คิดชื่อบทความนี้อยู่นาน สุดท้ายก็เล่นง่ายๆ ด้วยการรวมเอาสิ่งที่เราประทับใจทั้งหมดที่เพิ่งไปเจอมามารวมกัน นั่นล่ะค่ะคือเหตุผลว่า ทำไมชื่อบทความนี้จึงดูเหมือนคำขวัญในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยไปเสียได้

ฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี่ (Harpers Ferry) ตั้งอยู่ในรัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย ห่างจากสถานียูเนี่ยนสเตชั่นในวอชิงตัน ดีซี อยู่ราวชั่วโมงเศษโดยรถไฟ เพื่อนชาวอเมริกันแนะนำให้ฟังคร่าวๆ ว่า เหมือนคุณตีตั๋วแบบวันเดย์ทริปไปเที่ยวในเมืองคล้ายๆ กับที่เห็นในซีรีส์ Westworld ก็นั่นล่ะค่ะ หลังจากเก็บแทบทุกพิพิธภัณฑ์และแลนด์มาร์กที่สนใจในดีซีหมดแล้ว ก็บอกเพื่อนว่า โอเค งั้นขอไปหาชุดวินเทจใส่ก่อนจะไปนะ

ฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี่ เป็นเมืองเล็กที่เล็กมากๆ (มีประชากรไม่ถึง 300 คน) ตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนของรัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย (ที่ขึ้นชื่อด้านความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและการทำเหมือง) เขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย (หรือ วอชิงตัน ดีซี) และรัฐแมรีแลนด์ ซึ่งสองภูมิภาคหลัง มีบทบาทด้านประวัติศาสตร์การเมืองในยุคต้นของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย) แต่เห็นเป็นเมืองเล็กๆ อย่างนี้ แต่ก็ถือเป็นเมืองที่รวมเอาคาแร็กเตอร์ของสามรัฐดังกล่าวเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

เริ่มจากทำเลที่อยู่ในหุบเขารายล้อมด้วยธรรมชาติ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ณ รอยต่อของแม่น้ำโปโตแมค (Potomac) และแม่น้ำเชอนานโดห์ (Shenandoah) ฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี่ จึงถือเป็นเมืองยอดนิยมสำหรับนักเดินเขา โดยอยู่ในเส้นทาง Appalachian Trail (ที่นี่เป็นที่ตั้งของสำนักงานที่ดูแลเส้นทางเดินเขาเส้นทางนี้) เส้นทางเดินเท้าที่พาดผ่านผืนป่าและภูเขาของ 14 รัฐฝั่งตะวันออกของอเมริกา (จากรัฐจอร์เจียไปจรดรัฐเมน รวมกว่า 2,200 ไมล์ – เป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเท้าที่ยาวที่สุดในโลก) แถมยังมีเส้นทางเดินป่าสวยๆ หลายระยะให้เลือกเดิน

ขณะที่ในอีกด้าน ฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี่ ก็ยังเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ จอร์จ วอชิงตัน เลือกให้เป็นที่ตั้งคลังแสงของประเทศ และเป็นเมืองที่มีบทบาทในฐานะหนึ่งในชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐทางใต้และเหนือในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อีกด้วย

ความที่เป็นเมืองในยุคต้น ทั้งยังมีสถานที่ประวัติศาสตร์หลงเหลืออยู่ พื้นที่ดาวน์ทาวน์ของฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี่ รวมทั้งพื้นที่ป่าโดยรอบ จึงได้รับการอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานแห่งชาติ อาคารเก่าทุกหลังในเขตดาวน์ทาวน์ซึ่งตั้งเรียงรายระหว่างทางลาดจากเนินเขาลงไปยังชายฝั่งของแม่น้ำ ได้รับการบูรณะทั้งภายนอกและจำลองบรรยากาศภายในไว้ให้เหมือนในยุคศตวรรษที่ 19 คือถ้าอาคารนี้เคยเป็นร้านขายเครื่องหนัง ก็จำลองภายในให้มีทั้งเคาน์เตอร์จ่ายเงิน ที่แขวนสินค้า ฯลฯ อาคารหลังไหนเคยเป็นร้านขายเสื้อผ้า ก็จัดเต็มด้วยเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวแบบที่คนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนสวมใส่ หรืออาคารหลังไหนเคยเป็นบาร์ ก็ยกเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งแบบบาร์ในยุคนั้นมาโชว์เลย

น่าเสียดายอยู่หน่อยคือเขาไม่เปิดให้บริการจริงๆ แต่จัดแสดงแบบพิพิธภัณฑ์เสียมากกว่า กระนั้น อาคารสถาปัตยกรรมยุคเดียวกันริมถนนสายหลัก (High Street) ที่ลาดลงมายังพื้นที่ที่เป็นเขตประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า Lower Town ก็มีร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านขายของที่ระลึก รวมทั้งที่พักแบบ bed & breakfast ให้บริการ

นอกจากอาคารที่ภายในจำลองบรรยากาศย้อนยุค อาคารหลายหลังใน Lower Town ยังถูกดัดแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมือง โดยเน้นเหตุการณ์สำคัญในปี 1859 คือการบุกยึดคลังแสงของสหรัฐอเมริกาโดย จอห์น บราวน์ นักเคลื่อนไหวหัวรุนแรงที่ต้องการจะล้มล้างระบบทาสออกไปจากประเทศ ในปีนั้น บราวน์นำพรรคพวกบุกฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี่ เพื่อยึดคลังแสงสำหรับใช้ในขบวนการปลดแอก การกระทำอันเลือดเดือดของเขาครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ บราวน์ถูกนำตัวมาขึ้นศาลและถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะปลดแอกทาสของบราวน์นี้เองที่เป็นชนวนสำคัญให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐทางเหนือที่ต้องการจะล้มเลิกระบอบทาสและรัฐทางใต้ที่ก่อตั้งสมาพันธรัฐเพื่อคงระบอบทาสไว้อย่างเดิม จนสงครามสิ้นสุดในปี 1865 โดยรัฐทางเหนือเป็นฝ่ายชนะ ก่อนจะมีการยกเลิกระบบทาสอย่างเป็นทางการนับแต่นั้น

พิพิธภัณฑ์ จอห์น บราวน์ (John Brown Museum) คือพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวในสองพารากราฟที่แล้วอย่างละเอียด ตั้งอยู่ในอาคารสูงสามชั้น ตรงข้าม John Brown Fort ซึ่งด้านข้างอาคารนี้เองเป็นลานกว้างที่แต่เดิมคือคลังแสงของอเมริกา ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์คือ White Hall Tavern จัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของเมืองเมืองนี้หลังยุค จอห์น บราวน์ รวมทั้งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการปลดแอกทาสแอฟริกันในอเมริกา

ภาพจาก https://www.fhwa.dot.gov/byways/photos/67266

ฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี่ ถือเป็นหนึ่งในเมืองที่ให้อิสระกับทาสผิวสีอยู่พอสมควร โดยในนิทรรศการก็บอกเล่าชีวิตของชาวแอฟริกันในศตวรรษก่อนที่จะเป็นอิสระชนและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเมืองนี้เช่นคนผิวขาวทั่วไป

พ้นจากกลุ่มอาคารเก่าออกไป คือสะพานทางรถไฟ B&O Railroad Potomac River Crossing สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเก่าแก่ที่เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำสองสาย ข้างๆ สะพานก็ยังมีสะพานรถไฟอีกแห่งซึ่งสร้างทีหลัง โดยสะพานนี้ยังมีทางเดินเชื่อมไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินป่าระยะใกล้รอบๆ พื้นที่

ทั้งนี้ ถ้ามีเวลาและมีแรงให้เดินขึ้นเขาเส้นทาง Marryland Heights เพื่อขึ้นไปถ่ายรูปเมืองฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี่จากข้างบน (บนภูเขาเหนืออุโมงค์รถไฟ) จะเห็นวิวอันตราตรึงของสะพานรถไฟทั้งสองแห่งและตัวเมืองเก่า Lower Town Town ดังเช่นรูปข้างบนนี้

