‘Hong Kong is not China’ (ฮ่องกงไม่ใช่ประเทศจีน)

‘Hong Kong Nation’  (ชาติฮ่องกง)

‘Hong Kong is a Nation: a political and economic community’ (ฮ่องกงคือประเทศที่มีสังคมทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง)

Photo: Tyrone Siu, Reuters/profile

ข้อความทางการเมืองของ เหยา ไวชิง (Yau Wai-Ching) วัย 25  ปี และ บัจโจ เหลียง (Baggio Leung) วัย 30 ปี  ที่สะท้อนออกมาในวันที่ทั้งสองคนสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผ่านธงและแผ่นป้ายต่างๆ เมื่อเดือนตุลาคม หลังจากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ได้สร้างความกังวลให้กับจีนว่าจะสร้างกระแสความกระด้างกระเดื่องในฮ่องกง

ล่าสุดวานนี้ (15 พฤศจิกายน 2559) ศาลฮ่องกงได้ออกมาประกาศว่า ทั้งสองคนไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเข้ารับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยให้เหตุผลว่าพวกเขามีความคิดทางการเมืองที่ขัดต่อกฎหมายของฮ่องกง

คำตัดสินของศาลฮ่องกงสอดคล้องกับที่จีนสั่งห้ามพวกเขาดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 เนื่องจากจีนมองว่า พวกเขาไม่สามารถแสดงความสวามิภักดิ์ต่อจีนในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายของฮ่องกง และจีนประกาศว่าจะทบทวนกฎหมายของฮ่องกงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ความสวามิภักดิ์ต่อจีน จนทำให้ชาวฮ่องกงหลายหมื่นคนออกมาประท้วงเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เพราะชาวฮ่องกงมองว่าเป็นการแทรกแซงกฎหมายของฮ่องกง ซึ่งขัดกับหลัก ‘One Country, Two Systems’ หลังจากฮ่องกงได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2540

Photo: Bobby Yip, Reuters/profile

เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นชาวฮ่องกงรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดให้ฮ่องกงเป็นอิสระจากจีน

เหยา ไวชิง วัย 25 ปี และ บัจโจ เหลียง วัย 30 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหม่ ทั้งสองได้เจอกันบนสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ก่อนจะร่วมกันก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า Youngspiration ซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองที่ไม่เพียงแค่ต้องการปฏิรูปความเป็นประชาธิปไตยของฮ่องกง (ดังเช่นกลุ่ม Traditional Pro-Democracy) แต่ต้องการต่อต้านอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ในฮ่องกงด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นเขาสองคนเชื่อว่า ชาวฮ่องกงไม่ใช่ชาวจีน และต้องการให้อัตลักษณ์ของชาวฮ่องกงเด่นชัดยิ่งขึ้น

Photo: Tyrone Siu, Reuters/profile

เหยา ไวชิง สาวน้อยคนนี้ถูกมองว่าเป็นที่มาของการประท้วงต่อจีนครั้งล่าสุด เริ่มจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่อายุ 21 ปี ในช่วงที่คนฮ่องกงรุ่นใหม่เริ่มมีความตื่นตัวทางการเมือง ตั้งแต่การประท้วงนโยบายการศึกษา ไปสู่การประท้วงเรียกร้องให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิเลือกผู้ว่าการของตัวเองได้ ซึ่งนำไปสู่ขบวนการ ‘ปฏิวัติร่ม’ เมื่อปี 2014 และเธอยังได้เข้าร่วมการปฏิวัติร่มครั้งนั้นแม้เหตุการณ์จะมีความรุนแรง ในขณะที่คนวัยเดียวกับเธอไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก ซึ่งทำให้เธอหมดกำลังใจ

“พวกเขาเอาแต่สนุกสนาน ไม่ยอมเข้าร่วมสงครามระหว่างประชาชนกับรัฐบาล” เธอให้สัมภาษณ์กับ TIME

เหยา ไวชิง เริ่มกิจกรรมทางการเมืองภายนอกสภาด้วยการแจกใบปลิวและเดินรณรงค์ แต่มาตระหนักภายหลังว่าต้องการเล่นการเมืองภายในสภาด้วย เธอจึงเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ 9 คน ที่ตัดสินใจลงสมัครในการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น ซึ่งในครั้งนั้นเธอแพ้ จนสุดท้ายไวชิงตัดสินใจจะลงสมัครตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ เพราะมองว่าฮ่องกงต้องการสภานิติบัญญัติที่อยู่ข้างประชาชน และในที่สุดเธอสามารถกวาดคะแนนไปมากกว่า 20,000 เสียง จนสามารถเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ เช่นเดียวกับเหลียง และ นาธาน ลอว์ (Nathan Law) วัย 23 ปี สภาชิกสภานิติบัญญัติที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง หนึ่งในแกนนำปฏิวัติร่มร่วมกับ โจชัว หว่อง (Joshua Wong) วัย 20 ปีที่อายุน้อยเกินไปที่จะลงสมัคร

