จะเกิดอะไรขึ้นหากนักบินอวกาศต้องเสียชีวิตบนดาวอังคาร หรือสถานีอวกาศบนดวงจันทร์
และหากต้องใช้เวลาหลายเดือนหลายปี กว่าร่างไร้วิญญาณเหล่านั้นจะกลับสู่บ้านของตนเองได้
หรือจริงๆ แล้วการนำพวกเขากลับมาแทบจะเป็นเรื่องเกิดขึ้นไม่ได้เลย

เคยสงสัยไหมว่า ถ้านักบินอวกาศต้องตายระหว่างปฏิบัติภารกิจนอกโลก จะเกิดอะไรขึ้นกับศพของพวกเขา?

หากไม่นับรวมนักบินอวกาศอย่าง แมตต์ โควัลสกี (รับบทโดย จอร์จ คลูนีย์ จากภาพยนตร์เรื่อง Gravity, 2013) (ข้อความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง หากต้องการอ่านให้ทำการลากคลุมข้อความที่เราซ่อนไว้) ที่สละชีวิตตัวเองเพื่อช่วยเพื่อนร่วมภารกิจ และหลุดลอยไปไกลแสนไกล วิธีจัดการกับร่างกายไร้วิญญาณของนักบินอวกาศก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ดี?

ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีนักบินอวกาศที่เสียชีวิตในอวกาศเพียง 18 คนเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกรณีการเสียชีวิตทันที แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถช่วยเหลือกันและกัน หรือนำศพของเพื่อนนักบินกลับมาดำเนินพิธีกรรมตามศาสนาของตนเองได้

แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากมนุษย์มีภารกิจเดินทางไปสำรวจดาวอังคารถี่ครั้งขึ้น สืบเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ปัญหาการขาดแคลนเสบียง จึงมีการคาดการณ์กันว่าอัตราการสูญเสียนักบินอวกาศก็จะเพิ่มจำนวนตามขึ้นไปด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าน้อยคนนักที่จะเอาตัวรอดได้ อย่าง (ข้อความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง หากต้องการอ่านให้ทำการลากคลุม) มาร์ก วัตนีย์ (รับบทโดย แมตต์ เดมอน ตัวละครนักบินจากภาพยนตร์เรื่อง The Martian, 2015)

พอล โวล์ป (Paul Wolpe) นักชีวจริยธรรม (bioethicist) จากมหาวิทยาลัยเอเมอรี กล่าวเชิงคำถามต่อปัญหาดังกล่าวว่า “จะเกิดอะไรขึ้นหากนักบินอวกาศต้องเสียชีวิตบนดาวอังคาร หรือสถานีอวกาศบนดวงจันทร์ และหากต้องใช้เวลาหลายเดือนหลายปี กว่าร่างไร้วิญญาณเหล่านั้นจะกลับสู่บ้านของตนเองได้ หรือจริงๆ แล้วการนำพวกเขากลับมาแทบจะเป็นเรื่องเกิดขึ้นไม่ได้เลย?”

หากคุณคิดจะไปดาวอังคาร ก็จงเตรียมตัวตายไว้ด้วย

Photo: WIKIMEDIA COMMONS

นักบินอวกาศมักจะ ‘ตาย’ นอกยานอวกาศ

คริส แฮดฟิลด์ (Chris Hadfield) นักบินอวกาศชาวแคนาดา และอดีตผู้บังคับบัญชาสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เล่าว่าสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของมนุษย์อวกาศมักจะเกิดขึ้นระหว่างที่พวกเขาออกไปทำ spacewalk หรือการออกนอกยานอวกาศเพื่อซ่อมบำรุงยาน (กรณีตัวอย่างใน Gravity)

“คุณอาจจะถูกอุกกาบาตขนาดเล็กเล่นงานได้ และคุณก็ไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้น บางทีมันอาจร้ายแรงจนเจาะชุดของคุณให้เป็นรู และเพียงไม่กี่วินาทีคุณก็อาจจะตายได้ทันที”

