แม้จะสามารถคลี่คลายข้อครหาว่า ‘ออสการ์มีไว้สำหรับคนผิวขาวเท่านั้น’ ได้ในระดับหนึ่งในการประกาศผลผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ เนื่องจากผู้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำ และนักแสดงสมทบหลายคนเป็นคนผิวสี หรือคนเอเชีย แต่ถึงอย่างนั้นความเท่าเทียมบนเวทีออสการ์ก็ยังคงเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

ทั้งผลสำรวจจาก Women’s Media Center รวมถึงเสียงสะท้อนจากนักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียม และนักแสดงต่างๆ ที่เข้าชิงรางวัลต่างระบุตรงกันว่า ออสการ์ปีนี้ไม่ได้มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

นักแสดงหญิงที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
Photo: Reuters Staff, Reuters/profile

 

ผลสำรวจระบุ ‘ผู้หญิงหลังกล้อง’ เข้าชิงน้อยเกินไป

จากการสำรวจรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ของ Women’s Media Center ระบุว่าสัดส่วนของผู้หญิงที่ได้เข้าชิงรางวัลซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการแสดง (non-acting) ในปีนี้มีเพียง 20% เมื่อเทียบกับรางวัลทั้งหมด แถมยังถือเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากปีที่แล้ว 2% อีกด้วย

นอกจากนี้เวทีออสการ์ปีนี้ยังเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันแล้วที่ไม่มีชื่อผู้กำกับหญิงติดโผผู้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม อีกทั้งยังเป็นปีที่ 89 แล้วที่ไม่มีชื่อผู้หญิงติดโผเข้าชิงรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข่าวดีสำหรับผู้หญิงอยู่บ้าง เมื่อ เอวา ดูเวอร์เนย์ (Ava DuVernay) ที่เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเรื่อง 13th และ ไมกา เลวี (Mica Levy) ที่เข้าชิงในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเรื่อง Jackie ซึ่งทั้งคู่เป็นผู้หญิงคนแรกนับจากปี 2000 ที่ได้เข้าชิงรางวัลในสาขาดังกล่าว

จูลี เบอร์ตัน (Julie Burton) ประธานของ Women’s Media Center ระบุถึงการที่ผู้หญิงได้รับความสำคัญค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผู้ชายบนเวทีออสการ์ว่า “เมื่อผู้เข้าชิงกว่า 80% หรือคิดเป็น 4 ใน 5 ของผู้เข้าชิงเป็นผู้ชาย นั่นก็เท่ากับว่ามุมมองและเสียงของผู้ชายคือสิ่งที่เราเห็นเป็นส่วนใหญ่บนหน้าจอภาพยนตร์”

ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปี 2016 ก็ยังสะท้อนปัญหาดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจน ผ่านตัวเลขผลสำรวจของศูนย์วิจัยบทบาทสตรีในอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยซานดิเอโก ที่ระบุว่าในภาพยนตร์จำนวน 250 เรื่องที่ทำเงินสูงสุดในบ็อกซ์ออฟฟิศ 2016 มีเพียง 7% เท่านั้นที่เป็นฝีมือการกำกับของผู้หญิง แถมยังลดลง 2% เมื่อเทียบกับปี 2015

ก่อนหน้านี้ยังมีนักแสดงหญิงหลายคนที่ออกมาเปิดเผยว่าพวกเธอได้รับค่าตัวน้อยกว่านักแสดงนำชาย อย่างเช่น นาตาลี พอร์ตแมน ที่ให้สัมภาษณ์ใน Marie Claire UK ว่าเธอได้ค่าตัวน้อยกว่า แอชตัน คุตเชอร์ ถึง 3 เท่า จากหนังเรื่อง No Strings Attached ที่ทั้งคู่แสดงร่วมกัน และมีบทพอๆ กัน ขณะที่ ฮิลารี สแวงก์ ก็เคยออกมาเปิดเผยว่าครั้งหนึ่งเธอเคยได้รับการเสนอค่าตัวเพียง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นักแสดงชายที่ต้องแสดงคู่กันได้รับค่าตัวสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าค่าตัวที่เธอจะได้ถึง 20 เท่า ทั้งที่ตอนนั้นเธอคว้ารางวัลออสการ์มาแล้ว 2 ครั้ง

ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าออสการ์อาจไม่ใช่พื้นที่ที่ยอมรับบทบาทของผู้หญิงเท่าที่ควร

