คงจะไม่ผิดนักหากจะเกริ่นว่าความสุขของเราเกิดขึ้นจากทุกด้านของการใช้ชีวิต ไล่ตั้งแต่การถูกจ้างงานที่ถนัดและชื่นชอบเป็นการส่วนตัว เป็นนายตัวเอง มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ไปจนถึงมีมิตรภาพและเพื่อนร่วมงานที่ดี ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าความสุขต่างกันออกไปตามสภาพความเป็นอยู่ที่แสดงออกผ่านคุณภาพชีวิตของคนแต่ละชาติ

ด้วยเหตุนี้เครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ  หรือ SDSN เสนอรายงานจัดอันดับความสุขโลก (World Happiness) จากการสำรวจ 155 ประเทศทั่วโลก ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2017 ซึ่งตรงกับวันแห่งความสุขสากลเป็นประจำทุกปี โดย SDSN อาศัยเกณฑ์วัดความสุขจากตัวแปรสำคัญ 6 ตัวแปร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัวประชากร, ความคาดหมายการคงชีพอย่างมีคุณภาพ, เสรีภาพ, ความเอื้ออาทร, การสนับสนุนทางสังคม และการปราศจากการทุจริตในภาครัฐหรือภาคธุรกิจเอกชน

สำหรับ 10 อันดับแรกของประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ยังคงเป็นชาติในยุโรปที่ครองความสุขมากถึง 7 อันดับ ซึ่งนอร์เวย์ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ขณะที่ชาติอื่นๆ ในยุโรปที่ติดอันดับ ประกอบด้วย เดนมาร์ก (2), ไอซ์แลนด์ (3), สวิตเซอร์แลนด์ (4), ฟินแลนด์ (5), เนเธอร์แลนด์ (6) และสวีเดน  (10)

ขณะที่ไทยรั้งอยู่อันดับที่ 32 ของโลก ขยับขึ้นจากอันดับ 33 ในปีที่แล้ว เป็นรองชาติร่วมอาเซียนเพียงสิงคโปร์ที่อยู่อันดับที่ 26 ทว่ากลับมีอันดับสูงกว่า 3 มหาอำนาจเอเชียอย่างญี่ปุ่น (51), เกาหลีใต้ (59) และจีน (79) ตามลำดับ

และหากเจาะลงไปว่าอะไรคือการสร้างแรงบันดาลใจ หรือที่มาของความสุข การอ่าน 7 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสุขต่อไปนี้ อาจทำให้ใครบางคนนึกถึงความสุขที่อาจหลงลืมหรือทำหล่นหายระหว่างทางของการใช้ชีวิตก็เป็นได้

คนที่มีพาร์ตเนอร์ (คู่หู) และมีมิตรภาพแน่นแฟ้นกับครอบครัว หรือแค่มีใครสักคนที่เชื่อใจกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณมีความสุข

1. คนที่เป็นนายตัวเองจะมีคุณภาพชีวิตสูงกว่าการเป็นลูกจ้างคนอื่น

การเป็นนายตัวเองมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีคนทำงานอิสระจำนวนไม่น้อยที่เกิดความพึงพอใจมากกว่าคนที่ทำงานเป็นลูกจ้างหรืองานที่ไม่ได้เป็นนายตัวเอง อย่างไรก็ดีคนที่เป็นนายตัวเองอาจมีแนวโน้มในเรื่องที่รู้สึกไม่ดีบ้าง อย่างเช่น ความเครียด และความกังวล

2. การจัดลำดับความสำคัญเชิงสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่สำคัญ

นักวิจัยทำการสำรวจประชากรในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ และอินโดนีเซีย เพื่อค้นหาปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความทุกข์ โดยพบว่านอกจากสุขภาพกายจะเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานแล้ว สุขภาพจิตก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

แม้ความพยายามในการลดช่องว่างของความยากจนและลดช่องว่างของการว่างงานด้วยการตัดสินใจหางานทำจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับใครหลายคน ทว่าวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดความทุกข์เหล่านี้คือ การกำจัดภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวลก่อนเป็นอันดับแรก

3. มีใครสักคนที่เชื่อใจกัน

คนที่มีพาร์ตเนอร์ (คู่หู) และมีมิตรภาพแน่นแฟ้นกับครอบครัว หรือแค่มีใครสักคนที่เชื่อใจกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่มี เพราะจากรายงานของรัฐพบว่า ทุกๆ 10% ของประชากรในประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสังคม (หรือคนที่อยู่รอบๆ ตัว) ระดับของความสุขจะก้าวกระโดดมากกว่า 20%

4. รายได้สำคัญมากกว่าการศึกษา

จากการตอบแบบสำรวจจากทุกประเทศ รวมถึงจากรายงานการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า รายได้นั้นสำคัญต่อความสุขมากกว่าการศึกษา เศรษฐีบางคนบนโลกนั้นตัดสินใจดร็อปเรียน ซึ่งรวมถึงมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และบิล เกตส์

5. ความสุขขึ้นอยู่กับประเภทของงาน

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่คนมีงานทำมักมีความสุขมากกว่าคนว่างงาน แม้บางประเภทของงานบางอย่างจะมีผลก็ตาม โดยรายงานการศึกษานี้เปิดเผยว่า (blue-collar jobs) พวกคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การก่อสร้าง เหมือง การผลิต การขนส่ง เกษตรกร ชาวประมง และการป่าไม้ มีแนวโน้มว่ามีระดับความสุขที่น้อยลง/ต่ำลง

6. เงินไม่ใช่ทุกสิ่ง

ให้รู้ว่าเงินเดือนไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีความสุขไปทั้งหมด เพราะยังมีสถานะทางสังคมในที่ทำงาน และความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน ที่นับเป็นสิ่งสำคัญของการกำหนดระดับความสุขของคนคนหนึ่งได้เช่นกัน

7. การว่างงานเปรียบเสมือนรอยแผลเป็น

ถึงแม้ว่าบางคนจะค้นพบงานใหม่ของตัวเอง หรือมีงานทำแล้ว ทว่ารายงานการศึกษานี้อธิบายเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาเพิ่มเติมว่า ความรู้สึกที่ไม่มีความสุขจะเสมือนเป็นรอยแผลเป็น เมื่อคนเหล่านั้นกำลังตกงานหรือว่างงานจนเป็นเหตุให้จำเป็นต้องขวนขวายหางานทำ
หากคุณเห็น 7 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีที่จะทำให้ตัวคุณเองมีความสุขในการใช้ชีวิตขึ้นแล้ว ก็อย่าลืมนำมาลองปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันของคุณเสียแต่เนิ่นๆ

เพราะนอกจากจะทำให้ตัวคุณเองมีความสุขแล้ว เผลอๆ ความสุขที่คุณมีอาจช่วยให้ประเทศของคุณขยับอันดับของดัชนีความสุขเพิ่มขึ้นก็เป็นได้!

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

อ้างอิง:

Tags: