ความรู้สึกของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้นเปี่ยมด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อแผ่นดินไทยและพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า เช่นเดียวกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ข้าราชบริพารที่ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเป็นเวลากว่า 35 ปี ได้ถ่ายทอด 7 ความทรงจำอันมีค่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับอยู่ในจิตใจ

ขณะที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ของประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จและกราบบังคมทูลถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งพระองค์รับฟังเอง
และทรงเข้าไปแก้ปัญหาด้วยพระองค์เองโดยไม่เคยวางเฉย

 

1. พระองค์ทรงเป็นครูที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เพียงแต่เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่พระองค์ทรงเป็นพู่กัน ที่แต่งแต้มความรู้ คำสอน และข้อคิดต่างๆ ไว้บนแผ่นดินมากมาย ให้พวกเราประชาชนชาวไทยได้นำไปปฏิบัติ

“หลายเรื่องที่ผมไม่รู้ ก็พระราชทานความรู้ ทรงสอนและทรงเป็นครูที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา จริงๆ แล้วพวกเราทุกคนล้วนได้รับการสอนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่จำความได้แล้วครับ ทุกพระราชกระแส ทุกอิริยาบถของพระองค์ท่านทรงสอนเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่เพียงแต่ ‘เห็น’ แต่ต้อง ‘มอง’ พระเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงแต่ ‘ได้ยิน’ แต่ขอให้ ‘ฟัง’ ทุกอย่างที่พระองค์ท่านทรงทำ ถ้าเรามองหาความหมายได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง”

 

2. พระองค์ไม่ทรงปริพระโอษฐ์บ่นอะไรเลย

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทั้งหลายต่างมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของพวกเราประชาชนชาวไทย ทั้งด้านการเกษตร การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลให้พระองค์ต้องเสด็จประพาสภูมิภาคต่างๆ เสมอ

“เมื่อสมัยเกือบ 70 ปีก่อน ต้องบอกว่าลำบากมาก ไม่มีความสะดวกทั้งเรื่องถนน การสื่อสาร ไฟฟ้า ประปา ไม่มีอะไรเลย การเข้าไปยังพื้นที่ห่างไกลความเจริญนั้น กลางวันว่าลำบากแล้ว ลองคิดถึงกลางคืนสิครับ ผมบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งทั้งหมดนี้พระองค์ไม่ทรงปริพระโอษฐ์บ่นอะไรเลยแม้แต่น้อย ขณะที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ของประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จและกราบบังคมทูลถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งพระองค์รับฟังเอง และทรงเข้าไปแก้ปัญหาด้วยพระองค์เองโดยไม่เคยวางเฉย”

เวลาทรงแก้ปัญหาอะไร มักตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติ ไม่ใช่เทคโนโลยีล้ำสมัย
พระองค์ทรงแก้ปัญหาด้วยวิธีเรียบง่ายและทรงปัญญา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

 

3. พระราชดำริจดจ่ออยู่กับการแก้ไขปัญหา

“ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาหาพระองค์ท่านก็มีหลายประเภท ในฐานะประมุขของประเทศ พระองค์ทรงแบกรับภาระทั้งหลายทั้งปวงมาเป็นเวลานาน ผมเชื่อว่า พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ส่วนใหญ่ทรงจดจ่ออยู่กับการแก้ไขปัญหาอย่างไม่รู้จบ แล้วเวลาทรงแก้ปัญหาอะไร มักตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติ ไม่ใช่เทคโนโลยีล้ำสมัย พระองค์ทรงแก้ปัญหาด้วยวิธีเรียบง่ายและทรงปัญญา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’”

พระราชดำริของพระองค์นั้นล้วนแล้วแต่มีพสกนิกรชาวไทยเป็นที่ตั้ง ทรงรักแผ่นดิน ทรงรักประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง

 

4. ทรงเป็นกษัตริย์ที่ไม่เคยใช้ชีวิตสุขสบาย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นกษัตริย์ที่แตกต่าง นอกจากพระอัจฉริยภาพในด้านความรู้ทุกแขนงเพื่อประชาชน ยังมีพระวิริยอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ

“ทรงเป็นกษัตริย์ที่ไม่เคยใช้ชีวิตสุขสบายเยี่ยงกษัตริย์ ตลอดพระชนม์ชีพ ทรงตรากตรำ ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์และเพื่อประเทศนี้อย่างเกินกว่าที่คนคนหนึ่งจะต้องทำ การแบกรับความทุกข์ ความลำบากของคนไทยทั้งประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย และการหาทางออกเพื่อให้ทุกคนหลุดพ้นจากสภาวะแห่งความทุกข์เข็ญนั้นยากยิ่งกว่า แต่พระองค์ท่านก็ไม่เคยรู้สึกว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นภาระ ทรงคิดแต่เพียงว่าจะช่วยอย่างไร จะทำอย่างไรให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เสียสละ และใช้ทั้งชีวิตทำเพื่อราษฎร”

