แม้เราจะได้เห็นข่าวราคาข้าวตกต่ำแทบทุกปีตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ แต่ต้องยอมรับว่าในปีนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างออกไป โดยเฉพาะตัวเลขพาดหัวข่าวที่ดึงดูดทุกความสนใจในทำนองว่า ‘ราคาข้าวต่ำสุดในรอบ 10 ปี’ ทำให้หลายฝ่ายต้องหันมาหาทางออกในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง

ท่ามกลางความตื่นตระหนกตกใจกับราคาข้าว 1 กิโลกรัม ที่ถูกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อ The Momentum ขออาสาไปทำความเข้าใจถึงประเด็นปัญหานี้อย่างเจาะลึก รอบด้าน ด้วยการสำรวจความคิดเห็น และความจริงที่เกิดขึ้นจากหลายฝ่าย ทั้งชาวนา โรงสีข้าว นักการเมือง รวมถึงนักวิชาการที่น่าจะทำให้คุณเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาที่สุด

Photo: Chaiwat Subprasom, Reuters/profile

ใครทุบราคาข้าว?

ก่อนจะไปหาคำตอบในเรื่องนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าข้าวก็มีสถานะไม่ต่างจากพืชผลทางการเกษตรประเภทอื่นๆ ที่ในแต่ละปีนั้นมีราคาขึ้น-ลงตามกลไกของตลาด

ขณะที่ราคาข้าวตกต่ำครั้งนี้มีผลมากกว่าทุกปี โดยข้อมูลจากหลายแหล่งข่าวระบุว่า ราคาซื้อขายข้าวล่วงหน้า ณ เดือนธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ส่งออกซื้อข้าวสารหอมมะลิจากผู้ประกอบการโรงสีอยู่ที่ 15,800 บาทต่อตัน เมื่อคำนวณออกมาเป็นราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาจะอยู่ที่ 8,000 กว่าบาทต่อตันเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเป็นผลสืบเนื่องมาจากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิที่ซื้อขายล่วงหน้ามีราคาต่ำไปแตะระดับ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ต่างจากราคาซื้อขายล่วงหน้าตามปกติ ซึ่งอยู่ที่ 750-775 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี

โดย กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่คลุกคลีกับกลุ่มชาวนาตั้งแต่ช่วงเว้นวรรคทางการเมือง ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ข้าว ‘อิ่ม’ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า

“เอาแค่กรณีของข้าวหอมมะลิก่อน ตัวผมเองมีคำถามอยู่เหมือนกันว่าในเมื่อปริมาณการผลิต กับปริมาณความต้องการของข้าวหอมมะลิไม่ได้เปลี่ยนแปลงในปีต่อปีมากนัก เพราะเป็นข้าวพรีเมียมที่คนตั้งใจจะซื้อก็ซื้อข้าวหอมมะลิอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ราคาก็ควรที่จะมีเสถียรภาพมากกว่าที่ปรากฏในปัจจุบัน แต่ราคาที่เหวี่ยงอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นคำถามว่าเป็นเพราะอะไร มีอะไรมาบิดเบือนราคาตลาดหรือเปล่า พูดง่ายๆ คือมีการกดราคากันหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นคำถามที่ตัวผมเองก็ไม่มีคำตอบ เพราะจริงๆ เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องลงไปหาคำตอบให้ได้”

ทางด้าน ระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย ระบุว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ราคาข้าวตกต่ำในปีนี้สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกในภาพรวมที่กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ ขณะที่ราคาข้าวของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่แข่งทางการตลาด เช่น อินเดีย และเวียดนาม มีราคาถูกกว่าข้าวไทยค่อนข้างมาก นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ส่งออกมีการกดราคาเพื่อจะได้ทำการแข่งขันกับประเทศเหล่านี้ได้ จึงต้องรับซื้อข้าวในราคาที่ถูกตามไปด้วย

นอกจากนี้ระวียังระบุด้วยว่า “ก่อนหน้านี้กลุ่มชาวนาได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าราคาข้าวในฤดูกาลนี้จะลดลง ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามจะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์หลายครั้ง เพื่อขอมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาล แต่สุดท้ายก็ได้คำตอบช้าเกินกว่าสถานการณ์ เป็นผลให้ราคาข้าวตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่”

Photo: Enny Nuraheni, Reuters/profile

โรงสีข้าวไม่ใช่ผู้ร้าย?

