หลายคนอาจคิดว่าการฝึกงานมีไว้สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป แต่ในประเทศอังกฤษมีโครงการฝึกงานมากมายที่เปิดรับสมัครนักศึกษาฝึกงานตั้งแต่เรียนจบชั้นปีที่ 1 (นักเรียนชั้นมัธยมปลายก็สมัครฝึกงานหาประสบการณ์ช่วงสั้นๆ ได้เป็นเรื่องปกติ)

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันก็มักจะสูงมาก ขั้นตอนการสมัครก็ยาวเหยียด อีกทั้งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ช่วยจัดการการฝึกงานให้ นักศึกษาต้องขวนขวายกันเอง นอกจากนั้น เมื่อถึงช่วงปิดเทอม นักศึกษาไทยในอังกฤษส่วนใหญ่ก็อยากกลับบ้าน จึงมักทิ้งโอกาสฝึกงานในต่างแดน วันนี้ผู้เขียนจึงอยากแบ่งปันประสบการณ์ของนักศึกษาที่กล้าลุยกับการฝึกงานสุดโหดในกรุงลอนดอนตั้งแต่เรียนอยู่ในชั้นปีแรกๆ

คนแรกที่ได้พูดคุยด้วยคือ พลอย-สรัลชนา รมยานนท์ จาก Imperial College London พลอยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่ได้รับเลือกให้เข้าฝึกงานที่วาณิชธนกิจ (Investment Bank) แห่งหนึ่งซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก กว่าจะได้รับเลือกต้องผ่านการคัดเลือก CV รอบแรก และการสัมภาษณ์ราวหนึ่งชั่วโมง ซึ่งมีทั้งคำถามทดสอบไหวพริบ ความรู้ทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับงาน และคำถามทดสอบความสามารถ

พลอยเล่าว่าไปถึงที่ทำงานวันแรกก็มีงานให้ทำทันที พร้อมกับใบประเมิน ซึ่งเธอจะต้องเขียนความคาดหวังของตนเอง และมีผู้จัดการแผนกมาเขียนความคาดหวังต่อตัวเธอเช่นกัน ที่นี่ต้องทำงานจริงจัง และมีเดดไลน์ งานที่ได้ทำจะเป็นโปรเจ็กต์เล็กๆ แต่ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่จะต้องเรียนรู้ให้ไว ทุกคนในบริษัทจะค่อนข้างยุ่ง แต่ก็จะคอยยื่นมือช่วยเหลืออยู่ตลอด

“งานที่ได้รับมอบหมายคือให้วิเคราะห์ตัวเลข ซึ่งเป็นราคาและความแปรปรวนของค่าหุ้นแต่ละวันจากอดีตย้อนไปประมาณสิบปีจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ตัวเลขที่ต้องดูถือว่าเยอะมากๆ สิ่งที่ต้องทำคือหาความสอดคล้อง (correlation) ของตัวเลข เพื่อนำไปใช้เป็นโมเดลสำหรับการวิเคราะห์ งานนี้ใช้เวลาทำถึง 3 วัน ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม แต่ถือว่าได้เรียนรู้เยอะมากจากงานชิ้นหนึ่ง”

ในแง่ของวัฒนธรรม ในลอนดอนทุกคนจะค่อนข้างเท่าเทียมและวัดกันที่ผลงาน 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ไม่มีความเหลื่อมล้ำ แต่ความเคารพต่อผู้ใหญ่ก็สูงมาก ที่นี่ให้ความสำคัญกับคอนเน็กชัน และมีกิจกรรมที่ผู้ใหญ่และเพื่อนๆ เด็กฝึกงานได้ทำความรู้จักและสร้างสัมพันธ์อันดีต่อกันทุกสัปดาห์ โดยรวมแล้วที่อังกฤษบรรยากาศการทำงานดูจะให้ความสำคัญกับความเป็นมืออาชีพมากกว่าที่ประเทศไทย ที่ไทยแม้จะมีอะไรที่คุยเปิดใจได้มากกว่า แต่ก็จะตามมาด้วยการซุบซิบนินทากันเป็นเรื่องธรรมดา

เรื่องที่พลอยประทับใจที่สุดจากประสบการณ์ฝึกงานในลอนดอนคือการลงทุนในตัวเด็ก

พลอยเคยฝึกงานที่ไทยด้วย และเล่าว่างานที่ได้ทำส่วนใหญ่จะขึ้นกับแต่ละวัน บางวันไม่ได้ทำงานอะไรเลย เพราะพี่ๆ ในบริษัทยุ่งและไม่มีงานที่เธอช่วยได้ แต่บางวันก็มีงานให้ทำบ้าง โดยส่วนตัว เธอไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมมากนัก บางครั้งจึงทำให้รู้สึกว่าทางบริษัทไม่ได้มีความคาดหวังอะไรกับเธอเลย

