ในขณะที่ก่อนหน้านี้มีผลสำรวจจากหลายสถาบัน ที่สำรวจความคิดเห็นของคนเจน Y (หรือคนที่เกิดในช่วง 1980-90) ต่อเรื่องทัศนคติการทำงาน ลักษณะนิสัย ไปจนถึงมุมมองต่างๆ ต่อสังคม คนเจน Z (หรือคนที่เกิดในปี 1995-2001) คือคนอีกช่วงอายุที่เราจำเป็นต้องศึกษาเช่นกัน เพราะพวกเขาขณะนี้มีอายุราว 15-20 ปี และกำลังจะขึ้นมาเป็นแรงงานสำคัญของทุกประเทศ

สภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งภัยก่อการร้าย การอพยพเคลื่อนย้ายของประชากร และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยที่มากขึ้น ส่งผลต่อมุมมองของคนเจน Z อย่างมีนัยยะสำคัญ

ผลสำรวจของ Varkey Foundation พบว่าคนเจน Z ส่วนใหญ่ ‘กลัว’ อนาคต เพราะคิดว่าโลกกำลังมีสภาพ ‘แย่ลง’ ทุกวัน ทั้งทางด้านความขัดแย้งและพิษเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามพวกเขาส่วนใหญ่ยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา อีกทั้งศาสนามีความสำคัญน้อยลงต่อคนเจน Z ในยุโรป และมองว่าความรักไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระหว่างหญิงกับชาย

Varkey Foundation ทำการสำรวจคนเจเนอเรชัน Z (เกิดในปี 1995-2001) มากกว่า 20,000 คน จาก 20 ประเทศ (อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา) เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นนี้ต่อเรื่องต่างๆ ในสังคม ซึ่งนับว่าเป็นผลสำรวจล่าสุดที่ทำเพื่อสะท้อนความคิดของคนรุ่นนี้ที่เกิดมาในยุคมิลเลนเนียม

8 ใน 10 หรือกว่า 83% ระบุว่า การก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรง
คือปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขารู้สึกกังวลต่ออนาคต
69% รู้สึกกังวลต่อความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน

อนาคตของโลกไม่สดใสเท่าไรนัก จากภัยก่อการร้าย โลกร้อน และความเหลื่อมล้ำ

ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ อย่างการก่อการร้าย ผลสำรวจกลับสะท้อนว่าพวกเขารู้สึก ‘กลัว’ ต่ออนาคตของตัวเองเช่นกัน โดย 8 ใน 10 หรือกว่า 83% ระบุว่า การก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงคือปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขารู้สึกกังวลต่ออนาคต 81% กังวลต่อสงครามและความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 69% รู้สึกกังวลต่อความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน โดยวัยรุ่นจากประเทศจีนคือประเทศเดียวที่กังวลต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากกว่าปัญหาก่อการร้าย

ความกลัวต่อปัญหาข้างต้นส่งผลให้พวกเขามองอนาคตในด้านลบ โดยผลสำรวจระบุว่า คนเจน Z 37% มองว่าโลกจะแย่ลง ในขณะที่มีเพียง 20% เท่านั้นที่มองว่าโลกจะพัฒนาไปทางที่ดีขึ้น ส่วนที่เหลือคือไม่คิดว่าโลกจะดีขึ้นหรือแย่ลง วัยรุ่นที่มองว่าในอนาคตโลกจะแย่ลงคือ วัยรุ่นจากฝรั่งเศสมากที่สุด รองลงมาคือตุรกี และอิตาลี (53%) ซึ่งจะพบว่าประเทศเหล่านี้ คือประเทศที่เจอกับภัยก่อการร้ายรุนแรง ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างจีน (53%) และอินเดีย (49%) คือประเทศที่กลุ่มวัยรุ่นมองว่าโลกจะดีขึ้นมากที่สุด ผลสำรวจข้างต้นจึงสะท้อนว่า สภาพแวดล้อมและปัญหาของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันส่งผลต่อแนวคิดของวัยรุ่นอย่างสำคัญ

ความสำคัญของศาสนาต่อคนเจน Z และเสรีภาพในการพูดแม้ขัดต่อหลักศาสนา

แม้ว่าความคิดเห็นของคนเจน Z จะสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันคือ สนับสนุนความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา และความเท่าเทียมในสังคม แต่ผลสำรวจนี้กลับสะท้อนตัวเลขที่น่าสนใจว่า พวกเขากลับมีความคิดต่อเรื่องเสรีภาพในการพูด (Free Speech) แตกต่างกันครึ่งต่อครึ่ง โดย 56% ของคนเจน Z มองว่า คนควรมีเสรีภาพในการพูด แม้ว่าเรื่องนั้นจะขัดต่อหลักศาสนา ซึ่งคนเจน Z จากตุรกี คือกลุ่มคนที่เห็นว่าคนควรมีเสรีภาพในการพูดเกี่ยวกับศาสนามากที่สุด รองลงมาคืออาร์เจนตินา โดยคนเจน Z ในไนจีเรียคือคนที่สนับสนุนเสรีภาพในการพูดน้อยที่สุด

ส่วนประเด็นเรื่องความศรัทธาต่อศาสนานั้นสะท้อนความคิดของคนเจน Z ที่แตกต่างเช่นกัน ในขณะที่ศาสนามีอิทธิพลต่อคนเจน Z ในยุโรปน้อยลง โดยน้อยกว่าครึ่ง (42%) ที่เห็นว่าศาสนายังมีความสำคัญต่อชีวิต ศาสนายังคงมีอิทธิพลต่อคนเจน Z ในแอฟริกาและอเมริกาอย่างมาก โดย 8 ใน 10 หรือ 77% ของคนเจน Z ในแอฟริกา มองว่าศาสนามีอิทธิพลต่อชีวิต

อย่างไรก็ตาม คนเจน Z ส่วนใหญ่มักเติบโตมาในสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนา จึงทำให้พวกเขาส่วนใหญ่ยอมรับความแตกต่างทางศาสนา มีเพียงแค่ 1 ใน 7 ของคนเจน Z เท่านั้นที่มองว่าศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกคบเพื่อน

63% ของคนรุ่นนี้สนับสนุนให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย

แม้กังวลต่ออนาคตแต่คิดว่าการยอมรับความหลากหลายจะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น

63% ของคนรุ่นนี้สนับสนุนให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย และ 89% สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ส่วนอีก 74% สนับสนุนให้กลุ่มคนข้ามเพศมีสิทธิเท่าเทียมในสังคม แม้ว่าความคิดเหล่านี้จะขัดต่อหลักกฎหมายของประเทศของพวกเขาก็ตาม

แม้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่จะมีความกังวลต่ออนาคต และคิดว่าโลกน่าจะมีสภาพที่แย่ลงในวันรุ่งขึ้น ตัวเลขที่ระบุว่า พวกเขายอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาอาจยังเป็นสัญญาณที่ดี เพราะผลสำรวจจากทั้งหมด 20 ประเทศ พบว่าคนเจน Z ส่วนใหญ่จาก 14 ประเทศมองว่า การหยุดอคติต่อเพศ ศาสนาและเชื้อชาติจะทำให้คนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

ผลสำรวจข้างต้นสะท้อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้นั้นไร้พรมแดน วิธีการจัดการกับปัญหาต่างๆ จึงอาจไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดด้วยพรมแดนเช่นกัน

อ้างอิง:

Tags: ,