เมื่อมีข่าวข้าวราคาตกเกิดขึ้น ตัวละครสำคัญที่มักปรากฏตัวในเนื้อข่าวอยู่เสมอก็คือคนกลางในการรับซื้อข้าวจากชาวนาอย่างโรงสีข้าว ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายที่คอยรังแกชาวนาด้วยการกดราคารับซื้อข้าวให้ต่ำ เพื่อผลกำไรจำนวนมากของตัวเอง

โดยทาง มานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ในฐานะตัวแทนของโรงสีข้าวทั่วประเทศ ได้ปฏิเสธกระแสข่าวที่ระบุว่ามีการวางแผนตกลงกันเพื่อกดราคารับซื้อข้าวในกลุ่มผู้ค้าข้าวท้องถิ่น และโรงสีต่างๆ ว่า

“อย่าพยายามผลักให้พวกผมเป็นฝ่ายผิดเลย เพราะหน้าที่ของโรงสีคือการซื้อมาขายไปจริงๆ และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการรวมหัวกันเพื่อกดราคารับซื้อข้าว คือถ้าโรงสีมีอยู่แค่ 3-5 แห่ง ก็อาจจะทำได้ แต่นี่โรงสีทั่วประเทศมีอยู่ 4 พันกว่าแห่ง มันทำไม่ได้อย่างแน่นอน แต่เหตุผลที่ราคารับซื้อมันเท่าๆ กันหมด เพราะโรงสีข้าวก็ต้องใช้ราคาอ้างอิงจากตลาดข้าวกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาโรงสีข้าวมักจะเป็นจำเลยของสังคมมาโดยตลอด เพราะเราเป็นด่านหน้าที่ใกล้ชิดกับเกษตรกร แต่ทุกคนลืมมองให้ครบทั้งวงจรในภาพรวมว่า เมื่อข้าวสารราคาตก ข้าวเปลือกก็ตก แถมปีนี้ราคาปลายข้าว หรือรำข้าวก็ตกลงมาด้วย ที่ผ่านมาโรงสีก็พยายามช่วยเหลือเกษตรกรมาโดยตลอด เพราะจริงๆ แล้วชาวนาก็เพื่อนๆ ผมทั้งนั้นแหละ”

ขณะที่ รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI ขยายภาพของปรากฏการณ์นี้ด้วยการอธิบายว่า

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเก็งกำไรในตลาดข้าว เนื่องจากข้อมูลการพยากรณ์เกี่ยวกับผลผลิตไม่ชัดเจน จึงเกิดการเก็งกำไรแบบต่างคนต่างเก็ง ซึ่งทำให้ราคาข้าวลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเราต้องเข้าใจว่าผู้ส่งออก โรงสี หรือพ่อค้าท้องถิ่นเอง กำไรส่วนใหญ่ของเขามาจากการเก็งกำไรเป็นเรื่องปกติของทุนนิยม และสินค้าการเกษตร เขาก็ต้องพยายามซื้อให้ถูกแล้วขายให้แพง ถามว่าในตลาดหุ้นที่มีการเก็งกำไรกันผิดไหม ก็ไม่ผิด เพราะฉะนั้นพ่อค้าเขาจะเก็งกำไรด้วยการซื้อข้าวมาเก็บไว้เพื่อสีข้าวขายตอนราคาแพงก็ไม่ผิด เพราะถ้าเขาเก็งผิด เขาก็ขาดทุน ถือเป็นความเสี่ยงที่เขาต้องแบกรับเช่นกัน

“ปัญหาใหญ่คือ เราไม่มีข้อมูลเรื่องผลผลิต หรือการคาดคะเนผลผลิตที่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลที่หน่วยงานราชการมี เอกชนก็ไม่เชื่อ ทีนี้พอไม่เชื่อต่างคนก็ต่างต้องลงไปสำรวจด้วยตัวเอง พอเห็นว่าปีนี้ฝนดี ผลผลิตต้องเยอะแน่ๆ พ่อค้าส่งออกบางคนก็ไปเสนอขายในราคา 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถามว่าเขาโง่หรือเปล่า เขาไม่ได้โง่นะ เพราะเก็งเอาไว้ว่าพอถึงตอนเก็บเกี่ยวจริงๆ ราคามันจะเหลือ 500 ดอลลาร์ เขาก็ได้กำไร 100 ดอลลาร์ พอข้อมูลมันกระจายไปเรื่อยๆ พ่อค้าคนอื่นรู้ก็ตกใจ จึงมีการตัดราคาให้ถูกกว่า ผลกระทบจึงต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ กระบวนการเก็งกำไรแบบต่างคนต่างเก็งจึงทำให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น

“ผมอยากบอกว่าอย่าพยายามหาคนผิด หรือแพะรับบาป เพราะมันไม่ใช่ว่าคนใดคนหนึ่งมีอำนาจผูกขาด แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันมาเป็นทอดๆ”

Photo: Sukree Sukplang, Reuters/profile

สีข้าวเอง แพ็กเอง ขายข้าวออนไลน์ ทางรอดของชาวนาไทย?

จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวนาหลายฝ่ายพยายามมองหาทางออกเรื่องนี้ด้วยการลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางและโรงสีข้าว แต่หันไปรวมกลุ่มกันสีข้าว แพ็ก และขายข้าวด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นไอเดียที่ดี แต่อาจไม่ใช่ทางรอดที่แท้จริงในระยะยาวของชาวนา

“ตามข้อเท็จจริงคือ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าไปถามกลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมตัวกันสีข้าวเอง แพ็กเอง ขายเอง ก็จะรู้ว่ามันยากลำบากขนาดไหน เพราะต้องมีเรื่องของการตลาด การสร้างแบรนด์ หรือเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผมคิดว่าความหมายที่แท้จริงของข้อเสนอนี้คือ จะทำยังไงให้ชาวนามีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น และให้ชาวนามีช่องทางในการเข้าถึงตลาดได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งผมมองว่าต้องมีการรวมตัวกันตามประเภทสินค้าที่มีเอกลักษณ์พิเศษ อาจจะแบ่งตามรายจังหวัด หรืออำเภอ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าให้ติดตลาด ผมคิดว่านั่นคือแนวทางที่สำคัญ” กรณ์ จาติกวณิช ให้ความเห็น

เช่นเดียวกับประธานเครือข่ายชาวนาไทย ที่มองว่านี่คงไม่ใช่ทางออกที่ชาวนาสามารถทำได้ทันที

“ถ้าทำจริงก็คงช่วยแก้ปัญหาได้มาก แต่ผมกลัวว่าจะทำไม่ได้จริง เพราะส่วนใหญ่แล้วเครื่องไม้เครื่องมือที่ได้มาตรฐานไม่ได้อยู่ในมือชาวนา อย่างผมเองเคยทำข้าวแบรนด์เครือข่ายชาวนาไทยก็พบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบข้าวที่ดูสวย ดูสะอาด แต่โรงสีของชุมชนส่วนใหญ่เมื่อสีข้าวเสร็จแล้ว จะไม่ได้คัดแยกเม็ดข้าวที่หักออก อีกทั้งยังไม่มีเครื่องขัดขาว แม้จะโฆษณาว่าข้าวจากชุมชนนี้ไม่ได้ขัดเอาวิตามินออกไป แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคก็ยังไม่ยอมรับเรื่องนี้มากนัก ถ้าชาวนาจะขายข้าวให้ถึงมือผู้บริโภคเองจะต้องมีเครื่องมือในการสีที่ได้คุณภาพสูง มีเครื่องคัดแยกข้าวไม่สวยออก ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก”

ทางด้านนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยกล่าวว่า “ผมเห็นดีเห็นงามด้วยนะ ผมสนับสนุนเต็มที่ในเรื่องนี้ ถ้าทำแล้วมีอะไรติดขัด ก็สามารถโทรมาปรึกษาสมาคมโรงสีได้ครับ เรายินดีให้คำแนะนำ เพราะถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกร”

ระยะยาวรัฐบาลมีทางแก้… แต่ยังไม่เกิดขึ้นจริง

แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะประกาศมาตรการช่วยเหลือชาวนาออกมาหลากหลายมาตรการ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ทั้งโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 หรือ ‘โครงการจำนำยุ้งฉาง’ โดยรับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิที่ราคาตันละ 9,500 บาท ให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,500 บาท และมอบเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวอีก 2,000 บาทต่อตัน รวมเป็นเงิน 13,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีมติขยายโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2559/60 จากเดิมที่สิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ขยายเวลาเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการเหล่านี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

ขณะที่นโยบายแก้ไขปัญหาระยะยาวของรัฐบาล เช่น โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม (โซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว) ฯลฯ ยังไม่ส่งผลอย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดย ระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย ให้ความเห็นว่า

“ณ ปัจจุบัน หลายๆ โครงการของรัฐบาลดูดี แต่พอถึงตอนปฏิบัตินั้นไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ โดยเฉพาะโครงการที่ผมเห็นว่าจะไปได้ดีในอนาคต อย่างโครงการโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว แม้จะมีการทำ MOU ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับโรงสีข้าว ที่จะรับซื้อข้าวคุณภาพในราคาสูง ก็เกิดขึ้นน้อยรายมากๆ เพราะไม่มีการหารือ หรือตกลงกันว่าโรงสีอยากได้ข้าวพันธุ์อะไร

