การเปิดเผยตัวตนของ คริสตอฟ ชารัมซา สร้างแรงสะเทือนให้กับมวลชนคาทอลิก นั่นเพราะเขาเป็นบาทหลวงคนแรกของสำนักวาติกันที่เผยตัวต่อสาธารณชนว่า ตนเองเป็นโฮโมเซ็กชวล

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คริสตอฟ ชารัมซาต้องแอบซ่อนตัวตนที่สอง และต้องรวบรวมความกล้าอยู่นาน กว่าจะออกมาเปิดเผยความลับในเดือนตุลาคม 2015 เรื่องราวของเขากลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก เหตุเพราะเขาคือบาทหลวงนักเทววิทยาคนแรกของสำนักวาติกันที่ออกมายอมรับว่าตนเองเป็นโฮโมเซ็กชวล

“ถึงเวลาแล้วที่คริสตจักรควรจะเปิดตาเปิดใจ ยอมรับผู้ศรัทธาที่เป็นเกย์ว่า ทางออกเดิมที่แนะนำให้ปิดซ่อนชีวิตรักส่วนตัวนั้น มันผิดธรรมชาติมนุษย์” ชารัมซาให้เหตุผล ในการที่เขาออกมาเปิดเผยตัวตนครั้งนั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเอง หากเป็นการกระทำเพื่อคนทั้งหมด เนื่องจากโบสถ์โรมันคาทอลิกปฏิเสธการยอมรับการมีอยู่ของโฮโมเซ็กชวล “บาทหลวงหลายคนเป็นเกย์ ทั้งแบบที่ไม่รู้ว่าโฮโมเซ็กชวลคืออะไร หรือใช้ชีวิตรักกับคู่ครองของตนเอง ในขณะเดียวกันก็มีบาทหลวงอีกหลายคนที่เป็นพวกโฮโมโฟเบีย”

ภายหลังการเปิดตัว บาทหลวงวัย 45 ปีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และถูกปฏิเสธจากคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกทุกสำนัก แต่นั่นไม่สามารถทำให้เขาปิดปากนิ่งเงียบอยู่ต่อไปได้ สองปีถัดมาเขากลับมาออกสื่ออีกครั้ง พร้อมกับผลงานหนังสือ La Primera Piedra (หินก้อนแรก) ที่ไม่เพียงรวบรวมเรื่องราวน่าค้นหาเกี่ยวกับตัวเขา แต่ยังเป็นสาส์นที่เขาต้องการสื่อไปถึงสาธารณชนด้วย

ตราบถึงวันนี้ยังไม่มีปฏิกิริยาตอบรับอย่างเป็นทางการจากสำนักวาติกัน ทว่าการนิ่งเงียบก็เป็นปฏิกิริยาตอบรับอย่างหนึ่ง คริสตอฟ ชารัมซาบอกกับผู้สื่อข่าว เรื่องแย่ที่สุดคือ เวลาที่ใครสักคนพูดถึงความทุกข์ทรมานของเขา โรมันคาทอลิกที่เคร่งครัดมักจะแสดงท่าทีเฉยเมยและธุระไม่ใช่ “เพื่อนร่วมงานเก่าๆ ของผมรู้สึกกลัวด้วยซ้ำกับการอธิบายความเป็นจริง ในขณะที่คนอื่นที่อ่านหนังสือแล้วรู้สึกดี พระคาทอลิกบางคนเขียนจดหมายถึงผม บอกเล่าความทุกข์ใจในโบสถ์คาทอลิกแบบเดียวกันให้ฟัง ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นชัยชนะเหนือความนิ่งเงียบ”

คริสตอฟ โอลาฟ ชารัมซา เกิดเมื่อปี 1972 ในเมืองกดีเนียของโปแลนด์ ระหว่างปี 1991-1997 เขาศึกษาด้านเทววิทยาและปรัชญาในสำนักสงฆ์ที่เปลปลิน ขณะเดียวกันก็ศึกษาในคณะเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยลูกาโน ในสวิตเซอร์แลนด์ ควบคู่ไปด้วย

เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทหลวงในปี 1997 ก่อนเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกรกอเรียนา สำนักพระสันตะปาปา ในกรุงโรม ครั้นสำเร็จออกมาแล้วเขาได้รับบรรจุเข้าสอนในมหาวิทยาลัยเกรกอเรียนา และอะโพสโตโลรุม สำนักพระสันตะปาปา รวมทั้งได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการที่ 2 ของคณะกรรมาธิการเทววิทยาสากล และเป็นสมาชิกชมรมเทววิทยาผู้ปลดปล่อย (หน่วยงานเทียบเท่ากระทรวงของสำนักเลขาธิการแห่งรัฐวาติกัน รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมศรัทธาและจริยธรรมทั่วโลก) แต่ตำแหน่งงานทั้งหมดของเขาสิ้นสุดลงภายหลังการให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ Corriere della Sera ของอิตาลีเกี่ยวกับเพศสภาพของตนเอง

