ถ้าคุณอยากหาอะไรสั้นๆ อ่านระหว่างขึ้นรถโดยสารประจำทาง คิดถึงคิสซิงเจอร์ (Missing Kissinger) เป็นหนังสือใหม่จากสำนักพิมพ์กำมะหยี่ที่เราอยากแนะนำ เพราะเนื้อหาประกอบด้วยเรื่องสั้นที่สั้นมากๆ จำนวน 46 เรื่อง (ส่วนใหญ่มีความยาว 2-3 หน้า) อ่านเพียงแป๊บเดียวก็มาถึงจุดขมวดปมตอนท้ายของเรื่องแล้ว แต่ระวังว่าคุณจะอ่านเพลินจนเลยป้ายรถ หรือไม่ก็หลุดขำสำเนียงประหลาดออกมา

คิดถึงคิสซิงเจอร์ เป็นผลงานของเอ็ตการ์ เคเร็ต นักเขียนชาวอิสราเอล แปลโดย ธนรรถวร จตุรงควาณิช หน้าปกออกแบบด้วยลายเส้นเรียบง่ายแต่สีจัดจ้านตามสไตล์งาน Dear Reader ผู้ออกแบบ

หลายต่อหลายครั้ง ทักษะลีลาการเล่าเรื่องของเคเร็ตก็ช่างชาญฉลาด
จนเราต้องอุทานในใจ สงสัยว่าคิดได้ยังไง

 

พอพูดคำว่าอิสราเอล เราก็มักนึกถึงความขัดแย้งหรือการเมืองระหว่างประเทศ ภาวะที่ไม่น่าไว้วางใจ เรื่องสั้นของเคเร็ตสร้างความรู้สึกไม่น่าไว้ใจก็จริง แต่กลับไม่โยงการเมืองแบบทื่อซื่อ ต่างจากงานเขียนของนักเขียนอิสราเอลที่เราจินตนาการไว้

หรือพูดจากใจก็คือ ในหลายเรื่อง เราไม่กล้าฟันธงด้วยซ้ำว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร!

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าใครๆ ก็อินไปกับเรื่องเล่าของเขาได้ง่ายๆ เพราะแม้เคเร็ตจะใส่ตัวละครที่มหัศจรรย์พันลึก เช่น เทวดามีปีก นักมายากลกับกระต่ายหัวขาด ครอบครัวตัวกินมด ฯลฯ แต่เรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวโยงกับความคิด ความศรัทธา ความหมายของการงาน และความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อน คนรัก หรือครอบครัว เพียงแต่ภาพแทนเหล่านั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในโลกอื่น นำมาบอกเล่าเรื่องราวในใจที่หลายครั้งเราได้แต่กระซิบกับตัวเอง อาจเพราะรู้สึกว่ามันวิปริตเกินกว่าคนอื่นจะรับได้ ตัวละครของเคเร็ตจึงอาจเป็นได้ทั้งคนที่เราเห็นใจหรือชิงชังไปพร้อมๆ กัน เคเร็ตยังใส่บรรยากาศสังคมอิสราเอลไว้อย่างเป็นธรรมชาติ แทรกพิธีการและความเชื่อทางศาสนาเป็นคำสำคัญไว้บ้างประปราย หลายครั้งดูคล้ายเป็นการจิกกัดวิพากษ์วิจารณ์ของคนหนุ่ม

เรื่องสั้นจำนวน 46 เรื่อง อาจมีเรื่องที่เราเฉยๆ ปะปนอยู่บ้าง แบบที่อ่านแล้วลืมไปเลย แต่ที่สุดแล้ว หลายต่อหลายครั้ง ทักษะลีลาการเล่าเรื่องของเคเร็ตก็ช่างชาญฉลาดจนเราต้องอุทานในใจ สงสัยว่าคิดได้ยังไง

“เรื่องพวกนี้อาจจะถูกจินตนาการขึ้นมาโดยนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องมากกว่านักเขียนก็ได้” ท็อดด์ แมคยวน จาก เดอะ การ์เดียน เขียนคำนิยมไว้เช่นนั้น

ในหลายเรื่อง เราไม่กล้าฟันธงด้วยซ้ำว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร!

 

เคเร็ตเขียนเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ปี 1994 หรือเมื่อเขาเป็นนักเขียนหนุ่มวัย 27 ปี แต่เขาสามารถนำมุมมองของคนหลายวัยมาแตกประเด็นได้อย่างน่าสนใจ

นับตั้งแต่เรื่อง ‘ทุบหมู’ ซึ่งเป็นเรื่องแรก เล่าความพยายามของพ่อในการสอนลูกให้เป็นคนมัธยัสถ์โดยใช้อุบายกระปุกหมู แม้ลูกจะปฏิบัติตามคำสอนของเขาจนสำเร็จ ทว่าแนวคิดที่ทำให้เกิดการปฏิบัตินั้นกลับไปกันคนละทาง ชวนให้เราตั้งคำถามถึงอำนาจและความหวังดีของผู้เป็นพ่อซึ่งเลือกใช้วิธีการหลอกล่อ แทนที่จะอธิบายเหตุและผลของการกระทำ

แม้ประเด็นจะดูจริงจัง แต่อ่านแล้วให้อารมณ์เป็นเรื่องชวนหัวเสียมากกว่า หลายเรื่องเป็นตลกดาร์กแบบที่ต้องมองซ้ายขวาก่อนปล่อยก๊าก เพราะอาจดูเป็นคนจิตใจโหดร้าย

แต่บางเรื่องก็เศร้าแบบกร่อนหัวใจ แม้จะเล่าผ่านความไร้เดียงสาของเด็กน้อยผู้ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตัวเคเร็ตเองก็มีพ่อแม่เป็นผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ก่อนจะย้ายจากโปแลนด์มาอยู่อิสราเอล บางครั้งเราถึงกับคิดไปว่านี่คือความคิดความอ่านของเขาเองในสมัยเด็กๆ

เวลาที่เคเร็ตเล่าเรื่องราวแสนเศร้าเหล่านี้ เรากลับไม่รู้สึกว่าโดนยัดเยียดจนต้องรีบตั้งข้อกังขา เพราะหัวใจของเรื่องคือความพิลึกกึกกือของมันมากกว่า อย่างเรื่อง ‘รองเท้า’ เสน่ห์ของเรื่องนี้คือวิธีการเล่าและภาษาที่เรียบง่าย ผ่านมุมมองแบบเด็กน้อยวัยใส ฟังและเชื่ออะไรอย่างตรงไปตรงมา แม้แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่เจตนาจะเล่าอย่างอุปมา (เช่น ผู้ใหญ่ถ่ายทอดความแค้นเคืองให้เด็กๆ ฟังว่า สินค้าใดก็ตามที่ผลิตในประเทศเยอรมนีล้วนมีเลือดเนื้อของคนยิว บรรพบุรุษของพวกเขา เด็กชายก็เชื่อตามนั้น เชื่อว่าปู่ของเขาอยู่ในสินค้านั้นๆ)

แม้ว่าตอนอ่านจะรู้สึกตลก แต่ก็ทำให้เราจุกอกจนขำไม่ออก

Tags: , ,