ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 ที่จัดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศความโศกเศร้า ซึ่งไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน แต่ถึงอย่างนั้นภายในงานครั้งนี้ก็มีปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะหนังสือในหมวดพระราชนิพนธ์ พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชนจำนวนมาก

ขณะเดียวกันงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งนี้ก็เป็นไปอย่างเงียบสงบ เพราะทุกบูทพร้อมใจงดใช้เครื่องขยายเสียง และงดกิจกรรมรื่นเริง พร้อมเกิดกระแสเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์อย่างแฮชแท็ก #จินยองอ่าน ซึ่งส่งผลทำให้หนังสือหลายเล่มหมดสต็อกอย่างไม่น่าเชื่อ!

The Momentum จะพาคุณไปเจาะลึกปรากฏการณ์เหล่านี้พร้อมๆ กัน

จำนวนคนร่วมงานลด แต่ยอดขายไม่ลดตาม

สำหรับบรรยากาศโดยรวมของงานมหกรรมหนังสือในครั้งนี้ถือว่าเกินความคาดหมาย เนื่องจากงานจัดตรงกับช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าผู้เข้าร่วมงานจะบางตากว่าที่ตั้งเป้าไว้

โดยตัวเลขของผู้เข้าร่วมชมงานในปีนี้มีมากกว่า 1.7 ล้านคน ขณะที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้จัดงานตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 2 ล้านคน ซึ่ง จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมฯ ระบุว่า

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ปีนี้เราจัดงานบนความรู้สึกสูญเสีย ทำให้บรรยากาศโดยรวมค่อนข้างเงียบเหงาพอสมควรจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สังเกตได้ว่างานในปีนี้จะงดกิจกรรมรื่นเริง รวมทั้งขอความร่วมมือจากบูทต่างๆ ให้งดโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ภาพรวมจึงเป็นงานเงียบๆ แต่ก็ยังมีนักอ่านที่มาร่วมงานตามปกติจำนวนหนึ่ง”

ขณะที่เสียงตอบรับจากหลายๆ สำนักพิมพ์สะท้อนตรงกันว่า มหกรรมหนังสือในปีนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ เช่น ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ตัวแทนจากบูทร้านหนังสือก็องดิดที่ระบุว่า

“ตอนแรกคิดว่าคนจะน้อยลง เพราะมีปัจจัยจากหลากหลายสถานการณ์ แต่ปรากฏว่าโดยรวมแล้วคนก็ยังเยอะกว่าที่คิดกันไว้ ถ้าเทียบว่ามีความโศกเศร้าแต่คนยังมาร่วมงานขนาดนี้ ส่วนตัวมองว่าการอ่านอาจเป็นเพียงความบันเทิงเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนี้ก็ได้ เพราะเมื่อคนอยู่กับหน้าจอโทรทัศน์ หรืออ่านข่าวมากๆ อาจจะรู้สึกเศร้า เลยออกมาเดินงานหนังสือกันค่อนข้างหนาตา”

สอดคล้องกับความเห็นของ วิไลลักษณ์ โพธิ์ตระกูล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดสำนักพิมพ์ a book และ สุภชัย สุชาติสุธาธรรม หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักพิมพ์มติชน ที่เปิดเผยตรงกันว่า ปริมาณคนมาเดินงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ยอดขายโดยรวมของสำนักพิมพ์ไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ส่วน เอกวิทย์ สุทธิกิตติบุตร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อมรินทร์ บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด ตัวแทนจากบูทร้านนายอินทร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

“เท่าที่สังเกตกันเองจะเห็นว่างานหนังสือปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานวัยผู้ใหญ่ค่อนข้างบางตา เพราะบางส่วนยังคงไว้อาลัยต่อพระองค์ท่าน รวมถึงมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องทำ ขณะที่นักอ่านวัยเด็กและวัยรุ่นจะค่อนข้างหนาตาเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา”

 

หนังสือในหลวงถูกถามหาเป็นอันดับ 1

หมวดหนังสือที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอันดับ 1 คงหนีไม่พ้นหนังสือพระราชนิพนธ์ พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่กลายเป็นปรากฏการณ์แห่งการแสดงความอาลัยผ่านการเก็บสะสมหนังสือ เสมือนเป็นความทรงจำที่จะเก็บไว้ได้ตลอดกาล

ตัวแทนจากบูทร้านนายอินทร์ ผู้จัดจำหน่ายและรวบรวมผลงานพระราชนิพนธ์หลากหลายชิ้นกล่าวว่า

