ฟีเดล คาสโตร ตายแล้ว!

นี่คือข่าวใหญ่ในวันเสาร์ (26 พ.ย. 59) หลังสำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลคิวบา ประกาศว่า คาสโตรในวัย 90 ปี ได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 22:29 น. ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (25 พ.ย. 59)

ผู้นำระดับโลกมีปฏิกิริยาต่อความตายของเขาที่แตกต่างกันออกไป สะท้อนได้ถึงความเป็น ‘คนหลายมิติ’ ของคนที่ชื่อ ฟีเดล คาสโตร

รักก็รักมาก เกลียดก็ถึงขั้นฆ่าให้ตายได้เลย

โดนัล ทรัมป์ พูดถึงฟีเดลว่าเขาคือ “เผด็จการผู้โหดเหี้ยม” ในขณะที่โอบามาบอกว่า “ประวัติศาสตร์จะบันทึก และตัดสินสิ่งที่ฟีเดลสร้างเอาไว้อย่างมหาศาล” ด้านวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย บอกว่า “คาสโตรคือเพื่อนที่จริงใจ และเชื่อถือได้มาตลอดของรัสเซีย” ส่วนองค์การเพื่อสิทธิมนุษยชนในลอนดอน บรรยายช่วงเวลาที่ถูกปกครองโดยฟีเดลว่า “เป็นประวัติศาสตร์อันมืดมน” ตรงกันข้ามกับ โรดรีโก ดูเตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่ชื่นชมฟีเดลว่า “สอนให้รู้จักการต่อสู้กับพวกตะวันตก และพวกล่าอาณานิคม”

ราอูล คาสโตร น้องชายผู้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับฟีเดลมาโดยตลอด แถลงการณ์ผ่านทีวีด้วยเสียงสั่นเครือ ก่อนพูดประโยคสุดท้ายว่า

“มุ่งหน้าสู่ชัยชนะ เสมอ!” (“Towards victory, always!”)

คำพูดดังกล่าว เป็นสโลแกนที่ใช้ในการปฏิวัติคิวบา แต่เมื่อถูกพูดอีกครั้งในวันที่คาสโตรเสียชีวิต

ก็ทำให้หวนคิดถึง ‘ชัยชนะ’ จาก ‘ความตาย’ ที่อเมริกาหวังลอบสังหารฟีเดล และ ‘ชีวิต’ ที่ผ่านมาของเขา

แมวอมตะเก้าร้อยชีวิต

“ถ้าการรอดจากการลอบสังหารถูกบรรจุอยู่ในกีฬาโอลิมปิก ผมคงได้เหรียญทองไปแล้ว”

ฟีเดล คาสโตร เคยให้สัมภาษณ์แบบนี้หลายครั้ง

สารคดี 638 แผนสังหารคาสโตร (638 Ways to Kill Castro) ที่เผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษ ในปี 2006 ได้บอกเล่าชีวิตของคาสโตรกว่าครึ่งศตวรรษ หลังชนะการปฏิวัติและขึ้นมามีอำนาจตั้งแต่ปี 1959 ว่า ‘ซีไอเอ’ (หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ) พยายามวางแผนลอบสังหารคาสโตรด้วยวิธีต่างๆ มากถึง 638 ครั้ง

ตั้งแต่การบุกยิงประชิดตัว แอบผสมยาพิษในซิการ์ที่คาสโตรสูบ ให้ชู้รักแอบใส่พิษแบคทีเรียในผ้าเช็ดหน้า ถ้วยชา กาแฟ หรือกระทั่งหวังทำการดิสเครดิต (ด้วยวิธีประหลาดๆ) เช่น ใส่สารปนเปื้อนในรองเท้าบู๊ต เพื่อให้หนวดเคราของคาสโตรหลุดร่วงระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่สหประชาชาติ

แต่แผนลอบสังหารที่โด่งดังที่สุดคือ การแอบซุกระเบิดขนาด 90 กิโลกรัม ไว้ใต้แท่นปราศรัยที่คาสโตรจะขึ้นกล่าวระหว่างเยือนปานามาเมื่อปี 2000 แต่โชคดีที่หน่วยรักษาความปลอดภัยพบเข้าเสียก่อน

การรอดชีวิตจากแผนลอบสังหารจำนวนนับไม่ถ้วน ทำให้คาสโตรได้รับสมญา ‘แมวอมตะเก้าร้อยชีวิต’

ว่าแต่… ทำไมอเมริกาถึงต้องการสังหารฟีเดลขนาดนั้น?