“ผมอยากให้คริสตจักรและคนรอบข้างตัวผมรับรู้ว่า ผมเป็นใคร ผมเป็นบาทหลวงเกย์ที่มีความสุขและภูมิใจในตัวตนของตัวเอง”

คริสตอฟ ชารัมซา และคนรัก ‘เอดูอาร์ด ปลานาส’ ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันมานานหลายปีภายใต้ความกดดัน และเขาเป็นผู้ชายคนเดียวเท่านั้นที่ยืนเคียงข้าง รวมทั้งมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเปิดเผยตัวของชารัมซา “เราทั้งสองคนปฏิเสธที่จะใช้ชีวิตคู่แบบหลบซ่อนเหมือนบาทหลวงมักทำ บาทหลวงจำเป็นต้องมีความกล้าที่จะเปิดเผยว่ามีความรัก ความกล้าของบาทหลวงในการแสดงออกถึงความรัก ไม่ว่าแบบเกย์หรือแบบชาย-หญิง จะช่วยเปลี่ยนคริสตจักร”

ปฏิกิริยาตอบรับในแง่ลบ ชารัมซาเองก็เคยประสบกับตัวเองเช่นกัน ทั้งการข่มขู่จะทำร้าย หรือแม้กระทั่งการขู่ฆ่าผ่านทางเมสเซนเจอร์หรือทวิตเตอร์ “คนที่เชื่อในพระเจ้า แต่ข่มขู่จะเอาชีวิตผู้อื่น เป็นสัญญาณความเสื่อมของศาสนา มันไม่ต่างอะไรกับลัทธินิยมความรุนแรงและความเกลียดชัง ศาสนาที่แท้จริงไม่ใช่อย่างนั้น” ชารัมซาเล่า “ในฐานะนักเขียนและโค้ช ผมบอกได้เลยว่า ความกลัวเป็นสิ่งต้องห้าม ความกลัวทำให้ทุกอย่างชะงักงัน ฉะนั้น จะต้องไม่กลัว”

ตลอดเวลาที่ครองสถานภาพเป็นบาทหลวง คริสตอฟ ชารัมซายอมรับว่า ความเชื่อในคำสอนของตำราโรมันคาทอลิกบังคับให้เขาปฏิเสธทั้งโฮโมเซ็กชวล และตัวตนของเขา ความเชื่อในคาทอลิกสอนให้เขาเกลียดตนเองในความเป็นโฮโมเซ็กชวล

“ที่ผ่านมา สภาวะทางจิตและวิญญาณของผมเหมือนติดคุก ผมไม่สามารถบอกใครๆ ได้เลยว่าผมเป็นเกย์ มันทำให้ผมรู้สึกต่ำต้อย ไร้ค่า เป็นโรคจิต ป่วยในความเป็นโฮโมเซ็กชวลของตัวเอง ถ้าผมยังใช้ชีวิต มีความคิดอ่านเหมือนเดิมต่อไป ผมก็จะรู้สึกละอายใจไปอย่างนั้นตลอดชีวิต” ชารัมซาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ หากแต่เป็นปัญหาเรื่องตัวตน

ทุกวันนี้เขายังครองตัวเป็นโรมันคาทอลิก ด้วยเหตุผลว่า คริสตจักรโรมันคาทอลิกคือครอบครัวและชุมชนของเขา ชารัมซากำลังคิดจะเปลี่ยนแปลงโรมันคาทอลิกให้กลับสู่คริสต์ศาสนาดังเดิม เขาเชื่อว่า การเป็นคริสต์ศาสนิกชนได้จะต้องมีความเข้าใจในมนุษย์ “หากว่าเราจะมองหาพระเจ้า เราต้องค้นหามนุษย์ให้เจอเสียก่อน”

พระสันตะปาปาฟรานซิสเคยกล่าวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับข่าวของคริสตอฟ ชารัมซาว่า เสรีภาพทางความคิดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติ ไม่มีใครควรจำกัดหรือลิดรอนสิทธินั้น

เช่นนี้แล้ว คริสตอฟ ชารัมซา คาทอลิกผู้แม้จะไม่เห็นด้วยกับธรรมเนียมประเพณีของโรมันคาทอลิก ก็ยังนับว่าเป็นคริสตชนที่ดี รวมไปถึงการเป็นมนุษย์ที่ดีคนหนึ่งเช่นกัน

FACT BOX:

การไล่ล่าโฮโมเซ็กชวลเทียบเคียงได้กับการไล่ล่าแม่มด มีข้อแตกต่างกันอย่างเดียวก็คือ โฮโมเซ็กชวลมีอยู่จริง แต่แม่มดไม่มี ในพระธรรมเลวีนิติ (Leviticus) ของโมเสสระบุไว้ว่า ทั้งโฮโมเซ็กชวลและแม่มดควรถูกกำจัด โบสถ์โรมันคาทอลิกประจักษ์มานับร้อยปีแล้วว่า การไล่ล่าแม่มดไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และสมควรแก่เวลาแล้วเช่นกัน ที่จะยอมรับได้ว่า โฮโมเซ็กชวลมีอยู่ในโลกแห่งความจริง

Tags: , , , , , , ,