ออกตาเวีย สเปนเซอร์ ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 87
Photo: Mario Anzuoni, Reuters/profile

แค่ขาวหรือดำไม่ได้แปลว่าเท่าเทียม

แม้จะไม่ถูกค่อนแคะในโลกออนไลน์ว่า #OscarsSoWhite เหมือนกับปีที่แล้ว เนื่องจากนักแสดงผิวสีหลายคนติดโผเข้าชิงรางวัลสำคัญๆ ในปีนี้ อย่าง แดนเซล วอชิงตัน นักแสดงชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Fences

หรือในสาขานักแสดงสมทบชาย และหญิงยอดเยี่ยมก็ยังมีชื่อของนักแสดงผิวสีหลายคนติดอยู่ในรายชื่อ ทั้ง มาเฮอชาลา อาลี นักแสดงชาวแอฟริกัน-อเมริกันจาก Moonlight, เดฟ พาเทล นักแสดงเชื้อสายอินเดียจาก Lion, วิโอลา เดวิส จาก Fences, นาโอมี แฮร์รีส จาก Moonlight รวมถึง ออกตาเวีย สเปนเซอร์ จาก Hidden Figures แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเวทีออสการ์จะเปิดโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมจริงๆ

โดยเฉพาะ ออกตาเวีย สเปนเซอร์ นักแสดงหญิงเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ชนะรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในปี 2012 จากเรื่อง The Help และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในปีนี้ด้วย ที่ให้สัมภาษณ์ทางอีเมลกับ USA TODAY ว่า

“ฉันยังไม่รู้สึกถึงความเท่าเทียมมากนัก เพราะมีแค่คนขาวกับคนดำ แต่ยังมีผู้คนอีกหลากหลายสีผิวมากกว่าแค่คนที่มีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ฉันอยากจะเห็นความเท่าเทียมในทิศทางนั้นมากกว่า”

เช่นเดียวกับ กิล โรเบิร์ตสัน (Gil Robertson) ประธานสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แอฟริกัน-อเมริกัน ที่ระบุว่าเขารู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้เห็นรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ ซึ่งมีคนผิวสีมากถึง 18 คนในหลากหลายสาขา ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีที่ควรจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต และหวังว่าวันหนึ่งจะได้ยุติบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมบนเวทีออสการ์ในท้ายที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังอยากจะเห็นคนเชื้อสายสเปน เอเชียน มุสลิม LGBT และชนชาติอื่นๆ เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้ริเริ่มแฮชแท็ก #OscarsSoWhite อย่าง เอพริล รีนจ์ (April Reign) หรือผู้กำกับอย่าง แมทธิว เอ. เชอร์รี (Matthew A. Cherry) ที่ออกมาทวิตตรงกันว่ารู้สึกดีใจกับพี่น้องผิวสีที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล แต่ก็ยังนับว่าเป็นหนทางอีกยาวไกลที่จะทำให้ชนชาติอื่นๆ ได้รับความสำคัญบนเวทีอันทรงเกียรตินี้

ทั้งนี้ผลการสำรวจภาพยนตร์ยอดนิยม 100 เรื่องในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2007- 2015 โดยมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ตัวละคร LGBT ที่มีบทพูดในหนังมีเพียง 1% ของทั้งหมด เมื่อเทียบกับผู้หญิง 31.4% ส่วนที่เหลือเป็นตัวละครผู้ชาย

ส่วนตัวละครผิวสีมีสัดส่วนในหนังฮิตตั้งแต่ปี 2007-2015 ประมาณ 12.2% ตัวละครเชื้อสายละติน 5.3% ตัวละครเอเชีย 3.9%

ว่ากันว่าภาพยนตร์คือโลกแห่งความฝันอันงดงามที่แตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง แต่ในภาวะที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับการแบ่งแยกอย่างรุนแรง แม้แต่ในความฝันก็อาจจะโหดร้ายไม่ต่างกัน

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai​

อ้างอิง:

www.usatoday.com/story/life/movies/2017/01/24/oscar-diversity-more-than-black-or-white-latinos-asians-excluded/96951730

www.vulture.com/2017/01/study-finds-women-underrepresented-at-oscars.html

www.usatoday.com/story/life/2016/09/07/new-study-finds-hollywood-diversity-still-lagging/89953270

www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9600000004617

www.matichon.co.th/news/377611

www.hollywoodreporter.com/news/oscars-no-women-nominated-best-director-again-967284