ในละครไทยบางเรื่อง มักมีตัวละครประเภทที่สร้างความลำบากให้กับพระเอกนางเอก นั่นคือ ‘พ่อ-แม่’ ที่คอยเจ้ากี้เจ้าการจัดแจง ‘เส้นทางอนาคต’ ไว้ทั้งหมด ทั้งเรื่องต้องทำงานอะไร ต้องแต่งงานกับใคร ไปจนถึงต้องใช้ชีวิตอย่างไร ด้วยเหตุผลอมตะ นั่นคือ ‘หวังดี’

ในชีวิตจริง แน่นอนว่าอาจจะยังมีพ่อแม่ที่มีลักษณะแบบนี้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่มีผลกระทบในระดับครอบครัว และไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีลักษณะเช่นว่า

แต่หากพ่อแม่ผู้มีพฤติกรรมดังกล่าวกลายมาเป็นผู้มีอำนาจระดับชาติ และอาศัยความหวังดีกำหนดอนาคตของลูก 66 ล้านคนไว้แต่เนิ่นๆ ด้วยเวลาไม่มากไม่มาย แค่ ‘อย่างน้อย 20 ปี’ แถมมีบทลงโทษหากออกนอกลู่นอกทาง

ผลกระทบจะมากมายมหาศาลแค่ไหน?

 

การเลือกตั้งแทบจะ ‘ไร้ความหมาย’ ไปอีก 5 วาระ

ภายในสิ้นเดือนนี้ หรืออย่างช้าคือต้นเดือนกรกฎาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะต้องพิจารณาร่าง ‘กฎหมายพี่น้อง’ ที่จะทำให้การเลือกตั้งซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด แทบจะไร้ความหมาย กฎหมายพี่น้องที่ว่านี้คือ หนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. …. (พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ) และสอง ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. …. (พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ) หากพิจารณาจากเนื้อหา ร่างกฎหมายฉบับแรกดูจะสำคัญกว่าฉบับหลังอยู่เล็กน้อย

เหตุที่ร่างกฎหมายเหล่านี้จะทำให้การหย่อนบัตรลงคะแนนในหีบเลือกตั้ง วิธีสากลของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนใช้เลือกอนาคตและทิศทางของประเทศผ่านการเลือกรัฐบาล แทบไร้ความหมาย เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ไม่เพียงกำหนดให้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้จัดการร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ แต่ยังกำหนดให้การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติสำเร็จภายใน 1 ปี หรือระหว่างที่ คสช. ยังมีอำนาจ

โดยมีกลไกหลายอย่างที่จะทำให้รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันสามารถขีดเส้นทางให้รัฐบาลพลเรือนที่จะเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตยต้องเดินตาม อาทิ

  • การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 120)
  • การจัดทำคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่จะแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 162)
  • นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรก วาระห้าปี ซึ่งหัวหน้า คสช. เป็นผู้แต่งตั้งทั้งหมด 250 คน ยังมีอำนาจหน้าที่ในการเร่งรัดให้รัฐบาลปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติอีกชั้นหนึ่ง (มาตรา 270)

 

เค้าลางอนาคตอันมีบทลงโทษ หากไม่ปฏิบัติตาม

ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ให้นิยามของคำว่า ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ไว้ว่าหมายถึง “เป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปี”

  ตามร่างกฎหมายนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ระดับ คือ ‘คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ’ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่งอีก 10 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 14 คน มีวาระห้าปี ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้ง และ ‘คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ’ มาจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยระบุว่ายุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องจัดทำจะมีอย่างน้อย 6 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ชาติอันดับแรกคือด้านความมั่นคง ตามมาด้วยด้านความสามารถในการแข่งขัน การเสริมสร้างศักยภาพคน ความเท่าเทียมกันในสังคม การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ

สำหรับขั้นตอนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย นอกจากคณะกรรมการ 2 ระดับข้างต้น ยังมี ครม. รวมถึง สนช. โดยมีระยะเวลาในการจัดทำรวมกันสูงสุดที่ 11 เดือน 25 วัน