“ปีนี้หนังสือพระราชนิพนธ์ได้รับการตอบสนองจากผู้อ่านเป็นอย่างดี เนื่องจากทุกคนอยากจะมีหนังสือเก็บไว้เป็นที่ระลึกเพื่อแสดงความอาลัย และต้องบอกตามตรงว่าหนังสือหมวดนี้เป็นหนังสือที่ทางสำนักพิมพ์ได้รับพระราชทานอนุญาตในการพิมพ์และจัดจำหน่ายในจำนวนจำกัด เพราะฉะนั้นจึงเป็นคอลเลกชันหนังสือที่อาจจะไม่มีโอกาสพิมพ์เพิ่มแล้ว เช่นเดียวกับงานหนังสือครั้งนี้ที่เราก็ไม่ได้เพิ่มจำนวนพิมพ์แต่อย่างใด ทำให้สต๊อกหนังสือหมวดนี้ยุบลงไปค่อนข้างมาก”

โดยหนังสือขายดีที่สุดของบูทร้านนายอินทร์ ได้แก่ พระมหาชนก, 108 มงคลพระบรมราโชวาท, เรื่อง ทองแดง รวมถึง เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ และ แม่เล่าให้ฟัง

ส่วนทางบูทสำนักพิมพ์มติชนก็มีกระแสตอบรับที่คึกคักไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ฉบับพิเศษต่างๆ จากหนังสือพิมพ์มติชน ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ หรือนิตยสารศิลปวัฒนธรรม รวมถึงหนังสือบันทึกความทรงจำจากข้าราชบริพารที่รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน ซึ่งได้รับการถามหาเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้หนังสือในหมวดให้แรงบันดาลใจ เพิ่มมุมคิดในแง่บวกก็ดูจะมีกระแสความต้องการที่ดีอย่างเห็นได้ชัด โดย สุภชัย จากสำนักพิมพ์มติชนกล่าวว่า

“ด้วยสภาวะจิตใจของคนไทยตอนนี้ค่อนข้างจะหมองเศร้า หนังสือที่ให้แรงบันดาลใจ และมุมคิดในแง่บวกจึงได้รับกระแสตอบรับดีเป็นพิเศษ เช่น เราต่างเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน ของหนุ่มเมืองจันท์ หรือหนังสือฮาวทูต่างประเทศอย่าง Japan Only! ญี่ปุ่นเขาจัดบ้านกันแบบนี้ไง ฯลฯ ผมมองว่าเป็นการสะท้อนถึงความต้องการของคนไทยในเวลานี้ที่ต้องการฟื้นฟูสภาพจิตใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย”

ทั้งนี้นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ระบุว่า “ผมไม่อยากให้นำเหตุการณ์สวรรคตของพระองค์ท่านมาพ่วงกับยอดการขายหนังสือ เพราะถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้เพื่อแลกกับการขายหนังสือได้เยอะๆ หรอกครับ”

#จินยองอ่าน จุดกระแสนักอ่านรุ่นเยาว์

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ความคึกคักที่เกิดขึ้นในงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ คือหนังสือในหมวด #จินยองอ่าน

โดย ปาร์ค จินยอง (Park Jin-Young) เป็นหนึ่งในสมาชิกของ GOT7 วงศิลปินเกาหลีที่มีแฟนคลับล้นหลาม นิสัยส่วนตัวของเขาเป็นคนที่รักการอ่าน มักจะพกพาหนังสือเล่มโปรดติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเสมอ หรือบางครั้งก็ถึงขั้น live รีวิวหนังสือที่เพิ่งอ่านจบด้วยซ้ำ

ซึ่งแฟนคลับชาวไทยจำนวนหนึ่งได้ทำการรวบรวมลิสต์หนังสือที่จินยองเคยอ่าน และจัดทำแผนผังแสดงพิกัดหาซื้อหนังสือเหล่านั้นในงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้อย่างละเอียด จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #จินยองอ่าน ในทวิตเตอร์ที่ขึ้นอันดับ 1 ระหว่างการจัดงานอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายหนังสือเหล่านี้ก็เป็นขุมสมบัติที่นักอ่านจำนวนมากตามล่า แม้ในจำนวนนั้นจะเป็นหนังสือวรรณกรรมที่ค่อนข้างอ่านยากก็ตาม

ดวงฤทัย จากบูทร้านหนังสือก็องดิด ที่รวบรวมหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ มาขายภายในงานมหกรรมหนังสือให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “เรามองว่าเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีที่ชัดเจนคือ เราได้เห็นคนอ่านหนังสือมากขึ้น ส่วนคนขายหนังสือเองก็ชอบ เพราะขายกันมือเป็นระวิง แต่อีกด้านคือน้องๆ ที่มาถามหาหนังสือเหล่านี้บางคนอายุ 12-13 ปีเท่านั้น ซึ่งช่วงวัยนี้อาจจะเป็นอุปสรรคในการอ่านสำหรับน้องๆ ก็ได้”

