รัฐบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมต่ออตาเติร์ก เลขที่ 5816 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 1951

มาตรา ๑

ผู้ใดหมิ่นประมาทหรือสาปแช่งอย่างเปิดเผยต่อความทรงจำเกี่ยวกับอตาเติร์ก ต้องระวางโทษสถานหนัก จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี

ผู้ใดทำลาย ทำให้แตกหัก หรือสร้างความเสียหายใดๆ ต่อรูปปั้น รูปครึ่งตัว หรืออนุสาวรีย์ของอตาเติร์ก หรือสุสานของอตาเติร์ก ต้องระวางโทษสถานหนัก จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี

13 ปีหลังจากการเสียชีวิตของมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Atatürk) ผู้ก่อตั้งและบิดาแห่งสาธารณรัฐตุรกี ทางการตุรกีออกรัฐบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมต่ออตาเติร์ก เพื่อตอบโต้การกระทำของกลุ่มอิสลามการเมืองหัวรุนแรงที่มีกิจกรรมหลักคือใช้ค้อนทุบทำลายรูปปั้นของอตาเติร์ก

ความเชื่อเรื่องการทำลายรูปเคารพ (iconoclasm) ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของรูปปั้น อนุสาวรีย์ ภาพเขียน หรือสื่อทางสายตาประเภทอื่น มีคู่ตรงข้ามคือการบูชารูป (idolatry) นั่นเอง

อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังการรื้อ ทุบ ถอน ทำลายรูปเคารพ?

ไม่ว่าจะอยู่ในรูปลักษณ์ของมนุษย์หรือไม่ รูปเคารพ (icon) ก็คือสัญลักษณ์ประเภทหนึ่ง อาจเป็นตัวแทนของความเชื่อทางศาสนา ไม่ก็อุดมการณ์ทางการเมือง การทำลายรูปเคารพสัมพันธ์กับการลบหรือเปลี่ยนความทรงจำ กระนั้นก็ตาม เป้าหมายหลักของการทำลายรูปเคารพคือการประกาศแถลงการณ์ทางการเมือง การทำลายรูปเคารพจึงเป็นการกระทำทางการเมืองชนิดหนึ่งที่มีแรงขับจากความเชื่อทางศาสนาหรืออุดมการณ์ทางการเมือง หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิวัติทางศาสนาหรือการเมือง ตลอดจนการล่มสลายของระบอบการปกครองครั้งใหญ่ ผู้ชนะย่อมประกาศชัยของตัวเองผ่านการทำลายสัญลักษณ์ของฝ่ายตรงข้าม ในทางกลับกัน การออกมาตรการรักษารูปเคารพด้วยวิธีการต่างๆ ก็เป็นการยืนยันรักษาอำนาจของตน

ในปี 2001 รัฐบาลตาลีบันแห่งอัฟกานิสถานใช้ระเบิดไดนาไมต์ทำลายพระพุทธรูปแห่งบามียัน (Buddhas of Bamiyan) พระพุทธรูปประทับยืนสององค์สลักอยู่บนหน้าผาสูงในหุบเขาบามียันซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ถึงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากทั่วโลกเกี่ยวกับคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และศิลปะของพระพุทธรูปแห่งบามียันที่สร้างขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 แต่ศาสนาที่นับถือเทพเจ้าองค์เดียวอย่างศาสนาอิสลามไม่อาจยินยอมให้มีภาพตัวแทนหรือรูปเคารพของศาสนาอื่นปรากฏอยู่ในพื้นที่ของตน

Photo: REUTERS/Adrees Latit

ผู้ชนะย่อมประกาศชัยของตัวเองผ่านการทำลายสัญลักษณ์ของฝ่ายตรงข้าม ในทางกลับกัน การออกมาตรการรักษารูปเคารพด้วยวิธีการต่างๆ ก็เป็นการยืนยันรักษาอำนาจของตน

อย่างไรก็ดี ศาสนาอิสลามต่างนิกายกันอย่างซุนนีและชีอะฮ์ก็มีระดับความอดกลั้นต่อรูปเคารพทางศาสนาแตกต่างกัน นิกายซุนนีมีความเคร่งครัดมากกว่านิกายชีอะฮ์ ความขัดแย้งระหว่างนิกายซึ่งเชื่อมโยงกับการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจเหนือดินแดน คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการทำลายพระพุทธรูปสลักหิน

ในขณะที่ศาสนาอิสลามเดินทางมาถึงบริเวณที่ในปัจจุบันคืออัฟกานิสถานมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 แต่พระพุทธรูปแห่งบามียันเพิ่งจะถูกทำลายราบคาบเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้เอง เพียงสองปีหลังจากที่รัฐบาลตาลีบันซึ่งเป็นซุนนีเข้าครอบครองหุบเขาบามียันที่แต่เดิมเป็นพื้นที่ของพวกชีอะฮ์

ปริมณฑลของศาสนาและการเมืองในพื้นที่อื่นก็มีความคาบเกี่ยวเช่นกัน หลังการปฏิวัติของพวกบอลเชวิกในรัสเซียเมื่อปี 1917 อนุสาวรีย์ของพระเจ้าซาร์หลายพระองค์ รวมทั้งรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ทั่วรัสเซียก็ถูกรื้อทิ้ง การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กันไปกับการทำลายสถานที่ทางศาสนาอย่างโบสถ์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ การเปลี่ยนประเทศเป็นคอมมิวนิสต์ของพวกบอลเชวิกที่ปฏิเสธทั้งราชวงศ์และความเชื่อทางศาสนา นำไปสู่การตั้งอนุสาวรีย์ของผู้นำทางการเมืองขึ้นแทนที่ อนุสาวรีย์ของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) และผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ ผุดขึ้นทั่วทั้งสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศในสนธิสัญญาวอร์ซอ ในฐานะรูปเคารพของผู้นำการเมืองแบบใหม่ มันเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิบูชาตัวบุคคล (cult of personality) พร้อมๆ กับสัญลักษณ์ของชนชั้นกรรมาชีพอย่างค้อนและเคียวที่แพร่หลายไปทั่ว และแน่นอนว่าเมื่อระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในปี 1989 สิ่งเหล่านี้ก็ถูกทำลาย

วันที่ 5 มีนาคม 1990 รูปปั้นเลนินขนาดยักษ์ในกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ถูกรื้อลงจากฐาน หลังจากที่นิโคไล เชาเชสกู (Nicolae Ceausescu) ประธานาธิบดีและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์กับภรรยา ถูกจับสำเร็จโทษภายหลังการปฏิวัติที่นำไปสู่การสิ้นสุดของสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1991 ประชาชนชาวแอลเบเนียช่วยกันรื้อรูปปั้นสัมฤทธิ์ของเอนเวอร์ โฮซา (Enver Hoxha) ผู้นำเผด็จการคอมมิวนิสต์ออกจากจตุรัสกลางเมืองติรานา

ปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในฮังการี ยูเครน จอร์เจีย สาธารณรัฐเช็ก บัลแกเรีย ฯลฯ ทั้งในระหว่างการประท้วงเผด็จการคอมมิวนิสต์และภายหลังการจบสิ้นของระบอบคอมมิวนิสต์

เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป-ทำลาย-แทนที่

เหล่านี้คือวงจรของการเมืองเชิงสัญลักษณ์

Photo: REUTERS/Maks Levin

Tags: , , , , , , , , , ,