งานวิจัยเรื่องการแบ่งแยกทางเพศระบุว่า เด็กผู้หญิงมีความเชื่อว่าความฉลาดหลักแหลมเป็นคุณสมบัติที่ผู้ชายควรมี… จริงหรือ?

คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าการเรียนวิชายากๆ เช่น ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เหมาะกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยอ้างเหตุผลว่าเพศชายมีความฉลาดหลักแหลมมากกว่าเพศหญิงตั้งแต่เป็นเด็ก เป็นสาเหตุให้ความคิดความเข้าใจของเด็กผู้หญิงไม่เชื่อว่าการได้เกรดสูงจะเท่ากับความฉลาดเสมอไป และไม่ได้จะนำไปสู่อาชีพการงานที่ดี

ความคิดแบบนี้เกิดจากอะไร?

เด็กผู้ชาย 65% เลือกให้คนที่เพศเดียวกันกับตนเอง ‘ฉลาดจริงๆ’
ในขณะที่เด็กผู้หญิงเลือกให้เพศตนเองฉลาดเพียง 48%

กรณีศึกษาพื้นฐานของสหรัฐฯ พบว่า เด็กผู้หญิงไม่เชื่อว่าการได้เกรดสูงในโรงเรียนเกี่ยวกับความสามารถที่มีมาตั้งแต่เกิด ซึ่งต่างจากเด็กผู้ชาย

แอนเดรย์ ซิมเปียน (Andrei Cimpian) ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวถึงจุดเด่นของงานว่า เด็กจะสามารถซึมซับหรือถูกครอบงำจากการแบ่งแยกทางเพศนี้อย่างไร เช่น การที่ผู้หญิงคิดว่าผู้ชายที่มีความฉลาดหลักแหลมหรือมีปัญญาจะมีความพิเศษกว่าผู้ชายทั่วไป

“เพราะความคิดเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในตอนที่เขาเป็นวัยรุ่น สามารถส่งผลกระทบเรื่องการเรียนได้ในระยะยาวทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย” ซิมเปียนกล่าว

บทความในนิตยสาร Science นักวิจัยจาก 3 มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ เล่าถึงวิธีที่เขาเก็บข้อมูลการทดสอบเด็ก 400 คน โดยเป็นเด็กผู้หญิงครึ่งหนึ่ง เพื่อตรวจสอบสิ่งที่โน้มน้าวความเข้าใจของเด็กเรื่องการแบ่งแยกเพศผ่านความฉลาดและความสามารถ โดยในแบบทดสอบแรก แบ่งกลุ่มของเด็กผู้ชายและผู้หญิงรวม 96 คน อายุ 5 ขวบ, 6 ขวบ และ 7 ขวบ โดยให้เด็กอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่ฉลาดมากคนหนึ่ง และให้ทายว่าคนคนนั้นเป็นเพศอะไร จากนั้นพวกเขาเปิดรูปภาพผู้ใหญ่เป็นคู่ให้ดู บางคู่เพศเดียวกัน บางคู่เพศตรงข้ามกัน และให้พวกเขาเลือกว่าคู่ไหนที่คิดว่าฉลาดที่สุด สุดท้ายเด็กๆ จะต้องจับคู่วัตถุกับคุณสมบัติที่คิดว่าเหมาะกัน เช่น คำว่า ‘เป็นคนฉลาด’ จับคู่กับรูปภาพที่มีผู้ชายและผู้หญิง

จากแบบทดสอบ ผลสรุปแสดงให้เห็นว่าเด็กผู้หญิง 5 ขวบ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความฉลาดกับเพศของตนเองเหมือนกับเด็กผู้ชาย แต่เด็กผู้หญิงอายุ 6-7 ขวบ เชื่อว่าเพศของตนฉลาดในจำนวนน้อยกว่าเด็กผู้ชายในช่วงอายุเดียวกัน โดยเด็กผู้ชาย 65% เลือกให้คนที่เพศเดียวกันกับตนเอง ‘ฉลาดจริงๆ’ ในขณะที่เด็กผู้หญิงเลือกให้เพศตนเองฉลาดเพียง 48%

กรณีศึกษาที่สำรวจว่าเด็กคาดหวังให้เพศไหนเรียนดีกว่าในโรงเรียน ทีมนักวิจัยพบว่าเด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 5-7 ขวบ เข้าใจเรื่องการแบ่งแยกเพศกับความฉลาดได้มากกว่าเด็กผู้ชาย เพราะเด็กผู้หญิงไม่ได้คิดว่าการเรียนได้เกรดสูงจะเป็นคนฉลาด

