20, 22, 23 ตัวเลขธรรมดาที่ดูไม่สลักสำคัญ แต่สำหรับพวกเขา มันคือช่วงอายุที่มีความหมายอย่างมาก

ช่างเป็นวิธีตั้งชื่ออัลบั้มที่น่าสนใจเสียนี่กระไร เพราะมันจะเตือนความจำถึงผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงอายุนั้นๆ กลับมาฟังเมื่อไรก็จะยังจำได้เสมอว่าเพลงนี้คือเพลงที่แต่งขึ้นตอนที่พวกเขาอายุเท่าไร เหมือนไทม์ไลน์ที่บอกชัดถึงเส้นทางดนตรีที่เดินผ่านมา

​มุมมองที่แตกต่างและลึกซึ้ง คือเสน่ห์ของ HYUKOH ที่เราสัมผัสได้แทบจะทันที ในคราวร่วมวงสนทนาที่ Voice Space สถานที่จัดคอนเสิร์ต HYUKOH Live in Bangkok 2017 โดย Seen Scene Space เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

สมาชิกวง HYUKOH (จากซ้ายไปขวา) โอ ฮยอก, อี อินอู, อิม ดงกอน และอิม ฮยอนเจ

​วงอินดี้หน้าใหม่ HYUKOH ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ โอ ฮยอก (นักร้องนำ มือกีตาร์ และนักแต่งเพลง) อิม ฮยอนเจ (มือกีตาร์) อิม ดงกอน (มือเบส) และ อี อินอู (มือกลอง) พวกเขาแจ้งเกิดจากคอนเสิร์ต Summer Music Festival 2015 ของรายการ Infinite Challenge เมื่อฉายแสงเข้าตาศิลปินแร็ปเปอร์แถวหน้าอย่าง Epik High ที่กลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับค่าย HIGHGRND (ค่ายน้องใหม่ในสังกัด YG Entertainment ที่ผลิตศิลปินดังระดับโลกมากมาย เช่น Bigbang, 2NE1 และ Psy) พวกเขารีบชิงตัว HYUKOH ให้มาเซ็นสัญญาร่วมสังกัดแทบจะทันที และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนของเส้นทางสายดนตรีของศิลปินวงนี้เลยก็ว่าได้

​ในยุคที่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ต่างแข่งกันผลิตศิลปินหน้าใหม่จนแทบล้นตลาด เด็กชาวเกาหลีใต้และอีกหลายประเทศในแถบเอเชียที่ใฝ่ฝันอยากจะเดบิวต์ในฐานะศิลปินนักร้อง K-pop ต่างต้องดิ้นรนทุกหนทางเพื่อเป็นที่รู้จัก ดนตรีเหมือนจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไร้ชีวิต เมื่อเพลงมากมายถูกปล่อยออกมาจนฟังแทบไม่หวาดไม่ไหว ท่าเต้นและเสื้อผ้าที่หวือหวาถูกนำมากลบดนตรีที่ฟังดูดาษดื่นอยู่บ่อยครั้ง ความเป็น K-pop ถูกทำซ้ำๆ จนกลายเป็นรูปแบบภาคบังคับว่าส่วนประกอบของวงป็อปกระแสหลักจะต้องมีสิ่งใดบ้าง และเมื่อสินค้ามีมากเกินความต้องการของผู้บริโภค ศิลปินนักร้องที่ทำรายได้ให้กับค่ายไม่ได้ตามเป้าต่างก็ต้องยุบวงกันไป ชวนให้เสียดายความสามารถและความอดทนที่ฝึกฝนมาหลายปี

​แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้ HYUKOH แตกต่างจากคนอื่น…

​“เพลงของพวกเรายังถือว่า ‘ใหม่’ สำหรับคนเกาหลี และกลุ่มคนฟังก็ยังเล็ก” โอ ฮยอก เล่าผ่านล่ามในวงสนทนาเล็กๆ แต่เราเชื่อว่าคนเกาหลีเองก็กำลังโหยหาความแตกต่างที่จะพาพวกเขาหลุดออกจากลูปดนตรีเดิมๆ และ HYUKOH ก็เป็นหนึ่งในคำตอบที่คนฟังมองหา เพื่อเพิ่มตัวเลือกของเสียงเพลงและตอบโจทย์ของห้วงอารมณ์ที่ยังขาดหาย

​พวกเขาเล่าว่าในเกาหลีใต้ไม่มีใครเรียกเพลงป็อปว่า K-pop และอันที่จริง เพลงป็อปในบ้านเขาก็มีหลากหลายแนว กระแสความนิยมก็มีขึ้นลงไม่หยุดนิ่ง แต่อย่างไรเสีย เพลงป็อปก็จะไม่มีวันหายไป เพราะก็จะมีคนชื่นชอบและฟังอยู่เสมอ เขาจึงไม่คิดว่าตลาดเพลงของเกาหลีใต้จะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้สักเท่าไร

