ธันวาคมเป็นเดือนที่พิเศษ เพราะเป็นเดือนสุดท้ายที่คั่นกลางอยู่ระหว่าง 11 เดือนที่ผ่านมา และ 11 เดือนที่กำลังจะมาถึง เป็นช่วงเวลาที่เพอร์เฟกต์สำหรับการหยุดหาเวลาว่างให้กับตัวเอง ถือปากกาและกระดาษไปร้านกาแฟหรือนั่งในสวน ทำ 3 สิ่งที่เราอาจจะไม่มีโอกาสทำระหว่างปี คือ

– มองย้อนไปข้างหลัง ทบทวนประสบการณ์
– มองไปข้างหน้า วางแผนอนาคต
– หยุดอยู่กับปัจจุบัน และขอบคุณตัวเอง

ประโยชน์ข้อหนึ่งที่ได้จากการทำ 3 อย่างนี้ทุกปี นั่นคือความสามารถในการมองเห็น ‘เวลา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ กลายเป็นเหมือนเหรียญในกระเป๋า เหรียญแต่ละเหรียญมีค่าเท่ากับ 365 วัน และทุกๆ ปี เราจะต้องจ่ายเหรียญจากกระเป๋าคืนให้ธรรมชาติไปทีละหนึ่งเหรียญ แลกเปลี่ยนกับเวลาที่ใช้บนโลกนี้โดยไม่มีสิทธิ์ต่อรอง ถ้าคิดว่าตัวเองน่าจะมีชีวิตอยู่ถึง 70 ปี และวันนี้ใช้ไปแล้ว 30 ก็เท่ากับว่าในกระเป๋ามีเหลืออยู่อีก 40 เหรียญ จบปีนี้ไปอีกปีก็ลดลงเหลือ 39 เหรียญ

แคทถามตัวเองทุกปีว่าจะทำอะไรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเหรียญในกระเป๋า และแม้ว่าคำตอบที่ได้จะแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ การที่ต้องจ่ายเวลาออกไป ไม่ว่าเราจะใช้เวลานั้นอย่างมีค่าหรือว่าสิ้นเปลืองก็ตาม

เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองใช้เหรียญแห่งกาลเวลาอย่างไม่มีจุดหมาย มีหลักคิดง่ายๆ 3 ข้อ ที่เราสามารถนำมายืดหยุ่นและปรับใช้เป็นหลักปฏิบัติในการตั้งเป้าหมายและวางแผนเวลาสำหรับแต่ละปี

โลกใบนี้มีคนอยู่มากกว่า 7 พันล้านคน และคนทุกคนมีความเป็นเอกลักษณ์
เอกลักษณ์ทำให้เรามีนิยามความสุขแตกต่างกัน
เพราะฉะนั้น เป้าหมายที่ดีจึงไม่ใช่เป้าหมายที่ป๊อปปูลาร์ที่สุด

 

1. เลือกเป้าหมายที่มีความหมายต่อเรา ‘เพียงข้อเดียว’

โลกใบนี้มีคนอยู่มากกว่า 7 พันล้านคน และคนทุกคนมีความเป็นเอกลักษณ์ เอกลักษณ์ทำให้เรามีนิยามความสุขแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น เป้าหมายที่ดีจึงไม่ใช่เป้าหมายที่ป๊อปปูลาร์ที่สุด ไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องฟังดูยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเป้าหมายที่มีค่าในสายตาใคร ตราบใดที่สิ่งนั้นมีค่าในสายตาเรา และเป็นสิ่งที่เมื่อเราทำสำเร็จจะทำให้เรามีความสุขและภูมิใจที่สุด ข้อสำคัญ คือการจัดลำดับความสำคัญความสุขเหล่านี้ และเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุดเพียงหนึ่งข้อเป็นเป้าหมายปีใหม่

เหตุผลที่ควรเลือกเพียงทีละข้อ นั่นเป็นเพราะเราทุกคนมี Willpower ในปริมาณจำกัด

Willpower หมายถึงความสามารถในการควบคุมตัวเองให้ทำสิ่งที่เราวิเคราะห์ว่ามีความสำคัญ แม้ว่าสิ่งนั้นจะยากหรือค้านกับความรู้สึกส่วนหนึ่งของตนก็ตาม

