แรงแค้นของนาซีคล้ายคลื่นยามลมแรง หลังจากทำงานผิดพลาด กลุ่มผู้คิดการลอบสังหารฮิตเลอร์ในวันที่ 20 กรกฎาคม 1944 ต้องรับโทษถึงชีวิต ส่วนลูกๆ ของพวกเขาถูกส่งตัวเข้าสถานสงเคราะห์เพื่อลบล้างความจำในชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด

อัลเฟรด ฟอน โฮฟอัคเคอร์ ค่อยๆ ย่างฝีเท้าก้าวผ่านขอบมนของประตูทางเข้าอย่างประหม่า สำหรับเขาแล้ว มันไม่ใช่แค่เพียงการก้าวย่างเข้าไปในห้องโถงของบ้านไม้หลังเก่าเท่านั้น หากยังก้าวเข้าไปในอดีตด้วย เมื่อราว 7 ทศวรรษมาแล้ว ขณะที่โฮฟอัคเคอร์อยู่ในวัย 9 ขวบ เขาเคยถูกนำตัวมาสถานที่แห่งนี้ และถูกกักขังอยู่ที่บ้านสงเคราะห์บาด ซัคซา “ความทรงจำของผมเกี่ยวกับบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยความรู้สึกคิดถึงบ้าน โดดเดี่ยว และโหยหาโลกภายนอก” ชายวัย 82 ปีในวันนี้กล่าว

ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนของช่วงกลางเดือนสิงหาคม 1944 ตอนที่เขากับพี่สาว 2 คนถูกเกสตาโปพาตัวออกจากบ้านที่ครอตเทนมึห์ล แคว้นบาวาเรีย มายังบ้านบนเนินเขาแถบภาคกลางของเยอรมนี พอมาถึงบ้านสงเคราะห์ เด็กๆ จะถูกแยกขังไว้ตามอาคารต่างๆ ไม่ให้ติดต่อพบเจอกัน อัลเฟรดถูกกักขังไว้ในอาคารหมายเลข 2 รวมกับเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกันกับเขา เขาย้อนความจำ “ที่น่ากระวนกระวายใจที่สุดก็ตรงที่ไม่มีใครบอกเราว่าทำไมเราถึงมาอยู่ที่นี่ และจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเราต่อไป”

เหตุผลที่ทำให้พวกเขาหมดอิสรภาพเป็นเพราะการกระทำของพ่อพวกเขา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1944 มีกลุ่มคนใกล้ชิดของเคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก พยายามจะลอบสังหารฮิตเลอร์ เพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครอง ในกลุ่มนั้นรวมเซซาร์ ฟอน โฮฟอัคเคอร์-พ่อของอัลเฟรด ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติของกราฟ ชเตาฟ์เฟนแบร์ก อยู่ด้วย

เคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก

ระหว่างนั้น ฟอน โฮฟอัคเคอร์ ประจำการในหน่วยรบทางอากาศอยู่ที่ปารีส และคอยปฏิบัติการโค่นอำนาจผู้นำอยู่ในเมืองหลวงของฝรั่งเศส แต่ความพยายามในการปฏิวัติทั้งในเยอรมนีและดินแดนยุโรปที่ถูกยึดครองไม่ประสบผลสำเร็จ

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ รอดตายจากระเบิดที่ซุกไว้ในห้องประชุมและลั่นวาจาจะล้างแค้น ในคืนวันที่ 20 ย่างเข้าวันที่ 21 กรกฎาคม เขาแถลงการณ์ทางวิทยุ แจ้งข่าวและย้ำเตือนให้ประชาชนรับรู้ว่ากลุ่มคนที่คิดต่อต้าน-แย่งชิงอำนาจ จะต้องได้รับโทษอย่างสาสม

ใครที่ไม่ถูกฆ่าทิ้งในทันทีเหมือนเช่นชเตาฟ์เฟนแบร์ก ก็จะถูกปลดจากกองทัพและนำตัวขึ้นศาล ซึ่งมีประธานศาลคือ โรลันด์ ไฟรสเลอร์ เพื่อไต่สวนเป็นตัวอย่าง ก่อนถูกตัดสินโทษประหารในที่สุด ขั้นตอนการไต่สวนคดีเกิดขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่กลุ่มต่อต้านถูกควบคุมตัวที่เรือนจำเพลิตเซนเซ ในเบอร์ลิน

เพียงเท่านั้นยังไม่สามารถดับอารมณ์โกรธแค้นของฮิตเลอร์ได้ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ผู้บังคับบัญชาหน่วยเอสเอส และนายพลวิลเฮล์ม ไคเทล ผู้บังคับบัญชาการกองทัพ จึงให้คำแนะนำการปฏิบัติการลำดับต่อไป นั่นคือการจับกุมตัวสมาชิกในครอบครัวของผู้ก่อการนำส่งเข้าที่คุมขัง แม้จะไม่ใช่ผู้สมรู้ร่วมคิดก็ตาม