ว่ากันว่านักบินอวกาศผู้โชคร้ายจะมีเวลาเพียง 15 วินาทีเท่านั้น ก่อนที่พวกเขาจะหมดสติ ตัวแข็ง และตายจากการบีบอัดและขาดอากาศหายใจ

แค่ 10 วินาทีที่ร่างกายได้สัมผัสกับสุญญากาศของอวกาศก็เพียงพอที่จะทำให้น้ำในผิวหนังและเลือดระเหยกลายเป็นไอได้ ก่อนที่ร่างกายจะค่อยๆ พองลมเหมือนลูกโป่ง ปอดจะหยุดทำงาน และภายใน 30 วินาที พวกเขาจะกลายเป็นอัมพาตทันที

แม้ความเป็นไปได้ของการตายบนสถานีอวกาศจะมีเปอร์เซ็นต์ต่ำมาก จนเหมือนว่ามันจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่หากเพื่อนนักบินของพวกเขาสักคนต้องเสียชีวิตขึ้นมา

นักบินที่อยู่รอดจะมีวิธีในการจัดการอย่างไร?

Photo: WIKIMEDIA COMMONS

การจัดการ ‘ศพ’ ปัญหาที่ไม่เคยเตรียมรับมือ?

เทอร์รี เวิร์ตส์ (Terry Virts) นักบินอวกาศประจำ ISS ที่เคยเดินทางไปสถานีอวกาศ 2 ครั้ง และทำภารกิจบนกระสวยอวกาศอีก 1 ครั้ง ในระยะเวลากว่า 213 วันเล่าว่าในความเป็นจริงแล้วเขาไม่เคยได้รับการฝึกถึงวิธีในการจัดการกับ ‘ศพ’ ของคนในอวกาศมาก่อน

“ผมเคยได้รับการฝึกการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนมาบ้าง แต่ผมไม่เคยถูกฝึกให้รับมือกับสถานการณ์เช่นนั้น ตลอด 16 ปีประสบการณ์การเป็นนักบินอวกาศของผม ผมจำไม่ได้ว่าเคยคุยกับเพื่อนนักบินคนอื่นถึงความเป็นไปได้ของการเสียชีวิตด้วยซ้ำ ทั้งที่รู้ว่ามันเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นเหมือนช้างในห้อง* ที่ไม่มีใครเคยพูดถึง”

*สำนวน the elephant in the room มีความหมายว่า แม้จะเห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีอยู่จริง แต่กลับเลี่ยงที่จะพูดถึงมัน (อ้างอิงจากhttp://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/an-elephant-in-the-room)

ขณะที่อดีตผู้บังคับบัญชาสถานีอวกาศนานาชาติ คริส แฮดฟิลด์ บอกว่า ในความเป็นจริงนั้นนักบินอวกาศที่ผ่านการฝึกฝนให้รับมือกับภารกิจบนสถานีอวกาศล้วนแล้วแต่ผ่านการฝึกวิธีการจัดการกับเพื่อนนักบินเสียชีวิตมาแล้ว

“หากมีคนเสียชีวิตในอวกาศ อย่างแรกที่ผมจะทำคือดึงเขากลับมาข้างในแอร์ล็อก (ห้องเชื่อม 2 บริเวณที่มีแรงกดอากาศต่างกัน) ผมอาจจะให้เขาอยู่ในชุดที่มีแรงดันอากาศ เพราะร่างกายมนุษย์เราจะเน่าเปื่อยเร็ว หากอยู่ในชุดอวกาศ และเราก็คงไม่อยากได้กลิ่นเน่าและแก๊สที่ปล่อยออกมาหรอกใช่ไหมล่ะ ฉะนั้นแล้วพวกเราก็ควรให้เขาอยู่ในชุดของตัวเอง และเก็บไว้ในส่วนที่เย็นที่สุดของสถานี”

ในกรณีที่มีการเสียชีวิตบนยานอวกาศ ร่างไร้วิญญาณของนักบินจะถูกเก็บไว้ที่ส่วนใกล้ตอร์ปิโด เนื่องจากเป็นส่วนที่มีอุณหภูมิต่ำ และถูกแยกอย่างเป็นเอกเทศออกจากพื้นที่ของผู้ยังมีชีวิต เพื่อป้องกันเชื้อโรคและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์

