ในปี 2016 ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่ทุกประเทศทั่วโลกตั้งแต่สหรัฐอเมริกา ซีเรีย อังกฤษ อินเดีย ตุรกี จนมาถึงหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยเผชิญกับคำถามและความท้าทายต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการปฏิบัติต่อคนต่างเชื้อชาติศาสนา วิกฤตผู้ลี้ภัย จนถึงเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดที่เห็นต่างจากรัฐ

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2017 องค์กร Amnesty International เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปี 2016 ของ 159 ประเทศทั่วโลก และส่งรายงานพร้อมกับข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาลของทั้ง 159 ประเทศในวันเดียวกัน โดยข้อมูลในรายงานถูกรวบรวมโดยนักวิจัยของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล

เมื่อมองมาที่ภูมิภาคในบ้านเราอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น รายงานปี 2016 ของแอมเนสตี้เปิดเผยว่า ประเทศแถบนี้มีการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างกว้างขวาง และปี 2016 รัฐบาลไทยได้สั่งลงโทษและห้ามการเคลื่อนไหวของผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ โดยเฉพาะในช่วงก่อนลงประชามติรัฐธรรมนูญ ผ่านการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้พลเรือนจำนวนมากยังต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร แม้ว่าภายหลังรัฐบาลจะมีคำสั่งยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหารในเดือนกันยายน 2016 แล้วก็ตาม แต่คำสั่งดังกล่าวนั้นไม่มีผลย้อนหลัง

รัฐบาลไทยจะต้องเสนอรายงานว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองต่อเวทีโลกในวันที่ 13-14 มีนาคมที่จะถึงนี้ มาวันนี้กลไกด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยอยู่ตรงไหน และสถานการณ์โดยรวมด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในปี 2016 เป็นอย่างไรบ้าง

รัฐบาลไทยมีความเป็นสุภาพบุรษบนเวทีต่างชาติ แต่มันไม่ใช่แค่ไปสัญญาไว้ในบนเวทีโลก แต่ต้องกลับมาเป็นสุภาพบุรษในประเทศไทยด้วย

ยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดปิดกั้นพื้นที่ทางประชาธิปไตย

โลคอง เมย์ยอง (Laurent Meillan) รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้ทำงานคลุกคลีด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ในปี 2016 การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นทั่วโลก แม้กระทั่งในประเทศประชาธิปไตยอย่างยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ที่สิทธิมนุษยชนเคยเป็นสิ่งที่ถูกให้คุณค่าและถูกปกป้อง แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นคือภูมิภาคที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

“เราทำการสำรวจประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งเราเห็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างกว้างขวางจากทั้งรัฐบาลของไทย กัมพูชา มาเลเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ และเมียนมา รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ใช้กฎหมายจับกุมนักเคลื่อนไหวที่ออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชน และคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ต่างจากรัฐ”

โลคอง เมย์ยอง เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดปิดกั้นพื้นที่ทางประชาธิปไตย และนำคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาดำเนินคดี “แม้ว่าในปี 2016 เราจะพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก แต่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปยังมีกลไก ปกป้องประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ขณะที่ประเทศในเอเชียยังขาดกลไกตรงนี้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนที่ทำงานกับสหประชาชาติถูกรัฐคุกคาม”

โดยที่ผ่านมา มีกรณีที่สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาท จากการรายงานเรื่องทหารทรมานในภาคใต้ และกรณีที่ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน ทนายความสิทธิมนุษยชนถูกตั้งข้อหาล้มล้างการปกครอง จากการเป็นทนายความให้กับกลุ่มนักศึกษาดาวดิน

เราถูกเรียกไปพูดคุยหลายครั้ง และมีเจ้าหน้าที่ไปติดตามถึงบ้าน

ความทุกข์ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยต้องเผชิญ

เมื่อองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติออกมาสะท้อนว่า กลไกการปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทยยังบกพร่อง โดยเฉพาะการคุกคามหรือการดำเนินคดีกับคนที่ออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้สหประชาชาติกังวลว่า หากมาตรการรุนแรงยังดำเนินต่อไป ในอนาคตใครจะเป็นคนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน

อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มด้วยใจ’ เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีประสบการณ์ในการปกป้องผู้ถูกรัฐดำเนินคดีด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เธอเปิดเผยว่า ในปี 2016 เธอและ ‘กลุ่มด้วยใจ’ ถูกรัฐคุกคามจากการเปิดเผยการทรมานในค่ายทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเธอตัดสินใจเปิดเผยรายงานฉบับนี้ เพราะแม้ว่าจะมีการประชุมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ในปี 2015 เพื่อให้มีการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมาน แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ

“หลังจากเปิดเผยรายงานออกไป แม่ทัพภาค 4 ได้เชิญเราไปพูดคุยถึงรายงานว่าทำไมไม่พูดคุยกับทางเขาก่อน แต่เราเห็นว่าพูดคุยแล้วไม่เกิดผลก็เลยต้องเปิดเผยรายงาน เราถูกเรียกไปพูดคุยหลายครั้ง และมีเจ้าหน้าที่ไปติดตามถึงบ้าน นอกจากนี้ยังมีการโจมตีในลักษณะใช้ข้อความทางเฟซบุ๊ก เพื่อกล่าวหาว่าเราส่งเสริมกลุ่มติดอาวุธ เขาจะเขียนข้อความหรือบทความโจมตีทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นรูปแบบที่เขาใช้”

สิ่งที่ทำให้อัญชนากังวลในการทำงานในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากที่สุดคือ การคุ้มครองคนที่เธอและกลุ่มด้วยใจไปขอข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อมาประกอบในรายงาน ซึ่งเธอมองว่ามาตรการคุ้มครองของกระทรวงยุติธรรมอย่างหลักทรัพย์ประกันตัว และการช่วยเหลือด้านทนายความนั้นเป็นการเยียวยา ไม่ใช่การปกป้อง

“สิ่งนี้ทำให้เรากังวลใจในการปกป้องคุ้มครองเหยื่อมากกว่า ราชการบังคับให้เราเปิดเผยรายชื่อคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอ้างว่าจะเยียวยาพวกเขา แต่เราก็ยังไม่มั่นใจว่าหลักประกันผู้เสียหายจะอยู่ตรงไหน เราจึงยังไม่กล้าเปิดเผย เพราะมีหลายรายเสียชีวิต แต่เรายังไม่รู้ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด”

เธอยังสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้กลไกขององค์กรระหว่างประเทศคือกลไกที่ทำให้เธอพอจะมั่นใจขึ้นว่า มีการปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน “ขณะนี้เรายังมองไม่เห็นว่ามีกลไกอะไรที่จะปกป้องนักสิทธิมนุษยชน เรามองเห็นกลไกปกป้องจากองค์กรระหว่างประเทศมากกว่าที่จะมองเห็นจากกลไกภายในประเทศ อยากให้รัฐดำเนินการทีได้ตกลงกับองค์กรระหว่างประเทศไว้ รัฐบาลไทยมีความเป็นสุภาพบุรษบนเวทีต่างชาติ แต่มันไม่ใช่แค่ไปสัญญาไว้ในบนเวทีโลก แต่ต้องกลับมาเป็นสุภาพบุรษในประเทศไทยด้วย”

เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม
สังคมใดที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ย่อมเป็นสังคมที่ขลุกๆ ขลักๆ

กลไกการปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทยอยู่ตรงไหน

เมื่อย้อนมาดูบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยได้ลงนามสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้สหประชาชาติ (Core International Human Rights Treaties) 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ คือ

1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

3. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

4. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

6. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

(ส่วนสนธิสัญญาหลักอีก 2 ฉบับที่ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันคือ 1. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และ 2. อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว)