​เสน่ห์ของ HYUKOH คงไม่พ้นแนวเพลงที่มีกลิ่นอายตะวันตก ซึ่งถือว่าเป็นของใหม่สำหรับคนเกาหลีใต้ สมาชิกทั้ง 4 บอกว่ายังสนุกกับการทดลองแนวเพลงใหม่ไปเรื่อยๆ เสียงกีตาร์ไฟฟ้านุ่มลึกแต่จัดจ้าน รูปแบบการร้องและน้ำเสียงที่ไม่ได้ยินบ่อยนักในแวดวง K-pop กระแสหลัก ที่หากไม่เน้นการร้องแบบปล่อยพลังพ่นไฟ ก็จะร้องเน้นจังหวะสดใสเล่นคำย้ำๆ ให้ติดหู

หากติดตามวงการเพลงเกาหลีใต้มาสักระยะ จะพบว่า HYUKOH อาจไม่ใช่ศิลปินวงแรกที่นำเสนอสไตล์เพลงแบบนี้ซึ่งให้ความรู้สึกเนิบนุ่ม เน้นใช้กีตาร์เป็นเสียงทำนองหลัก และเสียงร้องติดจะแหบพร่า แต่เมื่อฟังไปแล้ว เรารู้สึกว่า HYUKOH ให้สัมผัสรสชาติที่แตกต่าง นอกจากการหวนรำพันถึงบางสิ่งบางอย่างหรือเสียงร้องที่เอื้อนแผ่วเบา ทั้งๆ ที่เสียงก็แหบพร่า แต่มีจังหวะหนักเบาที่ฟังแล้ว ‘อูมามิ’ ทุกอารมณ์ มีเพลงที่จังหวะเหมาะสำหรับวันเหงาๆ เศร้าๆ เพลงหวานซึ้งประกอบละครก็ทำออกมาได้น่ารัก ในขณะที่เพลงร็อกจังหวะหนักๆ ก็ดิบห่ามเป็นตัวของตัวเองเหลือเกิน

เมื่อมองไปถึงเนื้อร้องที่มีชั้นเชิง การเล่นอุปมาอุปไมย ลึกซึ้งในห้วงอารมณ์เกินอายุ ชวนให้นึกถามว่าศิลปินที่เขียนเพลงแบบนี้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบใด การเติบโตมาในประเทศจีน และมีพ่อแม่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จะมีผลต่อมุมมองของโอ ฮยอก บ้างหรือไม่

​“เพลงจีนและภาพยนตร์จีนมีอิทธิพลต่อแนวดนตรีของผมมากที่สุด เพราะผมใช้ชีวิตอยู่ที่จีนมาตั้งแต่เด็กๆ” โอ ฮยอก ตอบโดยไม่ลังเล ความสามารถทางภาษา ทั้งเกาหลี จีน และอังกฤษที่เขาหยิบใช้อย่างไม่เคอะเขิน ทลายกำแพงการสื่อสาร จนแม้คนฟังเองก็ไม่รู้สึกติดขัด

สำหรับที่มาของเพลง โอ ฮยอก บอกว่ายากจะอธิบาย แต่ละเพลงมาจากห้วงอารมณ์ต่างกันไป เพลงที่พวกเขาแต่งจึงกลายเป็นสิ่งสะท้อนอารมณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ที่พวกเขาถ่ายทอดและส่งต่อ เพื่อให้ทุกคนได้ฟังและตีความในแบบของตัวเอง

​อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือภาพลักษณ์ที่โดดเด่นของ HYUKOH ซึ่งฉีกกรอบศิลปินเกาหลีใต้ที่เราคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง เราสัมผัสความเท่ของพวกเขาได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่สมาชิกทั้ง 4 คนเดินเรียงเข้ามาในห้องพักศิลปินด้วยชุดสำหรับขึ้นแสดงคอนเสิร์ตในวันที่สอง สูทสีขาวสะอาด oversized ใหญ่โคร่ง แม้จะให้ลุกคนละขั้วจากชุดสีแดงเพลิงในวันแรก แต่ก็ทำหน้าที่ขับเสริมตัวตนที่เด่นชัดของสมาชิกแต่ละคนให้ดูน่าสนใจ โดยไม่ต้อง อาศัยสไตลิ่งแต่งหนักใส่เยอะแบบ K-pop วงอื่นๆ การแต่งตัวของ HYUKOH ค่อนไปทาง less is more น้อยแต่จัดจ้าน แต่ก็ไม่ใช่ความน้อยในขนบ ออกจะไปทางขบถเสียด้วยซ้ำ ด้วยการสักและเจาะตามร่างกาย ทาเล็บเปิดเผยไม่เคอะเขิน ทำให้รู้สึกว่าเขาคือศิลปินที่เข้าถึงได้ เหมือนเป็นคนธรรมดาที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจนเสียมากกว่า