เมื่ออยู่ในอวกาศ ระบบแขนกลจะแขวนถุงห่อศพไว้นอกยานเป็นเวลาเกือบชั่วโมงเพื่อทำให้ศพแข็งตัวจนกรอบ ก่อนที่จะทำการเขย่าร่างไร้ลมหายใจให้แตกจนมีลักษณะคล้ายเถ้ากระดูก

 

การฝังศพนักบินอวกาศแบบแช่แข็ง

ถึงแม้นาซาจะยังไม่มีแผนฉุกเฉินรับมือกรณีมีผู้เสียชีวิต แต่ก็เริ่มมีหน่วยงานที่ศึกษาวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าวแล้ว เช่น โพรเมซซา (Promessa) บริษัทจัดการศพด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสวีเดน ได้ออกแบบโลงศพแช่แข็ง ‘The Body Back’ แทนที่การเผาศพแบบดั้งเดิม ซึ่งก่อให้เกิดเถ้าถ่านเป็นจำนวนมาก โดยเปลี่ยนศพให้กลายเป็นเม็ดน้ำแข็งจำนวนล้านๆ ชิ้นแทน

ระหว่างการศึกษานี้ ซูซานน์ วิก มาซัก (Susanne Wiigh-Masak) และปีเตอร์ มาซัก (Peter Masak) เจ้าของโปรเจกต์บอกว่า ถ้าอยู่บนโลก กระบวนการแช่แข็งแบบ promession จะใช้ไนโตรเจนเหลวในการแช่แข็งร่างกาย แต่เมื่ออยู่ในอวกาศ ระบบแขนกลจะแขวนถุงห่อศพไว้นอกยานเป็นเวลาเกือบชั่วโมงเพื่อทำให้ศพแข็งตัวจนกรอบ ก่อนที่จะทำการเขย่าร่างไร้ลมหายใจให้แตกจนมีลักษณะคล้ายเถ้ากระดูก

โดยกระบวนการนี้จะเปลี่ยนศพของนักบินที่มีน้ำหนักว่า 90 กิโลกรัมให้อยู่ในถุงขนาดน้ำหนักเพียง 22 กิโลกรัม และช่วยให้การนำศพผู้เสียชีวิตกลับบ้านไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

และหากกระบวนการแช่แข็งศพอาจจะดูยากไป มันก็ยังมีวิธีการปล่อยศพออกไปในอวกาศ (jettison) ที่แม้ว่า UN จะมีกฎระเบียบข้อบังคับในการทิ้งขยะในระบบอวกาศ แต่กฎดังกล่าวก็ไม่ได้มีการพูดถึงศพของมนุษย์แต่อย่างใด

แคเทอรีน คอนลีย์ (Catherine Conley) เจ้าหน้าที่แผนกป้องกันดาวเคราะห์ของนาซากล่าวว่า “ณ เวลานี้ยังไม่มีการออกแนวทางที่ชัดเจนถึงเกณฑ์ในการป้องกันดาวเคราะห์กับการปล่อยศพนักบินอวกาศให้ลอยไปในอวกาศไม่ว่าทั้งนาซาหรือทั้งระดับนานาชาติ”

หากคุณปีนเขาเอเวอร์เรสต์ คุณย่อมรู้ดีว่าถ้าคุณตาย ร่างไร้วิญญาณของคุณก็จะถูกทิ้งไว้ที่นั่น แต่มันก็เป็นสิ่งที่คุณยอมรับไง เพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของการปีนเอเวอร์เรสต์

Photo: WIKIMEDIA COMMONS

ฝังศพบนดาวอังคาร การเดินทาง-ความเสี่ยงที่คุ้มค่า?

มีคำกล่าวของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้บริหารสูงสุด และผู้ก่อตั้ง Tesla Motors รวมไปถึงเจ้าของโปรเจกต์ SpaceX กับแนวคิดพาคนไปเที่ยวดาวอังคารที่ว่า “หากคุณคิดจะไปดาวอังคาร ก็จงเตรียมตัวตายไว้ด้วย”

ก็นั่นสินะ หากมีคนตายบนดาวอังคารจริงๆ แล้วเราควรจัดการกับศพเขาอย่างไรดีล่ะ?