สนธิสัญญาข้างต้นหมายความว่า ไทยมีพันธสัญญาที่จะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็น สิทธิการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง และการต่อต้านการทรมานคนที่เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งอัญชนาแสดงความคิดเห็นว่า “เมื่อประเทศไทยลงนามไปแล้ว แสดงว่ารัฐมีหน้าที่ที่จะปกป้องคุ้มครองคนในประเทศ แต่รัฐมาดำเนินการจับกุมคุมขังคนที่ออกมาปกป้องสิทธิ นั่นหมายความว่ารัฐละเมิดสนธิสัญญานี้ด้วย”

ฟากตัวแทนจากรัฐบาล ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมได้ชี้แจงว่า การไปลงนามสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนนั้นหมายถึงว่า ไทยมีหน้าที่ต้องดำเนินตามข้อสัญญา “การไปลงนามสนธิสัญญาต่างๆ นั้น เราไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อเท่ๆ อย่างเดียว เราต้องมีพันธกรณีที่รัฐต้องทำอยู่ 4 เรื่องคือ การสร้างหลักประกันสิทธิให้เกิดขึ้น, การทำให้สิทธินั้นก้าวหน้า, การเผยแพร่สิทธิ และการทำรายงานประเทศ ซึ่งวันที่ 13-14 มีนาคมที่จะถึงนี้ ไทยต้องนำเสนอรายงานว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองต่อสหประชาชาติ ซึ่งฉันคิดว่าการไปนำเสนอรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้คงจะมันน่าดู”

ซึ่งในปี 2016 ที่ผ่านมา ไทยมีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมืองหลายด้าน ตั้งแต่การจับกุมคนที่ออกมารณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ ในช่วงก่อนการทำประชามติ ไปจนถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เกิดเป็นกระแสต่อต้านจากสังคมอย่างกว้างขวาง ดังนั้นหากไทยจะต้องไปเสนอรายงานต่อต่างชาติ หรือ International Convenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ว่า ที่ผ่านมาไทยปฏิบัติต่อเรื่องสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่เราต้องจับตามอง

อย่างไรก็ตามเกิดเป็นคำถามอีกว่า รายงานที่ทำโดยรัฐบาลนั้นจะสะท้อนความจริงแค่ไหน ปิติกาญจน์เปิดเผยว่า “วันที่ 13-14 มีนาคมนี้เป็นรอบที่สองที่ไทยจะต้องไปรายงานตามกติกา แต่การที่รัฐบาลเป็นผู้ทำรายงานถึงคณะกรรมการก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะดูรายงานของรัฐบาลอย่างเดียว ICCPR เขามีรายงานคู่ขนานอีก 14 ฉบับ ซึ่งกรรมการจะเอามาดูหมดเลยคู่ไปกับรายงานจากรัฐบาลไทย”

ส่วนในเรื่องการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้น ปิติกาญจน์เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้จัดทำคู่มือเพื่อนำไปปฏิบัติต่อในพื้นที่ และมีการทำรายชื่อนักปกป้องนักสิทธิมนุษยชนขึ้นมา เพื่อคุ้มครองคนที่ออกมารณรงค์หรือปกป้องสิทธิมนุษยชน “เรามีการทำ White Lists ขึ้นมา เพื่อคุ้มครองคนที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน และทำคู่มือเรื่องของผู้ทำหน้าที่ปกป้องนักสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปทำต่อในพื้นที่ และให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งทางภาครัฐเองเราก็พยายามทำตามความสามารถ เราก็ไม่ได้หยุด เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน”

อย่างไรก็ตามปิติกาญจน์ ตัวแทนจากภาครัฐยอมรับว่า ประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยย่อมทำให้เกิดความไม่ราบรื่นในสังคม “ฉันมองว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม สังคมใดที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ย่อมเป็นสังคมที่ขลุกๆ ขลักๆ”

หากประเทศไทยต้องการการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม
รัฐบาลจำเป็นต้องยกเลิกการควบคุมการแสดงออกทางความคิดของประชาชน

