อิสต์วาน เดวิด (Istvan David) ศิลปินชาวฮังกาเรียนจากเมืองบูดาเปสต์ สารภาพกับเราว่า จริงๆ แล้วเขามักจะเขินทุกครั้งที่มีสื่อมาสัมภาษณ์ แต่เพราะทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์ เขาจะได้พูดถึงเรื่องแสง ซึ่งเป็นเรื่องที่เขา ‘อิน’ กับมันมากๆ จึงทำให้เขาสนุกกับการพูดคุยไปโดยปริยาย

และความชอบในเรื่องแสงนี้เองที่ทำให้เขากับ วิกเตอร์ วิกเซก (Viktor Vicsek) ที่เป็นทั้งโปรแกรมเมอร์และศิลปิน รวมตัวกันในนาม Limelight เมื่อปี 2006 เพื่อรับงานวิดีโอโปรเจ็กชัน ทั้งในฮังการีและประเทศอื่นๆ ก่อนที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะขยายขอบเขตความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขามาถึงงานวิดีโอโปรเจ็กชันแบบสามมิติ หรือ 3D Projection Mapping ที่เป็นส่วนผสมระหว่างแอนิเมชัน แสง สี เสียง และที่สำคัญคือ สถาปัตยกรรม ซึ่งพวกเขาใช้แทนจอโปรเจ็กเตอร์ขนาดยักษ์

ผลงานของ Limelight นำพวกเขาไปยังหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จุดหมายปลายทางล่าสุด โดยเดวิดและทีมงาน Limelight เดินทางมายังกรุงเทพฯ พร้อมกับงาน 3D Projection Mapping ที่ชื่อ ‘Beautiful Bangkok’ ซึ่งเป็นการแสดงแสงสีเสียงสามมิติ โดยมีฉากหลังเป็นตึกแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอร์วาร์ด ตึกสูง 60 ชั้นใจกลางกรุงเทพฯ ที่ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากกลีบดอกแมกโนเลีย

ในยุโรป งานของกลุ่ม Limelight ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เรียกได้ว่าพวกเขาคือ ‘ตัวพ่อ’ ของวงการ 3D Projection Mapping แต่สำหรับในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว นี่คือครั้งแรกของ Limelight ที่ได้จัดแสดงงานศิลปะประเภทนี้

โปรเจ็กต์นี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไร

ถ้านับจากช่วงที่เราเริ่มลงมือทำงานจริงๆ คือเมื่อประมาณสองเดือนก่อน ซึ่งทุกครั้งที่ทำงาน เราจะเริ่มต้นจากการเดินทางไปยังสถานที่จริงก่อน ไม่ว่าจะเป็นเมืองไหนในโลกก็ตาม เพราะเวลาคิดงานแต่ละครั้ง เราจะพยายามนำเอาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย เราถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะคิดงานเพื่อคนดูมากกว่าเพื่อทีมเราเอง ตัวงานที่ Limelight ทำกันมันอาจจะต่างจากศิลปะแขนงอื่นอยู่บ้าง ยกตัวอย่างงานดนตรี ที่ไม่ว่าจะเล่นที่ไหน นักดนตรีก็จะเล่นด้วยเพลงที่แต่งไว้แล้ว แต่สำหรับงานของ Limelight  ที่ใช้อาคารต่างๆ เป็นฉาก เราจะนำความแตกต่างของแต่ละที่มาเป็นส่วนหนึ่งของงาน แล้วสร้างสมดุลระหว่างตัวสถาปัตยกรรม แสง สี เสียงที่เราใช้ และข้อความที่เราต้องการสื่อ

ความแตกต่างของแต่ละตึก แต่ละเมืองที่เราไป คือสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับชิ้นงานของเรา ในขณะเดียวกัน เราก็หวังว่าผลงานที่ทำขึ้นก็จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่ได้เห็นด้วย

 

ดนตรีซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในงาน 3D Projection Mapping นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเลือกจากเพลงที่มีอยู่แล้วหรือแต่งขึ้นใหม่

