่าวได้เน้นย้ำให้เห็นถึงวิธีที่โลกเราจะสูญเสียสัตว์สายพันธ์ุนี้ไว้ว่า

“ในความเป็นจริงสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เหลือเวลาในชีวิตของพวกมันเฉลี่ยไม่ถึง 11 ชั่วโมงแล้ว ค่าง ลิงหลากสายพันธ์ุ เช่น ลีเมอร์หางแหวน (ring-tailed lemur), ลิงโคโลบัสแดง (udzunwa red colobus monkey), ลิงจมูกเชิดสีดำยูนนาน (Yunnan snub-nosed monkey), ค่างกระหม่อมขาว (white-headed langur), กอริลลา (grauer’s gorilla) ก็เริ่มจะมีจำนวนเหลือเพียงไม่กี่พันตัว

“อย่างชะนีไห่หนาน (Hainan gibbon) ลิงสายพันธ์ุพิเศษในจีนก็เหลือไม่ถึง 30 ตัว และตั้งแต่ปี 1985-2007 ลิงอุรังอุตังสุมาตรา (Sumatran orangutan) จำนวนกว่า 60% ก็ไม่มีถิ่นอาศัยแล้ว”

สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้สัตว์เหล่านั้นต้องไร้ที่อยู่อาศัย ศาสตราจารย์การ์เบอร์ชี้ว่า เป็นผลมาจากการรุกรานใช้ผืนป่าอย่างไม่เป็นประโยชน์ของมนุษย์ในการทำเกษตรกรรม

“เกษตรกรรมที่บุกรุกผืนป่านั้นถือเป็นการรบกวนและทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ตระกูลลิงในโลกนี้ถึง 76% โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการทำน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ยาง หรือแม้แต่การเข้าสู่ระบบฟาร์มปศุสัตว์ก็นับเป็นการทำลายผืนป่ามากกว่าล้านเอเคอร์”

คำอธิบายศาสตราจารย์การ์เบอร์นั้นจึงอาจสรุปได้ว่า ทุกวันนี้สัตว์ตระกูลลิงส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดในป่าของจีน, มาดากัสการ์, อินโดนีเซีย, แทนซาเนีย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และอีกหลายๆ ประเทศ

“ปัญหานี้นับเป็นการสูญเสียที่น่าเศร้ามากๆ หากพิจารณาจากลิงจำนวนกว่าร้อยสายพันธ์ุทั่วโลกที่กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน น่าเศร้าที่ต่อจากนี้อีก 25 ปี สัตว์ตระกูลลิงจะสูญพันธุ์ไปอีกหลายชนิด ถ้าเราไม่เริ่มหารือและยกให้มันกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกเสียที”

อ้างอิง:
​     – http://www.independent.co.uk/environment/gorilla-monkeys-primates-save-from-impending-extinction-31-scientists-urge-a7533631.html?cmpid=facebook-post

Tags: , ,