ข้อเสนอจากนักปกป้องและสิทธิมนุษยชนและแอมเนสตี้ถึงรัฐบาลไทย

จากการชี้แจงข้างต้นจากภาครัฐนั้น อัญชนามองว่า การยกเลิกการดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ตรงจุด ตราบใดที่รัฐยังไม่ได้มองไปที่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างการทรมานเหยื่อในค่ายทหาร หรือการปิดกั้นการแสดงออกทางความคิด เธอจึงเสนอว่า หน่วยงานรัฐควรสร้างความเข้าใจต่อหลักสิทธิมนุษยชนใหม่ และยกเลิกการฟ้องร้องคดีกับนักปกป้องสิทธิ

“หน่วยงานรัฐต้องเริ่มจากระบบแนวคิดของเจ้าหน้าที่รัฐว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีพันธะที่ต้องปกป้องสิทธิมนุษยชน ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไปจนถึงระดับปฏิบัติการในพื้นที่ มีความเข้าใจอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพียงพอหรือยัง และการที่รัฐยังฟ้องร้องคดีกับนักปกป้องสิทธินั้นหมายความว่า คุณได้ทำการปิดกั้นโอกาสในการเรียกร้องของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่จะนำไปสู่การแก้ไขระยะยาว”

ด้านแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุมโดยสงบ ที่ครอบคลุมไปถึงการแสดงออกทางความคิดอย่างการกด ‘ไลก์’ หรือ ‘แชร์’ รวมถึงขอให้ยกเลิกการควบคุมตัวประชาชนโดยพลการตามอำนาจของกฎอัยการศึก หรือคำสั่งของ คสช. และยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีพลเรือนไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น

ฟากปิติกาญจน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตอบรับข้อเสนอจากภาคประชาชนว่า ขณะนี้ภาครัฐพยายามให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร และตำรวจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และพยายามดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำโดยมิชอบกับประชาชน เนื่องจากประเทศไทยต้องรายงานตัวเลขสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับสหประชาชาติด้วย

“ผู้กระทำผิดก็ไม่ควรจะลอยนวล ขณะนี้มีการดำเนินคดีพลทหาร และอีกหลายคดีก็จะถูกลงโทษ” อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่ากฎหมายไทยอย่างเช่นการคุ้มครองพยานนั้นยังมีช่องโหว่ “ขณะนี้กฎหมายการคุ้มครองพยานยังไม่เป็นในลักษณะป้องกัน คือต้องรอให้ถูกดำเนินคดีก่อน เราถึงจะเข้าไปช่วยเหลือได้ อย่างการให้ความช่วยเหลือด้านทนายความ และนี่คือจุดอ่อน”

แต่ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น เธอเปิดเผยว่า “ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปมาก เราจะไปปิดหูปิดตาอะไรไม่ได้แล้ว ภาคสังคมมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ ทุกคนเป็นนักข่าวได้หมด ซึ่งเป็นแต้มต่อของประชาชน”

โลคอง เมย์ยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความเห็นว่า “หากประเทศไทยต้องการการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม รัฐบาลจำเป็นต้องยกเลิกการควบคุมการแสดงออกทางความคิดของประชาชน และยกเลิกการจับกุมและดำเนินคดีประชาชนที่เห็นต่าง พื้นที่ประชาธิปไตยควรจะมีมากขึ้นเป็นลำดับ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง”

ดังนั้นการปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพียงหน้าที่ของ ‘นักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ เท่านั้น แต่เป็นของคนไทยทุกคนที่สามารถคอยตรวจตรา และสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงร่วมกัน ‘ปกป้องและรักษา’ สิทธิของเรา ซึ่งสิทธิมนุษยชนคือรากฐานสำคัญของประชาธิปไตย และสังคมไทยจะไม่สามารถกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน หากสิทธิมนุษยชนยังคงถูกเพิกเฉย ลิดรอน และละเมิด แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ตาม

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลไทยต่อประชาชนระหว่างการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ที่บทความ งานวิจัยชี้รัฐธรรมนูญไทยและเมียนมาภายใต้รัฐบาลทหาร มีความคล้ายกันอย่างน่าสนใจ 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

Tags: , ,