ลอนดอน มี Oyster card
เกาหลีใต้ มี T Money card
ฮ่องกง มี Octopus card
ไทยเราก็กำลังจะมีบัตรแมงมุม

บัตรแมงมุมคืออะไร

ที่มาของชื่อบัตร เปรียบกับการที่ใยของแมงมุมทำให้มันเดินไปที่ไหนก็ได้ โดยบัตรนี้จะทำหน้าที่เป็นตั๋วร่วมเชื่อมโยงทุกการเดินทางไว้ในบัตรเดียว [1] ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที รถบีอาร์ที รถเมล์ เรือ และระบบทางด่วน (Easy Pass) นอกจากนี้ยังใช้ซื้อของในร้านค้าที่ร่วมรายการได้อีกด้วย [2]

อันที่จริง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พยายามริเริ่มการใช้ระบบตั๋วร่วมมาตั้งแต่ปี 2549 โดยตั้งคณะทำงานเพื่อริเริ่มระบบตั๋วร่วมขึ้นโดยเฉพาะ ในปีถัดมา สนข. ก็พยายามให้รถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีทำบัตรโดยสารร่วมกัน และเซ็นบันทึกความเข้าใจร่วมกันในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550

ต่อมาในปี 2555 มีการพูดคุยกันว่าบัตรแรบบิทจะใช้ได้กับรถไฟฟ้าทั้งสองระบบ แต่สิ่งนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง [3] ถึงแม้ในเว็บไซต์ rewards.rabbit.co.th จะยังคงปรากฏข้อความ “แรบบิทคือ ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระบบแรกในประเทศไทยที่มีระบบตั๋วร่วมระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอสและระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ” ก็ตาม

หลังจากแผนการใช้ตั๋วร่วมต้องเลื่อนมาหลายครั้งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด สนข. ก็ประกาศว่าปลายปีนี้จะมีการแจกบัตรแมงมุมฟรี 200,000 ใบ (ไม่ต้องเสียค่ามัดจำบัตร 50 บาท แต่เติมเงินเอง และเติมเงินได้สูงสุด 10,000 บาท) ให้กับประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะเริ่มใช้งานตั๋วร่วมในรูปแบบ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือบัตรคนจนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม แต่ในเวลานี้ยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ว่าจะแจกใคร และแจกอย่างไร โดยคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะประชุมเพื่อสรุปแนวทางเหล่านี้ในวันที่ 18 กันยายน [4] และเมื่อแจกบัตรหมดแล้ว ช่วงปลายปีนี้ รฟม. จะเปิดขายบัตรแมงมุมตามจุดต่างๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งคาดว่าในช่วงแรกจะขายในราคาใบละ 50 บาท

บัตรนี้จะทำหน้าที่เป็นตั๋วร่วมเชื่อมโยงทุกการเดินทางไว้ในบัตรเดียว
ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที รถบีอาร์ที รถเมล์ เรือ และระบบทางด่วน (Easy Pass)

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนคนจนในเขตกรุงเทพฯ และอีก 6 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) จำนวน 1.3 ล้านคน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับจะมีชิปของบัตรแมงมุมอยู่ด้วย ซึ่งจะทำให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้กับระบบตั๋วร่วมได้ด้วย โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ผู้มีรายได้น้อยสามารถนำบัตรมาใช้กับระบบตั๋วร่วม 3 ประเภท คือรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถโดยสารสาธารณะของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยรัฐบาลจะเติมเงินให้ระบบละ 500 บาทต่อเดือน และไม่สามารถใช้เงินข้ามระบบได้ [5]

แต่ในบรรดาการเดินทางที่ว่ามา จะเริ่มนำร่องที่รถเมล์ก่อน โดยจะติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (e-Ticket) บนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. รวม 800 คันซึ่งภายใต้สัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ฯ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) จะติดตั้งระบบ e-Ticket และเครื่องเก็บค่าโดยสาร (cash box) ในรถโดยสารประจําทางของ ขสมก.จํานวน 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาท ภายในปี 2561 ขณะที่รถไฟอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรบริเวณทางเข้า 2-3 ช่องสำหรับผู้ที่มีบัตรคนจน ในสถานีรถไฟเป้าหมาย 444 สถานี ภายในวันที่ 1 ตุลาคมเช่นกัน [6]

