คลิปสอนทำ ‘สไลม์โคล่า’ ความยาวสี่นาทีกว่า โพสต์ลงเว็บไซต์ยูทูบ (YouTube) เมื่อ 15 มีนาคมปีที่แล้ว (2559) เป็นคลิปที่ ซาน-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช โพสต์สู่สายตาชาวโลกในวันครบรอบวันกิด 23 ปีของเธอ

คลิปดังกล่าวมีผู้ชมแล้ว 1.4 ล้านวิว ซานเล่าว่าเวลานั้นไม่ว่าใครทำคลิปเกี่ยวกับสไลม์ก็ได้รับผลตอบรับดีกันทั้งนั้น รวมถึงเธอเองยังได้ไปอยู่ในคลิปของเพื่อนซึ่งเป็นยูทูปเบอร์มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ที่มีผู้ติดตามมากถึงสองล้านคน ทำให้คนจำนวนหนึ่งคุ้นเคยเธออยู่ก่อนบ้าง

มาวันนี้ การเป็นยูทูบเบอร์ทำให้ซานมีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง จ่ายเงินเดือนให้ทีมงานอีกแปดคน จ่ายค่าเช่าออฟฟิศ มีรายได้และเงินออมจากเงินโฆษณาและสปอนเซอร์ในจำนวนที่มากพอสำหรับลงทุนทำธุรกิจที่เธออยากทำได้ในอนาคต

ชีวิตที่เป็นอิสระและเป็นนายตัวเองเช่นชีวิตของซาน อาจจะเป็นต้นแบบความฝันและเป็นเป้าหมายความสำเร็จในชีวิต ตามวิถีชาวมิลเลนเนียล

0 0 0

ประเทศไทยมีคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) หรือคนที่เกิดในช่วงปี 1980-2000 ซึ่งปัจจุบันคือกลุ่มคนช่วงอายุ 17-37 ปีอยู่มากกว่า 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด

เส้นแบ่งของปีเกิดพอบอกได้ว่ากลุ่มมิลเลนเนียลเติบโตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและเต็มไปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เป็นเจเนอเรชันที่เวลานี้มีบทบาทสำคัญอยู่ในหลากหลายแวดวง

แน่นอนว่า แนวคิด วิถีชีวิต นิยามความสำเร็จ ย่อมแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน

ในโลกที่เราต่างต้องใช้ชีวิตประจำวันผูกพันกับในโลกดิจิทัลทำให้คนรุ่นมิลเลนเนียลสามารถเรียนรู้และฝึกฝนทักษะหลายอย่างไปพร้อมกันได้ และมีช่องทางสร้างรายได้ที่หลากหลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน

จึงไม่แปลกที่มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่าง นักขุดบิตคอยน์ บิวตี้บล็อกเกอร์ เกมส์แคสติ้ง นักเขียนออนไลน์ ฯลฯ อีกมากมาย เป็นทางเลือกในวิถีอิสระ บ้างเรียกว่าเป็นวิถีฟรีแลนซ์ บ้างอิสระกว่านั้นเพราะงานที่ทำเป็นประเภทที่ลงทุนครั้งเดียวแต่ช่วยสร้างรายได้แบบ passive income และทำให้มีเวลามากขึ้นกว่าการทำงานในระบบ

 

0 0 0
เราได้พูดคุยกับชาวมิลเลนเนียล อย่าง ซาน – ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช เจ้าของ ‘Sunbeary Channel’ ที่มีผู้ติดตามมากถึง 1.7 ล้านคน เธอบอกว่า ตัดสินใจลาออกจากงานประจำด้านบัญชีใน

บริษัทชั้นนำของประเทศ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่กระตือรือร้น และไม่ชอบการต้องแบกรับความคาดหวังต่าง ๆ จากเพื่อนร่วมงาน จึงเริ่มมองหาช่องทางทำเงินที่ไม่ต้องอาศัยต้นทุนมากนัก

 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/san.s.san.7

 

“เรายอมรับได้ว่าตัวเองถนัดหรือไม่ถนัดอะไร แต่ชีวิตมันมีระเบิดเวลา ตอนลาออกจากงานประจำแล้วก็ต้องรีบหารายได้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เลยไปดีลกับคนที่ชอบตัดต่อให้มาช่วยทำคลิป