หมู่ญาติของกลุ่มต่อต้านนาซีกว่า 300 คนถูกจับกุมตัว กักขัง และยึดทรัพย์สิน ระหว่างที่เหล่าภรรยา ญาติพี่น้อง และพ่อแม่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำหรือค่ายกักกัน บรรดาลูกๆ ซึ่งหลายคนอายุต่ำกว่า 16 ปี ถูกนำตัวมาที่บาด ซัคซา

พื้นที่ชายขอบทางใต้ของเนินเขาตอนกลางของเยอรมนีไม่ได้ถูกเลือกโดยบังเอิญ เพราะบริเวณใกล้กันนั้นเป็นที่ทำงานของทีมนักวิจัย ซึ่งหน่วยงานชวนเชื่อของนาซีจัดตั้งขึ้นเพื่อผลิต ‘อาวุธสำหรับการตอบโต้’ และเสมือนเป็นฐานที่มั่นของกองทัพและกองกำลังเอสเอสในภูมิภาค การหลบหนีออกจากที่นี่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

 

ภรรยาและลูกของเซซาร์ ฟอน โฮฟอัคเคอร์

นอกเหนือจากอัลเฟรด ฟอน โฮฟอัคเคอร์ กับพี่สาว-ลีเซล็อตเตและคริสตา ยังมีเด็กคนอื่นๆ อีกกว่า 40 คนถูกพาตัวมายังบาด ซัคซา ในจำนวนนั้นมีลูกๆ ของชเตาฟ์เฟนแบร์กรวมอยู่ด้วย – แบร์โทลด์ ไฮเมรัน วาเลรี และฟรานซ์-ลุดวิก เดินทางมาถึงบ้านสงเคราะห์พร้อมกับญาติอีก 2 คนในวันที่ 17 สิงหาคม ผู้ดูแลบ้านพักแจ้งให้พวกเขารับรู้ในวันนั้นว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป พวกเขาไม่ได้ใช้นามสกุล ‘ชเตาฟ์เฟนแบร์ก’ อีกแล้ว แต่เป็น ‘ไมสเตอร์’ แทน ตัวตนใหม่ของพวกเขาควรจะทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับพ่อของพวกเขาถูกเลือนไป อีกอย่าง สมาชิกภายในบ้านสงเคราะห์ไม่ควรรับรู้ด้วยว่า คนที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเหล่านั้นเป็นใครกันบ้าง

บรรดาลูกๆ ของชเตาฟ์เฟนแบร์ก แม้ไม่ได้แสดงท่าทีแข็งข้อขัดขืน แต่ก็ไม่นำพาคำสั่ง เวลาผู้คุมย้ำถามชื่อสกุล พวกเขามักตอบว่า “ไมสเตอร์” ขณะที่มีคำตอบอยู่ในใจว่าพวกเขาคือชเตาฟ์เฟนแบร์ก

เด็กคนอื่นๆ ล้วนมีนามสกุลใหม่เช่นกัน ครอบครัวโฮฟอัคเคอร์ได้ชื่อใหม่ว่า ‘ฟรังเก’ และ ‘ชูลเซ’ แผนการของนาซีในตอนนั้นคือจัดส่งเด็กเล็กให้ไปเป็นลูกบุญธรรมของครอบครัวทหารเอสเอสชั่วคราว ส่วนเด็กโตถูกส่งเข้าฝึกอบรมในหน่วยงานของนาซี จนกว่าปรับเปลี่ยนความคิดและตัวตนใหม่ได้

ตอนที่แบร์โทล์ มาเรีย เชงค์ กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก-ลูกชายคนโตของครอบครัวชเตาฟ์เฟนแบร์ก รับรู้ว่า เขาพักร่วมอยู่กับใคร ทำให้เขารู้สึกกังวลมากขึ้น “ตอนนั้นผมกลัวว่าเรายังต้องรับโทษ เพราะพ่อของเรามีส่วนร่วมในการกระทำผิด” ความกลัวของเขามีเค้าความจริง นับแต่ต้นเดือนสิงหาคม 1944 ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ เคยข่มขู่ว่า “ตระกูลชเตาฟ์เฟนแบร์กจะต้องไม่เหลือซาก และจะต้องเป็นอุทธาหรณ์ให้ทุกคนพึงจำ”

แต่เด็กๆ ในบ้านสงเคราะห์ที่บาด ซัคซา กลับไม่ถูกสังหารเหมือนเหยื่อนาซีอื่นๆ ชีวิตประจำวันของพวกเขามีแต่ความโดดเดี่ยวและความเบื่อหน่าย พวกเขาถูกตัดขาดจากข่าวสารภายนอก ไม่มีโอกาสรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบรรดาพ่อของพวกเขาบ้าง ในเดือนสิงหาคม เพชฌฆาตของเผด็จการนาซีได้ทำการสำเร็จโทษกลุ่มต่อต้านไปหลายคน

เซซาร์-พ่อของอัลเฟรด ฟอน โฮฟอัคเคอร์ ต้องโทษประหารในวันที่ 20 ธันวาคม 1944 ที่เบอร์ลิน

จุดที่กลุ่มผู้คิดการลอบสังหารฮิตเลอร์ถูกยิงทิ้ง (REUTERS/Tobias Schwarz)

ก่อนหน้านี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในที่คุมขังเครือญาติของกลุ่มต่อต้าน ผู้ต้องขังบางส่วนถูกนำตัวออกจากบ้านสงเคราะห์ คนที่เหลือยังถูกกักขังเช่นเดิม บรรดาลูกๆ ของนายทหารที่เป็นปรปักษ์กับฮิตเลอร์ อย่างครอบครัวชเตาฟ์เฟนแบร์กและฟอน โฮฟอัคเคอร์ ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับภูมิลำเนาของตน

ต้นปี 1945 เมื่อกองกำลังทหารอเมริกันรุกคืบถึงบาด ซัคซา เด็กๆ พากันหลบซ่อนตัวในห้องใต้ดินของเรือนพยาบาล “จู่ๆ ก็มีเสียงดังสะเทือน ประตูห้องใต้ดินถูกเปิดออก แล้วเราก็เห็นผู้ชายหน้าดำๆ เดินเข้ามาในห้อง พอทหารจีไอคนนั้นเห็นพวกเรา เขาก็ยิ้ม แล้ววางปืนของเขาลงที่ข้างๆ ตัว” อัลเฟรด ฟอน โฮฟอัคเคอร์ เล่าถึงทหารอเมริกันที่เขาพบเจอครั้งแรก

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา วันที่ 8 พฤษภาคม 1945 เยอรมันนาซีประกาศพ่ายสงคราม มีเด็กอย่างน้อย 16 คนยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านสงเคราะห์ โดยมีพี่เลี้ยงและคนดูแลทำหน้าที่ต่อไป ปัญหามีอยู่ว่าพวกเด็กๆ ต้องรออยู่ที่นั่นจนกว่าบรรดาแม่ของพวกเขาได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านเสียก่อน อัลเฟรด ฟอน โฮฟอัคเคอร์ และญาติๆ ของเขาก็เช่นกัน มีโอกาสได้เดินทางกลับบ้านอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 1945 เมื่อป้าคนหนึ่งของเขาเดินทางมารับพวกเขาที่บาด ซัคซา

แต่ความปรีดาที่ได้พบเจอกันอีกครั้งก็ต้องแปรเปลี่ยนเป็นความโศกเศร้าแทบในทันที เมื่อเด็กบางคนรับรู้ข่าวการเสียชีวิตของผู้เป็นพ่อของพวกเขา “สำหรับผมแล้ว พ่อของผมยังไม่ตาย” อัลเฟรด ฟอน โฮฟอัคเคอร์ บอกเล่า “ตอนที่มีข่าวลือว่าทหารเยอรมันบางส่วนถูกส่งไปประจำการที่อเมริกาใต้ ผมเชื่อสนิทใจเลยว่าพ่อของผมต้องเป็นหนึ่งในนั้น และยังมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่งในที่ไกลๆ” จนเวลาล่วงเลยไปหลายปี กว่าที่เขาจะยอมรับความจริงเรื่องพ่อของเขาได้

นอกเหนือจากเรื่องทุกข์เศร้าเกี่ยวกับครอบครัว เขาและเด็กๆ จากที่คุมขังยังต้องเผชิญกับการถูกตัดสินและการเหยียดหยามจากเพื่อนร่วมสังคม เด็กหลายคนถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ และถูกกลั่นแกล้งในแต่ละวัน นั่นเพราะหลังวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 ชาวเยอรมันยังไม่ปรับเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดเสียทีเดียว ดังนั้น ใครก็ตามที่เคยต่อต้านอำนาจผู้นำนาซีก็ยังถูกหมายหัวเป็นคนทรยศอยู่นานนับปี

เมืองบาด ซัคซา ก็เช่นกัน ยังมีอดีตเกี่ยวกับนาซีฝังแน่นในความทรงจำ บ้านสงเคราะห์ด้านหน้าประตูเมืองถูกห่มคลุมด้วยความเงียบ ไม่มีใครอยากพูดถึง เมื่อหลายปีก่อน บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าอาคารเคยถูกใช้เป็นลานแคมปิ้ง มีรถเทรลเลอร์จอดเรียงรายตรงหน้าอาคารไม้สภาพโทรม สถานที่ซึ่งแต่ก่อนมีเด็กๆ ถูกกักขังอยู่ในนั้น

ปลายปี 2016 ชาวเมืองร่วมมือกับหน่วยงานของ Memorial to the German Resistance (อนุสรณ์การต่อต้านของเยอรมัน) โดยใช้พื้นที่ใจกลางเมืองจัดนิทรรศการ เพื่อรำลึกถึงชะตากรรมของเด็กๆ และญาติพี่น้องของพวกเขา ที่นี่เป็นจุดกำเนิดอนุสรณ์สถาน หลังจากผ่านเหตุการณ์มาแล้วกว่า 70 ปี

อ้างอิง:
‘Blutrache an den Kindern der Verschwoerer’, Lisa Erdmann, Spiegel Online
www.gdw-berlin.de (Gedenkstaette Deutscher Widerstand)
www.deutsche-biographie.de
Wikipedia

Tags: , ,