เมื่อกรรมการออสการ์ไม่ใช่แค่คนผิวขาว

01.08

ช่วงปลายปีแบบนี้ก็เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลของหนังล่ารางวัลทั้งหลาย หนังตัวเต็งเริ่มทยอยเข้าโรง เราก็เริ่มเห็นว่าใครจะเป็นตัวเต็งบนเวทีนี้ Hollywood Insider เลยจะมาอุ่นเครื่องก่อนเข้าสู่ช่วงประกาศผลรางวัลด้วยเรื่องของคณะกรรมการรางวัลออสการ์ในปี 2017 นี้ ที่มีความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จะเป็นอย่างไร และมีใครกันบ้าง ลองฟังกันได้ในเอพิโสดนี้

#OscarsSoWhite

02.16

จากเมื่อปีก่อนที่เวทีออสการ์เกิดดรามาเรื่องความเท่าเทียมของสีผิว ที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมผู้เข้าชิงเกือบทั้งหมดถึงเป็นคนขาว ส่วนใหญ่มีอายุมาก และเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทำไมไม่ให้พื้นที่กับคนชายขอบทั้งหลายอย่างเช่นคนผิวสี คนหนุ่มสาว และคนต่างชาติเลย จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #OscarsSoWhite กระแนะกระแหนกันไป ซึ่งความจริงเวทีออสการ์ก็ถูกพูดถึงในแง่นี้มาตลอด แต่กระแสที่แรงขึ้นในปีที่แล้วและกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ถล่มเข้ามาทำให้ออสการ์ต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่เพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียงของสถาบัน

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

04.41

วันที่ 29 มิถุนายน 2016 ทางออสการ์ได้ออกมาแถลงข่าวครั้งสำคัญ อย่างแรกคือจะมีการเพิ่มคณะกรรมการคัดสรร (electorate) จากเดิมมี 6,261 คน ก็เพิ่มอีก 7.5% เป็น 6,734 คน ซึ่งใน 6,734 คนนั้นก็ไม่ใช่แค่ผู้กำกับหรือนักแสดง แต่ยังมีทีมงานเบื้องหลังอื่นๆ ที่หลากหลายเข้ามาด้วย นอกจากความหลากหลายในตำแหน่งหน้าที่ ความหลากหลายทางเชื้อชาติที่ถูกโจมตีในปีก่อนก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยมีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการมากขึ้น เลือกคนอายุน้อยเข้ามาเพิ่ม และมีผู้หญิงเข้ามาในสัดส่วนที่มากกว่าเดิม เป็นการแก้ปัญหาทุกจุดที่ถูกติไว้ และมีการหาไอคอนตัวแทนของกลุ่มคนเหล่านี้มาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ เช่น ไอดริส เอลบา, จอห์น โบเยก้า, ฟรีดา ปินโต, ไมเคิล บี จอร์แดน, อลิเซีย วิกันเดอร์ และนอกจากนักแสดงแล้วก็ยังมีผู้กำกับหลากหลายเชื้อชาติ ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเราคงเป็นเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับชาวไทยร่วมเป็นกรรมการในงานครั้งนี้ด้วย

รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

08.49

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อรางวัลต่างๆ แน่ๆ หนึ่งในสาขาที่น่าจะมีการส่งผลมากที่สุดก็คือรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะเมื่อมีความหลากหลายในคณะกรรมการมากขึ้น หนังต่างประเทศก็มีสิทธิ์ที่จะได้รางวัลนี้ไปครองมากขึ้นเข่นกัน จากแต่ก่อนหนังที่แสดงจิตวิญญาณของความเป็นอเมริกันจะคว้ารางวัลนี้ไปได้เสมอแม้จะค้านสายตาคนดูก็ตาม มาปีนี้เกมอาจจะเปลี่ยนไปจนหนังอเมริกันเหล่านั้นได้ลุ้นน้อยลง หนังต่างประเทศอย่างเรื่อง Elle ที่ได้รับเสียงชื่นชมมาก หรืออย่างหนังเยอรมันเรื่อง Toni Erdmann ที่สร้างความประทับใจอย่างล้นหลามก็อาจจะเป็นตัวเต็งในปีนี้แทน

รางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

12.33

สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมอาจเป็นสาขาที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เท่าไรนัก แต่ก็อาจจะทำให้หนังที่พูดถึงชนชั้นกลางประสบความสำเร็จกว่าที่เคยเป็นมาก็เป็นได้ โดยในปีนี้ของไทยเองก็ได้ส่งหนังเรื่อง อาปัติ เข้าร่วมชิงรางวัลด้วย

รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม

14.11

หนึ่งในสาขาที่น่าจะได้รับผลกระทบที่สุดในงานครั้งนี้น่าจะเป็นรางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม ที่โดยนัยยะแล้วจะเป็นตัวแทนของคนทำหนังทั้งหมด เพราะฉะนั้นรางวัลนี้ออสการ์มักจะให้กับผู้กำกับอเมริกัน ซึ่งในครั้งนี้อาจจะมีหวั่นไหว เพราะผู้กำกับชาติอื่นก็จะมีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการในครั้งนี้มากขึ้น อย่างเช่นผู้กำกับสัญชาติออสเตรเลีย การ์ธ เดวิส หรือผู้กำกับสายอาร์ตอย่าง บริท เคน โลช ที่เพิ่งได้รางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ก็มีสิทธิ์จะได้รางวัลจากงานครั้งนี้เช่นกัน

รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

16.56

สาขานักแสดงนำหญิงถือเป็นหนึ่งในสาขาที่มีการแข่งขันรุนแรงที่สุดในปีนี้ สามคนที่ดูแล้วเป็นตัวเต็งเข้าชิงแน่ๆ ได้แก่ เอ็มมา สโตน จาก La La Land, นาตาลี พอร์ตแมน จาก Jackie และ แอนเนตต์ เบนนิง จาก 20th Century Woman แต่อีกสองที่ที่เหลือนั้น นักแสดงชาวฝรั่งเศษอย่าง อิซาเบล ฮัพเพิร์ต จาก Elle และ มาริยง โกติยาร์ด จาก Allied ถือเป็นคู่แข่งสำคัญที่จะมาต่อสู้กับนักแสดงรุ่นเก๋าอย่าง เมอรีล สตรีป เพราะนักแสดงชาวต่างชาติก็ดูจะมีโอกาสในการเข้าชิงได้มากขึ้นเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำไปเพื่ออะไร

19.37

คำถามที่เกิดต่อมาคือความหลากหลายครั้งนี้ของออสการ์นั้นทำไปเพื่ออะไร ทำเพื่อความหลากหลายจริงๆ หรือแค่ทำเพราะโดนด่าไปเยอะในปีก่อน จักรพันธุ์ให้ความเห็นว่าคนในอะคาเดมีอาจจะปรึกษากันแล้วว่าถึงเวลาที่จะต้องแหกขนบแบบอเมริกันบ้าง เพราะในโลกยุคใหม่ทุกคนมันเท่ากันหมดแล้ว ประกอบกับการถูกต่อว่ามาในครั้งที่แล้วจึงต้องรีบเปลี่ยนแปลงในปีนี้ และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ตัวเอง

ส่วนนครินทร์นั้นมองในแง่ธุรกิจว่าโดยปกติแล้วถ้าเป็นหนังอเมริกันได้รางวัลออสการ์มันจะเป็นการโปรโมตเพื่อสร้างเม็ดเงินให้มากขึ้นได้ แต่ถ้าในปีนี้เป็นหนังต่างประเทศได้ไปก็อาจจะกระทบต่อวงการฮอลลีวูดได้ และอาจจะเกิดคำถามขึ้นในความสำเร็จวงการหนังอเมริกัน ซึ่งนครินทร์คิดว่าออสการ์ยังไม่น่าจะหักดิบรางวัลต่างๆ ในปีนี้ แต่จักรพันธุ์มองว่าออสการ์อาจจะทำตัวเป็นตัวแทนของแค่หนังฮอลลีวูดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะมันส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือที่ตัวเองมี

Tags: , , ,