“พอคิดจะเป็นยูทูปเบอร์จริงจังก็ต้องคิดแล้วว่าทำคลิปแบบไหนคนถึงจะดู ช่วงเริ่มต้นกลุ่มเป้าหมายของเราเลยเป็นเด็กชั้นประถม มัธยม เพราะพวกเขาดูยูทูปกันเยอะ”

ดังที่ซานเล่า ช่วงแรกเริ่มของการเป็นยูทูบเบอร์ ประเด็นในแต่ละคลิปขึ้นอยู่กับความชอบของคนดู แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความรู้สึกสดใหม่ของตัวเองกลับหายไป ทั้งที่ปัจจัยทุกอย่างเหมือนเดิม แถมยังมีรายได้เข้ามามากขึ้น

“เรารู้สึกไม่ชอบที่จะต้องหาของแปลกๆ มารีวิวให้คนอื่นดู เลยอัดคลิปแบบธรรมดาๆ เพื่อบอกกับทุกคนว่าเราจะเปลี่ยนไปแล้วนะ คือเราทำไม่ได้ที่ต้องหลอกคนดูว่าเรากำลังมีความสุข สนุกสนาน ซึ่งมันทำให้ยอดวิวตกไปเยอะเลย แต่เราก็เลือกทำตามที่ตัวเองชอบ นั่นก็คือคลิปกิน ดื่ม เที่ยว”

 

0 0 0

 

ชีวิตอิสระในแบบนักถ่ายทอดมีภาษีดีกว่างานฟรีแลนซ์ตรงที่ช่องทางรายได้ไม่ใช่งานครั้งเดียวจบ แต่เงินอาจไหลเวียนเข้ามาเรื่อยๆ ตามยอดคลิปยอดวิวยอดโหลด ที่ไม่มีสิ้นสุด
คล้ายกับเรื่องราวของ เต้ – เกรียงไกร อินทโรดม ที่เริ่มขายรูปใน Shutterstock.com เมื่อ 4 ปีก่อน

ตอนปลายปี 2558 เต้ได้เงินจากการทำงานนี้เดือนละประมาณ 3,000 บาท พอเป็นค่าขนม จ่ายค่าน้ำค่าไฟ เขาเล่าว่าเริ่มจากถ่ายรูปสิ่งของใกล้ตัว จนจับทางได้ว่าจำเป็นต้องมีภาพเฉพาะทางเพื่อให้เป็นที่นึกถึง ท่ามกลางภาพขายบนอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่จำนวนมาก

เวลาผ่านไปปีกว่า การถ่ายรูปขายบนอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นอาชีพหลัก รายได้อยู่ที่เดือนละ 50,000 บาท
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ในช่วงที่ไม่ได้ถ่ายรูปเพิ่ม เขาก็ยังสามารถมีรายได้โดยไม่ต้องทำงานอีกถ้าลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อรูปภาพที่เขาเคยลงขายไว้ในเว็บไซต์

 

 

“เราเริ่มอายุมากขึ้น และรู้สึกว่าการเป็นช่างภาพที่ต้องออกไปถ่ายภาพข้างนอกทุกวันมันหนัก มันเหนื่อย จึงเริ่มหันมาสนใจการขายภาพบนอินเทอร์เน็ตเพราะมันไม่เหนื่อย และเรายังเป็นช่างภาพอิสระได้เหมือนเดิม”

“การทำงานรูปแบบนี้ทำให้เราได้ใช้ชีวิตมากกว่าการทำงานประจำที่ต้องตื่นเช้า ต่อรถไฟฟ้าเข้าเมือง ตอนเย็นเลิกงานก็รถติดอยู่บนถนน ถึงบ้านก็เหนื่อย มีเวลาให้ตัวเองแค่สองชั่วโมงก็ต้องรีบนอน

เพื่อตื่นเช้าไปทำงานอีกวัน รวมถึงได้ใช้ชีวิตมากกว่าการเป็นฟรีแลนซ์ ที่อาจอู้หรือปล่อยชิลล์ได้ก็จริง แต่ถ้าช่วงไหนไม่มีงานเข้ามาก็ไม่มีเงิน”

เต้พูดถึงข้อดีของการทำงานแบบนี้ว่า เขาไม่ต้องทำงานทุกวัน  ทำงานแค่อาทิตย์ละสองวัน ส่วนเวลาที่เหลือเอาไปหาแรงบันดาลใจ ดูหนัง ฟังเพลง เข้าเว็บไซต์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าชั่วโมงการทำงานน้อย แต่ค่าตอบแทนค่อนข้างสูง

 

0 0 0

 

บ่อยครั้งฟีดเรื่องราวในเฟซบุ๊กของเราเต็มไปด้วยภาพถ่ายสถานที่จากต่างประเทศร้อยเรียงเป็นเรื่องราวการผจญภัยไม่รู้จบ และพบเจอเรื่องราวที่น่าประทับใจอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจจะเป็นเรื่องราวที่มาจาก เฟิร์ส – วิริทธิพล วิธานเดชสิทธิ์ หนุ่มวัย 25 เจ้าของเพจบันทึกการเดินทาง ชื่อ ‘Path to Odyssey’ และช่างภาพอิสระ

เมื่อหลายเดือนก่อน เฟิร์สอัปเดตรูปหน้าปก  ‘Path to Odyssey’ พร้อมแนบคำบรรยายภาพว่า “ย้อนกลับไป 16 เดือนก่อนตอนเรียนจบสาขาถ่ายภาพออกมาใหม่ๆ เราตบหัวตัวเองทุกครั้งเมื่อเผลอคิดถึงการเดินทางข้ามประเทศ มันคือเรื่องเพ้อฝันที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เราจะสามารถจินตนาการได้ในฐานะของพนักงานประจำ….”

เราพูดคุยกับเฟิร์สถึงช่วงเวลาก่อนที่ ‘Path to Odyssey’ จะมีสปอนเซอร์เข้ามาทักทายในหลายรูปแบบ ทั้งส่งตั๋วเครื่องบิน อุปกรณ์ถ่ายภาพมาให้ทดลองใช้ หรือชักชวนเขาเข้าร่วมโปรเจ็กต์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการถ่ายภาพ

“เราเคยเป็นช่างภาพในเอเจนซีซึ่งก็ต้องเดินทางไปที่โน่นที่นี่อยู่บ่อยๆ แต่เราไม่ชอบ เพราะส่วนใหญ่มันเกี่ยวกับการค้าซะมาก ค่อนข้างเข้มงวดไปหน่อย เหมือนเขาคิดมาให้เราทั้งหมดแล้ว และโอกาสลางานยาวก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย

“เราจึงตัดสินใจลาออกมา เตรียมเงินก้อนหนึ่งไว้แล้วสำหรับทำเพจในเฟซบุ๊กเพื่อทำเนื้อหาเป็นกำลังใจให้คนอื่นๆ ออกไปท่องโลกกว้างเหมือนที่เราได้ไปมาแล้วรู้สึกว่ามันดีมาก และสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันช่วงไม่มีงานทำ”

 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/pathtoodyssey

 

เฟิร์สเล่าให้ฟังว่า สามเดือนหลังเปิดเพจก็เริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามาติดต่อ ทั้งที่ช่วงนั้นมียอดไลค์เพียงประมาณ 20,000 ไลค์

เขาว่าคิดที่เป็นแบบนี้เพราะเพจมีจุดเด่นชัดเจน ตรงกับความต้องการของสปอนเซอร์บางเจ้า

“เพจเราดันมีสปอนเซอร์เข้ามา ซึ่งอาจต้องขายวิญญาณไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะดีลกับสปอนเซอร์แบบไหน เพราะมีเรตราคาตั้งไว้ เช่นคุณต้องการแฮชแท็กชื่อแบรนด์หรือ tie-in สินค้า เราเลือกรับเฉพาะสปอนเซอร์ที่คิดว่าจะไม่ทำให้เสียจุดยืน เสียตัวตนของตนเอง

“คือมีเงินเข้ามาเยอะมันก็ดี แต่คนมาติดตามเราเพราะ passion จึงไม่อยากให้เขาไม่ชอบเราเพียงเพราะเราเห็นแก่เงินมากจนเกินไป” เฟิร์สบอก

เขาบอกกับเราด้วยว่าการทำตัวเองให้น่าสนใจ น่าติดตามในโลกออนไลน์นั้น ไม่ใช่เรื่องยาก ยังสามารถสร้างรายได้ได้ด้วย แม้การแข่งขันจะสูง แต่ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลตราบใดที่ยังมีอัตลักษณ์

 

0 0 0

 