“หรือโครงการนาแปลงใหญ่ที่รัฐบาลให้วงเงินกู้เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาทำนาแปลงใหญ่ 2 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายสนับสนุน 400 แปลง แต่ปัจจุบันมีผู้ได้รับการอนุมัติไม่เกิน 33 แปลง เพราะระเบียบการกู้เงินของ ธ.ก.ส. ที่ค่อนข้างหยุมหยิม ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ”

เช่นเดียวกับ ดร.นิพนธ์ จาก TDRI ที่มองว่านโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม ถือเป็นโครงการที่ดีที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำอย่างจริงจังในระยะยาว

Photo: Sukree Sukplang, Reuters/profile

ชาวนาไทยต้องการอะไรในอนาคต

แน่นอนว่าชาวนาก็ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ ทั่วไป ที่อยากจะยกระดับคุณภาพชีวิต มีรายได้ที่ดีขึ้น และสามารถยืนระยะในอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาชีพชาวนาสั่นคลอนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งกลไกการตลาด สภาพอากาศที่ไม่แน่นอน รวมถึงนโยบายรัฐที่ไม่สม่ำเสมอ

ซึ่งหากต้องการแก้ไขปัญหาราคาข้าวในระยะยาว หลายฝ่ายยอมรับว่ารัฐบาลอาจต้องทำอีกหลายเรื่องที่ยังไม่เคยทำสำเร็จในวันนี้

กรณ์ จาติกวณิช ให้ทางออกในเรื่องนี้ว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงราคา  และนี่คือสาเหตุที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้วิธีประกันรายได้ให้กับเกษตรกรแทน เพราะไม่ต้องการจะไปบิดเบือนให้ทั้งการผลิตและราคาแปรเปลี่ยนไป หรือทำให้รัฐต้องถือสต๊อกข้าวในมือ ซึ่งส่งผลต่อราคาข้าวในอนาคต

“สิ่งที่ชาวนายังขาดอยู่ตอนนี้คือ อำนาจทุน และความรู้เรื่องช่องทางการตลาด พอไม่มีเงินทุน อำนาจการต่อรองก็ไม่มีอยู่แล้ว เป็นเหตุผลที่ชาวนาเกือบจะเหมือนถูกบังคับว่าพอเกี่ยวข้าวเสร็จก็ต้องรีบขาย เพื่อที่จะรับเงินก้อนมาชำระหนี้ หรือจับจ่ายใช้สอย เพราะเขาพึ่งพาแหล่งทุนอื่นไม่ได้ การที่เราเสนอให้ชาวนาต้องค่อยๆ ขายข้าวทีละถุง ทีละกิโลฯ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะกระแสรายรับของเขาไม่ทันต่อความต้องการการใช้เงิน นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงต้องรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ แล้วสหกรณ์ก็ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับชาวนาที่เป็นสมาชิกได้ก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ขายข้าวให้ได้ราคาดี แทนที่จะถูกบังคับให้ต้องขายในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ”

ส่วนประธานเครือข่ายชาวนาไทยเสนอว่า “ผมอยากให้มีการตั้งบริษัทมหาชนของชาวนา แล้วให้รัฐบาลแก้กฎหมายท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดให้มีเงินทุนหมุนเวียน โดยให้แต่ละท้องถิ่นสำรวจความต้องการการบริโภคข้าวภายในพื้นที่ของตัวเอง แล้วให้ผู้บริโภคข้าวที่มีอยู่สั่งซื้อข้าวล่วงหน้าว่า ต้องการข้าวชนิดนี้ในราคาถูกกว่าท้องตลาดเท่านี้ๆ แล้วท้องถิ่นก็ตั้งงบประมาณเพื่อไปซื้อข้าวกับ ธ.ก.ส. หรือจากโครงการจำนำยุ้งฉาง แล้วค่อยไปจ้างโรงสีที่มีคุณภาพสีข้าวให้บรรจุถุง แล้วขายให้ผู้บริโภค ถ้าทำแบบนี้ได้ รัฐบาลก็ไม่ต้องเข้าไปอุดหนุนชาวนาตลอดเวลา และเชื่อว่าชาวนาจะอยู่ได้ในระยะยาว”

