ไม่ผิดจากความคาดหมายที่ผลการเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา จะเป็นชัยชนะถล่มทลายของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยให้ ชินโซะ อาเบะ กลับมารับตำแหน่งตามเดิม

แม้จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้มีน้อยมาก คือเพียง 53.69 เปอร์เซ็นต์ น้อยเป็นอันดับสองรองจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ที่มี 52.66 เปอร์เซ็นต์ แต่กระนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจหลายอย่าง

ภาพบรรยากาศการเลือกตั้งเมื่อ 22 ต.ค. 2017

ยุบสภาเพื่อต่ออายุทางการเมือง

แม้ไม่มีใครระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าอะไรทำให้นายกรัฐมนตรีอาเบะตัดสินใจยุบสภา คาดการณ์กันว่าเป็นเพราะอาเบะกำลังมีคะแนนนิยมที่ดีขึ้น (แม้ไม่สามารถเทียบได้กับสมัยที่มีคะแนนนิยมสูงที่สุดก็ตาม) แต่อาเบะกำลังจะหมดวาระในฐานะหัวหน้าพรรคในปีหน้า ซึ่งพรรคเสรีประชาธิปไตยก็ต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และจะเป็นการต่อสู้กันเองที่รุนแรงมาก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ร้อนระอุขึ้นจากท่าทีของเกาหลีเหนือที่คุกคามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ยังสอดรับกับความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนมาอนุญาตให้ญี่ปุ่นมีกองทัพเพื่อรบได้ โดยใช้การเลือกตั้งใหม่มาเขย่าขั้วการเมืองเพื่อเพิ่มเสียงในสภา

นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของอาเบะที่จะใช้ประโยชน์จากภาวะภัยด้านความมั่นคงของการเมืองระหว่างประเทศ และใช้โอกาสที่คะแนนนิยมกำลังกระเตื้องขึ้น เร่งจัดการเลือกตั้งเพื่อต่ออายุรัฐบาลตัวเองและต่ออายุตำแหน่งของหัวหน้าพรรคไปพร้อมๆ กัน เพราะหากรอจนถึงปีหน้า สถานการณ์ต่างๆ ก็อาจจะอ่อนไหวเกินไปและไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ชินโซะ อาเบะ และสมาชิกพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย

การตั้งพรรคใหม่ใช้อุดมการณ์เป็นหลัก ผลประโยชน์เป็นรอง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองเกิดใหม่เป็นพรรคขนาดกลางสองพรรค คือ ‘พรรคแห่งความหวัง’ ของยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ที่ในขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว และ ‘พรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ’ ที่แตกออกมาจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

ยูริโกะ โคอิเกะ จากพรรคแห่งความหวัง

ทางด้านพรรคแห่งความหวัง แม้สมาชิกจำนวนหนึ่งเพิ่งมาเข้าร่วมลงสนามการเมืองกับโคอิเกะเป็นครั้งแรก แต่สมาชิกพรรคส่วนใหญ่เคยอยู่พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยของนายอาเบะมาก่อน บางส่วนย้ายมาจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า รวมถึงหัวหน้าพรรคอย่าง เซย์จิ มาเอฮาระ ซึ่งเป็นนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมด้วย

เมื่อหัวหน้าพรรคอย่างมาเอฮาระไปอยู่ร่วมพรรคกับโคอิเกะ นักการเมืองในปีกเสรีนิยมของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของโคอิเกะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าทีของเธอที่มีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ว่าด้วยการห้ามมีกองทัพ และบทบาทของกองกำลังป้องกันตัวเองของญี่ปุ่น จึงออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ กลายเป็น ‘พรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ’ ที่นำโดยยูกิโอะ เอดาโนะ

ยูกิโอะ เอดาโนะ จากพรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ

หากไม่นับพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยและพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นที่เป็นพรรคเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคการเมืองอื่นๆ ในญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นแล้วล้มลงไปเหมือนพืชล้มลุก มีพรรคเกิดใหม่และหายไปในการเลือกตั้งแทบจะทุกครั้ง

แต่ถึงกระนั้นการเกิดใหม่ของพรรคการเมืองทั้งสองพรรคนี้ก็ถือเป็นมิติใหม่ในการเมืองญี่ปุ่น คือเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ชัดเจน หากย้อนดูพรรคการเมืองเกิดใหม่ในอดีตก็จะเห็นได้ว่า พรรคเหล่านั้นไม่มีอุดมการณ์ชัด เป็นเพียงการรวมกลุ่มทางผลประโยชน์เสียเป็นส่วนมาก