หนังสือ #จินยองอ่าน ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในงานมหกรรมหนังสือปีนี้มีทั้ง สูญสิ้นความเป็นคน ของดะไซ โอซามุ โดยสำนักพิมพ์ JLIT, จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น J.D. Salinger โดยสำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง, ชายร้อยปีผู้ปีนออกทางหน้าต่าง แล้วหายตัวไป ของ Jonas Jonasson โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่, ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ดของ Harper Lee โดยสำนักพิมพ์แพรวสำนักพิมพ์ และอีกหลายต่อหลายเล่มที่ผู้ขายส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า “เติมกี่ครั้งก็หมดอย่างรวดเร็ว”

นอกจากนี้หลายบูทที่วางจำหน่ายหนังสือในลิสต์ดังกล่าวยังขึ้นป้ายแสดงแฮชแท็ก #จินยองอ่าน เพื่อดึงดูดผู้อ่านกลุ่มนี้กันอย่างคับคั่งด้วย น่าสนใจว่ากระแสโลกออนไลน์ที่บรรจบทับกับหนังสืออาจเป็นโอกาสใหม่ๆ สำหรับสำนักพิมพ์ และร้านหนังสือในอนาคต

“เราคุยกับทีมงานเล่นๆ ว่า สมัยนี้ทำร้านหนังสือต้องมีความรู้รอบตัวเยอะมากนะ แม้กระทั่งไอคอนเกาหลีก็ต้องรู้จัก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นในอนาคตคนทำร้านหนังสือต้องไวต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ด้วย

“อีกเรื่องที่สังเกตเห็นคือ เวลาดูซีรีส์เกาหลีเราจะชอบมากตรงที่เขามีหนังสือสอดแทรกมาพร้อมกับตัวละครตลอด คือตัวละครจะต้องอ่านหนังสือ หรือมีหนังสืออยู่ในฉาก รู้สึกว่าเป็นความโชคดีของประเทศเขาที่สนับสนุนการอ่านในระดับนี้ ซึ่งการสอดแทรกหนังสือเข้าไปในสิ่งที่เรียกว่าความบันเทิงน่าจะทำให้คนสนใจอ่านหนังสือมากกว่าการรณรงค์การอ่านที่เรากำลังทำกันอยู่” ดวงฤทัยกล่าว

 

หรือความเงียบสงบจะเป็นสิ่งที่นักอ่านกำลังมองหา

เนื่องจากงานมหกรรมหนังสือในปีนี้จัดในช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัย ทำให้บูทต่างๆ จำเป็นต้องงดใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ และงดกิจกรรมรื่นเริงภายในงานไปโดยปริยาย

เมื่อสอบถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเงียบงันครั้งนี้ ทางฝั่งผู้ขายเห็นตรงกันว่า มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ซึ่งข้อดีคือ นักอ่านภายในงานจะได้มีสมาธิจดจ่อกับการเดินหาซื้อหนังสือมากยิ่งขึ้น แต่ข้อเสียคืออาจเป็นการลดโอกาสประชาสัมพันธ์หนังสือใหม่ โปรโมชัน และกิจกรรมพบปะนักเขียนต่างๆ พอสมควร

วิไลลักษณ์ จากสำนักพิมพ์ a book แสดงความคิดเห็นว่า “ส่วนตัวค่อนข้างชอบที่งานหนังสือมีความเงียบสงบ เพราะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายจริงๆ เวลาเดินหาซื้อหนังสือ แม้ว่าการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายจะเป็นการสื่อสารที่ดี แต่ถ้ามีการจัดงานในครั้งต่อไปก็อยากให้ลดปริมาณเสียงรบกวนลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะน่าจะส่งผลดีต่อผู้อ่านในแง่ความมีสมาธิมากขึ้น”

ขณะที่เสียงตอบรับจากฝั่งผู้อ่านในโลกออนไลน์ต่างพากันชื่นชมงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ที่เงียบสงบกว่าที่เคย และไม่แน่ว่าเสียงสะท้อนเหล่านี้อาจนำไปสู่รูปแบบการจัดงานที่เปลี่ยนแปลงสำหรับงานหนังสือครั้งต่อๆ ไป

หากมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้แบบผ่านๆ อาจคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นสีสันที่ทำให้เรามีเรื่องพูดถึงกันเพียงชั่วคราว แต่หากมองให้ลึกไปกว่านั้นปรากฏการณ์เหล่านี้อาจกลายเป็นทางรอดใหม่ๆ ของสื่อสิ่งพิมพ์ที่กำลังอยู่ในช่วงซบเซาก็ได้

Tags: , , , , ,