ในวันที่ 26 เมษายน ปี 1986 เวลา 1:30 นาฬิกา เตาปฏิกรณ์ปรมาณูหมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเกิดระเบิดขึ้น อนุภาคปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีแผ่ขยายไปทั่วบริเวณ คนงานในโรงไฟฟ้าเสียชีวิตในชั่วพริบตา กลายเป็นมหันตภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ประชาชนเกือบ 400,000 คน ต้องอพยพย้ายถิ่นฉุกเฉิน โรงเรียน สวนสนุก ศาลากลาง สระน้ำ ท้องถนน ถูกทิ้งร้างไว้เบื้องหลัง โดยไร้คำบอกลา

หลายปีต่อมา วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เดินทางเข้าไปในดินแดนที่เต็มไปด้วยสารกัมมันตภาพรังสีที่ตกค้าง เพื่อถ่ายทำรายการ พื้นที่ชีวิต

นอกจากเนื้อหาในรายการ นี่คือภาพถ่ายบางส่วนที่เขาบันทึกเอาไว้ในปี 2012

ตึกรามบ้านช่องเก่าคร่ำครึ มีต้นไม้ขึ้นแทรกตามตึก บนถนนมีหญ้าขึ้นแทรกรกครึ้ม แต่ไม่มีผู้คนแม้แต่คนเดียว

 เชอร์โนบิลจากที่ไกลๆ ที่มองเห็นระหว่างการเดินทาง

เจ้าหน้าที่ใช้ไกเกอร์เคาน์เตอร์ (Geiger Counter) หรือเครื่องวัดกัมมันตภาพรังสี วัดระดับความเข้มข้นของกัมมันตภาพรังสี มีหน่วยเป็น microSievert per hour ยิ่งตัวเลขมาก ยิ่งมีปริมาณกัมมันตภาพรังสีเยอะ แนะนำว่าไม่ควรอยู่นาน เพราะจะมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือมีอาการ Radiation Sickness (อาการป่วยที่เกิดจากกัมมันตภาพรังสี)

ตุ๊กตาไร้ดวงตาที่ยืนอยู่บนตู้ล็อกเกอร์ไม้เก่าๆ หลังประตูทางเข้าโรงเรียนประถมนอกเขตเมืองพรีปยัต

 สภาพห้องเรียนที่เหลือเพียงเศษซากหนังสือ โต๊ะ เก้าอี้ สีที่หลุดร่อน

 บรรยากาศเย็นยะเยือกปกคลุมทั่วโรงเรียน

    ขั้นบันไดไม้ในห้องประชุมของศาลากลาง ที่เคยเป็นที่พบปะพูดคุยเรื่องการบริหารบ้านเมือง ดูเหมือนจะแตกสลายได้ทุกเมื่อ

สระว่ายน้ำขนาดใหญ่ลึกเกือบ 10 เมตรในโรงยิม แป้นกระโดดสูงตระหง่าน แต่เบื้องล่างในสระไม่มีน้ำ มีแค่เศษซากชิ้นส่วนของเพดานที่ร่วงหล่น

 ลูกบาสเก็ตบอลคาอยู่ในห่วงเขรอะสนิม เชื้อรา และสารกัมมันตภาพรังสี

ชิงช้าสวรรค์สีเหลือง ภาพจำของเชอร์โนบิล ที่มองจากหน้าต่างในโรงยิม

ลานรถบัมป์ที่ตัวรถจอดร้างจนต้นไม้งอกเกาะตามตัวถัง

มุมมองจากดาดฟ้าของอพาร์ตเมนต์คนงานในเชอร์โนบิล เมืองทั้งเมืองมีสภาพเหมือนเมืองที่อยู่กลางป่า

หนังสือยุคปฏิวัติหล่นเกลื่อนอยู่บนพื้นอพาร์ตเมนต์

ห้องอยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ แต่ละห้องตกแต่งเหมือนๆ กัน

 ซุปมันฝรั่งและเนื้อต้มแบบรัสเซีย อาหารมื้อแรกในเชอร์โนบิล

 โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล หรือบางคนเรียกว่า ‘โลงศพเหล็ก’ คือตึกที่ไม่มีใครได้เห็นว่าข้างในมีอะไร และไม่สามารถเข้าไปซ่อมแซมจากข้างในได้ เนื่องจากภายในมีสารกัมมันตภาพรังสีเป็นร้อยๆ ตัน

หากมีโอกาสไปเชอร์โนบิล ขอเตือนว่าอย่าเข้าใกล้ต้นมอส เพราะมอสเป็นพืชที่ดูดซับกัมมันตภาพรังสี เมื่อเอาไกเกอร์เคาน์เตอร์ไปวัดใกล้ๆ ตัวเลขในหน้าปัดจะกระโดดจาก 2-3 หน่วยไปที่ 12-13 หน่วยในพริบตา ซึ่งเป็นระดับที่เสี่ยงมาก สูงกว่าระดับกัมมันตภาพรังสีในชั้นบรรยากาศทั่วไปกว่า 30 เท่า (*ในภาพไม่ใช่ต้นมอส)

CHERNOBYL
map:

ร่วมเดินทางเสาะหาชีวิตบน 7 เส้นทางที่พ่อแม่คงไม่อยากให้คุณไปในดินแดนสุดดิบเถื่อน เรียนรู้ชีวิต และทำความเข้าใจพื้นที่ข้างในตัวเองที่เข้าถึงยากที่สุดกับวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ได้ที่หนังสือ เถื่อนเจ็ด The Savage Seven

เถื่อนเจ็ด The Savage Seven เขียน: วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, สำนักพิมพ์ a book เรียบเรียง: รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

DID YOU KNOW?

  • 8 เดือนหลังโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิด ได้มีการสร้าง ‘โลงหินโบราณ’ ทำจากเหล็กกล้าหนัก 7,000 ตัน และคอนกรีต 410,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อปกคลุมเตาปฏิกรณ์และหยุดยั้งการปลดปล่อยกัมมันตรังสีขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
  • ‘ป่าแดง’ คือชื่อเรียกบริเวณรอบโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการระเบิดมากที่สุด ซึ่งมาจากใบสนสีน้ำตาลแห้งที่ตายจากกัมมันตภาพรังสี ปัจจุบันเป็นพื้นที่ห้ามเข้า เพราะมีสารกัมมันตภาพรังสีในระดับอันตราย