จากอดีตนักศึกษากฎหมายสู่นักปฏิวัติ

ในยุคล่าอาณานิคม คิวบาเคยเป็นอาณานิคมและแหล่งอุตสาหกรรมน้ำตาลของสเปน ก่อนจะเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้เงาของอเมริกา หลังอเมริการบชนะสเปนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19

หลังได้รับเอกราช เอกราชที่ได้รับไม่หอมหวานเหมือนที่ฝัน คิวบาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกา และบางช่วงเวลาก็ถูกอเมริกายึดครอง เข้ามาบริหารโดยตรง และตักตวงผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำตาล ภายในประเทศ

ทว่าช่วงเวลาอันแสนสุขของอเมริกาในดินแดนแห่งนี้ต้องจบลง เมื่อ ฟีเดล คาสโตร อดีตนักศึกษากฎหมาย นำกองทัพปฏิวัติกลุ่ม ‘26th of July Movement’ โค่นล้มอำนาจของพลเอกฟุลเกนซิโอ บาติสตา (Fulgencio Batista) ผู้นำเผด็จการที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในปี 1959

หลังก้าวขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฟีเดลเร่งจัดระเบียบสังคม เพื่อควบคุมมวลชนที่มีความคิดที่หลากหลาย และหวังสร้างความยุติธรรมในสังคมให้เกิดขึ้น ในช่วงนั้นเริ่มมีกลุ่มที่เสียผลประโยชน์โดยเฉพาะชนชั้นสูงและชนชั้นกลางเริ่มเรียกร้องให้ฟีเดลผูกเศรษฐกิจกับอเมริกา แต่จากบทเรียนในสมัยบาติสตา ผลักให้ฟีเดลหันหน้าเข้าหาพรรคคอมมิวนิสต์และโซเวียต

จาก ‘นโยบายต่อต้านจักรวรรดินิยมแยงกี้’ ที่ต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบของอเมริกา คาสโตรประกาศยึดทรัพย์สินและธุรกิจของชาวอเมริกันในคิวบามูลค่ากว่า 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้ามาเป็นของรัฐ

กุมภาพันธ์ ปี 1960 คิวบาลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับโซเวียต ด้วยการขายน้ำตาล แลกกับน้ำมันเชื้อเพลิงกับเครื่องจักร อีก 5 เดือนต่อมาประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ของอเมริกา ประกาศตัดโควต้าและยกเลิกการซื้อน้ำตาลจากคิวบาทั้งหมด

นี่คือจุดเริ่มต้นในช่วงแรกหลังฟีเดลขึ้นมามีอำนาจ ซึ่งจะนำไปสู่ความร้าวลึกระหว่างความสัมพันธ์ของคิวบาและอเมริกาในเวลาต่อมา

ศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ

หลังอเมริกาประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบา ในช่วงก่อนประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์จะก้าวลงจากตำแหน่ง ด้าน JFK หรือจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีคนใหม่เข้ามารับไม้ต่อแผนการใช้ ‘ไม้แข็ง’ ในการบุกคิวบา โดยใช้ชาวคิวบาพลัดถิ่นที่ฝึกการใช้อาวุธ 1,500 คน บุกเข้าทางอ่าวหมู ในวันที่ 19 เมษายน ปี 1961 ก่อนจะพ่ายแพ้แก่ฟีเดลราบคาบ

เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแตกหัก ฟีเดลได้หาที่ยืนด้วยการหันไปสร้างพันธมิตรกับโซเวียตอย่างไม่เกรงใจ โดยอนุญาตให้โซเวียตสร้างฐานขีปนาวุธในคิวบา

บรรยากาศการเมืองในช่วงนั้นเดินเข้าสู่ความตึงเครียด เนื่องจากคิวบานั้นอยู่ห่างจากรัฐฟลอริดาของอเมริกาเพียง 170 กิโลเมตร แต่หลังมีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นว่าคิวบากำลังติดตั้งขีปนาวุธเล็งมาที่อเมริกา ประธานาธิบดีเคนเนดีก็ส่งกองเรือรบปิดล้อมคิวบา ประกาศโจมตีเรือทุกลำที่ผ่านเส้นทางดังกล่าว และเรียกร้องให้โซเวียตรื้อถอนขีปนาวุธออกจากพื้นที่ให้หมด

โลกตกอยู่ในความกังวลของการเกิดสงครามนิวเคลียร์ หากโซเวียตคิดเดินหน้า แต่เมื่อ นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำโซเวียตในเวลานั้นพิจารณาแล้วว่ามีแต่เสียมากกว่าได้ จึงยอมถอนขีปนาวุธ ขณะที่อเมริกาก็ยอมถอยก้าวหนึ่ง ด้วยการให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่รุกรานคิวบาอีกต่อไป

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น อเมริกายังคงคว่ำบาตรคิวบา ขณะที่คิวบาภายใต้การนำของฟีเดลยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย ด้วยการคบค้ากับโซเวียตและประเทศที่อยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์ต่อไป