นักวิจัยให้เด็กเล่น 2 เกมคล้ายๆ กัน จับกลุ่มเด็ก 6 ขวบ และ 7 ขวบ คนแรกให้อธิบายการเป็นเด็กที่ ‘ฉลาดมากๆ’ และคนที่เหลืออธิบายการเป็นคนที่ ‘ขยันมากๆ’ พบว่าเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายอธิบายว่า ตนเป็นคน ‘ขยัน’ ในจำนวนเท่ากัน แต่เด็กผู้ชายสนใจที่จะอธิบายว่าตนเองเป็น ‘คนฉลาด’ มากกว่าเด็กผู้หญิง

ซิมเปียนหวังว่ากรณีศึกษาชิ้นนี้จะช่วยในการพัฒนาเพื่อป้องกันผลกระทบจากการแบ่งแยกเพศในการเลือกอาชีพของผู้หญิง นอกจากนั้นการวิจัยก่อนหน้านี้แนะนำว่า ผู้หญิงที่เลือกเรียนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ จะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในอนาคต

เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายอธิบายว่า ตนเป็นคน ‘ขยัน’ ในจำนวนเท่ากัน
แต่เด็กผู้ชายสนใจที่จะอธิบายว่าตนเองเป็น ‘คนฉลาด’ มากกว่าเด็กผู้หญิง

นอกจากนั้น นิก แชมเบอร์ส (Nick Chambers) ประธานบริหารบริษัทนายจ้างและมูลนิธิการศึกษา ที่ดำเนินงานการรณรงค์สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิง ชื่นชมงานวิจัยชิ้นนี้ โดยกล่าวว่าเป็นการเน้นย้ำความสำคัญของเด็กที่อยู่ชั้นประถมศึกษาเพื่อที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีในอนาคต

อีกทั้ง เจมมา มอสส์ (Gemma Moss) ผู้อำนวยการด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยบริสตอล ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่าประเด็นสำคัญของงานวิจัยไม่ได้สำรวจว่าเด็กมีความเข้าใจอย่างไรกับความสำเร็จของพวกเขา หรือความรู้ความเข้าใจของครูกับความสามารถของพวกเขา ซึ่งอาจมีผลกับทัศนคติของพวกเขา

แต่ คริสเทีย สเปียร์ส บราวน์ (Christia Spears Brown) ผู้อำนวยการด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเคนทักกี และนักเขียนเรื่อง Parenting Beyond Pink and Blue กล่าวว่า งานวิจัยสัปดาห์ก่อนหน้านี้พบว่า พ่อแม่และครูถือว่าการได้เกรดดีในวิชาคณิตศาสตร์เป็นเรื่องยากสำหรับเด็กผู้หญิง แต่เป็นความสามารถธรรมชาติสำหรับเด็กผู้ชาย

“กรณีศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเด็กผู้หญิงมีโอกาสที่จะพัฒนาได้ยาก หากยังคิดว่าผู้หญิงไม่สามารถเรียนวิชายากๆ ได้ แล้วจะเชื่อไหมว่าพวกเขาจะสามารถทำงานหนักได้

“ความเชื่อเหล่านี้เป็นนัยยะสำคัญว่าเส้นทางการเรียนแบบไหนที่เด็กเลือก และแสดงให้เห็นว่าทำไมเด็กผู้หญิงไม่เลือกเรียนฟิสิกส์ ทั้งๆ ที่ได้เกรดสูงในโรงเรียน” บราวน์เสริม

เดม แอตทีน โดนัลด์ (Dame Athene Donald) ผู้อำนวยการด้านการทดลองฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เห็นด้วยกับข้อความด้านบน โดยกล่าวว่า “ถ้าเราช่วยให้อาชีพการทำงานเกิดความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น วิศวกร นักคณิตศาสตร์ และนักฟิสิกส์ในอนาคต ก็จะช่วยขจัดการแทรกแซงการเลือกวิชาเรียนของเด็กๆ ในช่วงมัธยมศึกษาได้”

โดนัลด์เสริมอีกว่า “พ่อแม่ ครู และสื่อ จำเป็นต้องทำงานหนักมากกว่าเดิมเพื่อลบล้างการแบ่งแยกทางเพศในฐานะที่ผู้ใหญ่คุยกับเด็กในทุกช่วงวัย”

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai​

อ้างอิง:

Tags: ,