Photo: Tyrone Siu, Reuters/profile

แนวคิดแยกตัวออกจากจีนที่ชาวฮ่องกงคิดว่า อาจจะทำให้จีนใช้อำนาจมากกว่าเดิม?

จากเหตุการณ์ชาวฮ่องกงหลายหมื่นคนออกมาประท้วง หลังจากทางการจีนประกาศไม่ให้ เหยา ไวชิง และ บัจโจ เหลียง เข้ารับตำแหน่ง เนื่องจากมองว่าแนวคิดของทั้งสองคนเป็นภัยต่อความมั่นคงและอนาธิปไตยของจีน และประกาศว่าจะพิจารณาเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของฮ่องกงที่เกี่ยวข้องกับการสวามิภักดิ์ของจีน แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวฮ่องกงที่ออกมาประท้วงทุกคนจะเห็นด้วยกับแนวคิดของพวกเขา

“แน่นอนว่าชาวฮ่องกงโหยหาอิสรภาพ และไม่ต้องการให้อำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาแทรกซึมฮ่องกง แต่การกระทำของทั้งสองคนก็เกินกว่าที่เคยพูดไว้ตอนหาเสียง” ลี แคมวาห์ (Lee Kam-Wah) ชาวฮ่องกงได้กล่าวกับนิตยสาร TIME

Photo: Tyrone Siu, Reuters/profile

แล้วทำไมชาวฮ่องกงจึงออกมาประท้วง?

คำตอบคือชาวฮ่องกงหลายคนที่ออกมาประท้วงมองว่า ทั้งสองคนต่างก็ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม และต้องการปกป้องกฎหมายของฮ่องกง เนื่องจากชาวฮ่องกงมองว่าตัวกฎหมายที่แตกต่างระหว่างฮ่องกงกับจีนเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่ออำนาจปกครองตนเอง

ขณะที่ เหยา ไวชิง เปิดเผยว่า ตั้งแต่เธอมีแนวคิดให้ฮ่องกงเป็นอิสระจากจีน เธอก็ได้รับกระแสต่อต้านจากทั้งคนขับแท็กซี ข้อความในมือถือหลายข้อความ รวมถึงในโลกออนไลน์

“ฉันได้รับข้อความโจมตีมากมายในเฟซบุ๊กว่า สถานการณ์คงจะไม่เลวร้ายขนาดนี้ ถ้าฉันไม่ปลุกกระแสนี้แรงและเร็วเกินไป แต่ฉันยังไม่เห็นสักข้อความที่รู้สึกเสียใจที่เลือกฉันเข้าสภา”

แม้ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย และกฎหมายที่คุ้มครองอำนาจในการปกครองกิจการภายในของฮ่องกง แต่แนวคิดให้ฮ่องกงเป็นอิสระจากจีนนั้นยังใหม่มากสำหรับชาวฮ่องกงรุ่นเก่า ทั้งในแง่วัฒนธรรมและการเมือง จนหลายฝ่ายมองว่าข้อเรียกร้องนี้อาจเป็นการยั่วยุให้จีนใช้อำนาจเด็ดขาดกับฮ่องกงมากกว่าเดิม รวมถึงอาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายในฮ่องกงเอง ดังเช่นที่ วิลเลียม แลม (William Lam) ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงบอกว่า “เป็นเวลานานแล้วที่จีนบีบฮ่องกง และลิดรอนสิทธิเสรีภาพต่างๆ แต่การแก้ไขกฎหมายทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะ เพราะจะนำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังมีให้เห็นเยอะขึ้นในฮ่องกง”

ไม่แน่ว่าแนวคิดก้าวหน้านี้อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างฮ่องกงกับจีน

และอาจดึงฮ่องกงกลับไปอยู่ใต้อำนาจจีนมากกว่าเดิมก็เป็นได้

 

อ้างอิง:
     – http://www.aljazeera.com/news/2016/11/china-bars-rebel-hong-kong-mps-retaking-oath-161107033944766.html
– http://time.com/4567570/hong-kong-yau-wai-ching-independence-democracy-china/