คริส แฮดฟิลด์ กล่าวว่า “หากเพื่อนนักอวกาศของคุณเสียชีวิตบนดาวอังคาร ผมขอแนะนำให้คุณเลือกฝังเขาแทนที่จะพาเขากลับบ้าน”

ที่แฮดฟิลด์กล่าวเช่นนั้นแล้วฟังดูเข้าท่า คงเป็นเพราะความเป็นห่วงเรื่องการนำเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมาจากศพกลับมายังโลก เพราะแม้แต่ยานที่จะใช้ในการสำรวจดาวอังคารยังถูกทำความสะอาดครั้งแล้วครั้งเล่าก่อนออกปฏิบัติภารกิจเพื่อป้องกันการคุกคามของจุลินทรีย์จากโลกกับดาวดวงใหม่

แน่นอนว่าทุกๆ การเดินทางย่อมมีความเสี่ยงเสมอ เช่นกันกับการเดินทางไปยังนอกโลก ซึ่งตัวนักบินเองก็พร้อมจะแบกรับความเสี่ยงเหล่านั้นไว้เช่นกัน

เทอร์รี เวิร์ตส์ บอกว่ามันคือการเดินทางที่คุ้มค่าต่อการเสี่ยง (การสำรวจอวกาศ) และพวกเขาก็เลือกที่จะเผชิญหน้ากับอันตรายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างมีสติที่สุด

เช่นเดียวกับนักอวกาศ ไมก์ มัสซิมิโน (Mike Massimino) ที่กล่าวว่า “ผมคิดว่ามันคุ้มที่จะเสี่ยงนะ การเดินทางสำรวจมักจะพรากชีวิตเราไปเสมอ และผมมั่นใจว่ามันก็คงจะเป็นเช่นนั้น”

ทุกๆ ปีจะมีนักปีนเขาจำนวนกว่า 800 คน ที่พยายามพิชิตยอดเขา และย่อมมีคนพลาดเสียชีวิตเสมอ แต่ไม่ว่าจะมีคนเสียชีวิตไปกี่คน ปีถัดมาก็จะมีผู้กล้ารายใหม่อีกกว่า 800 คน ซึ่งพร้อมจะพิชิตยอดเขาดังกล่าว ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมนุษย์ต้องการจะเป็นที่หนึ่งเสมอ พวกเขาต้องการเป็น ‘คนแรก’ เป็น ‘ที่สุด’ กับการเป็นผู้ค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ แม้ความทะเยอทะยานดังกล่าวจะต้องแลกด้วยราคาของความเสี่ยงที่สูงลิบลิ่วแค่ไหน

พอล โวล์ป นักชีวจริยธรรมกล่าวว่า “หากคุณปีนเขาเอเวอร์เรสต์ คุณย่อมรู้ดีว่าถ้าคุณตาย ร่างไร้วิญญาณของคุณก็จะถูกทิ้งไว้ที่นั่น แต่มันก็เป็นสิ่งที่คุณยอมรับไง เพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของการปีนเอเวอร์เรสต์”

ไม่ว่าในอนาคต นาซาจะมีมาตรการในการจัดการกับนักบินอวกาศที่เสียชีวิตเช่นไร กระบวนการจัดการศพด้วยการแช่แข็งและเทคโนโลยีจากสวีเดนจะใช้ได้จริงหรือไม่? แต่มนุษย์อวกาศเหล่านั้นก็คงเลือกแล้วที่จะสละชีวิตของตนเพื่อความก้าวหน้า การค้นพบครั้งสำคัญ และหนทางในการอยู่รอดของมนุษย์รุ่นต่อไป

เพราะทุกๆ การค้นพบย่อมแลกมาด้วยราคาของความเสี่ยงที่สูงเสมอ

แล้วคุณล่ะ… พร้อมที่จะเสี่ยงไหม?

Photo: WIKIMEDIA COMMONS

Photo: Gravity, film

อ้างอิง:
– http://www.popsci.com/what-happens-to-your-body-when-you-die-in-space?dom=rss-default&src=syn

Tags: