ในหนังเรื่อง What Happened to Monday (2017) ฉากบนโต๊ะอาหารเมื่อพี่น้องทั้ง 7 คน ที่มีชื่อตามวันนั่งกินไก่ต้มที่มีอยู่แค่หม้อเดียวอย่างจำกัดจำเขี่ย เพียงเพราะอาหารและทรัพยากรของโลกเราในอีก 50 ปีข้างหน้าลดน้อยลงเรื่อยๆ และไม่เพียงพอต่อประชากรที่ล้นเกินพอดี ดูฉากนี้แล้วอาจจะนึกขำขันว่าในความเป็นจริงที่เทคโนโลยีการผลิตพัฒนาไปมาก หมู เห็ด เป็ด ไก่ สามารถที่จะลัดวงจรการเติบโต เรามีอาหารแช่แข็งที่อยู่ได้นานข้ามปี ถ้าประชากรเยอะก็แค่เร่งการผลิตโดยใช้สร้างเร่งฮอร์โมนและสารเร่งการเติบโต เพียงแค่นี้ ต่อให้มีประชากรมากแค่ไหน เราก็ไม่อดตาย

แต่เอาเข้าจริง ผลเสียของการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้คือ เรายิ่งเลี้ยงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเท่านั้น ส่งผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกัน อันตรายจากสร้างเร่งฮอร์โมนและสารเร่งการเติบโตก็อาจส่งผลต่อร่างกายได้เช่นกัน

แล้วเราควรกินอะไรดี? อะไรคืออาหารแห่งอนาคต?

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ในปี 2050 โลกของเราจะมีประชากรมากถึง 9,000 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 7,300 ล้านคน และสถานการณ์อาหารโลกอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤต เนื่องจากแหล่งโปรตีนที่เราคุ้นเคยอาจมีไม่เพียงพอ ทำให้ FAO ชี้เป้าไปที่ ‘แมลง’ ซึ่งจะเป็นทางออกของเรื่องนี้

มีการบันทึกศาสตร์และศิลป์ของการกินแมลง ที่มีชื่อเรียกว่า Entomophagy สืบย้อนกลับไปได้ถึงคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเก่า แถมเจ้าแมลงก็ยังเป็นอาหารค่ำแสนธรรมดาของชาวกรีกและโรมัน แม้แต่ปราชญ์ชาวกรีกอย่างอริสโตเติลก็ยังบันทึกว่าเคยเอร็ดอร่อยกับการกินจักจั่น

 

วัฒนธรรมการกินแมลงไม่ได้จำกัดแค่ในบ้านเรา หากพูดถึงทั่วโลก หลายประเทศก็นิยมกินแมลงมาช้านาน

 

วัฒนธรรมการกินแมลงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งน่าจะเกิดจากการสังเกตสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ ที่ไม่ได้กินแค่พืชพันธุ์ธัญญาหาร แต่กินแมลงซึ่งเป็นศัตรูของมนุษย์ แล้วในเมื่อมนุษย์และไก่เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน ไก่กินแมลงได้ ทำไมคนจะกินแมลงไม่ได้

วัฒนธรรมการกินแมลงไม่ได้จำกัดแค่ในบ้านเรา หากพูดถึงทั่วโลก หลายประเทศก็นิยมกินแมลงมาช้านาน เช่น ชาวคองโกนิยมกินตัวหนอนสกิปเปอร์ ชาวเม็กซิโกกินหนอนผีเสื้อยักษ์ ชาวบราซิลกินมด ขณะที่ชาวเกาหลีก็นิยมกินดักแด้ไหม

บ้านเราจะติดภาพว่าคนอีสานชอบกินแมลง แต่เกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทยก็กินแมลงกันเป็นเรื่องปกติ อย่างภาคกลางก็นำแมลงดานามาเพิ่มกลิ่นในน้ำพริก หรือภาคใต้ก็นิยมกินแมลงหลายชนิด เช่น ด้วงดิ่ง ด้วงมะพร้าว และจิ้งหรีด เป็นต้น

แต่วัฒนธรรมการกินแมลงดูเหมือนจะเด่นชัดในภาคอีสาน ส่วนหนึ่งคือ การกินเป็นอัตลักษณ์ของถิ่นอยู่แล้ว ขณะที่ในอดีต การกินอยู่ของชาวอีสานเป็นไปด้วยความยากลำยาก ต้องประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เหมือนภาคอื่นๆ จำต้องรู้จักวิธีเอาตัวรอด พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น การกิน ‘บึ้ง’ ที่ชาวอีสานคุ้นเคยเป็นอย่างดี ดังปรากฎในหนังสือ ลูกอีสาน ของ คำพูน บุญทวี ตอนหนึ่งที่ว่า

“นี่แหละมีบึ้งอยู่ ใยนี่ตัวบึ้งมันทำกันไม่ให้ตัวแมลงลงไปรบกวนมัน” พ่อว่าเท่านั้นก็ขุดลงไปที่รูอย่างว่องไว พ่อขุดลงไปลึกสักศอกกว่าๆ ก็หยิบตัวบึ้งเท่ากล่องไม้ขีดไฟขึ้นมา “โอ้โฮ แมลงมุมตัวใหญ่ๆ” จันดีร้องขึ้น คูนก็นึกว่าเป็นแมลงมุมตัวใหญ่ๆ เหมือนกัน เพราะลักษณะของมันเหมือนแมลงมุมแต่มีสีดำมืดตลอดทั้งตัว”

ชาวอีสานนับตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่จะรู้จึกบึ้งเป็นอย่างดี มักพบเห็นรูบึ้งตามหัวไร่ปลายนา และมักเอากิ่งไม้เล็กๆ ล่อให้มันโผล่ออกมาจากรู จับเอาไปทำเป็นอาหารเช่น ลาบบึ้ง ป่นบึ้ง และจี่บึ้ง เป็นต้น

โลกนี้มีแมลงมากกว่าหนึ่งล้านชนิด แต่มีแมลงที่สามารถบริโภคได้ประมาณ 1,900 ชนิด ในประเทศไทยมีแมลงที่พบบ่อยและนิยมกินกันอยู่ 20-25 ชนิด

ปี 2013 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยข้อมูลว่าด้วยแมลง โดยเปรียบเทียบสัดส่วนเนื้อที่กินได้ของสัตว์ทั้งตัว เช่น วัวมีเนื้อที่กินได้เพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องให้ปริมาณอาหารถึง 8 กิโลกรัมเพื่อให้วัวทำน้ำหนักได้ 1 กิโลกรัมสำหรับการบริโภค เปรียบเทียบกับจิ้งหรีดมีเนื้อที่กินได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และให้อาหารในปริมาณแค่ 1.2 กิโลกรัมเท่านั้น

ข้อมูลข้างต้นนี้ส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อน การเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น หมู ไก่ วัว ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก การให้ปริมาณอาหารที่มาก แต่เมื่อเทียบกับเนื้อที่ใช้เป็นอาหารดูจะไม่คุ้มค่าเท่าไร การเลี้ยงสัตว์ใหญ่จึงมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้น ส่วนแมลงมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางชีวภาพที่ต่ำ ทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงก็น้อยกว่าอีกต่างหาก

แม้ดูรูปลักษณ์ภายนอกของแมลงจะไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก แต่ถ้าว่ากันด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ต้องบอกว่ามีมากกว่าที่คิด

ถ้าถามหาโปรตีน ในแมลงดิบ 100 กรัม ให้โปรตีนประมาณ 9-65 กรัม ใกล้เคียงไล่เลี่ยกับโปรตีนที่จะได้จากไข่ไก่หรือเนื้อหมูและไก่ 100 กรัม เช่น ตั๊กแตนปาทังก้าน้ำหนัก 100 กรัม มีโปรตีนถึง 27 กรัม เทียบกับเนื้อหมู 100 กรัม มีโปรตีนเพียงแค่ 18 กรัม

 

ดูเหมือนจะแมลงจะให้คุณค่าทางโภชนาการ แต่กินแมลงมากเกินไปก็ไม่ดี

 

ถ้าถามหาพลังงาน ในแมลงดิบ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 90-150 กิโลแคลอรี แต่ต้องเล็งแมลงที่มีเปลือก เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตนปาทังก้า แมงตับเต่า

หรือถ้าจะถามหาไขมัน แมลงที่มีไขมันสูง ได้แก่ หนอนไม้ไผ่ ที่มีไขมันสูงถึง 20 กรัม แมลงอื่นๆ เช่น เช่น จิ้งหรีด หนอนไหม และตัวต่อ มีไขมันอยู่ประมาณ 4-12 กรัมดูเหมือนจะแมลงจะให้คุณค่าทางโภชนาการ แต่กินแมลงมากเกินไปก็ไม่ดี สิ่งที่ต้องกังวลคือปริมาณคอเลสเตอรอล เช่น มากสุดคือ จิ้งหรีดที่ให้คอเลสเตอรอลมากถึง 105 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับปริมาณคอเลสเตอรอลในน่องไก่ รองลงมาคือแมงป่อง ที่มีคอเลสเตอรอล 97 มิลลิกรัม เท่ากับหนังไก่ และตั๊กแตนปาทังก้า มีปริมาณคอเลสเตอรอล 66 มิลลิกรัมพอๆ กับขาหมูและเนื้อไก่

นอกจากนี้ คนกินแมลงอาจเกิดอาการแพ้ได้ การแพ้แมลงแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ แพ้โปรตีนในแมลง ซึ่งเป็นโปรตีนในกล้ามเนื้อของสัตว์กลุ่มขาข้อ คือ ผู้ที่แพ้อาหารทะเลก็จะแพ้แมลงด้วย กับอีกกลุ่มคือแพ้สารฮิสตามีน ในกรณีที่แมลงไม่ได้จัดเก็บให้ดีพอ อาจมีกระบวนการเน่าเสีย ก่อให้เกิดสารฮิสตามีน เมื่อได้รับสารเข้าไปในร่างกายจะก่อให้เกิดอาการผื่นคัน อาเจียน ปวดท้อง หน้าบวม เป็นต้น

วัฒนธรรมการกินแมลงมีมายาวนาน เพียงแต่ยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่เมื่อประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น อาหารสำหรับการบริโภคแบบเดิมอาจไม่เพียงพออีกต่อไป แมลงอาจเป็นทางเลือกที่ดีในอนาคต และเมื่อวันนั้นมาถึง เราอาจนั่งกินแมลงได้อย่างไม่รู้สึกแปลกลิ้นหรือแปลกตา

 

(ตอนต่อไป เราจะพาไปดูฟาร์มเลี้ยงแมลง แหล่งขายส่งยอดนิยม ที่กระจายสู่แมลงรถเข็นให้เราเห็นตามท้องถนน)
 

อ้างอิง:
www.isan.clubs.chula.ac.th
www.economist.com
www.sarakadee.com
www.komchadluek.net
ronnachai92.blogspot.com

 

Tags: , , , , , , ,