เป็นที่รู้กันในวงการพิพิธภัณฑ์ว่าวันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์สากล ซึ่งชาวพิพิธภัณฑ์ในหลายๆ ประเทศจะจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองวันสำคัญนี้

วันพิพิธภัณฑ์สากลถูกสถาปนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1977 โดยสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ (International Council of Museum: ICOM) สถาบันสำคัญที่กำหนดนิยาม สร้างความรู้ สร้างเครือข่าย/ชุมชนพิพิธภัณฑ์นานาชาติ ให้คนต่างชาติต่างภาษา ต่างประเภทพิพิธภัณฑ์ ได้มาแลกเปลี่ยนสัมพันธ์กันในเวทีโลก

เป้าหมายของการกำหนดวันพิพิธภัณฑ์สากลคือการสร้างความตระหนักให้สังคมเห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การสร้างความเข้าใจร่วมกัน การสร้างความร่วมมือและก่อให้เกิดสันติภาพระหว่างประชาชน โดยแต่ละปี ICOM จะกำหนดประเด็นร่วม และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักรู้แก่สังคม ด้วยการจัดกิจกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว ตัวอย่างหัวข้อของวันพิพิธภัณฑ์สากลในอดีต ได้แก่

Museum and Cultural Landscape: ในปี 2016 ICOM กระตุ้นให้พิพิธภัณฑ์มองความรับผิดชอบของตนทางด้านภูมิทัศน์ ทั้งในมิติทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง และส่งผลกระทบต่อผู้คน พิพิธภัณฑ์จึงควรมีบทบาทแข็งขันในการใช้ความรู้และความชำนาญของตน เพื่อปกป้องรักษา จุดประกาย จัดการมรดกวัฒนธรรม ทั้งที่มีรูปและไร้รูป อย่างทันการณ์กับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

Museum for a Sustainable Society: ประเด็นร่วมสำหรับปี 2015 ที่เกิดจากการเล็งเห็นถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในการกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อโลก ให้มนุษย์ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และใช้อย่างเคารพต่อระบบนิเวศมากขึ้น โดย ICOM เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ควรเป็นหนึ่งในองค์กรแถวหน้าสำหรับขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง เราสามารถส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างโมเดลการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจใหม่ๆ ผ่านพิพิธภัณฑ์ได้

Museum Collections Make Connections: ในปี 2014 ICOM เน้นที่ใจกลางของความเป็นพิพิธภัณฑ์ นั่นคือเรื่องวัตถุ ด้วยการตั้งคำถามว่า นอกเหนือจากบทบาทของการเก็บ อนุรักษ์ จัดแสดง พิพิธภัณฑ์ในฐานะองค์กรมีชีวิตที่เคลื่อนไปพร้อมกับสังคม จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกลุ่มต่างๆ ผ่านวัตถุสะสมได้อย่างไรบ้าง ตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจในปีนั้น ได้แก่ การทำโครงการในอินสตาแกรมของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เชิญให้คนถ่ายภาพวัตถุที่มีความหมายต่อพวกเขา เขียนคำบรรยายสั้นๆ แล้วโพสต์ผ่านอินสตาแกรม และพิพิธภัณฑ์นำภาพเหล่านั้นมาสร้างงาน collage และจัดแสดงในวันพิพิธภัณฑ์สากล

จะเห็นได้ว่าประเด็นของแต่ละปีล้วนสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมร่วมสมัย การกระตุ้นให้พิพิธภัณฑ์หันมาทำกิจกรรมกับสังคมในประเด็นเหล่านี้ แสดงถึงความพยายามที่จะผลักดันพิพิธภัณฑ์ให้ก้าวจากพื้นที่ปลอดภัยเดิมๆ ของตัวเอง ออกมาสำรวจโลก และสร้างจุดเชื่อมโยงระหว่างพิพิธภัณฑ์และโลกนอกพิพิธภัณฑ์มากขึ้น

สาระของวันพิพิธภัณฑ์สากลจึงไม่ใช่การเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อจะย้ำยืนว่าตนอยู่ในชุมชนพิพิธภัณฑ์สากล ดังที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ แต่ควรเป็นโอกาสที่พิพิธภัณฑ์จะหันกลับมาสำรวจตนเองว่าคิด เห็น และมีจุดยืนอย่างไร ต่อประเด็นร่วมสมัยที่เป็นหัวข้อของปีนั้นๆ

สำหรับสังคมไทยในห้วงเวลานี้ พิพิธภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบและกล้าหาญพอ

อาจต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เกินกรอบวิธีการและเครื่องมือปกติ

เพื่อจะพูดถึงข้อเท็จจริงบางอย่าง และบางทีการเลือกอยู่สงบๆ สบายๆ ในพื้นที่ปลอดภัยคุ้นชิน ก็อาจเป็นหนทางที่เหมาะสำหรับการอยู่รอด

Museums and Contested Histories: Saying the Unspeakable in Museums

ในปี 2017 นี้ ICOM ผลักดันให้พิพิธภัณฑ์คิดถึงบทบาทของตนเองในการส่งเสริมสันติภาพระหว่างผู้คน ผ่านการพูดถึงประวัติศาสตร์ที่อาจจะเป็นเรื่องพูดยาก เรื่องที่เป็นบาดแผลของสังคม เรื่องที่สังคมมีความเห็นไม่ลงรอยกัน การพูดถึงเรื่องที่พูดไม่ได้และพูดจากหลายๆ มุมมองนี้เอง จะเป็นหมุดหมายสำคัญของความสมานฉันท์และการสร้างอนาคตร่วมกัน