ยุทธศาสตร์ชาติที่จัดทำในวาระเริ่มแรกในยุคของ คสช. เมื่อมีผลใช้บังคับ จะใช้ไปอย่างน้อยถึง 20 ปี นัยหนึ่งคือเพื่อเป็นแผนแม่บทที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องเดินตามไปอีกอย่างน้อย 5 รัฐบาล โดยการแก้ไขเพิ่มเติมจะทำได้เพียง 2 กรณีเท่านั้น คือเมื่อ ‘สถานการณ์โลก’ หรือ ‘สถานการณ์ประเทศ’ เปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติด้านหนึ่งด้านใดได้

แนวโน้มที่ยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช. จัดทำจะอยู่กับเราไปอีกสองทศวรรษ จึงมีความเป็นไปได้สูง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กูรูด้านกฎหมายของรัฐบาล เคยระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ถือเป็นกฎหมายพี่ใหญ่ ซึ่งใหญ่กว่ากฎหมายอื่นทุกฉบับ เพราะมีผลผูกพันกับทุกองค์กร และหากองค์กรใดไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถูกส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีโดยทันที

แกนนำรัฐบาล คสช. รายหนึ่งเคยอธิบายไว้ว่าเหตุที่ให้มีบทลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ ก็เพื่อไม่ให้ ‘ซ้ำรอย’ กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งไม่มีบทลงโทษอะไรหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม ทำให้นโยบายหรือมาตรการที่รัฐบาลชุดต่างๆ นำมาปฏิบัติไม่เป็นไปตามแผน จนขาดเอกภาพและความต่อเนื่อง

 

ทราบหรือไม่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากท่านแล้ว

เมื่อตรวจสอบย้อนหลัง จะพบกับความพยายามของ คสช. ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตั้งแต่หลังยึดอำนาจหมาดๆ ทั้งการตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่มี พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ เป็นประธาน ในปี 2558 กระทั่งออกมาเป็น ‘ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี’ ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวที่จะใช้พัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับตัวจริงเสียงจริงต่อไป

แม้ในร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติจะกำหนดว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องเปิด ‘รับฟังความคิดเห็น’ จากประชาชน แต่ในบทเฉพาะกาลกลับเขียนว่า ให้ถือว่าร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว!

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ มีสาระสำคัญคือการตั้ง ‘คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ’ แต่ละด้าน มีจำนวนคณะละไม่เกิน 14 คน มีวาระห้าปี เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านที่รับผิดชอบ ซึ่งต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

ร่างกฎหมายพี่น้องทั้งสองฉบับ รัฐบาล คสช. มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ จัดทำขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 และนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ เพียง 10 วันหลังจากรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2560 ประกาศใช้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช. ก่อนนำเข้าพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป

แม้ระหว่างนี้เราจะส่งเสียงคัดค้านไม่ให้ สนช. เห็นชอบร่างกฎหมายคู่นี้ได้ หรือเรียกร้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น (เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเพียง 5 วัน คือระหว่างวันที่ 15-20 พฤษภาคม 2560 ทั้งที่เป็นกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ถึง 20 ปี)

แต่ถ้าดูผลการพิจารณาในวาระที่ 1 ซึ่ง สนช. ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติคือ 196:0 เสียง และร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศคือ 186:0 เสียง ก็ยากที่วาระ 2 และ 3 จะมีมติไปในทิศทางอื่น

 

ในละครไทยบางเรื่อง พระเอก-นางเอกสามารถฝืนอนาคตที่บรรดาพ่อๆ แม่ๆ ขีดเขียนเอาไว้ให้ จนกระทั่งทำตามสิ่งที่หัวใจเรียกร้องได้สำเร็จ แต่ในชีวิตจริง คนไทย 66 ล้านคนอาจเป็นได้เพียง ‘ผู้ชม’ หรือ ‘ตัวละคร’ ที่ต้องวิ่งไปตามลู่และอยู่ในกรอบอนาคต อันผู้หวังดีและมีอำนาจกำหนดไว้ให้

อย่างน้อยก็ 20 ปี

Tags: , , , , , , ,