Willpower มีการทำงานไม่ต่างจากกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อถูกใช้ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น วิ่งติดต่อกันหลายชั่วโมง กล้ามเนื้อจะล้า จนในที่สุดไปต่อไม่ไหว ต้องหยุดทำงานหนักและพักเหนื่อย เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่เราฝืนความรู้สึกและควบคุมตัวเองให้ทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ฝืนลุกขึ้นมาจากเตียงตอนตีห้าแม้ว่าจะอยากนอนต่อ อดกลั้นไม่กินบราวนีช็อกโกแลต แม้ว่าจะอยากกินของหวานมัน อดทนทำงานแม้ว่าจะอยากกลับบ้านไปเล่นกับลูก เราต้องสะกดความรู้สึกและบังคับตัวเองให้ทำสิ่งที่ไม่อยากทำชั่วคราว พลังใจที่เราใช้ในการสะกดความรู้สึกนี้ คือการทำงานของ Willpower

ลองคิดดูว่าในแต่ละวัน เราต้องใช้ Willpower มากขนาดไหน เพื่อทำภารกิจของเราให้สำเร็จ ยิ่งวันที่ต้องเจอเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมากกว่าปกติ เราก็ต้องใช้ Willpower มากขึ้นเพื่อจะทำหน้าที่วันนั้นให้จบ เมื่อใช้มาก พลังใจก็ลดลงมาก จนถึงจุดหนึ่งก็ไม่ต่างจากกล้ามเนื้อที่ล้าจนไปต่อไม่ไหว เพราะเมื่อเราฝืนความรู้สึกจนมาถึงจุดที่เหนื่อยใจ สุดท้ายเราก็ต้องให้เวลาตัวเองเป็นอิสระทำตามใจบ้าง และช่วงนี้ คือช่วงเวลาอันตราย เพราะเป็นเวลาที่เราจะไม่รู้สึกผิดที่จะเลิกความตั้งใจและหยิบบราวนีคำโตเข้าปากนั่นเอง

ดังนั้น นอกจากหน้าที่ในชีวิตประจำวัน หากเรายังสร้างเป้าหมายมาจำกัดตัวเองหลายข้อ โอกาสที่เราจะเหนื่อยล้าและล้มเลิกกลางคันก็มีมากขึ้นไปด้วย

การตั้งเป้าปีใหม่คือการให้โอกาสตัวเองเลือกโปรเจกต์ที่ไม่จำเป็นว่าต้องเกี่ยวกับความอยู่รอดในวันนี้
เป็นการเลือกสร้างผลงานที่มีความหมายต่อตัวตนของเราในระยะยาว
และสิ่งนี้มักเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ภายในวันเดียว
เช่น การเขียนนิยายที่เราใฝ่ฝันมานาน การฝึกภาษาอังกฤษจนคล่อง การสร้างธุรกิจเพื่ออิสระทางการเงิน

 

2. แปรรูปเป้าหมายรายปีให้กลายเป็นเป้ารายวัน

ความสุขแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ ความสุข ณ ปัจจุบัน และความสุขที่ยังมาไม่ถึง

มนุษย์ทุกคนมีกลไกในการดำเนินชีวิตที่เหมือนกัน กลไกที่ว่านั้นคือการเลือกทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน โดยมีเป้าหมายเพียง 2 อย่าง อย่างแรกคือ ทำไปเพื่อความสุข อย่างที่สองคือ ทำไปเพื่อเลี่ยงความทุกข์