ทว่าวิกฤตของคิวบาก็เกิดขึ้น เมื่อโซเวียตล่มสลายในปี 1989 คิวบาสูญเสียความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีอยู่ประมาณ 80% ขณะที่อเมริกาก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับคิวบาหนักข้อขึ้นกว่าเดิม พร้อมทั้งกดดันประเทศทุนนิยมอื่นๆ ไม่ให้ทำการค้ากับคิวบา

อนาคตของคิวบาดูมืดมน แต่ใช่ว่าคิวบาภายใต้ผู้นำที่ชื่อ ฟีเดล คาสโตร จะไร้ซึ่งแสงสว่าง

กัดฟันสู้ ฟื้นคืนชีพด้วยขาของตัวเอง

“ได้เข้าไปคิวบาหลังโซเวียตล่มสลายแล้ว อยู่ในสภาพประเทศสังคมนิยมที่เพิ่งตระหนักว่าตัวเองอยู่มาได้ยังไง โดยไม่รู้จักหากินเอง แล้วก็คิดว่าคงไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศใดๆ อีกแล้ว เพราะถูกสหรัฐอเมริกาแซงก์ชัน (sanction) ต้องมาทำการผลิตเอง แต่ก็ผลิตไม่เป็น เพราะเคยปลูกแต่อ้อยส่งให้ประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกัน แล้วนำเข้าอาหารจากประเทศอื่นๆ”

เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) หนึ่งในคนไทยเพียงไม่กี่คนซึ่งเคยเดินทางไปคิวบาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนั้น ได้เล่าย้อนความหลังไว้ในบทความ เราคือคิวบา…อเมริกาไม่ใช่พ่อเรา โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดจากการล่มสลายของโซเวียต พาให้คิวบา–ประเทศที่ไม่มีการลงทุนจากต่างชาติ ไม่มีต่างชาติมาค้าขาย และธนาคารโลกไม่ให้ความช่วยเหลือ เดินถึงจุดอันมืดหม่น

ขณะที่หลายประเทศที่เผชิญวิกฤตเช่นนี้ คนลำบากอาจเป็นคนชนชั้นล่าง แต่ไม่ใช่กับคิวบา เพราะคนชั้นสูงอย่างนักการเมือง และรัฐมนตรีก็ร่วมลำบากด้วยกัน และในช่วงนั้น ฟีเดล คาสโตร ก็ผอมลงอย่างเห็นได้ชัด

กันยายน ปี 1993 คิวบาตั้งหลักจัดระเบียบภาครัฐใหม่ ในช่วงเวลานี้เองที่นโยบายในด้านต่างๆ ที่คาสโตรใช้บริหารประเทศ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาและการแพทย์แบบฟรีๆ จนได้มาตรฐานในระดับสูง ได้ช่วยพยุงคิวบาให้เดินต่อไปได้ในช่วงเวลาวิกฤต

“ท่ามกลางประเทศที่มีความขาดแคลนเกือบทุกด้าน แต่มหาวิทยาลัยที่นั่นใหญ่โตมาก ให้ความสำคัญกับการสร้างการศึกษาและผลิตองค์ความรู้ เราได้เห็นการสนับสนุนการค้นคว้าเทคโนโลยีที่จะปรับเปลี่ยนการผลิต ทำปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ พยายามสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อให้ประเทศอยู่ได้ ประทับใจมาก เห็นความกระตือรือร้นของนักวิชาการ เวลาทุกคนพูด จะพูดด้วยตาที่เป็นประกายของคนที่ไม่ได้ทำเพราะเป็นนโยบายสั่งมา แต่ทำเพราะเป็นหัวจิตหัวใจ เป็นอุดมการณ์  เป็นความยิ่งใหญ่ที่ช่วยกันสร้างชาติ”

เรวดี เล่าถึงประสบการณ์ในการไปเยือนคิวบาในช่วงนั้น

จากการเลือกที่จะดื้อแพ่งต่ออเมริกา คิวบากัดฟันสู้และค่อยๆ ฟื้นขึ้นจากวิกฤตด้วยขาของตัวเอง

และผลพวงจากการไม่ยอมแพ้ในครั้งนั้น ทำให้ปัจจุบันคิวบาเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีระบบเกษตรทั้งหมดเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง และยังมีส่วนเหลือจากการบริโภคให้กับการส่งออก

นี่คือความจริงของคิวบาที่ไม่ยอมอ่อนข้อต่ออเมริกา ภายใต้ผู้นำชื่อ ฟีเดล คาสโตร

อเมริกาในสายตาฟีเดล คาสโตร

อเมริกาในสายตา ฟีเดล คาสโตร เป็นอย่างไร?

