ด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน มีส่วนทำให้การดำรงชีวิตของสัตว์หลายสายพันธุ์เปลี่ยนแปลงตาม และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ป่าและสัตว์ใต้ทะเลหลากสายพันธุ์ดำรงชีวิตอยู่ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของฤดูผสมพันธุ์ ฤดูอพยพตามพฤติกรรม และสัญชาตญาณที่แปรปรวนไปตามสภาพภูมิอากาศ หรือแม้แต่ความยากลำบากในการหาแหล่งอาหารเพื่อดำรงชีพ จนสัตว์บางสายพันธุ์ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปบนโลกภายใต้ภาวะที่เรียกได้ว่า ‘สูญพันธุ์’

นี่ไม่ใช่เรื่องของอนาคต เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปปรากฏผลกระทบอย่างเด่นชัดในปัจจุบัน และอาจมีผลร้ายแรงในอนาคตต่อไป หากมนุษย์เรายังไม่มีแผนและวิธีการคลายปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

“เราศึกษากันค่อนข้างชัดเจนมากกับสิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้น” เจมส์ วัตสัน (James Watson) นักเขียนงานวิจัยร่วมของการศึกษาครั้งใหม่และในฐานะผู้อำนวยการโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) กล่าวกับ The Huffington Post ถึงกรณีดังกล่าว

งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Climate Change เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (2017) โดยทีมผู้ศึกษาประมาณการไว้ว่า 47% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และ 23% ของนกสายพันธ์ุต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์เป็นการด่วน หลังจากที่สัตว์เหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงไปของโลกที่ในขณะนี้มีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่รกร้างที่พวกมันต้องพึ่งพาอาศัยและดำรงชีวิต รวมถึงการพัฒนาของมนุษย์ได้ขัดขวางไม่ให้พวกมันอพยพไปที่อื่น จากการประเมินก่อนหน้านี้ ที่คาดการณ์ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ได้รับผลกระทบ และมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุเพียง 7% ขณะที่ตัวเลขผลกระทบของสัตว์ปีกอยู่ที่ 4% เท่านั้น

สำหรับการวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมโดยทีมงานนักวิจัยของออสเตรเลีย อิตาลี และสหราชอาณาจักร ที่ศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ถูกตีพิมพ์จากปี 1990-2015 มีข้อสรุปว่าจำนวนสัตว์มากกว่า 2,000 สายพันธ์ุ มีทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งทางบวกและทางลบปะปนกันไป ซึ่งในจำนวน 873 สายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีจำนวนถึง 414 สายพันธ์ุที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการไร้ที่อยู่อาศัยและเจ็บไข้ได้ป่วยจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อย่างเช่นช้าง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทวานร และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกมาร์ซูเพียล (เลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมในถุงหน้าท้อง) ขณะที่นกถูกคุกคามมากถึง 298 จากทั้งหมด 1,272 สายพันธุ์เลยทีเดียว

เจมส์ วัตสัน ในฐานะผู้ศึกษางานวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์เสริมว่า “ส่วนใหญ่พวกสัตว์สายพันธ์ุเหล่านี้มักไม่ได้รับการเปรียบเทียบและศึกษาโดยตรงกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป นี่ถือเป็นเรื่องที่เลวร้ายสำหรับนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเอาเข้าจริงมันก็อาจหมายถึงพวกเรานี่แหละ ที่เข้าไปทำร้ายพวกมันเป็นจำนวนมากโดยไม่รู้ตัว”

โดยการศึกษาใหม่ตามการวิเคราะห์สัตว์ป่าที่ถูกคุกคาม ที่วัตสันและทีมผู้วิจัยร่วมลงความเห็นคล้ายกันว่าเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปนั้น มองกิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ตั้งแต่อดีต ซึ่งรวมไปถึงการล่าสัตว์และการทำฟาร์มว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกต้องเผชิญกับ ‘ความกดดันที่มนุษย์สร้างขึ้น’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะที่ความหลากหลายทางชีวภาพและการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่ปราศจากการรบกวนโดยมนุษย์ทั่วโลกวัดรวมกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2016 มีเหลือเพียง 3% เท่านั้น

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังคาดการณ์ด้วยว่า หากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเช่นทุกวันนี้ ในอีก 50 ปี ถึง 100 ปีข้างหน้า พืชและสัตว์หลายสายพันธ์ุกว่า 1 ใน 6 อาจถึงคราวสูญพันธุ์จากโลกนี้

“การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้มีทีท่าว่าจะดูเลวร้ายหนักขึ้น

“ธรรมชาติมีความยืดหยุ่นในตัวเองมากอยู่แล้ว หากคุณให้โอกาส แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่มากๆ ในตอนนี้ คืออย่าปล่อยให้มันแย่ลงไปกว่าเดิม เราต้องร่วมมือแก้ไขปัญหากันเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพราะในทุกๆ วัน ทุกๆ นาที ถ้าเราใส่ใจเรื่องเหล่านี้น้อยลง คุณก็จะสูญเสียโอกาสเหล่านั้นไปโดยปริยาย” วัตสันทิ้งท้าย

อนึ่ง ดูเหมือนประเด็นเรื่องการหยุดสภาวะโลกร้อนจะเริ่มเป็นที่น่าสนใจอีกครั้ง เมื่อการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 22 หรือ COP 22 ที่เมืองมาร์ราเกช โมร็อกโก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ความตกลงปารีส’ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2020 ผ่านความเห็นชอบจากหลายประเทศที่เข้าร่วมประชุม และหลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการลดการเกิดภาวะโลกร้อน

มานูเอล พัลการ์-วีดอล (Manuel Pulgar-Vidal) หัวหน้าปฏิบัติการด้านภูมิอากาศและพลังงาน ขององค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF แถลงการณ์ลงความเห็นว่า

“สำหรับการประชุมที่เมืองมาร์ราเกช, โมร็อกโก ประเทศสมาชิกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรมีการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานในอีกสองปีข้างหน้า รวมไปถึงพยายามกำหนดเป้าหมาย  และแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อลดขนาดช่องว่างที่เกิดจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ก่อนปี 2020 ซึ่งผลลัพธ์ของการประชุมถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการวางรากฐานการดำเนินงานที่ยั่งยืนตามความตกลงปารีส”

ดูเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวโลกจะยังเลวร้ายไม่พอ เพราะอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่แสดงว่ามนุษย์กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับโลก คือการค้นพบที่น่าตกใจใต้ท้องทะเลลึก

เมื่อ อลัน เจมีสัน (Alan Jamieson) นักวิจัยนิเวศวิทยา จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล แห่งสหราชอาณาจักร ร่วมกับทีมวิจัย โดยพบสารพิษปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งถูกห้ามใช้เมื่อ 40 ปีที่แล้วอย่าง PCBs หรือโพลีคลอริเนตไบฟีนิล (Polychlorinated Biphenyls) หรือกลุ่มสารเคมีจำพวกสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งและทำลายฮอร์โมน หลังใช้ยานสำรวจใต้น้ำแบบพิเศษ เพื่อเก็บตัวอย่าง ‘แอมฟิพอด’ (amphipod) ที่อาศัยอยู่ก้นมหาสมุทรลึกลงไป 7 ไมล์ ของร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเฉียงเหนือ

โดยสารที่ค้นพบดังกล่าวมีปริมาณมากกว่า 50 เท่า ของระดับสารปนเปื้อนในแม่น้ำเหลียวเหอ (Liaohe River) ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำของจีนที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดเสียอีก

“เราคิดอยู่เสมอว่าบริเวณเบื้องลึกของมหาสมุทรย่อมปลอดภัยจากผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ แต่การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องเศร้าที่ไม่ไกลเกินความเป็นจริง”

ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ที่ทำให้มนุษย์อย่างเราเริ่มหันมาตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเริ่มลงมือดูแลโลกนี้อย่างจริงจังเสียที

ที่มา:

FACT BOX:

  • ความตกลงปารีส (Paris Agreement) คือข้อตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2020 มีเป้าหมายเพื่อ
  • ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตระหนักว่า ความพยายามนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงอย่างมีนัยสำคัญ
  • เพิ่มพูนความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประคับประคองความคงทนต่อสภาพอากาศและการพัฒนาที่ก่อก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ด้วยแนวทางที่ไม่เป็นภัยคุกคามต่อการผลิตอาหาร
  • ก่อให้เกิดการไหลเวียนของกระแสเงินทุนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางไปสู่การพัฒนาที่ก่อก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและคงทนต่อสภาพอากาศ
Tags: , ,