กลายเป็นกระเเสที่แชร์กันในโลกออนไลน์ในวงกว้างและนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของค่ายดิสนีย์ (Disney) หลังการ์ตูนซีรีส์ Star vs. the Forces of Evil ที่ฉายทางช่อง Disney XD เผยให้เห็นฉากจูบของตัวละครเพศเดียวกัน

โดยฉากจูบที่ว่าปรากฏอยู่ในการ์ตูน Star vs. the Forces of Evil ซีซัน 2 ตอนที่ 39 ในเหตุการณ์ที่ตัวละครต่างๆ ถูกบรรยากาศความเคลิบเคลิ้มของคอนเสิร์ตและเพลง Just Friends พาไปจนล่องลอยและทำให้ทุกคนหันมาจุมพิตกัน

ถึงแม้ว่าฉากดังกล่าวจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของดิสนีย์ที่ตัวละครเพศเดียวกันได้จุมพิตกัน แต่ก่อนหน้านี้ซีรีส์เรื่อง Good Luck Charlie ที่ฉายทางช่อง Disney Channel ก็มีตัวละครหญิงรักเพศเดียวกันมาแล้ว หรือแม้แต่ในการ์ตูนซีรีส์เรื่อง Gravity Falls ก็เคยมีตัวละครชายรักเพศเดียวกันปรากฏให้เห็นอย่าง นายอำเภอ Blubs และรองนายอำเภอ Durand  โดยทางผู้สร้างซีรีส์ อเล็กซ์ เฮิร์สช์ (Alex Hirsch) กล่าวเปิดใจว่า

“ผมอยากจะใส่ตัวละครที่เป็นเกย์ลงไปในเรื่อง แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าพวกเขา (ดิสนีย์) จะยอมให้ผมทำมันในการ์ตูนสำหรับเด็กหรือเปล่า แต่ถ้าผมทำได้ ผมก็จะทำ”

ขณะที่ รอน เคลเมนต์ส (Ron Clements) หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Moana (2016) จากทางฝั่งดิสนีย์ก็เคยให้สัมภาษณ์กับ Huffington Post ถึงประเด็นการเปิดโอกาสสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันเจ้าหญิงดิสนีย์ให้มีความเป็น LGBTQ มากขึ้นไว้ว่า

“ดูเหมือนว่าโอกาสเป็นไปได้จะเปิดกว้างมากๆ ณ จุดนี้ ซึ่งมันน่าจะถูกขับเคลื่อนโดยผู้กำกับหรือทีมผู้สร้างที่อยากจะผลักดันประเด็นดังกล่าว (LGBTQ) หาก จอห์น แลสเซเตอร์ (John Lasseter, หัวหน้าครีเอทีฟประจำ Disney Animation) ชอบแนวคิดนี้ขึ้นมา แต่ผมต้องออกตัวก่อนเลยว่าพวกเราไม่มีข้อจำกัดในสิ่งที่ทำกันอยู่แล้ว”

“ประเด็นเรื่องเกย์มันไม่ได้ก้าวหน้า
เพราะคุณเข้าใจว่าความเป็นปกติมันเป็นแค่ชายหญิงไง
ถึงต้องไฮไลต์เรื่องเกย์ขึ้นมา”

หัวก้าวหน้าหรือล้าหลัง? การ์ตูนรักเพศเดียวกันของดิสนีย์กำลังบอกอะไรเรา

เพื่อหาคำตอบว่าปรากฏการณ์ฉากจูบของตัวการ์ตูนรักเพศเดียวกันในดิสนีย์สะท้อนให้เห็นอะไรในสังคม และวัฒนธรรมปัจจุบัน The Momentum จึงต่อสายตรงถึง ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา) นักเขียน-พิธีกรชื่อดัง คอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ The Momentum และนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เจ้าของงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศ เพื่อสอบถามความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว

โดยคำ ผกา มองว่าการที่ดิสนีย์สร้างฉากจุมพิตของตัวละครเพศเดียวกันขึ้นมาถือเป็นสิ่งที่ล้าสมัย และยังไม่หลุดกรอบเรื่องเพศในอุดมคติเดิมๆ ที่มองว่าโลกใบนี้มีแค่ ‘ผู้ชาย-ผู้หญิง’ เท่านั้น

“ประเด็นเรื่องเกย์-เลสเบี้ยนมันไปไกลมากแล้ว อย่างหนังสือเด็กในช่วงวัย 5-12 ขวบ ของประเทศอเมริกาก็พูดถึงประเด็นโมเดิร์นแฟมีลีที่มี พ่อ-พ่อ, แม่-แม่ มานานมากแล้ว ส่วนตัวมองว่าดิสนีย์มาช้าเกินไปด้วยซ้ำ มาตอนที่ประเด็นเรื่องนี้เชย ตอนนี้สังคมกำลังก้าวไปสู่ความเป็น Genderless ไม่มีเรื่องเพศ ถ้าคุณยังพูดเรื่องเกย์นั่นหมายความว่าคุณยังติดกับดักเรื่อง Binary Sexuality ถ้าคุณยังติดกับเรื่องนี้แสดงว่า reference ของคุณก็มีแค่ ‘หญิงและชาย’”

คำ ผกา มองว่าการที่ดิสนีย์สร้างฉากจูบของตัวละครเพศเดียวกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของค่ายดิสนีย์นับเป็นเรื่องการปรับตัวทางธุรกิจมากกว่าการสร้างความรับรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคม

“เรามองว่ามันเป็นส่วนขยายทางธุรกิจ ไม่ถือเป็นการเปิดพรมแดนใหม่ๆ ในแง่การต่อสู้ทางสังคม หรือการพูดคุยในเรื่องนี้ ดิสนีย์เขาปรับตัวตามธุรกิจเสมอ คล้ายๆ กับบาร์บี้แหละ พอมีกระแสเรื่องผิวสี เขาก็ทำตุ๊กตาผิวสีออกมาขาย มีประเด็นเรื่องเกย์ เดี๋ยวเขาก็ทำให้ ‘เคน’ (คาแรกเตอร์ตัวหลักฝ่ายชาย) หย่ากับบาร์บี้ไปเป็นเกย์ มันเป็นการทำกำไรเพื่อเปิดตลาด เพราะขายได้ เขาไม่ได้มีความตั้งใจอะไรมากกว่านั้น เพราะถ้าจะสร้างความตระหนักรู้ เขาก็ต้องทำนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาทำ เหมือนที่เราพูดว่าประเด็นเรื่องเกย์มันไม่ได้ก้าวหน้า เพราะคุณเข้าใจว่าความเป็นปกติมันเป็นแค่ชายหญิงไง ถึงต้องไฮไลต์เรื่องเกย์ขึ้นมา ถ้าความเป็นปกติของคุณไม่ได้จำกัดแค่เรื่องชายหญิง คุณก็จะไม่สนใจอยู่กับแค่เรื่องของเกย์”

วัฒนธรรมป็อปจะสามารถนำเสนอให้เห็นความหลากหลายจากความรักของคนเพศเดียวกันได้มากน้อยแค่ไหน
เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรักร่วมเพศที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานน่ารักหรือหล่อได้มีที่ยืนในสังคม

ความหลากหลายเป็นเรื่องที่ดี แต่สื่อก็ไม่ควรสร้างภาพของตัวละครรักเพศเดียวกันให้หลุดจากความเป็นจริงจนเกินไป

ด้าน นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มองว่าการที่ดิสนีย์สร้างตัวละครรักเพศเดียวกันขึ้นมาสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมเรื่องเพศในยุคปัจจุบัน

“มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าคนเจน Z มักจะไม่ค่อยนิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง ไม่สนใจและแคร์ว่าจะเรียกเขาว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย สามารถมีความสัมพันธ์ได้หลากหลาย เป็นสีเทาๆ ไม่แบ่งแยกเป็นสีขาวหรือดำเหมือนก่อนหน้านี้ เด็กรุ่นใหม่พยายามจะทำให้พรมแดนชีวิตของตัวเองมีเส้นแบ่งน้อยที่สุด ซึ่งวัฒนธรรมป็อปที่เราเห็นในภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือการ์ตูนก็เริ่มมีเส้นแบ่งบางลงเรื่อยๆ เช่นกัน

“ซึ่งการนำเสนอตัวละครรักร่วมเพศผ่านสื่อในยุคนี้ก็มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ในแง่บวกคือเราได้เห็นว่าเพศเป็นสิ่งที่ไม่นิ่ง ไม่สามารถจัดกล่องให้คนอยู่ในกล่องใดกล่องหนึ่งเหมือนสมัยก่อนได้แล้ว เพศเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล ไม่ได้มีมาตรฐานว่าอะไรดีหรือชั่ว ถ้าคุณไม่ทำใครเดือดร้อน คุณก็สามารถแสดงออกเรื่องเพศได้เสมอ แต่ในแง่ลบก็คือการที่ตัวละครประเภทนี้ในสื่อกระแสหลักมักจะพยายามพรีเซนต์อิมเมจความเป็นผู้ชายน่ารัก, มีเสน่ห์, ดึงดูดทางเพศออกมา โดยเฉพาะการเอาวัยรุ่นหน้าตาดีมาแสดง ซึ่งทำให้รู้สึกว่าการสร้างอารมณ์ความรู้สึกคนรักเพศเดียวกันจะสุขสมก็ต่อเมื่อผ่านเรือนร่างที่ดูดีเท่านั้น”

นฤพนธ์แนะนำต่อว่าสื่อในปัจจุบันควรจะเปิดพื้นที่ให้กับคนรักร่วมเพศที่มีความหลากหลายมากขึ้น แทนที่มาตรฐานความหน้าตาดีหรือหุ่นล่ำมีเสน่ห์ที่สื่อเป็นผู้สร้าง “ธุรกิจมันตอบสนองการขายสินค้าทางเพศแบบอ้อมๆ สนับสนุนให้คนรู้สึกสนใจรูปร่างหน้าตาภายใต้มาตรฐานที่สื่อพยายามจะสร้าง คำถามก็คือวัฒนธรรมป็อปที่เอาอารมณ์ความรู้สึกของความหลงใหลในเพศเดียวกัน (Homoerotic) มาขายสามารถนำเสนอให้เห็นความหลากหลายจากความรักของคนเพศเดียวกันได้มากน้อยแค่ไหน เช่น เอาผู้ชายอ้วนสองคนมาเป็นแฟนกันได้ไหม เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรักร่วมเพศที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานน่ารักหรือหล่อได้มีที่ยืนในสังคม”

อ้างอิง:

Tags: , ,