ส่วนเรื่องที่พลอยประทับใจที่สุดจากประสบการณ์ฝึกงานในลอนดอนคือการลงทุนในตัวเด็ก โดยธนาคารลงทุนกับบุคลากรสูงมาก พลอยบอกว่า “รู้สึกได้จากการที่มีกิจกรรมอบรมเยอะมาก ทั้งๆ ที่เป็นแค่เด็กฝึกงาน วันแรกของการฝึกงาน ซีอีโอของธนาคารก็มาร่วมงานด้วย ที่น่าแปลกใจคือเขาให้เรามีโอกาสไปนั่งคุยแบบตัวต่อตัวกับผู้ใหญ่ในระดับสูงมากของบริษัท และทุกคนเสียสละเวลามานั่งคุยกับเด็กฝึกงานตัวต่อตัว”

พลอยแนะนำทิ้งท้ายว่า “ถ้าบริษัทต่างๆ ให้โอกาสนักศึกษาได้ทำงานที่ก่อให้เกิดประสบการณ์และเป็นประโยชน์กับนักศึกษาจริง มันจะเป็นการลงทุนในบุคลากรที่คุ้มค่า ควรทำเป็นระบบ และให้โอกาสนักศึกษาได้ทำงานจริง”

 

คนที่สองที่ผู้เขียนได้พูดคุยด้วยคือ กันฑ์-อภินันท์ หัสธนสมบัติ ซึ่งจบจาก University College London และกำลังจะศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

กันฑ์บอกว่าตอนฝึกงานหลังเรียนจบชั้นปีที่ 2 กับ Goldman Sachs ซึ่งเป็นบริษัทไฟแนนซ์ยักษ์ใหญ่ เขาได้รับการดูแลดีมาก มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย โอกาสในการเรียนรู้ก็มีมาก เพราะบริษัทเหมาคอร์สออนไลน์ให้นักศึกษาฝึกงานกับพนักงานได้เรียนรู้เพิ่มเติมทักษะ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้จัดการแผนกก็ดูแลอย่างใกล้ชิด บางครั้งมานั่งกับเขาเป็นชั่วโมง เพื่อช่วยดูปัญหาและจุดบกพร่องในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขาต้องแก้ (debug)

แต่ประสบการณ์ฝึกงานที่ได้เรียนรู้มากที่สุดคือตอนเรียนจบชั้นปีที่ 1 ที่เขาไปฝึกงานกับสตาร์ตอัปชื่อ Performance in Context โดยได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าฝ่ายไอทีหรือซีทีโอ (Chief Technology Officer) ชั่วคราว ซึ่งต้องทำงานพัฒนาโปรดักต์และคัดเลือกดีเวลอปเปอร์ให้สตาร์ตอัปไปพร้อมๆ กัน เขาเข้างาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 1-2 ทุ่ม บางครั้งต้องไปอีเวนต์ต่างๆ เพื่อมองหาดีเวลอปเปอร์ต่อ กลับถึงบ้าน 5 ทุ่มก็เคย

เนื่องจากทั้งสตาร์ตอัปมีอยู่แค่สามคน และกัณฑ์เป็นคนเดียวที่ทำด้านเทคนิคัลจึงต้องไปช่วยเสนอและขายงานด้านเทคนิคัลทั้งหมด จนสตาร์ตอัปได้เงินมา 55,000 ปอนด์ในเวลาไม่กี่เดือน แถมยังได้พบกับ Tim Burners-Lee ผู้ก่อตั้ง World Wide Web อีกด้วย พอมีเงินทุนมากขึ้น ทีมสตาร์ตอัปจึงได้เปลี่ยนจากการนั่งทำงานในห้องนั่งเล่นไปนั่งทำงานในออฟฟิศ

สำหรับสิ่งที่ได้เรียนรู้ กัณฑ์สังเกตว่าบริษัทใหญ่มักจะดูที่ศักยภาพของผู้สมัครงาน เพราะไม่ต้องการใช้งานทันที แต่สตาร์ตอัปต้องใช้งานทันที จึงจำเป็นต้องเลือกคนที่ทำงานได้เลย สตาร์ตอัปที่กัณฑ์ไปฝึกงานเคยสัมภาษณ์นักศึกษาสาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ซึ่งเป็นคนเก่งมาก เรียนรู้ได้เร็ว มีแวว แต่เนื่องจากสตาร์ตอัปต้องการใช้งานเลยในตอนนั้น ประกอบกับมีทุนน้อยและต้องทำงานได้เร็ว นักศึกษาคนนี้ไม่มีประสบการณ์ทำงานเป็นดีเวลอปเปอร์มาก่อน เขาจึงไม่ได้งาน