เราใช้วิธีแต่งเพลงขึ้นใหม่สำหรับแต่ละงาน ซึ่งสำหรับโปรเจ็กต์ Beautiful Bangkok ที่คนจะมองเห็นงานได้จากหลายๆ จุดเพราะเป็นการฉายแสงสีเสียงบนตึก 60 ชั้น ทำให้นอกเหนือจากการแต่งเพลงที่เหมาะแล้ว เรายังต้องคิดเพิ่มอีกชั้นว่า จะต้องสร้างงานที่คนสามารถสนุกกับมันได้ ไม่ว่าจะได้ยินเสียงดนตรีประกอบหรือไม่ก็ตาม

เวลาคิดงานแต่ละครั้ง เราจะพยายามนำเอาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย เราถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะคิดงานเพื่อคนดูมากกว่าเพื่อทีมเราเอง

ไอเดียของ Beautiful Bangkok มาจากอะไรบ้าง

อย่างที่เล่าให้ฟังว่าเรามาเมืองไทยกันเมื่อสองเดือนก่อน เพื่อที่จะซึมซับบรรยากาศของกรุงเทพฯ และวัฒนธรรมไทย ที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์ขึ้นมาได้ แล้วสิ่งหนึ่งที่เราชอบกันมากคือความเป็นเมือง 24 ชั่วโมงของกรุงเทพฯ และสีสันที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ตอนเช้าที่พระอาทิตย์ขึ้น คนเริ่มออกจากบ้านไปทำงาน หน้าตาของกรุงเทพฯ ในสายตาเราก็เป็นแบบหนึ่ง ตกเย็นพอพระอาทิตย์ตก กรุงเทพฯ ก็มีหน้าตาเปลี่ยนไปอีกแบบ

อีกสิ่งที่เราประทับใจมากคือวิถีชีวิตของคนที่ผูกพันกับสายน้ำ ภาพของคนส่วนหนึ่งที่เดินทางด้วยเรือเป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่า ถึงแม้กรุงเทพฯ จะมีความเป็นเมืองสูงมาก แต่ก็ยังมีส่วนที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติ และนั่นคือข้อความที่เราอยากสื่อสาร ไม่ใช่แค่เฉพาะกับคนดูงานนี้ในไทย แต่กับคนในโลกตะวันตกด้วย เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ควรจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติมากกว่าใช้ชีวิตโดยไม่สนว่าจะทำลายธรรมชาติมากแค่ไหนและนำมาซึ่งจุดจบในที่สุด

ตอนที่เดินทางมาเพื่อเก็บข้อมูลเมื่อ 2 เดือนก่อน คุณรู้ได้อย่างไรว่าควรจะเดินทางไปที่ไหนในกรุงเทพฯ บ้าง

นอกจากการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เรายังได้คำแนะนำจากคนกรุงเทพฯ เองนี่ล่ะ ซึ่งต้องบอกว่าหลายครั้งเป็นคำแนะนำที่มาในเวลาที่พวกเรากำลังเดินงงๆ กันอยู่ ไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อดี ทุกครั้งที่เป็นแบบนั้นก็จะมีคนเดินเข้ามาถามว่าเราจะไปไหน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับที่ที่เราอยากไปหรือควรไป ซึ่งความมีน้ำใจของคนที่ได้เจอทำให้พวกเราทุกคนประทับใจมาก และกลายเป็นเรื่องยากอย่างหนึ่งในการคิดงาน เพราะเราอยากจะถ่ายทอดความใจดีของคนไทยที่เราเจอให้อยู่ในผลงานครั้งนี้ด้วย

 

สิ่งหนึ่งที่เราชอบกันมากคือความเป็นเมือง 24 ชั่วโมงของกรุงเทพฯ และสีสันที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ตอนเช้าที่พระอาทิตย์ขึ้น คนเริ่มออกจากบ้านไปทำงาน หน้าตาของกรุงเทพฯ ในสายตาเราก็เป็นแบบหนึ่ง ตกเย็นพอพระอาทิตย์ตก กรุงเทพฯ ก็มีหน้าตาเปลี่ยนไปอีกแบบ

ธรรมชาติของงานแสดงแสง สี เสียงจะต่างจากงานศิลปะประเภทอื่นๆ ตรงที่เป็นงานศิลปะที่มีให้เห็นแค่ชั่วคราว ณ เวลาจัดงานเท่านั้น และบางครั้งก็มีเพียงครั้งเดียวด้วยซ้ำไป เวลาคุณนึกถึงงานของตัวเองที่ผ่านไปแล้ว คุณทำอย่างไร

