ย้อนกลับไปในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ‘แม่กำปอง’ หมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาของจังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตทั้งของคนเมืองและคนในจังหวัดต่างๆ ที่ไหลเวียนมาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านนี้อย่างไม่ขาดสาย เพราะรับรู้ถึงเสน่ห์ของพื้นที่แห่งป่าเขาที่มีลำธารใสไหลรินตลอดเวลา และมีโฮมสเตย์ให้ลองใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่แบบที่หลายคนโหยหา

เมื่อกลายเป็นสถานที่ฮิต แน่นอนว่าความห่วงใยในด้านต่างๆ ของคนนอกที่มองเข้ามาที่หมู่บ้านแม่กำปองก็เริ่มมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรุกล้ำของวัฒนธรรมต่างถิ่น ระบบทุนนิยมที่รอเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ หรือแม้แต่ความกังวลว่าเมื่อคนเลิกเห่อแล้ว แม่กำปองก็จะถูกทิ้งลืมเหมือนสถานที่ดังๆ ในอดีตหรือเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในสายตาของพ่อหลวงพรหมมินทร์ พวงมาลา ผู้ใหญ่บ้านของที่นี่มาตลอด

อดีต:

พ่อหลวงพรหมมินทร์เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเขาบอกว่าตอนนั้นหมู่บ้านแม่กำปองมีเรื่องที่ต้องจัดการและพัฒนาในด้านต่างๆ เยอะมาก เรียกว่าแทบจะทุกเรื่องเลยก็ว่าได้

“ตอนนั้นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดคือการคมนาคม การเดินทางของเราในตอนนั้นเรียกว่าไม่มีความสะดวกสบายเลย เรื่องอาชีพก็เป็นสิ่งที่ต้องจัดการ เรื่องระบบสาธารณสุขก็มีปัญหา เราต้องแก้ปัญหาเรื่องโรคคอพอกที่ชาวบ้านเป็นกันเยอะ รวมถึงการจัดการเรื่องห้องน้ำของแต่ละบ้านให้ถูกสุขลักษณะ”

การเปิดหมู่บ้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเป็นเป้าหมายหลักของพ่อหลวงพรหมมินทร์ที่มองว่าจะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้หมู่บ้านพัฒนาได้เร็วขึ้นจากเม็ดเงินของนักท่องเที่ยว

“หมู่บ้านแม่กำปองของเรามีสิ่งดีๆ อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมเก่าแก่ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนสำหรับการขับเคลื่อนพัฒนาหมู่บ้าน ผมจึงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน สร้างกระบวนการเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ใช้เวลาทั้งหมดสี่ปีที่พวกเราทำกันเองโดยไม่มีหน่วยงานใดมาช่วยสนับสนุน และเราก็เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้สำเร็จ”

ปัจจุบัน:

หมู่บ้านแม่กำปองกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ เมื่อใครคิดว่าจะมาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เพราะการเดินทางที่สะดวก สามารถขับรถมาเที่ยวได้เองหรือใช้บริการรถตู้ไปกลับจากสนามบินก็ได้ ซึ่งจุดเด่นของที่นี่คืออากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี ถึงขนาดว่าปลายปีที่ผ่านมามีคนหลั่งไหลมาสัมผัสกับความเย็นสบายของแม่กำปองจนโฮมสเตย์เต็มทุกหลัง และจุดเช็กอินยอดฮิตอย่างหน้าร้านกาแฟ บ้านฮิมห้วยลุงปุ๊ด&ป้าเป็ง และที่อื่นๆ ต้องมีการต่อคิวรอถ่ายรูป

“หลังจากที่เราตั้งกองทุนหมู่บ้าน และขยับขยายเป็นกองทุนอื่นๆ ตามมา ทำให้เรามีงบใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาหมู่บ้าน และการที่เราเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักก็เป็นการลงทุนที่ไม่เยอะมาก เพราะบ้านเป็นต้นทุนที่เรามีอยู่แล้ว แค่จะทำอย่างไรให้ต้นทุนของเราแตกหน่อออกผล เราจึงตั้งกรรมการให้ช่วยดูเรื่องนี้ เวลาที่ลูกบ้านมาแจ้งความประสงค์ว่าจะขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกหมู่บ้านโฮมสเตย์ คณะกรรมการก็จะไปตรวจสอบตัวบ้าน ซึ่งเรามีข้อกำหนดหลวมๆ แค่ว่าห้องน้ำ ห้องนอน และห้องครัวต้องสะอาด เจ้าของบ้านมีอัธยาศัยไมตรี ไม่เคยมีประวัติการลักขโมย เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาพักอย่างสบายใจ รวมถึงมีการดูแลความปลอดภัยให้กับเจ้าของบ้านด้วย เราจึงมีการจัดระเบียบโฮมสเตย์ทุกหลัง เมื่อแขกที่จะมาพักติดต่อเข้ามา เราก็จะจัดลำดับการเข้าพักตามบ้านหลังต่างๆ เวียนกันไปเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้กันทุกคน”

อนาคต:

สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอก็คือถ้าสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดได้รับความนิยมมากๆ การเสื่อมความนิยมก็จะเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว หลายคนจึงเป็นกังวลว่าแม่กำปองในวันข้างหน้าจะถูกปล่อยลืมเหมือนกับที่เกิดขึ้นในหลายๆ ที่หรือเปล่า แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น ผลกระทบที่มีต่อชาวบ้านทั้งหลายจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อพูดถึงการลงทุน แน่นอนว่าก็คงไม่มีใครอยากจะขาดทุน

“เรากำลังร่างกฏเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อต้านการเข้ามาของคนภายนอก ไม่อย่างนั้นใครจะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในบ้านเราก็ได้ ซึ่งตอนนี้เราก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาประกอบธุรกิจบ้านพักหรือร้านค้าภายในหมู่บ้าน แต่ถ้าคุณจะเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อการพักผ่อน อันนี้ทำได้ เราไม่ห้าม ส่วนร้านค้าและธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่ตอนนี้ก็ให้มีอยู่เท่าที่มี ส่วนอาชีพอื่นๆ ที่รองรับชาวบ้านก็คือการปลูกเมี่ยงและกาแฟ ซึ่งที่นี่มีความเหมาะสมที่จะปลูกกาแฟ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เพราะเราอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเป็นพันเมตร ซึ่งการปลูกกาแฟของเราจะกลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน เพราะแม่กำปองปลูกกาแฟที่ดีมีคุณภาพได้”

Tags: , ,