“ถ้าคืนนี้มีคนเห็นดวงจันทร์ จะเป็นยังไง?” คำถามแรกของเด็กขี้สงสัย เมื่อครั้งที่พ่อพาเขาไปยังศาลาดูดวงจันทร์ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา หลังกลับจากโรงเรียนหมาดๆ

เวลาใกล้ค่ำ พ่อพาเขาขับรถออกไป ชาวมุสลิมจากในตัวเมืองล่วงหน้าขึ้นไปก่อนแล้ว รถที่จอดเป็นทิวตามริมทางทำให้รถติดตลอดทางขึ้นเขา บางคนจึงใช้วิธีเดินขึ้นไปแทน บนนั้น เราทุกคนต่างรอการปรากฏตัวของดวงจันทร์อย่างใจจดใจจ่อ และรู้สึกแข่งกันอยู่ในที จะเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรกหรือไม่ แล้วใครจะเห็นก่อน

ไม่นานนัก ชายแก่ตรงมุมศาลาก็ส่งเสียงตะโกนพร้อมโบกมือในอากาศ นั่นไง นั่นไง!

“ถ้าคืนนี้เห็นดวงจันทร์ วันพรุ่งนี้เราต้องถือศีลอด” พ่อตอบด้วยเสียงเรียบง่าย และอธิบายตามนี้

การถือศีลอดคืออะไร

การถือศีลอด หรือ อัส-ซิยาม ในภาษาอาหรับ หมายถึงการอดกลั้น ทั้งการอดกลั้นความอยากจากการกิน การดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ โดยกำหนดให้มุสลิมทุกคนต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอนตลอดทั้งเดือน นอกจากนี้ พ่อยังอธิบายเพิ่มเติมว่าในเดือนอันมีความหมายนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย ทุกคนจะได้รับรู้ถึงความหิวเหมือนๆ กัน

ใครบ้างที่ต้องถือศีลอด

มุสลิมทุกคนที่มีสุขภาพแข็งแรงและบรรลุนิติภาวะแล้ว (บรรลุนิติภาวะในทัศนะอิสลามคือเด็กผู้ชายที่มีการหลั่งของอสุจิหรือมีฝันเปียก และเด็กผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนแล้ว)

สำหรับเด็ก ผู้ใหญ่จะเริ่มฝึกให้ลูกถือศีลอดแบบครึ่งวัน (งดมื้อเช้า) เพื่อให้คุ้นเคย

ใครบ้างไม่ต้องถือศีลอด

คนป่วย คนเดินทาง ผู้หญิงระหว่างมีประจำเดือน หญิงมีครรภ์แก่และแม่ลูกอ่อนที่ให้นมทารก การถือศีลอดทั้งๆ ที่ป่วยถือเป็นเรื่องต้องห้าม

การดูดวงจันทร์เกี่ยวอะไรกับการถือศีลอด

เนื่องจากการถือศีลอดจะปฏิบัติในเดือนรอมฎอน (เดือน 9) ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นปฏิทินแบบจันทรคติ ทำให้จำนวนวันของแต่ละเดือนแตกต่างจากปฏิทินที่เราใช้กัน ในหนึ่งเดือนจะมีจำนวนวันไม่แน่นอน อยู่ที่ 29-30 วัน หากวันที่ 29 ของเดือนชะบาน (เดือน 8) มีดวงจันทร์ให้เห็น วันถัดมาจะถือเป็นวันที่ 1 ของเดือน 9 ทันที แต่ถ้าไม่มีใครเห็นเลย วันถัดมาจะถือว่าเป็นวันที่ 30 เดือน 8 และให้เริ่มถือศีลอดในวันมะรืน ซึ่งก็คือวันที่ 1 เดือน 9

การถือศีลอด เริ่มต้นกี่โมงถึงกี่โมง

การถือศีลอดจะเริ่มนับหลังฟ้าสาง (งดกิน) และจบลงหลังอาทิตย์ตก (กินได้) สมัยก่อน ชาวอาหรับจะใช้วิธีคำนวณเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกด้วยการดูเส้นด้าย หากสามารถแยกเส้นด้ายสีขาวออกจากเส้นด้ายสีดำก็แปลว่าแสงแรกของอาทิตย์ส่องแล้ว เป็นอันต้องงดจากการกิน