ถ้านึกถึงก็ดูวิดีโอที่เคยถ่ายไว้ แต่เรื่องถ่ายวิดีโอนี่ก็มีประเด็นเหมือนกันนะ เพราะมันมีผลต่อวิธีการเสพงานของคนยุคนี้ ซึ่งก็คงคล้ายๆ กับที่เวลาไปดูคอนเสิร์ตเดี๋ยวนี้แล้วก็จะเห็นคนยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายวิดีโอกันเต็มไปหมด งานของพวกเราก็เหมือนกัน คือเราเองก็เข้าใจว่าหลายๆ คนเวลาเจออะไรที่ประทับใจก็อยากจะถ่ายวิดีโอเก็บไว้ แต่ลองคิดดูสิว่า คุณกำลังดูงานศิลปะที่มีฉากหลังเป็นตึก 60 ชั้นนะ การที่คุณเลือกมองผ่านจอโทรศัพท์ มันเหมือนกับว่าคุณเสพงานศิลปะ 99 เปอร์เซ็นต์ผ่านหน้าจอ ซึ่งถึงมันจะถูกพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็ยังเทียบไม่ได้กับการมองของจริง

เพราะฉะนั้นเวลาแสดงงาน เราจะรู้สึกว่ามันมีคุณค่ากับคนทำงานมาก เวลาได้เห็นคนดูบางคนที่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายวิดีโอในตอนแรก แล้วสุดท้ายก็เลือกที่จะเก็บโทรศัพท์ลงไป แล้วดื่มด่ำกับภาพจริงที่อยู่ตรงหน้าแทน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน

แสดงว่าเวลาแสดงงาน คุณและทีม Limelight คนอื่นๆ จะชอบไปยืนปะปนอยู่กับคนดู

แน่นอน โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการได้อยู่ท่ามกลางคนดูคือวิธีที่ดีที่สุดที่เราจะได้รู้ฟีดแบ็กจากงานของเรา การไปอยู่ ณ จุดนั้นมันสนุกอีกอย่างตรงที่เราได้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมแต่ละที่ด้วย อย่างเช่นเวลาเราไปแสดงงานในแถบสเปน อิตาลี กรีซ หรือประเทศยุโรปแถบเมดิเตอร์เรเนียน คนในประเทศโซนนั้นจะแสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผย เวลาเขาเห็นงานแล้วชอบ เขาก็จะเป็นแบบ “เฮ้ย…เจ๋งว่ะ!” ซึ่งในฐานะคนทำงาน เราก็ได้รับรู้ฟีดแบ็กในทันที

ในขณะที่บางประเทศอย่างยุโรปทางเหนือ คนแถบนั้นจะไม่คุ้นเคยกับการแสดงออกแบบเปิดเผยมากเท่าไร ยังจำได้เลยว่าตอนที่เราจัดโชว์ในแถบนั้นครั้งแรก คนดูนิ่งมากจนเรากังวลกันว่าเขาคงไม่ชอบงานของพวกเราแน่ๆ แต่พอเขาค่อยๆ เดินเข้ามาบอกเราว่า งานสวยมาก ประทับใจมาก เราถึงค่อยโล่งและทำความเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ทำให้คนมีปฏิกิริยาต่างกันออกไปด้วย

อีกเหตุผลหนึ่งที่เราชอบไปยืนดูงานของตัวเองกันเพราะว่า ด้วยลักษณะงานของพวกเราแล้ว เมื่อมาถึงวันแสดงงาน มันเหมือนกับว่างานส่วนใหญ่ได้เสร็จสิ้นแล้ว เพราะความยากและเวลาที่ใช้ส่วนใหญ่จะหมดไปกับช่วงคิดงาน เตรียมงาน เพราะฉะนั้นในช่วงที่เป็นโชว์ของงานจึงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราได้ชื่นชมผลงานของเราเองด้วย เพราะตามปกติเรามักจะต้องออกเดินทางในวันรุ่งขึ้นหลังจากเปิดแสดงงานวันแรก เพื่อเดินหน้าทำโปรเจกต์อื่นต่อไป

 

ในแต่ละปี Limelight มีโปรเจกต์นำงานไปแสดงตามที่ต่างๆ มากกว่า 10 งานต่อปี และมากถึง 20 งานในบางปี ทีมของคุณมีวิธีหาแรงบันดาลใจและเติมไอเดียในการคิดงานให้กับตัวเองอย่างไรบ้าง