จากย่านประวัติศาสตร์ใน Lower Land แนะนำให้เดินย้อนขึ้นเนินไปยังโบสถ์ St. Peter’s Roman Catholic ซึ่งปกติเขาไม่ได้เปิดหรอกค่ะ (อ้าว แล้วจะเขียนทำไม) แต่เลยไปหน่อยคือ Jefferson’s Rock แท่นหินที่ประธานาธิบดีทอมัส เจฟเฟอร์สัน มาหยุดสำรวจพื้นที่ อันเป็นจุดชมทิวทัศน์ของเมืองและแม่น้ำที่สวยอีกจุด หลังจากนี้ จะเป็นเส้นทางเดินเขาต่อไปอีกเรื่อยๆ

เพื่อนชาวอเมริกันบอกว่าไอศกรีมที่ร้าน Cannon Ball Deli เป็นหนึ่งใน a must ของเมืองนี้ แต่ความที่เราเคยชิมไอศกรีมโฮมเมดที่อร่อยกว่านี้ที่ วอชิงตัน ดีซี มาแล้ว เลยไม่ใคร่จะแนะนำเท่าไหร่ ร้านที่อยากแนะนำมากๆ อยู่ถัดขึ้นไปอีก 3-4 ช่วงตึกริมถนนสายหลัก คือ True Treats History Candy ซึ่งเป็นร้านกึ่งพิพิธภัณฑ์จำหน่ายลูกกวาดและขนมหวานสไตล์อเมริกัน ซึ่งมีให้ชิมและช็อปตั้งแต่ขนมตำรับแรกที่มีในประเทศนี้

คุณป้าซูซาน เบนจามิน (Susan Benjamin) เจ้าของร้าน เป็นนักเขียนและนักวิชาการที่ทำวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น้ำตาลและขนมหวานในอเมริกามากว่า 40 ปี ผลิตผลจากงานวิจัยของเธอหาใช่เพียงหนังสือและองค์ความรู้ แต่เธอเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นด้วยการเปิดร้านขายขนมที่มีลูกกวาดแบบเดียวกับที่ชาวอเมริกันในปลายศตวรรษที่ 16 ไปจนถึงยุค mid century ของศตวรรษที่แล้วกิน ร้านให้อารมณ์คล้ายอยู่ในงานวัดฝรั่ง มีขนมแบ่งหมวดหมู่ตามยุคสมัย ตั้งแต่ยุคอินเดียนแดง ยุคแห่ง sugar cane ไปจนถึงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมีป้าซูซานเป็นคนแนะนำลูกค้าพร้อมบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของขนมแต่ละยุคให้ฟังโดยคร่าว

แต่ก็นะ พูดตามตรงว่าลูกกวาดยุคแรกของประเทศนี้ไม่น่ากินเลย เหมือนก้อนน้ำตาลหรือขัณฑสกรที่น่าจะหวานๆ แห้งๆ กระนั้น หากใครอยากลองไปชิมว่าขนมหวานต้นตำรับของประเทศนี้รสชาติเป็นอย่างไร แนะนำให้ไปลองกัน แต่ถ้าไม่กล้าลอง การมาที่นี่เพื่อดูวิวัฒนาการของขนมหวาน และเลือกซื้อขนมอื่นๆ กลับบ้านก็ถือเป็นสิ่งที่รื่นรมย์ทีเดียวล่ะ

 

FACT BOX:

วิธีเดินทางไปฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี:
มีรถไฟ Amtrak จาก Union Station ในวอชิงตัน ดีซี มาฮาร์เปอร์ส เฟอร์รีทุกวัน ค่าตั๋วประมาณ 13 ดอลลาร์ สามารถเช็กรอบได้ที่ www.wanderu.com
สถานีรถไฟ Harpers Ferry ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารแถวบนถนน High Street ถ้าออกมาแล้วเลี้ยวซ้ายก็จะเจอ John Brown’s Fort และย่าน Lower Town

Tags: , , , ,