แต่สมัยนี้ง่ายกว่านั้นมาก เพราะสำนักจุฬาราชมนตรีจะเป็นผู้คำนวณเวลาให้เสร็จสรรพ และแจกจ่ายเป็นปฏิทินประจำเดือน บ้านไหนที่ไม่มีปฏิทินก็เปิดทีวีหรือวิทยุท้องถิ่นเพื่อรอฟังเสียงประกาศ ได้ยินเมื่อไรก็แปลว่ากินได้

แล้วประเทศที่มีช่วงกลางวันยาวนานกว่าปกติล่ะ ทำอย่างไร

ประเทศไทยมีช่วงเวลากลางวันประมาณ 14 ชั่วโมง ถ้าเทียบกับพระที่งดฉันหลังเที่ยงและยามวิกาลรวมเป็นเวลาราว 18 ชั่วโมง การถือศีลอดก็ถือว่าไม่ยากนัก แต่สำหรับบางประเทศ อย่างแถบสแกนดิเนเวีย บางปีอาจต้องถือศีลอดนานถึง 20 ชั่วโมง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันและสุขภาพ ทำให้การถือศีลอดกลายเป็นเรื่องยาก เรื่องนี้นักวิชาการศาสนามีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้

1. ใช้เวลาเดิมของประเทศนั้นๆ (กัดฟันถือศีลอด 20 ชั่วโมงรวด)

2. ยึดเวลาประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นหลัก ซึ่งจะถือศีลอดประมาณ 15 ชั่วโมง

ใครสะดวกแบบไหนก็เลือกทำตามนั้น เพราะอย่างที่บอกแล้วว่าการถือศีลอดจนป่วยไข้เป็นเรื่องต้องห้าม

ต้องกินแค่ไหนจึงจะอิ่มได้ตลอดวัน

มุสลิมส่วนใหญ่จะตื่นมากินข้าวใกล้ช่วงเวลาฟ้าสางให้มากที่สุด เช่น เวลาตามปฏิทินคือ 04.41 น. เราก็จะตื่นมากินประมาณตี 4 แต่ถ้าใครอยู่กันเป็นครอบครัว (กับข้าวเยอะหน่อย) ก็จะตื่นล่วงหน้าอีกเล็กน้อย กินเสร็จส่วนใหญ่ก็จะนอนต่อถึงประมาณ 7 โมงเช้า

การกินแบบพออยู่ท้องกับการกินแบบจัดหนักนั้นให้ผลไม่ต่างกัน แนะนำให้กินอะไรเบาๆ รสไม่จัด กลางวันจะได้ไม่คอแห้ง แล้วจิบน้ำตามเยอะๆ

มื้อละศีลอดล่ะ กินเยอะแค่ไหน

จากประสบการณ์ คำพูดที่ว่า “หิวขนาดกินวัวได้ทั้งตัว” ไม่เป็นความจริง การรีบกินหรือกินเยอะเกินไปจะทำให้จุก วิธีดั้งเดิมที่ขอแนะนำคือการละศีลอดด้วยอินทผลัม 2-3 ผล ตามด้วยน้ำ 2-3 จิบ แล้วไปทำกิจกรรมอื่น การทำแบบนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ลำไส้ได้เตรียมตัว แต่ถ้าใครไม่ชอบอินทผลัมก็เปลี่ยนเป็นผลไม้หวานๆ เพื่อเพิ่มน้ำตาลในเลือด แล้วตามด้วยนมเพื่อเคลือบกระเพาะก็ได้

ความยากง่ายในการถือศีลอด

ถ้าให้แบ่งความหิวในแต่ละช่วงของวัน ช่วงเช้าและเย็นจะหิวที่สุด
การถือศีลอดวันแรกเป็นเรื่องง่าย อาจเป็นเพราะปริมาณสารอาหารที่สะสมไว้ถูกกระตุ้นออกมาใช้ สามวันหลังจากนั้นจะเริ่มยากขึ้น แต่พอผ่านไปได้สักหนึ่งสัปดาห์ กระเพาะของเราจะเริ่มชินจนถือศีลอดได้เรื่อยๆ แต่ถามว่ายังหิวไหม ตอบเลยว่าหิวเหมือนเดิม แต่ไม่ยากเท่าวันแรกๆ

การถือศีลอดช่วยลดน้ำหนักได้ไหม

ขึ้นอยู่กับการกินของแต่ละคน การงดของมันและกินแต่พอดีช่วยคุมน้ำหนักได้ แต่สำหรับบางคนที่อดมาทั้งวันแล้วละศีลอดด้วยอาหารมื้อใหญ่ กินเสร็จแล้วก็ไปนอน แบบนี้เผลอๆ จะอ้วนขึ้น

ความจริงการลดความอ้วนด้วยการอดอาหารเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง แนะนำให้เปลี่ยนเป็นการควบคุมมื้ออาหารและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยจะได้ผลกว่า

หากไม่ถือศีลอดหรือถือศีลอดไม่ได้ จะต้องทำอย่างไร

สำหรับคนป่วย คนเดินทาง ผู้หญิงมีประจำเดือน ที่ไม่ได้ถือศีลอดในเดือนนี้ จะต้องชดเชยในรูปของอาหารแก่คนยากคนจน ตามจำนวนวัน เช่น ขาด 1 วัน ก็ต้องชดเชยเป็นข้าวสาร 1 ลิตร โดยให้เป็นรายวันหรือรวบยอดให้ครั้งเดียวก็ได้ และต้องถือศีลอดชดเชยในวันอื่นๆ ของปี

คืนสุดท้ายของการถือศีลอด

ในคืนวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอน จะมีการดูดวงจันทร์ไม่ต่างจากครั้งเมื่อขึ้นมาดูดวงจันทร์ก่อนถือศีลอด ฉันในวัยเด็กถามพ่ออีกครั้งว่า “ถ้าคืนนี้มีคนเห็นดวงจันทร์ จะเป็นยังไง?” พ่อยิ้มแล้วตอบว่า “ถ้าคืนนี้เห็นดวงจันทร์ วันพรุ่งนี้เราจะเข้าสู่วันฉลอง”

พ่อหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทร.บอกแม่ที่บ้านด้วยคำพูดสั้นๆ แม่ขอสายผมแล้วบอกให้จดรายการข้าวของที่ต้องซื้อเพื่อเตรียมทำมัสมั่นไก่สูตรเด็ดสำหรับเลี้ยงคนที่จะมาเยี่ยมบ้านพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นวันที่ทุกคนจะแวะไปเยี่ยมเยียนกัน หลังจากที่ทุกคนอดอาหารมา 1 เดือนเต็ม รุ่งขึ้นจะเป็นวันที่ทุกคนอิ่มท้องพร้อมกันอีกครั้ง

 

FACT BOX:

ทำไมปฏิทินแบบจันทรคติของอาหรับกับของไทยและจีนไม่ตรงกัน

ปฏิทินแบบจันทรคตินั้น แต่ละเดือนจะมีจำนวนวันไม่เท่ากัน 29 วันบ้าง 30 วันบ้าง รวมแล้วแต่ละปีจะมีจำนวนวัน 354-355 วัน ซึ่งน้อยกว่าปีปฏิทินแบบเกรโกเรียน ทำให้ช่วงเวลาแต่ละเดือนไม่ตรงตามฤดูกาล ซึ่งมีผลกับการเพาะปลูก ทุก 3 เดือน ปฏิทินจันทรคติแบบไทยและจีนจึงเพิ่มเข้าไปอีก 1 เดือน เพื่อลดความคลาดเคลื่อน แต่หนึ่งปีฮิจเราะห์ศักราชมี 12 เดือนเสมอ ไม่มีการเพิ่มเดือน

วันที่ 1 เดือนรอมฏอน ฮัจเราะห์ศักราช 1438 (ปีนี้) ตรงกับวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม

หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการถือศีลอด

การถือศีลอดสามารถกลืนน้ำลายได้นะ

Tags: , ,