หลังพูดคุยกับชาวมิลเลนเนียลทั้งสามคนนี้ เราอาจต้องหยิบโควตคมๆ ของคนรุ่นตายายมาทบทวนใหม่ ไม่ใช่เพราะมันไม่น่าทำตามหรือยึดถือเป็นคติไม่ได้อีกแล้ว เพียงแต่ว่ายุคสมัยเปลี่ยน พล็อตชีวิตสมัยเดิมที่ต้องทำงานหนัก กัดฟันสู้ ลำบากกันก่อนถึงจะร่ำรวย หรือประสบความสำเร็จ ก็อาจเป็นพล็อตที่ไม่ค่อยได้เห็นแล้วในยุคนี้

ในบางมุมมอง การเป็นยูทูปเบอร์สาวคาแร็กเตอร์น่ารัก สดใส ทำคลิปกิน ดื่ม เที่ยว อย่างซาน ก็ทำให้ดูเหมือนคนอยากดัง หรือไม่ก็แค่ใช้ชีวิตไปวันๆ แต่กับซาน เธอไม่ได้สนใจความคิดทำนองนี้

“ทุกคนเห็นว่าเราไปกินร้านต่างๆ แค่ชั่วโมงเดียวก็เสร็จแล้วกลับ ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่านี้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น ยังมีการตัดต่อ เบื้องหลังตรงนี้ต้องทำการบ้านค่อนข้างหนัก ต้องรู้ว่าตัดต่อแบบไหนคนถึงจะชอบ ที่สำคัญเลยคือการเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่แค่เป็นตัวของตัวเองแล้วทุกคนจะยินดีดูคุณจนจบคลิปทุกคลิป”

“เมื่อผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงด้วย เราเสี่ยงต่อการโดนคนอื่นด่ามากกว่าคนทำงานประจำที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ ปีนี้เราอาจจะดัง ได้เงินโฆษณาเยอะ มีสปอนเซอร์เข้ามามาก แต่ปีหน้าอาจไม่มีคนดูเราสักคนเลยก็ได้ ถ้าเผลอไปทำอะไรที่มันดราม่าขึ้นมาสักอย่าง แน่นอนเราต้องวางแผนการใช้ชีวิต แล้วเมื่อเวลานั้นมาถึง เราก็คงหาลู่ทางไปของตัวเอง” ซานบอกถึงความเสี่ยงในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น

สุดท้ายแล้วชีวิตวิถีนี้จะมีความเสี่ยงหรือกลายเป็นฟองสบู่แตกหรือไม่ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ แต่เท่าที่รู้ ดูเหมือนชาวมิลเลนเนียลทั้งสามคนที่เราได้คุยด้วย กำลังมีความสุขและพึงพอใจกับสิ่งที่ตนเองทำอยู่ในทุกวันนี้

“เพจนี้ทำให้ได้ใช้ชีวิตตามความฝันและทำเงินได้ด้วย แต่บางครั้ง รายได้มันก็มาจากการถูกบังคับต่างๆ ของลูกค้า แต่พอเรารับสปอนเซอร์มาจำนวนหนึ่ง ก็สามารถเก็บเงินก้อนไว้ไปทริปที่อยากไปจริงๆ“ เฟิร์สกล่าวและเสริมว่ามักมีหนึ่งทริปที่เขาเดินทางอย่างเป็นอิสระจากทั้งหมดราวห้าทริปที่มีสปอนเซอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งความเป็นอิสระและความเป็นตัวเอง เป็นเรื่องราวจุดขายสำคัญ ที่จะช่วยเรียกสปอนเซอร์เข้ามาได้อีก

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่านี่เป็นตัวอย่างของคนที่มีโอกาสไปถึงดวงดาว และก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสมหวังจนสามารถสร้างรายได้จากช่องทางที่หลากหลายนี้

แต่สิ่งที่พอจะบอกให้เป็นความหวังได้คือ ในยุคที่สถานการณ์ต่างๆ หมุนไปอย่างรวดเร็ว และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายล้นเหลือ เรามีทางเลือกให้การใช้ชีวิตที่หลากหลายกว่าเดิม และการล้มลงก็คงไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะต่างสามารถลุกขึ้นมาเพื่อเริ่มต้นใหม่ได้ตลอดเวลา

 

 

ภาพประกอบโดย ปรางวลัย พูลทวี

 

อ้างอิง
www.businesseventsthailand.com

Tags: , , , , , ,