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น พรรคการเมืองในอดีตที่ในต่อมากลายเป็นพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่นเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวระหว่างพรรคเล็กพรรคน้อยและอดีตนักการเมืองของพรรคเสรีประชาธิปไตย กลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่สามารถเอาชนะพรรคเสรีประชาธิปไตยได้ในการเลือกตั้งปี 2552 แต่ก็มีการต่อสู้กันเองภายในพรรคที่รุนแรงมาก เพราะพรรคการเมืองนี้มีลักษณะเป็น Big Tent ที่เน้นการรวมจำนวน ส.ส. ให้ได้มากที่สุด โดยไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน ไม่มีการนำที่ชัดเจนภายในพรรค สุดท้ายก็จบลงด้วยความพินาศ แพ้เลือกตั้งอย่างยับเยินในการเลือกตั้งปี 2555 แล้วก็ไปรวมกับพรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น กลายเป็นพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ต่างออกไป เพราะพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาใหม่ทั้งสองพรรคนั้น เป็นการตกผลึกของอุดมการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างชัดเจนกว่าแต่ก่อน พรรคแห่งความหวังชูธงอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบอ่อน ส่วนพรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญนั้นก็ชูธงแนวคิดแบบเสรีนิยมและความเป็นหัวก้าวหน้าที่ชัดเจน

ศึก 3 เส้า พรรคการเมืองญี่ปุ่น

การเลือกตั้งครั้งนี้สามารถแบ่งอุดมการณ์ของพรรคการเมืองได้เป็นสามขั้ว

ขั้วแรกคือกลุ่มอนุรักษ์นิยมอำนาจเก่า ประกอบไปด้วยพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยและพรรคโคเมย์โต พรรคที่ตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มศาสนาสมาคมสร้างคุณค่า (หรือ โซกะ กักไก – ปัจจุบันทางพรรคปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงกับกลุ่มศาสนานี้แล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้สนับสนุนพรรคฯ กลุ่มใหญ่ก็คือผู้ที่ศรัทธาในกลุ่มศาสนานี้) และเป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่นของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีเคย์โซ โอบุจิ ในปี 2543 จวบจนถึงปัจจุบัน

แนวคิดของขั้วนี้คือการรักษาเอาไว้ซึ่งสภาวะดั้งเดิมที่เป็นอยู่ และดำเนินนโยบายตามแนวทางของ ‘อาเบะโนมิกส์’ (Abenomics) ต่อไป มีแนวคิดหลักทางเศรษฐกิจเป็นเชิงตลาดเสรีนิยมใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ต้องการจะเปิดเสรีธุรกิจให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเอามาใช้จ่ายในรัฐสวัสดิการต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา การพยาบาล และการรับมือกับสังคมสูงอายุที่มีจำนวนประชากรวัยทำงานและประชากรรวมถดถอยลงเรื่อย ๆ รวมถึงมีแนวคิดทางสังคมเชิงอนุรักษ์นิยม ต้องการกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานไฟฟ้าหลักอีกครั้ง และมีแนวคิดทางความมั่นคงในเชิงรุก ต้องการที่จะแก้ไขมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ

หากไม่นับพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยและพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นที่เป็นพรรคเก่าแก่ พรรคการเมืองอื่นๆ ในญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นแล้วล้มลงไปเหมือนพืชล้มลุก

ขั้วที่สองคือพรรคแห่งความหวังของโคอิเกะ ที่นำเสนอตัวเองมาเป็นผู้คานอำนาจ ชินโซะ อาเบะ ว่าเป็นกลุ่มการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ หัวหน้าพรรคเคยแต่งชุดคอสเพลย์ ใส่ใจธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อม ต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งไม่เชื่อในแนวทางของอาเบะโนมิกส์ เธอไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้ให้คำตอบว่าจะใช้งบประมาณส่วนไหนมาใช้จ่ายในรัฐสวัสดิการ ในทางกลับกัน นโยบายด้านความมั่นคงและความอนุรักษ์นิยมในเชิงของชาตินั้นกลับมีจุดยืนที่ไม่แตกต่างอะไรจากขั้วของพรรคเสรีประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มนักการเมืองที่สนับสนุนให้ไปเคารพศาลเจ้ายาสุกุนิ ที่เป็นสถานที่บูชาวิญญาณของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงคราม ซึ่งรวมถึงอาชญากรสงครามระดับเอของญี่ปุ่น ตัวเธอเองเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของอาเบะมาก่อนแม้จะดำรงตำแหน่งอยู่แค่เพียง 57 วันก็ตาม เธอยังสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 9 อีกด้วย

ขั้วที่สาม คือปีกเสรีนิยมในรัฐสภาญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยพรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย และพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น พรรคที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้คือพรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นนั้นเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ลงเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย มีแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการเลือกตั้ง ไม่ใช่การจับอาวุธ

ในขั้วนี้มีจุดร่วมกันที่ชัดเจนมากคือเรื่องการเคารพสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เช่น เคารพเพศสภาพของแต่ละบุคคล และเป็นขั้วการเมืองเดียวที่ชูประเด็นนี้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างสุดตัว ทางด้านเศรษฐกิจนั้นก็ต่อต้านอาเบะโนมิกส์อย่างจริงจัง ต่อต้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อต้านการเพิ่มเสรีแก่อำนาจทุน ได้รับการสนับสนุนจากสมาพันธ์เครือข่ายสหภาพแรงงานญี่ปุ่น รวมถึงสนับสนุนการชำระประวัติศาสตร์สงครามของญี่ปุ่น ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ในปีกนี้จับมือเล่นกันในระดับที่ว่า ถ้าเขตใดมีผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคในกลุ่มแล้ว พรรคที่อยู่ในพันธมิตรจะไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งลงไปแข่งด้วย

