วานนี้ (20 พฤศจิกายน 2559) อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี วัย 62 ปี ยืนยันว่า เธอจะลงสมัครเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 4 ในการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีที่จะมีขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงในปีหน้า หลังจากหลายฝ่ายต่างเฝ้ารอว่าเธอจะนำพรรค Christian Democratic Union (CDU) ของเธอลงสมัครอีกหรือไม่ เพื่อต้องการต่อสู้กับแนวโน้มการสนับสนุนนโยบายขวาจัดที่กำลังมีให้เห็นมากขึ้นในยุโรป การก่อการร้าย และการรับมือกับการหลั่งไหลของผู้อพยพมากกว่า 1,000,000 คนในเยอรมนี

แมร์เคิลเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเยอรมนี เมื่อปี 2548 และยังเป็นคนแรกที่มาจากอดีตเยอรมนีตะวันออกที่สามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญในประเทศได้ จนกลายเป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลกอีกคนหนึ่งในช่วงตลอด 11 ปีที่ผ่านมา (กฎหมายเยอรมันไม่ได้จำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี)

การลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ของเธอจะท้าทายมากกว่าครั้งที่ผ่านมา สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตผู้ลี้ภัย ที่นำไปสู่ความแตกแยกระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่จะพิสูจน์คะแนนนิยมในตัวเธอในการเลือกตั้งทั่วไปสมัยหน้า

 

Photo: Hannibal Hanschke, Reuters/profile

ความท้าทายของ อังเกลา แมร์เคิล ในการเลือกตั้งสมัยหน้า

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปเผชิญกับทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างวิกฤตหนี้กรีซ ที่เกิดปัญหาการว่างงานของวัยรุ่นยุโรปมากขึ้น ไปจนถึงการก่อการร้าย และการรับผู้อพยพ จนคะแนนความนิยมของผู้นำแต่ละประเทศในยุโรปที่สนับสนุนนโยบายแนวคิดเสรีนิยม (การรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป และการรับผู้อพยพ) สั่นคลอน

ไม่ว่าจะเป็น เดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ที่ไม่สามารถโน้มน้าวประชาชนให้โหวตให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปได้

ฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ที่ขณะนี้คะแนนนิยมกำลังลดลงฮวบฮาบ และถูกท้าทายด้วยนโยบายจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่ต่อต้านสหภาพยุโรป

แต่แมร์เคิลอาจจะเป็นผู้นำที่ผู้นำคนอื่นๆ อิจฉา เพราะแม้ปัญหาเหล่านี้จะประเดประดังเข้ามาให้พี่ใหญ่อย่างเยอรมนีต้องพิสูจน์ตัวเอง เนื่องจากเป็นแม่ทัพสนับสนุนการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป และการช่วยเหลือผู้อพยพ แต่คะแนนความนิยมในตัวแมร์เคิลกลับไม่สั่นคลอนเท่าไหร่นัก

แม้สำนักข่าว Express และ Daily Mail ของอังกฤษ ต่างรายงานเป็นทำนองเดียวกันว่า “Merkel on the ropes!” (แมร์เคิลกำลังจะพ่ายแพ้!) หรืออย่างสำนักข่าว RT ของรัสเซีย ที่ได้เผยแพร่วิดีโอของกลุ่มฝ่ายขวาจัดที่ออกมาประท้วงต่อต้านแมร์เคิลในกรุงเบอร์ลิน แต่นี่เป็นแค่ความคิดเห็นจากสื่อภายนอกประเทศ เพราะหนังสือพิมพ์ของเยอรมันรายงานว่า แม้ผลสำรวจคะแนนความนิยมจะขึ้นๆ ลงๆ ตั้งแต่เยอรมนีรับผู้อพยพมากกว่า 1,000,000 คน ในช่วงที่ผ่านมา แต่คนเยอรมันกว่า 55% ยังคงอยากให้เธอดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไป เพราะไม่คิดว่าจะมีคู่แข่งขันคนไหนที่สมน้ำสมเนื้อกับเธอ

นอกจากนี้ เหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งในยุโรปจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง คนเยอรมันกว่า 70% กลับคิดว่าสาเหตุของความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้มาจากนโยบายการรับผู้อพยพ