รับสั่งสุดท้ายเมื่อห้าปีก่อน ‘งานยังไม่เสร็จ’ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงห่วงงาน… เพื่อประชาชน งานเพื่อประเทศ ทรงรักและทรงห่วงใยต่อสองสิ่งนี้อย่างแท้จริง

 

5. พระองค์ท่านทรงเป็นเครื่องนำทาง

“ตลอดการทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ผมได้รับข้อคิดและบทเรียนอันมีค่ามากมาย ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทำงานพัฒนาเพื่อประชาชนโดยไม่มีวันหยุด ผมได้เรียนรู้งานผ่านพระองค์ท่าน ทรงสอนในหลายมิติ ทรงเป็นต้นแบบนำทาง และเป็นต้นแบบที่มีพลังมหาศาล เราก็ซึมซับพลังนั้นมา ทั้งพลังความรู้ พลังปัญญา ความคิด จิตสำนึก ความอดทน ความเสียสละเพื่อส่วนรวม ผมจึงเหมือนมีภาพของพระองค์ท่านเป็นเครื่องนำทางอยู่ตลอดเวลา”

ชีวิตคนเราต่างก็ต้องการเข็มทิศนำทางดีๆ สักหนึ่งเรือน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปรียบเสมือน ‘เข็มทิศทองคำ’ ที่ไม่เพียงพาเราไปอย่างถูกทิศทาง แต่ยังสามารถพาชีวิตเราไปได้ดีและมีคุณค่า

 

6. “งานยังไม่เสร็จ”

แม้ในยามพระประชวร ช่วงปี 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงเป็นห่วงประชาชนเหนือพระองค์เอง ไม่ละทิ้งความตั้งพระทัยที่จะดูแลผืนแผ่นดินนี้

“รับสั่งสุดท้ายเมื่อห้าปีก่อน ‘งานยังไม่เสร็จ’ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงห่วงงาน… เพื่อประชาชน งานเพื่อประเทศ ทรงรักและทรงห่วงใยต่อสองสิ่งนี้อย่างแท้จริง ทำให้รู้สึกว่าหยุดไม่ได้ ผมตั้งใจจะพยายามถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นสุดความสามารถเท่าที่จะทำได้ เท่าที่ร่างกายจะไหว”

อย่าทุจริต อย่าโกง ใครนำไปใช้ในเรื่องใดก็ได้ ถ้าทำได้ตามนี้ชีวิตก็จะปลอดภัย จะเป็นพ่อค้า เกษตรกร หรืออะไรก็ใช้ได้หมด

 

7. ถ้าไม่ใช้เหตุผลที่มาจากสติและปัญญา กิเลสมันจะมานำทางเราแทน

“เศรษฐกิจพอเพียงคือ ‘หลักคิด’ ที่ในหลวงพระราชทานให้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ใช้ได้ทั้งนั้น หลักคิดนี้ประกอบด้วยธรรมะ 3 ประการด้วยกัน หนึ่งคือ ให้ประมาณตนก่อน ก่อนจะทำอะไรต้องวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประการที่สองคือ ให้ใช้เหตุผล ซึ่งต้องมาจากสติและปัญญา ถ้าไม่ใช้เหตุผลที่มาจากสติและปัญญา กิเลสมันจะนำทางเราแทน ธรรมะประการที่สามคือ อย่าประมาท ข้อนี้ถือว่าเป็นภูมิคุ้มกัน ที่ทำให้เมื่อมีอะไรผิดพลาด เราก็จะแก้ไขได้ทัน อีกประการที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคนคือ อย่าทุจริต อย่าโกง ใครนำไปใช้ในเรื่องใดก็ได้ ถ้าทำได้ตามนี้ชีวิตก็จะปลอดภัย จะเป็นพ่อค้า เกษตรกร หรืออะไรก็ใช้ได้หมด”

หลายครั้งที่เรามักคิดว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ นำไปใช้ได้กับงานเกษตรกรรมเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ‘หลักคิด’ นี้ครอบคลุมทุกอย่างในการดำเนินชีวิต พวกเราสามารถสานต่อสิ่งที่พระองค์ทรงริเริ่มไว้ให้ได้ไม่ยาก เพียงแค่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ท่านเท่านั้นเอง

เรื่อง: วรรณวนัช ท้วมสมบูรณ์ ภาพ: กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร

Tags: