เราเสียเวลาไปกว่า 4 ชั่วโมง (2 ชั่วโมงตอนเช้า และอีก 2 ชั่วโมงตอนเย็น) ในรถยนต์ คิดเป็นเวลาอย่างน้อยเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินเดือน หรือครึ่งหนึ่งของ 8 ชั่วโมงต่อวัน ที่เราเอาไปสร้างสรรค์งานอื่นๆ ได้

รัฐควรพัฒนาระบบรถเมล์ให้หรู …ต้องเน้นคำว่า ‘หรู’ นะครับ เพราะไม่งั้นคนเขาก็ยังจะยอมติดอยู่ในรถ

นอกจากนี้ ต้องทำให้รถเมล์ที่หรูแล้วนั้น มีเลนส่วนตัวที่ไม่ติดด้วย

การใช้พื้นที่ถนนของคนจำนวน 72 คน (โดยใช้ 1.จักรยาน 2. รถยนต์ 3. รถเมล์)
Photos Credit: City of Münster’s Planning Department, 1991

ปัญหาการจราจรไม่ใช่เรื่องของรถติด แต่เป็นเรื่องของ ‘สิทธิ’

คนนั่งรถเมล์ 70 คน มีสิทธิเท่ากับรถยนต์ 70 คันบนถนน (1 คน มีสิทธิ = รถ 1 คัน) แต่เขาเลือกที่จะนั่งรถเมล์ ดังนั้นเวลาเรามองรถเมล์ เราต้องมองเห็นขบวนรถยนต์ 70 คันที่พ่วงอยู่ท้ายรถเมล์ด้วย

เราต้องมีเลนรถเมล์ที่ (ไม่ติด) มากกว่านี้ และกล้าที่จะมีมันอยู่ในใจกลางเมือง เพราะมันคือสิทธิพื้นฐานของประชาชน การให้รถยนต์ส่วนตัวเข้ามาวิ่งในเลนรถเมล์ คือการละเมิดสิทธิของคนนั่งรถเมล์ ทำให้พวกเขามีสิทธิเหลือเพียง 1/70 ของพลเมือง

คน 1 คน มีสิทธิเท่ากับพื้นที่รถยนต์ 1 คันบนถนน แม้เขาจะนั่งอยู่ในรถเมล์ก็ตาม

ส่วนเรื่องโครงข่ายรถเมล์ที่ไม่ติด ก็เหมือนกับระบบโทรศัพท์ ถ้าเรามีโทรศัพท์แค่ 2 เครื่อง เราก็จะมีการเชื่อมต่อแค่เส้นเดียว (โทรหาใครก็ไม่ได้มาก) เช่นเดียวกับรถเมล์ BRT ในปัจจุบัน …มันมีน้อยเกินไป

แต่ถ้าเราเพิ่มโทรศัพท์อีก 3 เครื่อง เราไม่ได้เพิ่มการเชื่อมต่อ 3 เท่านะครับ เราเพิ่มการเชื่อมต่อ 10 เท่า …ถ้าเพิ่มอีก 100 เครื่อง เราจะมีการเชื่อมต่อ = (102×101)/2 = 5,151

เช่นเดียวกับสถานีรถเมล์… ถ้าเรายิ่งเพิ่มจำนวนสถานีและเส้นทางของรถเมล์ (ที่ไม่ติด) เราก็จะมีการเชื่อมต่อในเมือง (ที่ไม่ติด) ได้อย่าง ‘ก้าวกระโดด’ เราจะสามารถวางแผนได้ว่าวันหนึ่งจะไปประชุมได้กี่แห่งในเมือง ตอนนี้เราไปประชุมได้ 2 แห่งในหนึ่งวันก็เก่งแล้ว

นอกจากสิทธิของคนนั่งรถเมล์แล้ว ทางภาครัฐควรให้เกียรติคนที่นั่งเรือด้วย เพราะในปัจจุบันเรือในคลองก็เป็นระบบโครงข่ายที่ไม่ติดเช่นเดียวกัน แค่เรือแสนแสบสายเดียว ก็มีคนนั่งกว่า 60,000 คนต่อวันแล้ว มากกว่า MRT สายสีม่วง และคิดเป็นสิทธิบนถนนเท่ากับรถยนต์จำนวน 60,000 คัน

ระบบเรือในญี่ปุ่นฟุกังซุยโจ (Fugan Suijo)

ตอนนี้ทาง TCDC (Thailand Creative & Design Center) และทีมงานกำลังจัดการระดมความคิดเรื่องการออกแบบเรือแสนแสบให้ดีขึ้น โดยร่วมกับกองทุนสตาร์ทอัพ และกลุ่มวิศวกรทางด้านพลังงานของไทยและนานาชาติ ซึ่งข้อสำคัญคือมันยังต้อง ‘ทำเวลา’ ได้เหมือนเดิม และวิ่งเร็วได้โดยสร้างคลื่นน้อย

จุดที่ระบบรถไฟฟ้าสามารถเชื่อมกับระบบเรือได้ (ถ้าเปิดการเดินเรือ)

หากตัวเรือสามารถพัฒนาให้เป็นเนื้อเดียวกันกับระบบรถไฟฟ้า BTS/MRT ได้ การเชื่อมต่อในเมือง (ที่ไม่ติด) ก็จะมีมากขึ้น

นอกจากนี้ ทางภาครัฐควรเร่งเปิดการเดินเรือในคลองอื่นๆ ด้วย เพราะเรามีคลองที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าได้หลายคลอง

เราอย่าไปแก้ปัญหา ‘รถติด’ แต่ควรหันมาแก้ปัญหา ‘คนติด’ และสิทธิที่จะไม่ติดในการจราจร

ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณสร้างถนนให้น้อยลง เพราะยิ่งสร้างก็ยิ่งติด… แต่ควรหันมาพัฒนาระบบที่ ‘ไม่ติด’ ให้คนอยากนั่งมากขึ้น เพราะมันมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งใช้ได้เฉพาะในเมืองที่มีความหนาแน่นต่ำเท่านั้น

การให้เกียรติคนนั่งระบบขนส่งสาธารณะ จึงน่าจะเป็นโจทย์หลักในการแก้ปัญหา ‘คนติด’ ซึ่งเป็นเรื่องของสิทธิพื้นฐานในเมืองที่มีความหนาแน่นสูงและสิ่งที่ได้กลับมาก็คือ ‘เวลา’ 4 ชั่วโมงที่สามารถเอาไปเล่นไลน์ หางาน หรือพบปะ คบหาเพื่อนใหม่ๆ ได้

Tags: ,