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีพรรคขนาดเล็กเหลือรอดอยู่อีกหนึ่งพรรค ชื่อว่าพรรคฟื้นฟูญี่ปุ่น ที่เป็นพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมท้องถิ่นของโอซาก้า

รัฐธรรมนูญมาตรา 9 กับดุลยภาพทางความมั่นคงของเอเชียตะวันออก

รัฐธรรมนูญมาตรา 9 ของญี่ปุ่นมีใจความว่า ญี่ปุ่นปฏิเสธการใช้สงครามแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศและปฏิเสธการมีกองทัพที่สามารถไปรุกรานประเทศอื่นได้ ทำให้ญี่ปุ่นมีได้แต่เพียงกองกำลังป้องกันตนเอง ทำได้แต่การป้องกันอำนาจอธิปไตยของประเทศในกรณีเป็นฝ่ายโดนบุกเท่านั้น รวมถึงไม่สามารถส่งกองกำลังป้องกันตัวเองไปร่วมรบกับประเทศอื่นทำได้แต่เพียงรักษาความสงบภายใน (peace keeping) เท่านั้น

พรรคเสรีประชาธิปไตยต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 นี้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ จุนอิจิโร่ โคอิซูมิ เพราะมาตรา นี้ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถดำเนินการป้องกันเชิงรุกได้ไม่สามารถไปร่วมรบในฐานะชาติพันธมิตรได้ รวมถึงหากมีสงครามเกิดขึ้นกับชาติพันธมิตรของญี่ปุ่น กองกําลังป้องกันตนเองก็ไม่สามารถสนับสนุนทางการรบได้เช่นกัน

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงมองว่ามาตรา 9 นี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยทางความมั่นคง แต่ที่ผ่านมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นนั้นแทบไม่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะการจะยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียงสนับสนุนของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมกันให้ถึงสองในสามของทั้งสองสภา ซึ่งในอดีต แม้พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยจะเป็นรัฐบาลต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ปี 2498 จวบจนปัจจุบันก็ตาม (แพ้การเลือกตั้งเพียงสองครั้งเท่านั้นในปี 2536 และ 2552) ก็ยังไม่สามารถรวมเสียงสองในสามของทั้งสองสภาได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดไว้ว่าเมื่อญัตติผ่านสภาแล้วต้องให้ประชาชนลงประชามติรองรับอีกที ทำให้ไม่เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลยนับตั้งแต่ประกาศใช้ในปี 2490

รัฐธรรมนูญมาตรา 9 ของญี่ปุ่นมีใจความว่า ญี่ปุ่นปฏิเสธการใช้สงครามแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศและปฏิเสธการมีกองทัพที่สามารถไปรุกรานประเทศอื่นได้

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เสียงของนักการเมืองที่มาจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 9 รวมแล้วมีจำนวนเกินสองในสามของทั้งสองสภา จึงเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นกำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ถ้าอาเบะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ได้ก็จะทำให้สถานะของญี่ปุ่น ประเทศซึ่งมีงบประมาณทางการทหารเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชียและอันดับที่ 8 ของโลกสามารถส่งกองทัพเข้าไปร่วมรบกับชาติพันธมิตรของตนเองได้ นั่นคือ หากเกิดการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศใดก็ตามในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือเกาหลีเหนือญี่ปุ่นจะสามารถส่งกองกำลังไปร่วมรบกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งจะเป็นการฟื้นแผลเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังไม่ได้รับการชำระประวัติศาสตร์สำหรับชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกที่ญี่ปุ่นเคยไปรุกราน และทำให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วมีความเปราะบางยิ่งขึ้น เพราะเป็นการประกาศโดยนัยยะว่าญี่ปุ่นพร้อมใช้นโยบายเผชิญหน้าทางการทหารแล้ว และอาเบะก็ประกาศชัดแล้วว่าจะเดินหน้าหาทางแก้ไขมาตรา 9 นี้ให้ได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามแม้สภาจะผ่านญัตตินี้ สุดท้ายก็ยังต้องส่งต่อให้ประชาชนตัดสินใจผ่านการลงประชามติอีกทีหนึ่ง ว่าจะรับหรือไม่รับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถึงแม้พรรคเสรีประชาธิปไตยจะสามารถกุมชัยชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จได้ในการเลือกตั้ง แต่ความคิดเห็นทางสาธารณะของประชาชนก็ยังมีความคลุมเครือ ดังที่สำนักข่าวเอ็นเอชเครายงานว่าประชาชน 32 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยให้แก้รัฐธรรมนูญ อีก 21 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วย และอีก 39 เปอร์เซ็นต์ตอบว่า ‘ไม่แน่ใจ’

Tags: , , , , ,