“การได้งานหรือไม่ได้งาน ไม่ได้อยู่ที่เก่งหรือไม่เก่งเพียงอย่างเดียว บางทีไม่ได้เพราะแค่ไม่ตรงกับความต้องการของบริษัทในจังหวะนั้น ไม่ใช่ว่าเก่งแล้วจะได้งานตลอด”

กัณฑ์บอกว่างานเยอะมาก เขาไม่เคยเหนื่อยขนาดนั้นมาก่อน เมื่อเทียบกับการเรียน การทำงานนั้นหนักหนาสาหัสกว่า เพราะมีผลพวงที่จะตามมา มีเดดไลน์ ถ้าทำไม่ได้ก็เสียลูกค้า ถ้าไม่มีลูกค้าก็ไม่มีเงินลงทุนเพิ่ม

การได้งานหรือไม่ได้งาน ไม่ได้อยู่ที่เก่งหรือไม่เก่งเพียงอย่างเดียว อาจเพราะแค่ไม่ตรงกับความต้องการของบริษัทในจังหวะนั้น

กัณฑ์ได้พบกับเหตุการณ์ลุ้นระทึกหลายครั้ง “ครั้งหนึ่งต้อง launch งานตอน 9 โมงเช้า แต่ก็ทำเสร็จก่อนหนึ่งวัน ตอนสองสามทุ่มทุกอย่างดูโอเค กลับบ้าน อาบน้ำ จะนอน แต่ก่อนนอนเอะใจ ตอนนั้นสักเที่ยงคืนครึ่ง เลยเข้าไปเช็กเซิร์ฟเวอร์ ก็พบว่ามีอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการเชื่อมต่อดาตาเบสที่ไม่ทำงานขึ้นมา พยายามแก้อยู่ 3-4 ชั่วโมง แทบไม่ได้นอน ทำไม่ได้จริงๆ ตอนเช้าต้องไปทำงาน 8 โมง รีบไปบอกอีกสองคน ไม่รู้จะทำอย่างไร เครียดมาก เลยเบรกชงชา กลับมาทำต่อตอน 8 โมงเศษๆ ตอนนั้นนึกขึ้นได้ว่าลืมอะไร เลยลองดู เผื่อมันจะได้ แล้วก็ได้จริงๆ แก้สำเร็จก่อนเวลา launch ประมาณครึ่งชั่วโมง ลุ้นมาก ตอนนั้นเลยคิดว่าเวลามีปัญหา เครียด ถ้าทำงานทั้งคืนแล้วก็ซ่อมไม่ได้ อาจต้องวางมือ ลองไปทำอย่างอื่น ตอนนั้นลุ้นสุดๆ ลูกค้าใหญ่รายแรกด้วย”

เป็นเรื่องน่าทึ่งที่นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบชั้นปีที่ 1 หรือชั้นปีที่ 2 ได้รับโอกาสอันน่าตื่นเต้นจากบริษัทต่างๆ และนักศึกษาก็เต็มที่กับการทำงานจริงๆ ผู้เขียนคิดว่าการไว้ใจมอบหมายงานจริงให้นักศึกษาฝึกงานกับความตั้งใจจริงของตัวนักศึกษาฝึกงานเองเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนกัน ยิ่งใครไว้ใจเรามากเท่าไร เราก็มักจะอยากทุ่มเททำให้สำเร็จ ให้สมกับที่เขาไว้วางใจเรามากเท่านั้น และยิ่งเราตั้งใจทำมากเท่าไร หัวหน้างานหรือบริษัทก็จะไว้ใจมอบหมายงานจริงให้เรามากขึ้นเท่านั้นเช่นกัน

ผู้เขียนหวังว่าจะได้เห็นโอกาสแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย เพราะการได้ฝึกงานอย่างมีความหมายตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้นักศึกษาค้นพบตัวเองในโลกของการทำงาน พัฒนาทักษะได้เร็วขึ้น แถมยังช่วยเสริมสร้างความรู้รอบตัวและความเข้าใจการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือการทำงานเป็นทีมอีกด้วย

Tags: , , , , ,