หลักการนี้อาจดูใหญ่โตและเป็นเหมือนกับดักในตัวเอง ก็ถ้ามันเป็น ‘เรื่องที่พูดไม่ได้’ แล้วจะ ‘พูด’ มันได้อย่างไร? สังคมไทยวันนี้จะมีพื้นที่ใดเหลือให้ปลุกสร้างความหวัง จากกับดักของคำว่า ‘พูดไม่ได้’

บางทีเราอาจทำได้ด้วยการมองให้เห็น ‘เฉด’ ของเรื่อง ว่ามีตั้งแต่เรื่องที่พูดไม่ได้เด็ดขาด เรื่องที่พูดแล้วจะสะกิดแผลเก่า เรื่องที่ชวนอึดอัดใจ น้ำท่วมปาก หรือเป็นประวัติศาสตร์บาดใจ อิหลักอิเหลื่อที่จะเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพราะสังคมยัง ‘ไม่จบ’ กับเรื่องนั้น อย่างกรณี 2475 หรือเรื่องที่คงไม่มีวันเดินไปถึงปากประตูพิพิธภัณฑ์ได้เลย เช่น เรื่องความรุนแรง หรือประวัติศาสตร์ของประชาชน บางเรื่องอาจไม่ได้อ่อนไหวอันตรายขนาดนั้น เพียงแต่เราไม่เห็นความจำเป็นที่จะพูดถึง ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่การเห็นเฉดอันแตกต่างจากเรื่องที่พูดไม่ได้จนถึงเรื่องที่ไม่ได้พูดนี้เอง น่าจะช่วยให้เราสามารถหาวิธีที่จะพูดถึงมันได้มากขึ้น

มีวิธีมากมายที่จะช่วยให้พิพิธภัณฑ์พูดถึงเรื่องพูดยากให้ฟังได้ง่ายเข้า อย่างง่ายที่สุด พิพิธภัณฑ์สามารถสำรวจและพูดถึงข้อจำกัดและความสามารถในการเล่าเรื่องที่เล่ายากในพิพิธภัณฑ์ ว่าเล่าอย่างไรจึงฟังเข้าใจง่าย

ในมิติของวัตถุ พิพิธภัณฑ์สามารถเปิดเรื่องราวของวัตถุที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้บน caption ของนิทรรศการ เช่นว่าของบางชิ้นเคยมีชีวิต มีที่ทางอย่างไรในวัฒนธรรมเดิม ก่อนจะถูกพรากมาจัดแสดงในฐานะมรดกแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ทางด้านชาติพันธุ์อาจจะเปิดเวทีให้เกิดการเล่าและรับฟังบาดแผลของผู้คน เพื่อให้เรื่องราวที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้บนผนังนิทรรศการ ได้ปรากฏและเป็นภาพด้านกลับของศิลปวัตถุที่จัดแสดง เหล่านี้เป็นสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง สามารถเติมเต็มได้

พิพิธภัณฑ์สามารถพูดถึงประวัติศาสตร์พูดยากให้ดราม่าได้ด้วยละคร พิพิภัณฑ์ศิลปะสามารถสร้างการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมด้วยสื่อศิลปะ พิพิภัณฑ์สามารถใช้เครื่องมือของนักการศึกษามาสร้างประสบการณ์ที่นิทรรศการไม่ได้ให้ อย่างการทำเส้นทาง (trail) การเรียนรู้ อาทิ เส้นทางการเรียนรู้เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ เส้นทางการเรียนรู้เรื่องกบฏ เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตระหนักว่าประวัติศาสตร์โดยธรรมชาติแล้วไม่ได้มีเวอร์ชั่นเดียว แต่มีเวอร์ชั่นอื่นจากมุมที่หลากหลาย ที่ขับเคี่ยว และสมควรนำมาวิวาทะกันในที่แจ้ง

ในทางจิตวิญญาณ การเปิดประเด็นและรับฟังเรื่องที่เป็นบาดแผลของผู้คน จะช่วยให้มนุษย์มีความกรุณา (compassion) ต่อเพื่อนมนุษย์มากขึ้น เพราะความเห็นอกเห็นใจ (empathy) เท่านั้น ที่จะช่วยให้เรื่องบางเรื่องไม่หวนกลับมาเกิดซ้ำอีก

วิธีการข้างต้นล้วนเป็นเครื่องมือให้การศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ทั่วไปใช้กันเป็นปกติ แต่สำหรับสังคมไทยในห้วงเวลานี้ พิพิธภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบและกล้าหาญพอ อาจต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เกินกรอบวิธีการและเครื่องมือปกติ เพื่อจะพูดถึงข้อเท็จจริงบางอย่าง และบางทีการเลือกอยู่สงบๆ สบายๆ ในพื้นที่ปลอดภัยคุ้นชิน ก็อาจเป็นหนทางที่เหมาะสำหรับการอยู่รอด

ในวันพิพิธภัณฑ์สากลนี้ สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือการรำลึกถึงผู้คนและเหตุการณ์ที่ไม่มีโอกาสย่างกรายข้ามธรณีประตูเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ควรเป็นสาธารณะอย่างพิพิธภัณฑ์ เสียใจกับมัน ที่อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะถูกพูดถึงได้อย่างเป็น ‘ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์’

Tags: , , , ,