เราอาจพบคำตอบได้จากจดหมายเปิดผนึกที่ฟีเดลเขียนถึง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เมื่อพฤษภาคม ปี 2004

‘คุณป้ายสีว่า การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศคิวบาเป็นระบบทรราช ทั้งที่เป็นระบบที่นำพาคนคิวบาให้เป็นคนที่มีการศึกษาระดับสูง มีความรู้ และมีวัฒนธรรมมากเสียยิ่งกว่าบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ระบบที่สามารถลดอัตราเด็กทารกที่เสียชีวิตในช่วงแรกเกิดถึง 5 ปี ให้ต่ำกว่าอัตราเดียวกันในสหรัฐฯ ระบบที่ประกันสุขภาพ การศึกษา และการบริการพื้นฐานด้านสังคมอื่นๆ อย่างไม่คิดมูลค่า ได้ฟังคุณพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในคิวบาแล้วรู้สึกน่าหัวเราะเยาะเป็นอย่างยิ่ง

‘นี่แน่ะ…นายบุช คิวบาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ตลอดระยะเวลา 45 ปี ไม่เคยมีทารุณกรรม ไม่มีหน่วยล่าสังหาร ไม่มีการวิสามัญฆาตกรรม และไม่มีผู้ปกครองสักรายเดียวที่เป็นมหาเศรษฐีจากการดำรงตำแหน่ง

‘คุณขาดซึ่งคุณธรรมอำนาจที่จะพูดถึงคิวบา ประเทศที่ยืนหยัดในศักดิ์ศรีมาตลอด 45 ปี ต่อสู้การคว่ำบาตรที่โหดเหี้ยม สงครามเศรษฐกิจ การโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย (อย่างสหรัฐอเมริกา) ที่คร่าชีวิตคนคิวบาเรือนหมื่นและสูญเสียทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านเหรียญ…

‘คิวบาสู้เพื่อชีวิตในโลกใบนี้ แต่คุณสู้เพื่อให้เกิดความตาย ในขณะที่คุณฆ่าผู้คนนับจำนวนไม่ถ้วนด้วยการโจมตีไม่เลือกหน้าและต้องโจมตีก่อน คิวบากำลังรักษาชีวิตแม่และเด็ก คนแก่ คนเจ็บป่วยทั่วโลก’

เคราที่ไม่เคยถูกโกน

หลังตัดขาดความสัมพันธ์เกือบร่วมศตวรรษ วันที่ 21 มีนาคม ปี 2016 บารัก โอบามา เดินทางเยือนคิวบาในฐานะผู้นำอเมริกาคนแรกในรอบ 88  ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1928

การมาเยือนครั้งนั้น โอบามาได้พบแค่ ราอูล คาสโตร ผู้นำคนปัจจุบัน (น้องชายของฟีเดล คาสโตร ที่ฟีเดลมอบอำนาจให้ในปี 2008 หลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพ) ขณะที่ฟีเดลผู้เฒ่านักปฏิวัติวัย 90 ปี ไม่ยอมออกมาพบ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน ฟีเดล ก็เขียนบทความ ‘Brother Obama’ ลงในหนังสือพิมพ์ Granma มีเนื้อความท่อนหนึ่งระบุว่า

‘เราสามารถผลิตอาหารและความร่ำรวยทางวัตถุที่จำเป็นต้องมีได้ด้วยแรงงานและสติปัญญาของชาวคิวบา เราไม่ต้องการของขวัญใดๆ ทั้งสิ้นจากจักรวรรดิอเมริกา โอบามาไม่เคยบอกว่าการปฏิวัติสังคมนิยมในคิวบาช่วยให้การเหยียดสีผิวหมดไปอย่างไร รัฐบาลได้รับรองสวัสดิการหลังเกษียณและค่าจ้างสำหรับพลเมืองคิวบาทุกคน ตั้งแต่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ยังอายุไม่ถึง 10 ขวบด้วยซ้ำ’

 

เนื้อความดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนของผู้เฒ่านักปฏิวัติชื่อ ฟีเดล คาสโตร ก่อนที่อีก 8 เดือนต่อมา คาสโตรจะสิ้นใจพร้อมกับเคราของเขาที่ยังไม่เคยถูกโกน

“ตราบใดที่การปฏิวัติยังไม่สิ้นสุด ไม่มีทางที่ผมจะโกนหนวดเคราทิ้ง”

DID YOU KNOW?

คิวบา เป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขและการแพทย์ดีที่สุดในภูมิภาค ด้วยค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรอยู่ที่ 78.2 ปี และมีการศึกษาที่ดีที่สุดในลาตินอเมริกา อัตราการรู้หนังสือของเด็กและเยาวชนอยู่ที่ 99.8% ในจำนวนนี้เด็กคิวบามีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