เราเป็นกลุ่มศิลปิน เพราะฉะนั้นแรงบันดาลใจของแต่ละคนก็อาจจะมีที่มาแตกต่างกัน การรวมตัวแบบนี้จึงมีข้อดีตรงที่มันไม่ใช่งานของคนเพียงคนเดียว ที่มีเพียงแค่สไตล์เดียวหรือมุมมองเดียว เมื่อเรามีกันหลายคน ความเป็นทีมเวิร์กทำให้เราได้เห็นความชอบและรสนิยมที่แตกต่างกัน ทำให้เราได้เรียนรู้ระหว่างกันด้วย

สมาชิกใหม่ๆ ของเราบางคนก็เป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ อย่างโปรเจกต์ Beautiful Bangkok คนที่เป็นดีไซเนอร์หลักของงานอายุแค่ 26 ปีเท่านั้น มุมมองในการทำงานของเขาก็จะไม่ซ้ำกับคนอื่นๆ เพราะฉะนั้นในความเป็นกลุ่มเป็นทีม เราก็จะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาเติมตลอด ทำให้เราไม่จำกัดอยู่กับสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง และพร้อมที่จะทดลองแนวทางใหม่เสมอ เพราะในทุกงานเราพยายามที่จะค้นหาสไตล์ที่เหมาะกับแต่ละตึก แต่ละงาน

 นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการมอบโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจงานด้านนี้ด้วย เนื่องจากงาน Projection Mapping นั้นมีทั้งส่วนที่สามารถศึกษาหาความรู้จากการเรียนได้ บวกกับส่วนที่เรียนรู้ได้จากการลงมือทำจริง ตอนนี้เรามีสมาชิกในทีม 2 คนที่สอนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัยที่บูดาเปสต์ ซึ่งเป็นที่แรกที่เปิดสอนวิชา Projection Mapping เพราะฉะนั้นเราก็เลยมีช่องทางในการเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้เรื่องนี้
มันมีคำพูดที่ว่า เด็กรุ่นหลังเติบโตขึ้นมาในยุคที่ไม่ว่าจะทำอะไร ก็มีแอปพลิชันรองรับไปเสียหมดทุกเรื่อง แต่อย่าลืมว่าถ้าเป็นเรื่อง Projection Mapping แล้ว ยังไม่มีแอปพลิเคชันที่ทำได้นะ

เราจะรู้สึกว่ามันมีคุณค่ากับคนทำงานมาก เวลาได้เห็นคนดูบางคนที่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายวิดีโอในตอนแรก แล้วสุดท้ายก็เลือกที่จะเก็บโทรศัพท์ลงไป แล้วดื่มด่ำกับภาพจริงที่อยู่ตรงหน้าแทน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา อะไรที่ทำให้คุณหลงใหลในเรื่องแสงมาจนถึงทุกวันนี้

ในแง่ของคนทำงานศิลปินแล้ว แสงเป็นเครื่องมือที่ดีในการใช้ถ่ายทอดความรู้สึกของเราผ่านผลงาน แต่สำหรับผมแล้ว มันยิ่งไปกว่านั้น เพราะแสงคือทุกสิ่ง

ลองนึกดูสิว่า เราตื่นมาตอนเช้าก็เจอกับแสงสว่างที่นำชีวิตชีวามาให้ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าแสงจากดวงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคย เราจึงไม่ค่อยได้ย้อนนึกถึงความสำคัญหรือความหมายของมันกันสักเท่าไร ทั้งที่พอมาคิดดูแล้ว ถ้าไม่มีแสง เราก็ไม่มีธรรมชาติ เพราะฉะนั้นแสงคือส่วนสำคัญของทุกชีวิตบนโลก

 

 

FACT BOX:

การแสดงชุด Beautiful Bangkok จะจัดขึ้นทุกวัน ตั้งแต่ 14-31 ธันวาคม 2560 เวลา 19.00 น., 19.15 น., 19.30 น., 19.45 น. และ 20.00 น. นอกจากนี้ ยังมีโชว์พิเศษสำหรับวันที่ 25 ธันวาคม 2560 โดยเฉพาะ และมีการเพิ่มรอบพิเศษ เวลา 23.55 น. ของคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ด้วย