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ตามมาด้วยรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และรถไฟฟ้าบีทีเอส ราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2561 ส่วนทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง เรือด่วนเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ จะอยู่ในระยะ 2 ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 [7]

ไม่ค้าน แต่ถามว่าพร้อมไหม

ว่ากันเฉพาะรถเมล์ วีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) บอกว่าจนวันนี้ (ข้อมูลเมื่อ 9 กันยายน 2560) ยังไม่มีการอบรมพนักงานว่าระบบที่ว่านี้ทำงานอย่างไร รวมถึงยังไม่มีการประชาสัมพันธ์วิธีใช้กับผู้โดยสาร การออกแบบการขึ้น-การลงก็ยังไม่มี

“มีการประชุมในระดับผู้บริหาร แต่ยังไม่ลงมาที่ระดับผู้ปฏิบัติ”

วีรพงษ์บอกว่า ล่าสุด ทราบมาว่าผู้บริหารมีแผนว่าจากที่กำหนดในสัญญาว่ารถเมล์ 800 คัน หากคันไหนยังไม่ติดตั้งระบบ จะให้พนักงานเก็บค่าโดยสารหรือ พกส. ใช้สมาร์ตโฟนติดระบบแตะบัตรคิดเงินผู้โดยสารแทน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลว่าจะติดตั้งระบบได้จริงกี่คัน สุดท้ายประชาชนจะสับสนแน่ๆ

“มีการประชุมในระดับผู้บริหาร แต่ยังไม่ลงมาที่ระดับผู้ปฏิบัติ”

การติดตั้งระบบดังกล่าวจะมีทั้งแบบที่สแกนตั๋วร่วมและกล่องเก็บค่าโดยสาร ซึ่งประธาน สร.ขสมก. บอกว่าก่อนหน้านี้เคยมีระบบ farebox แล้ว แต่ก็ล่มไป

“ตอนนั้นใช้กับสาย 162 บางคนเอาฝาเป๊ปซี่ ฝากระทิงแดงหยอดไป กล่องชำรุด”

“ผมยืนยันมาโดยตลอดว่าเห็นด้วยกับการใช้ระบบ e-Ticket เรายอมรับการเปลี่ยนแปลง แต่ทุกคนต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ระบบ e-Ticket ดีอยู่แล้ว เพราะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ”

“เราเคยใช้ระบบ farebox มาครั้งหนึ่งแล้ว สมัยผมเป็นนายตรวจ ผมควบคุม farebox สาย 162 ที่วิ่งจากท่าเรือคลองเตยไปถนนนราธิวาสราชครินทร์ตอนที่สร้างเสร็จใหม่ๆ ปรากฏว่าล้มเหลว เพราะคนไทยอาจจะเป็นคนชอบสบายๆ อาจจะเกี่ยวข้องกับระเบียบวินัยด้วยก็ได้ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ก่อนที่เขาจะทำระบบ e-Ticket หรืออะไรก็แล้วแต่ เขาจะมีแผนรองรับ”

เขาเคยเสนอผู้ที่เกี่ยวข้อง-รัฐบาลให้ทดลองวิ่งในย่านชุมชนใจกลางเมืองและย่านชานเมือง เพื่อจะได้รู้ว่าปัญหาอุปสรรคเป็นอย่างไร ซึ่ง 6 เดือนก็น่าจะรู้ผล

เมื่อเครื่องมาแทนคน คนจะไปอยู่ที่ไหน

เมื่อมีเครื่องมาแทนคน คำถามต่อมาคือแล้วจะเอาคนที่เคยทำหน้าที่นี้อยู่ 4,000 คนไปไว้ที่ไหน วีรพงษ์เสนอให้พนักงานเก็บค่าโดยสารอยู่คอยแนะนำผู้โดยสารก่อน เพราะเมื่อไม่มีการรับคนเพิ่ม ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า พนักงานจะเกษียณหมดไปเอง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ สมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการ ผอ.ขสมก. ที่จะให้พนักงานเก็บค่าโดยสารแนะนำการใช้บัตรไปก่อนในช่วง 2 ปีแรก [8]

นอกจากพนักงานเก็บค่าโดยสาร ยังมีฝ่ายสนับสนุนอย่างพนักงานเช็กตั๋ว เช็กเงิน ที่จะต้องหายไป

