Photo: Kim Hong-Ji, Reuters/profile

ชาวเกาหลีใต้กว่าครึ่งล้านออกมาจุดพลุเฉลิมฉลอง ทั้งร้องเพลงและเต้นรำในกรุงโซล เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2016 หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติเกินครึ่งลงคะแนนเสียงสนับสนุนมติถอดถอน ปาร์กกึนเฮ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

เสียงท่วมท้นในสภานิติบัญญัติที่ต้องการให้ปาร์กกึนเฮออกจากตำแหน่งมีถึง 236 เสียง จาก 300 เสียง ที่น่าสนใจคือ สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคของเธอเองมากกว่า 60 คน ก็สนับสนุนให้เธอออกจากตำแหน่งและโดนลงโทษเช่นกัน

เหตุการณ์นี้สะท้อนว่า แม้กระทั่งคนในพรรคของเธอเองก็รับไม่ได้กับพฤติกรรมฉ้อโกงของเธอและเพื่อนสนิทชเวซุนซิล (อ่านกรณีปาร์กกึนเฮให้ชเวซุนชิลเข้าแทรกแซงกิจการของรัฐได้ที่: ประธานาธิบดีเกาหลีใต้อาจถูกจำคุก 45 ปี หากญัตติลงโทษผ่านสภา)

ญัตติลงโทษที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภานิติบัญญัติจะถูกส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอนุมัติภายใน 180 วัน แต่กระบวนการพิจารณาทั้งหมดอาจกินเวลาถึง 6 เดือน และขณะนี้ ฮวังคโย-อัน (Hwang Kyo-ahn) นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ จึงทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีแทนปาร์กกึนเฮไปก่อน

“ปาร์กกึนเฮจงออกจากสภาไปซะ” หรือ “ลาออกและจงไปเข้าคุก” คือเสียงที่ดังก้องในกรุงโซลตลอด 7 สัปดาห์ที่ผ่านมา แรงกดดันจากทั้งนอกและในสภาทำให้เธอเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของเกาหลีใต้ที่ถูกลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญอนุมัติญัตติลงโทษนี้ จะทำให้เธอเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกถอดออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม เธอไม่ใช่ผู้นำประเทศคนแรกที่มาตรฐานจริยธรรมบกพร่องจนถูกสภาตัดสินลงโทษ เพราะยังมีผู้นำประเทศอีกหลายคน ที่เคยถูกพิพากษาจากประชาชนและสภา จนถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งในท้ายที่สุด
ภายใน 180 วันนี้ จึงต้องจับตาดูว่าปาร์กกึนเฮจะมีจุดจบทางการเมืองเช่นผู้นำประเทศ 6 คน ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้หรือไม่

Photo: Adriano Machado, Reuters/profile

Dilma Rousseff

ดิลมา รูสเซฟฟ์ คือประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรกของบราซิลที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2015 หลังจากวุฒิสภาเกินครึ่งลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้เธอออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อหาคดโกงงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเธอตอบโต้ว่า การตัดสินลงโทษเธอนั้นเปรียบเสมือนการรัฐประหาร แต่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า เธอไม่สามารถหลบเลี่ยงการลงโทษจากสังคมได้ เนื่องจากรูสเซฟฟ์พัวพันกับการคอร์รัปชันมาหลายปี

Photo: Crack Palinggi, Reuters/profile

Abdurrahman Wahid

อินโดนีเซียคืออีกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารมา 32 ปี อับดุลราห์มาน วาฮิด คือผู้นำที่นำประชาธิปไตยกลับมาสู่อินโดนีเซีย และได้รับการยกย่องให้เป็นตัวแทนแห่งสิทธิมนุษยชน และเสียงของชนกลุ่มน้อยในประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาเข้ามาดำรงตำแหน่ง ก็ได้มีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการบริหารประเทศที่วุ่นวายและไม่มั่นคง จนนำไปสู่ความผิดหวังของประชาชน สุดท้ายเขาถูกสภาถอดออกจากตำแหน่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2001 จากข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชันของพรรคฝ่ายค้าน

Photo: Athit Perawongmetha, Reuters/profile

Yingluck Shinawatra

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2014 ต่อมาเธอถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินครึ่งลงมติให้เธอห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง 5 ปี เมื่อปี 2015 ในข้อหาละเลยความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ที่ทำให้เกิดความเสียหายเป็นเงิน 4 แสนล้านบาท โดยเธอต้องชดใช้ความเสียหาย 20% ทำให้เธอเป็นนักการเมืองคนแรกของไทยที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนักการเมือง ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2016 เธอเพิ่งขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนคดีแพ่งที่เกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายนั้นต้องรอให้การดำเนินคดีอาญาเสร็จสิ้นก่อน

Photo: Kimberly White, Reuters/profile

Carlos Andrés Pérez

คาร์ลอส แอนเดรส เปเรซ คือประธาธิบดีเวเนซุเอลา ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 2 สมัย การบริหารประเทศในสมัยแรกของเขานำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่สมัยที่ 2 ของเขานั้นกลับพาประเทศไปสู่วิกฤตทางการเงิน จนกระทั่งเกิดความพยายามจะรัฐประหารยึดอำนาจเขาถึง 2 ครั้ง ในปี 1993 เขาจึงกลายเป็นผู้นำประเทศเวเนซุเอลาคนแรกที่ถูกฟ้องร้องให้ออกจากตำแหน่ง หลังจากพบว่าเขายักยอกเงินกว่า 250 ล้านโบลีวาร์เวเนซุเอลา (ประมาณ 90 ล้านบาท)

Photo: Saul Martinez, Reuters/profile

Otto Pérez Molina

ออตโต เปเรซ โมลินา คือประธานาธิบดีของกัวเตมาลา ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการให้กลุ่มธุรกิจติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการลดภาษี พฤติกรรมนี้ของเขานำไปสู่การประท้วงของประชาชนหลายเดือนบนท้องถนน จนกระทั่งเขาถูกปลดออกจากตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 3 กันยายน 2015 เขาต้องขึ้นศาลเพื่อต่อสู้กับข้อกล่าวหาการฉ้อโกงภาษีการค้า การขู่กรรโชกให้คนติดสินบน ซึ่งขณะนี้เขาถูกจำคุกเพื่อรอการตัดสินคดีของศาล

Photo: Amir Cohen, Reuters/profile

Moshe Katsav

โมเช คัตซาฟ คือประธานาธิบดีของอิสราเอลเชื้อชาติอิหร่าน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ผู้หญิง 4 คนเปิดเผยว่า ถูกเขาคุกคามทางเพศและข่มขืน ทำให้ทางการตั้งข้อหากับเขา ซึ่งคัตซาฟได้พยายามต่อรองด้วยการลาออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ศาลก็ตัดสินให้เขามีความผิดในข้อหาข่มขืนผู้อื่น 2 ครั้ง ทำให้ขณะนี้เขาถูกจำคุก 7 ปี

 

อ้างอิง:
– http://www.reuters.com/article/us-southkorea-protests-idUSKBN13Z0BO
– http://timesofindia.indiatimes.com/world-leaders-who-were-impeached/listshow/55899394.cms
– https://www.theguardian.com/world/2015/jan/23/thai-parliament-votes-to-impeach-yingluck-shinawatra
– https://www.theguardian.com/world/2016/dec/12/half-a-million-south-koreans-celebrate-impeaching-of-president-park-geun-hye

Tags: , , , , , ,