อย่างไรก็ตาม เราสามารถมองได้ว่าคนเยอรมันยังไม่เคยเจอกับเหตุการณ์ก่อการร้ายรุนแรงดังเช่นคนฝรั่งเศส

 

Photo: Axel Schmidt, Reuters/profile

ยุโรปกำลังเดินผิดทางหรือไม่? โจทย์ที่ อังเกลา แมร์เคิล ต้องตอบ

แม้แมร์เคิลจะยังคงครองพื้นที่ในใจคนเยอรมันส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่เธอต้องพิสูจน์ตัวเองคือ การกอบกู้ความเชื่อต่อนโยบายแนวคิดเสรีนิยมที่เคยเรืองรองในยุโรป ปัญหาลูกโซ่จากการทำให้โลกเป็นโลกาภิวัตน์ ทั้งการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ หรือแนวคิดของคนยุโรปที่เชื่อว่า We are ‘citizens of the world’. (เราทุกคนต่างเป็นพลเมืองของโลกใบนี้) ที่นำมาซึ่งการแย่งงาน และสิ่งที่คนยุโรปกลัวมากไม่แพ้กันคือ ‘ภัยคุกคามทางอัตลักษณ์’ หรือการที่คนยุโรปเริ่มรู้สึกหวาดกลัวต่อวัฒนธรรมรากเหง้าที่กำลังจะถูกกลืนจากความหลากหลายของวัฒนธรรม แม้กระทั่งในกลุ่มที่ไม่ได้มีแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ก็ตาม

ซึ่งตอนนี้สิ่งเหล่านี้กำลังย้อนกลับมาตั้งคำถามกับคนยุโรปว่า พวกเขากำลังเดินผิดทางหรือไม่? สะท้อนให้เห็นจากเหล่าพรรคการเมืองฝ่ายขวาและกลุ่มขวาจัดในยุโรปที่ต่อต้านการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปสามารถคว้าที่นั่งได้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่าง The Alternative for Germany พรรคการเมืองขวาจัดของเยอรมนี สามารถเอาชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ในบางรัฐ ซึ่งแมร์เคิลก็ออกมายอมรับเองว่า สโลแกนหาเสียงที่ว่า ‘เราสามารถรับมือกับผู้อพยพได้’ (Wir schaffen das) นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้พรรคของเธอ Christian Democratic Union (CDU) แพ้การเลือกตั้ง เช่นเดียวกับในฝรั่งเศสที่พรรคการเมืองขวาจัด National Front ของ มารีน เลอ แปน เริ่มได้รับความสนใจจากคนฝรั่งเศสและสื่อต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากนี้ เยอรมนีและฝรั่งเศสกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเหมือนกันในปีหน้า ดังนั้นเราอาจจะได้ยินชื่อของผู้หญิง 2 คน ทั้งอังเกลา แมร์เคิล ตัวแทนจากความคิดเสรีนิยมจากเยอรมนี และ มารีน เลอ แปน ตัวแทนจากความคิดขวาจัดจากฝรั่งเศส บนสื่อต่างประเทศกันบ่อยอย่างแน่นอน

Photo: Yves Herman, Reuters/profile

อนาคตของสหภาพยุโรปที่ฝากไว้กับ อังเกลา แมร์เคิล?

ผลโหวตประชามติของชาวอังกฤษที่สนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปได้สะท้อนถึงความไม่แน่ใจและความรู้สึกไม่มั่นใจต่อแนวคิดการรวมตัวกันทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในวันนี้โมเดลของสหภาพยุโรปที่เคยเป็นตัวอย่างให้กับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ กลับมีอนาคตที่ไม่สดใสเท่าไหร่นัก หากแมร์เคิลได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีอีกครั้ง ภารกิจของเธอจึงไม่ใช่แค่การนำประเทศให้รอดพ้นวิกฤตผู้อพยพและปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เธอยังคงต้องนำสหภาพยุโรปให้รอดท่ามกลางความแตกแยกภายในประเทศสมาชิกด้วย ในฐานะที่เป็นประเทศแม่ทัพสนับสนุนแนวคิดนี้