​HYUKOH ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและมาในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ เป็นดาวดวงเล็กๆ ดวงหนึ่งที่ฉายแสงสว่างวาบขึ้นเรื่อยๆ เราก็ได้แต่รอลุ้นว่าในอนาคต พวกเขาจะนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ของดนตรีให้กับเราอย่างไรบ้าง และนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกรุยทางให้กับวงอินดี้ใต้ดินอื่นๆ ของเกาหลีให้ได้มีโอกาสแบบพวกเขาบ้าง?

​อิม ฮยอนเจ มือกีตาร์ มองว่าพวกเขายังคงเป็นรุ่นน้องในวงการ แต่คนที่เป็นศิลปิน underground มักจะไม่มีโอกาสเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ ส่วนมากจะได้เล่นตามผับต่างๆ โดยส่วนตัว เขาก็อยากให้วง underground มีโอกาสโชว์ผลงานบ้าง ในขณะที่โอ ฮยอก ก็เสริมอย่างถ่อมตัวว่าพวกเขาเองก็เป็น special case เพราะวงที่เพิ่งออกเพลงส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เล่นคอนเสิร์ต ที่ผ่านมา เขาพยายามทำงานหนักโดยไม่เคยคาดหวังว่าวงจะเป็นที่นิยม แต่เมื่ออัลบั้มแรกออกมา ก็ได้รับโอกาสไปออกรายการ Infinite Challenge และมีชื่อเสียงขึ้นมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่คาดฝัน

​ต่อคำถามเรื่องรูปแบบการฟังเพลงของผู้บริโภค อย่างระบบ streaming online โอ ฮยอก มองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการวางแผนโปรโมตเพลงของพวกเขา แต่ไม่คิดว่าตัวเองอยู่ในฐานะคนที่จะพูดเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของ online หรือ offline เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุมของพวกเขา คนที่ชอบฟังแผ่นก็จะซื้อแผ่นต่อไป คนที่ชอบ online ก็จะฟัง online ต่อไป แต่เป้าหมายสูงสุดของพวกเขาคือการได้มีเพลงออกอากาศทางวิทยุไปทั่วเอเชีย อยากให้คนขับรถเปิดวิทยุและได้ฟังเพลงของพวกเขาไปด้วย​

เพลงดีและสนุกขนาดนี้ ใครจะไม่อยากฟังตอนขับรถล่ะ จริงไหม?

​คอนเสิร์ต HYUKOH เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม แม้ผู้ชมไม่คับคั่งเท่าวันแรก แต่พลังคุกรุ่นของแฟนเพลงก็มีดีกรีไม่น้อยไปกว่ากัน ค่ำคืนแห่งเสียงดนตรีวันนั้นเปิดด้วยวง Gym and Swim ที่ HYUKOH กระซิบว่าชอบเพลงของพวกเขาเหลือเกิน จนต้องเลือกให้มาเล่นแจมในคอนเสิร์ต เมื่อบิวต์ด้วยอารมณ์เพลงสนุกๆ จาก Gym and Swim พอได้ที่ พลันเสียงกรี๊ดก็สนั่นโดยอัตโนมัติ เมื่อสี่หนุ่ม HYUKOH ก้าวขึ้นสู่เวที

​ลิสต์เพลงช่วงแรกอัดแน่นไปด้วยเพลงฮิตอย่าง ‘Comes and Goes’ ตามด้วยเพลงจังหวะเร็วอย่าง ‘Tokyo Inn’ และ ‘Leather Jacket’ แล้วสลับกลับมาช้า สร้างความสนุกให้กับทุกคนได้อย่างไม่ขาดตอน ทั้ง ‘2002WorldCup’ ‘Die Alone’ ‘Tomboy’ และเพลงที่เรียกเสียงกรีดร้องได้มากที่สุดเพลงหนึ่งก็คือ ‘Wanli’ (หมื่นลี้) ที่คนดูพร้อมใจกันร้องตาม