ปิดท้ายที่ ดร.นิพนธ์ จาก TDRI ที่เสนอว่า รัฐบาลควรเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากภาคการเกษตร เพราะปัจจุบันรายได้ของเกษตรกรทั่วประเทศคือ 10% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่มีแรงงานในภาคการเกษตรสูงถึง 30% ขณะที่นอกภาคการเกษตรมีรายได้ 90% แต่มีแรงงานเพียง 70% เท่านั้น ถ้าสามารถย้ายแรงงานการเกษตรให้สมดุลกับรายได้ที่เกิดขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว นอกจากนี้รัฐบาลยังควรจะลงทุนเรื่องการวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เพื่อสร้างทางเลือกให้กับชาวนาอีกด้วย

“ทางเลือกในวันนี้เรามีข้าวที่ขายได้ในราคาสูงอยู่แค่ 2 ชนิดเท่านั้นเอง คือข้าวนึ่ง กับข้าวหอมมะลิ แล้วเราก็กอดข้าวนึ่งกับข้าวหอมมะลิไว้มา 20 กว่าปีแล้ว จนกระทั่งตอนนี้คู่แข่งเขาขึ้นมาเหยียบไหล่เราแล้ว คือเดิมเราไปแย่งตลาดข้าวนึ่งมาจากอินเดีย วันนี้อินเดียกลับมาแล้ว ซึ่งต้นทุนเขาต่ำกว่าเรามาก ส่วนข้าวหอมมะลิ เวียดนามก็ถูกกว่าเรา เขาขายในราคา 600 ดอลลาร์ เราขาย 1,000 ดอลลาร์ คนก็เลยซื้อเราน้อยลง อย่างในประเทศจีนก็ซื้อข้าวหอมของเราไปผสมกับข้าวหอมเวียดนาม ผสมเสร็จก็ใส่ถุงให้คนกินคิดว่าข้าวจากประเทศไทย แล้วขายในราคาถูก

“เพราะฉะนั้นเราต้องมีพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ตลาดต้องการ แล้วต้องทำก่อนคนอื่น อย่างบางประเทศเขาไม่ได้ชอบกินข้าวหอม แต่ชอบข้าวแข็ง หรือบางประเทศชอบข้าวนุ่ม แต่ตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ของข้าวนุ่มต้องทำยังไง วิธีที่ถูกต้องคือต้องไปสำรวจตลาดก่อน พอรู้ว่ามีความต้องการ เราก็เพาะพันธุ์ข้าวเหล่านี้ให้เกษตรกร รายได้ของเกษตรกรก็จะเพิ่ม เพราะมีทางเลือกหลากหลาย พอข้าวตัวไหนราคาต่ำ ก็หันไปปลูกตัวอื่น ทุกวันนี้เรามีงานวิจัยมากมาย แต่งานวิจัยเป็นงานที่รัฐบาลหรือนักการเมืองไม่ค่อยสนใจ แล้วพอสนใจก็บอกว่าต้องได้ผลภายในหนึ่งปี แต่งานวิจัยเป็นงานต่อยอด ค่อยๆ ส่งเสริมองค์ความรู้ กว่าจะได้ผลก็หลายปี ซึ่งเราไม่เคยใจเย็นพอ”

นอกจากนี้ ดร.นิพนธ์ ยังทิ้งท้ายด้วยว่า “ถ้าเรามัวไปพยุงแต่ราคา สุดท้ายมันก็จะเป็นวัฏจักรแบบนี้ที่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น แล้วสุดท้ายมันก็จะกลับมาเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกปีว่าพ่อค้าเอาเปรียบชาวนา ชาวนาต้องรวมตัวกัน ซึ่งมันน่าเบื่อในความคิดผม”

 

FACT BOX:

จำนำยุ้งฉางต่างจากจำนำข้าวอย่างไร

รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อธิบายด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า

“เวลาคุณเอาของไปจำนำ โรงรับจำนำไม่เคยให้มูลค่าจำนำเท่ากับราคาของ เพราะเขาต้องตีราคาจำนำให้ต่ำกว่า คิดเป็นประมาณ 70-80% ตามราคาของในตลาด ซึ่งโครงการจำนำยุ้งฉางของรัฐบาลนี้ก็ให้ราคาข้าวกับชาวนาอยู่ที่ 80-90% ของราคาข้าวในตลาด

ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยกราคาจำนำให้สูงกว่าราคาตลาด จึงไม่ได้เรียกว่าการจำนำ แต่เป็นการซื้อข้าวจากชาวนาในราคาแพงกว่าราคาตลาด แต่ไม่ยอมเปลี่ยนชื่อเท่านั้นเอง”