พรรค Social Democratic Party (SDP) พรรคร่วมรัฐบาลของแมร์เคิล หรือพรรค Christian Democratic Union (CDU) เสนอว่า การปฏิรูปสหภาพยุโรปเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้น ซึ่งโครงสร้างอำนาจของสหภาพยุโรปควรจะถูกปฏิรูปให้สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของรัฐบาลประเทศสมาชิกจริงๆ ไม่ใช่จากตัวแทนในสมาชิกสหภาพยุโรปเท่านั้น เช่นเดียวกับ Gunther Krichbaum จากพรรค CDU ที่เห็นว่า บางเรื่องที่สหภาพยุโรปตัดสินใจนั้นเร็วเกินไป ซึ่งยังไม่ทันได้ฟังความเห็นสาธารณะจริงๆ

“ยุโรปเจอกับวิกฤตมากว่า 9 ปี และในช่วงเวลาแห่งความโกลาหล แนวทางการแก้ไขปัญหาควรจะมาจากรัฐบาลของประเทศสมาชิก และเจอกับประชาชนครึ่งทาง ไม่ใช่แค่เพียงประเทศสมาชิกที่ควรจะรับผิดชอบต่อปัญหา สหภาพยุโรปควรจะตระหนักด้วยว่าเป็นหน้าที่ของตัวเองเช่นกัน” เขาให้สัมภาษณ์กับ The Guardian

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายในเยอรมนียังเชื่อว่า ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการเปลี่ยนผู้นำของสหภาพยุโรป ที่มีการเรียกร้องให้ ฌอง-โคลด จุงเกอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานของสหภาพยุโรปลาออกหลังจากผลโหวต Brexit ของอังกฤษ

แต่สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า แมร์เคิลนั้นมีแนวโน้มที่จะสนับสนุน ฌอง-โคลด จุงเกอร์ เนื่องจากเขามีจุดยืนสนับสนุนนโยบายรับผู้อพยพเช่นเดียวกับเธอ ความเห็นที่แตกต่างต่อการปฏิรูปสหภาพยุโรปในเยอรมนี จะทำให้อนาคตของสหภาพยุโรปนั้นมีการเมืองเข้ามาพัวพันมากขึ้น

ถ้าแมร์เคิลได้รับชัยชนะอีกครั้ง ก็มีแนวโน้มว่าสหภาพยุโรปจะยังคงถูกผลักดันให้รอดถึงที่สุด เว้นเสียแต่ว่าเธอจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง และเยอรมนีได้ผู้นำที่มีแนวคิดไม่สนับสนุนสหภาพยุโรปมากนักมาแทน

เราก็คงจะได้เห็นโฉมหน้าใหม่ของสหภาพยุโรป

แต่ในขณะที่การเลือกตั้งยังมาไม่ถึง ปัญหาเศรษฐกิจ และผู้อพยพที่นำไปสู่การเรียกร้องของประเทศสมาชิกให้ตัวเองกลับมามีอำนาจในการตัดสินใจ และกำหนดนโยบายต่างๆ เองมากขึ้น

อาจสะท้อนว่าแท้จริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ‘การรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป’ แต่อยู่ที่ ‘โครงสร้างของการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป’ ที่สหภาพยุโรปเองก็คงจะต้องมาทบทวนให้การตัดสินใจต่างๆ นั้นลงจากหอคอยงาช้าง ที่หารือกันแค่เพียงภายในสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ แต่ให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกมีบทบาทอย่างเท่าเทียมมากขึ้น

เพราะปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ ‘ผลลัพธ์’ แต่อาจอยู่ที่ ‘วิธีการ’ มากกว่า

อ้างอิง:
     – http://www.bbc.com/news/world-europe-38042937
– http://www.bbc.com/news/magazine-36985861
– https://www.theguardian.com/world/2016/jul/21/eu-future-post-brexit-germany-split-european-government
– http://www.express.co.uk/news/world/695279/Germans-warned-their-safety-is-not-guaranteed-amid-calls-for-Angela-Merkel-to-resign
– https://www.theguardian.com/commentisfree/2016/sep/02/angela-merkel-marine-le-pen-europe-destiny