​พวกเขาดูเขินๆ เมื่อถึงคิวต้องกล่าวทักทาย โอ ฮยอก หยิบกระดาษสีเหลืองออกมากางเพื่ออ่านคำทักทายภาษาไทยที่ถามล่ามก่อนขึ้นเวที เขาพูดออกเสียงได้ดีทีเดียว แม้จะพูดไปขำไปเป็นพักๆ เพราะเอาจริงๆ ภาษาไทยก็พูดยากเหลือเกิน แต่ทุกครั้งที่ร้องจบเพลง เขาก็ไม่ลืมกระซิบเบาๆ ว่า “ขอบคุณครับ” เป็นภาษาไทยทุกครั้ง แถมไม่ลืมหยอดประโยคอ้อนๆ เสียงเนิบว่า “ถ้าปีหน้าผมมา จะมาดูผมมั้ยครับ” พูดตรงๆ ว่าเจอแบบนี้ก็ใจละลายเอาเรื่องอยู่ แต่เอาใจเราไปแล้วก็ต้องรับผิดชอบกลับมาจริงๆ ล่ะ

HYUKOH แกล้งแฟนๆ ด้วยการลงจากเวที ปล่อยให้ทุกคนตะโกนเรียกร้องขอ encore ดังลั่น

​สุดท้าย พวกเขาก็กลับขึ้นเวทีอีกครั้งพร้อมกับรอยยิ้มทะเล้น แล้วเพลงฮิตสุดๆ อย่าง ‘Wi Ing Wi Ing’ ก็พลันทำให้ทุกคนกรี๊ดลั่นด้วยความดีใจ เพราะกำลังพากันเสียดายว่าจะไม่นำมาเล่นเสียแล้ว แล้ว โอ ฮยอก ก็โชว์ความทะเล้นด้วยการกางโพยสีเหลืองและพูดประโยคเดิม “สวัสดีครับ พวกเรา HYUKOH ครับ” อีกครั้ง ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะได้เกรียวกราว​

แต่งานเลี้ยงก็ย่อมมีวันเลิกรา โชว์จบลงด้วยเพลง ‘Surfboy’ สุดแสนประทับใจ หลังจากนั้น พวกเขาแวะเวียนกันไหว้ โค้งให้กับผู้ชม แจกมินิฮาร์ทให้พอน่ารัก จบลงด้วยการขอถ่ายรูปกับทุกคน และผู้ชมก็พากันชูสองนิ้วลิโพกันทั่วหน้า

ก่อนที่สี่หนุ่ม HYUKOH จะก้าวลงจากเวที โอ ฮยอก อำลาด้วยภาษาไทยเสียงดังฟังชัดว่า

​“เจอกันปีหน้าครับ”

​ในวงสนทนาแสนกันเองค่ำนั้น โอ ฮยอก ย้ำบ่อยครั้งว่าพวกเขาโชคดีที่ได้รับโอกาสและก้าวมาถึงจุดนี้ แต่เราเชื่อว่าทุกคนที่ได้ไปอยู่ในฮอลล์คอนเสิร์ตค่ำนั้น คงมั่นใจเหมือนกันว่าสิ่งที่พวกเขามีและได้มาไม่ใช่โชคเพียงอย่างเดียวแน่นอน

(ขอขอบคุณผู้จัด Seen Scene Space ที่นำพาความสุขมามอบแก่พวกเรา และสถานที่จัดคอนเสิร์ตและมุมสัมภาษณ์เก๋ๆ ที่ Voice Space)

FACT BOX:

  • ​โอ ฮยอก ไปอยู่ที่จีนตั้งแต่อายุ 5 เดือนถึงอายุ 18 ปี ย้ายเมืองถึง 3 เมือง คือจี๋หลิน เสิ่นหยาง และปักกิ่ง ก่อนจะกลับเกาหลีใต้บ้านเกิดเพื่อมุ่งมั่นในเส้นทางสายดนตรี (แม้ที่บ้านจะไม่เห็นด้วยก็ตาม)
  • โอ ฮยอก เพิ่มชื่อเสียงให้กับวงหลังจากออกรายการ Infinite Challenge ด้วยการแสดงร่วมกับศิลปินดังอย่างฮวัง กวางฮี (ศิลปินวง ZE:A และดาราวาไรตี้ชื่อดัง) และ Gaeko (แร็ปเปอร์จากวงยอดฮิต Dynamic Duo) และดังเป็นพลุแตกเมื่อเขาได้ร่วมแต่งเพลงและร้องกับ IU นักร้อง solo สาวตัวท็อปของวงการใน Pallette อัลบั้มล่าสุดของเธอ
  • มีข่าวฉาวว่า HYUKOH ลอกเพลง ‘Golden Age’ ของศิลปินอินดี้ชาวอเมริกันชื่อ Beach Fossil มาทำเพลง ‘Panda Bear’ ของตัวเองในปี 2017 แต่โอ ฮยอก ผู้แต่งเพลงก็ตอบโต้พร้อมกับข้อพิสูจน์ว่าไม่จริงเสียหน่อย!
Tags: , , , , , , , , , ,