“ปัจจุบันนี้ พกส. ต้องไปเบิกกระบอก เบิกตั๋ว พอขายตั๋วเสร็จแล้ว ต้องเอาเงินมาส่งพนักงานการเงิน วันนี้ได้สามพันสี่พัน พนักงานการเงินก็เก็บเงิน แต่ต่อไปไม่มีเงินมาส่งแล้ว แล้วคนกลุ่มนี้ประมาณ 700-800 คนจะไปไหน คนกลุ่มนี้จะตกงาน เพราะไม่มีเงินมาส่งแล้ว พนักงานสนับสนุนการเงิน ห้องพนักงานธุรการ ห้องการเงิน เขตเรามี 8 เขต 3 กอง กองหนึ่งใช้อัตรากำลังประมาณ 9 คน ก็ตกประมาณ 700-800 คนที่จะไม่มีงานทำ เพราะไม่มีคนส่งเงินเข้ารัฐ เมื่อใช้ระบบ e-ticket ก็ไม่มีกระเป๋ารถเมล์ แล้วคนกลุ่มนี้จะไปอยู่ที่ไหน”​

วีระพงษ์บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลน่าจะต้องทำมากกว่าการติดหรือไม่ติดระบบนี้
คือการจัดซื้อรถเมล์ใหม่

วีรพงษ์เสนอว่าอาจให้คนเหล่านี้ไปทดแทนตำแหน่งอื่น เช่น พนักงานคนไหนที่มีความรู้ความสามารถ อาจจะไปคุมห้องคอมพิวเตอร์หรือห้องจีพีเอส เพราะในอนาคตต้องติดจีพีเอสด้วย ส่วนคนที่ไม่มีความรู้ อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป หากจะให้เกษียณอายุก่อนกำหนดก็จะต้องเป็นไปตามความสมัครใจ

ถัดจากเรื่องคน วีระพงษ์บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลน่าจะต้องทำมากกว่าการติดหรือไม่ติดระบบนี้ คือการจัดซื้อรถเมล์ใหม่ เพราะตอนนี้ การติดระบบที่ว่านั้น เป็นการติดให้กับรถเก่าที่วิ่งมา 26-27 ปีแล้ว

“รถหมดสภาพการใช้งานก็ว่าได้ แต่ที่วิ่งทุกวันนี้เพราะเราไม่มีรถใหม่มาแทนที่ ถึงติดระบบไป พอรถวิ่งไม่ไหวก็ต้องถอดออกมา เพราะรถหมดสภาพแล้ว ตอนนี้มีรถ 2,700 คัน แต่วิ่งได้จริงๆ ไม่ถึง ซึ่งที่วิ่งอยู่มันก็วิ่งไปด้วยเสียไปด้วย

“ถ้าไม่มีรถมันก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายประชาชนจะหนีไปทางเลือกอื่นที่ไม่มีความปลอดภัย อาจเป็นรถเถื่อน เพราะเมื่อรัฐไม่มีรถให้บริการ เขาก็ต้องหาทางเลือกอื่น ฉะนั้น สิ่งที่รัฐต้องทำ เป็นภาระของรัฐ คือต้องหารถมาบริการพี่น้องประชาชนให้เพียงพอกับความต้องการ”

 

ฉายภาพเดือนตุลาคม สิ่งที่เราจะเห็นคืออะไร

“คนต้องเข้าคิวแตะบัตร และคนไทยก็ชอบสบายๆ ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ จะบอกว่าไม่มีระเบียบวินัยก็ได้ อย่างที่ผมถามว่าทำไมไม่ลองระบบดูก่อน ถ้าต้องแตะบัตร ต้องขึ้นกี่ประตู ประตูเดียว ขึ้นลง หรือต้องรอให้ผู้โดยสารลงก่อน ลองนึกดูก็แล้วกัน ถ้าต้องเข้าคิว สภาพมันจะเป็นยังไง”

“ส่วนคนที่ไม่มีบัตรก็ต้องเข้าคิว แล้วก็ต้องหยอดเงินใส่เครื่องเก็บเงินใช่ไหม แต่ก่อนผมก็ตั้งคำถามว่า 6.50 บาท จะทอนเงินยังไง เขาบอกว่ามีทอน ปัญหาก็ตกไป แต่ความล่าช้ามีไหม มี เพราะต้องรอบัตรแล้วเดินเข้าไป สถานที่มันเหมาะไหม เพราะต้องออกันอยู่ที่ทางขึ้นลง” วีรพงษ์กล่าว

Tags: , , , , , , , , , , ,