‘มลายู ลีฟวิ่ง’ (Melayu Living) คือชื่อของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้ความร่วมมือของคนในพื้นที่ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และการนำเสนอวัฒนธรรมเฉพาะของท้องถิ่น ประกอบรวมกันเพื่อสร้างบันทึกบทใหม่ให้กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

จากกลุ่มสถาปนิกของภูมิภาคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระจายเป็นศูนย์ย่อยโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้ชื่อกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณฯ โดยมี วิวัฒน์ จิตนวล ประธานกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณฯ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา

จากสถาปนิกที่รวมตัวกันเพื่อเผยแพร่วิชาชีพและจัดกิจกรรมต่างๆ นำไปสู่จุดเปลี่ยน คือการที่ ราชิต ระเด่นอาหมัด หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม มีความคิดอยากสร้างเครือข่ายกับคนรุ่นใหม่ที่ทำงานสร้างสรรค์ในสาขาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ หรือนักสร้างเนื้อหา เพื่อร่วมกันสร้างกิจกรรมให้พื้นที่เกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ จากการได้เห็นคนรุ่นใหม่ในช่วงวัย 25-40 ปี ซึ่งมีทั้งคนในพื้นที่เดิมและคนที่เรียนจบจากกรุงเทพฯ แล้วกลับมาทำงานที่บ้าน

การได้เห็นเพื่อนๆ น้องๆ มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความร่วมมือกัน โดยมีกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณฯ เป็นผู้ดูแลและผู้สนับสนุน

‘เปิดบ้านนายอากร’ คือหมุดหมายแรกของมลายู ลีฟวิ่ง โดยใช้บ้านเก่าทรงจีนริมแม่น้ำเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและพื้นที่เสวนาเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา บ้านหลังนี้เป็นของตระกูลวัฒนายากร ซึ่งเคยเป็น ‘เจ้าภาษีนายอากร’ ผู้ทำหน้าที่เก็บภาษีแทนรัฐบาลของดินแดนแห่งนี้ ภายในนิทรรศการประกอบด้วยการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นผ่านสิ่งของ 10 อย่าง ได้แก่ โฉนดที่ดิน, หมวกกะลาสีเรือ, เกลือหวาน, ผ้าปาตานี, ไห ขื่อ และอากร, ข้าว ทองคำ และดีบุก, ร้านของชำ, น้ำแข็ง และโรงเรียนจ้องฮั้ว

“เราอยากเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ ว่ามลายูคืออิสลาม แต่ความจริงไม่ใช่ศาสนาเพียงอย่างเดียว มลายูคือพื้นที่ คือแผ่นดิน”

การบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ผ่านข้าวของที่คุ้นเคยเหล่านี้เป็นการสื่อสารที่ดึงความสนใจของผู้คนได้อย่างอยู่หมัด ทำให้นิทรรศการเปรียบเสมือนใบเบิกทางสู่การเชื่อมต่อกับคนในพื้นที่ที่อยากสร้างความร่วมมือเพื่อต่อยอดเป็นกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป

ก่อนหน้านี้ มลายู ลีฟวิ่ง มีกิจกรรมการฉายภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อกิจกรรม ‘มลายูรามา’ โดยเลือกฉาย Poem Performance: หลงทางในประเทศของตัวเอง ซึ่งเป็นการอ่านบทกวีของ โรสนี นูรฟารีดา กวีหญิงมุลสลิม ผลงานการกำกับโดย ไรอัน แอนเดอร์สัน

โปรเจกต์ที่น่าติดตามของมลายู ลีฟวิ่ง ในอนาคตคือนิทรรศการภาพถ่ายของช่างภาพในพื้นที่ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ด้วยมุมมองเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำแผนที่ชุมชนเพื่อการพัฒนาเป็นแผนที่ชุมชนประวัติศาสตร์ ระบุอย่างละเอียดเป็นลำดับชั้น เน้นที่เรื่องราวของบ้านแต่ละหลัง โดยจะผลิตทั้งในแบบรูปเล่มและในแบบออนไลน์

ก้าวแรกในวันนี้ของมลายู ลีฟวิ่ง คือการต่อยอดการลงมือทำของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งความตั้งใจที่จะเปลี่ยนการรับรู้และความหมายของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ความมุ่งมั่นและความต่อเนื่อง จะทำให้ ‘มลายู ลีฟวิ่ง’ เป็นความหวังใหม่ของพื้นที่แห่งนี้

“คำว่าสามจังหวัดมันถูกพุ่งมาที่ความไม่สงบ แต่ส่วนตัวเราไม่เชื่อว่าเป็นระเบิดแบบบูม แต่พื้นที่ปัตตานีสำหรับเราเป็นบลูม (bloom) ที่แปลว่าเบ่งบาน เพราะมีคนรุ่นใหม่ที่ผลักดันของดีๆ เราอยากเปลี่ยนการรับรู้บางอย่างให้ได้”

ภาพ: Melayu Living

FACT BOX:

  • มลายู ลีฟวิ่ง (Meleyu Living) มาจากชื่อของภาพในห้องรับแขกของสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่ม เป็นชื่อที่ต้องการสื่อสารให้ฟังดูสบาย เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเหมือนอยู่ในห้องรับแขก มลายู ลีฟวิ่ง จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากต่างถิ่นและเปิดกว้างสำหรับทุกคน
  • สมาชิกผู้ก่อตั้งมลายู ลีฟวิ่ง ประกอบด้วย ราชิต ระเด่นอาหมัด, อนันต์ กาเดร์, ศิวกร สนิทวงศ์, ประกอบ กาซันการัดชอ, สมโภชน์ เจ๊ะอาลี และ อาซีซี ยีเจะแว
Tags: , , ,