มนุษย์ยุคแรกออกหาอาหารเมื่อหิวและพยายามกินให้มากที่สุดเมื่อหาได้ ทำทุกอย่างเพื่อความสุข ณ ปัจจุบัน เป็นการตอบสนองแรงขับที่เกิดขึ้นวินาทีต่อวินาที เมื่อเวลาผ่านไป สังคมที่ซับซ้อนขึ้นกระตุ้นให้สมองเรามีวิวัฒนาการสูงขึ้น สมองที่ส่งผ่านข้ามกาลเวลามาคือสมองที่ฉลาดขึ้นในการวางแผนเพื่อความสุขที่ยืดออกไปถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ทุกวันนี้ มนุษย์ไม่เพียงกินอาหารเพื่อความสุขขณะปัจจุบัน แต่ยังสร้างตู้เย็นเพื่อเก็บอาหารไว้กินสำหรับอนาคต เราก้าวมาถึงจุดที่สมองทำงานเหมือนคอมพิวเตอร์ที่คอยคำนวณตลอดเวลาว่าจะทำกิจกรรมเพื่อความสุขขณะปัจจุบัน หรือควบคุมตัวเองให้ทำกิจกรรมเพื่อความสุขในอนาคตจึงจะส่งผลดีที่สุด มนุษย์ที่ไม่รู้จักการคำนวณและเลือกพฤติกรรมที่เหมาะสม เอาแต่ทำเพื่อความสุขในปัจจุบันอย่างเดียว มักจะไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมและมีชีวิตที่มั่นคงได้ เพราะคนเหล่านี้อาจไปฉุดคร่าภรรยาชาวบ้าน ขโมยของ และถูกขับไล่ออกจากสังคมในที่สุด

การวางเป้าหมายปีใหม่ ก็คือการใช้กลไกของสมองที่ต้องการเก็บเกี่ยวความสุขทั้ง 2 ประเภท และสร้างประโยชน์สูงสุดให้ตัวเรานั่นเอง

ในชีวิตประจำวันเราทุกคนมีสิ่งที่ต้องทำเพื่อผลในระยะสั้นและเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การตั้งเป้าปีใหม่คือการให้โอกาสตัวเองเลือกโปรเจกต์ที่ไม่จำเป็นว่าต้องเกี่ยวกับความอยู่รอดในวันนี้ เป็นการเลือกสร้างผลงานที่มีความหมายต่อตัวตนของเราในระยะยาว และสิ่งนี้มักเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ภายในวันเดียว เช่น การเขียนนิยายที่เราใฝ่ฝันมานาน การฝึกภาษาอังกฤษจนคล่อง การสร้างธุรกิจเพื่ออิสระทางการเงิน

เมื่อเลือกเป้าระยะยาวของเราได้แล้ว ขั้นต่อมาคือการซอยเป้าระยะยาวให้กลายเป็นเป้าหมายรายวันหรือรายอาทิตย์ เพื่อให้สมองของเราที่ชินกับการคิดถึงปัจจุบันและสิ่งที่จับต้องได้ สามารถลงมือทำได้จริงในทันที ทักษะการแปรรูปเป้าหมายรายปีให้กลายเป็นเป้ารายวัน คือวิธีคิดที่คนที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเงิน การงาน หรือเรื่องครอบครัว สามารถทำได้ดี และทำได้อย่างมีวินัยมากกว่าคนทั่วไปนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น ปีหน้าตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินให้ได้หนึ่งแสนบาทเพื่อเริ่มธุรกิจ แคทซอยเป้าหมายนี้ออกเป็นสิ่งที่ตัวเองต้องทำในแต่ละวัน และนั่นคือการเจียดเงินออกมาเก็บไว้วันละ 275 บาท ทำติดต่อกัน 365 วัน ก็จะได้เห็นเงินหนึ่งแสนบาทในบัญชีของตัวเองปลายปีตามที่ตั้งเป้าไว้

สถิติในสหรัฐอเมริกา 45% ของจำนวนประชากรมีการตั้งเป้าหมายปีใหม่ให้กับตนเองแทบทุกปี
แต่ในจำนวนคนเหล่านี้ มีเพียง 8% ที่ทำได้ตลอดปีจนสำเร็จลุล่วง

 

3. ให้กำลังใจตัวเองตลอดปี

ตามสถิติในสหรัฐอเมริกา 45% ของจำนวนประชากรมีการตั้งเป้าหมายปีใหม่ให้กับตนเองแทบทุกปี แต่ในจำนวนคนเหล่านี้ มีเพียง 8% ที่ทำได้ตลอดปีจนสำเร็จลุล่วง

เราจะทำอย่างไรให้เราเป็นหนึ่งในจำนวน 8% ที่ประสบความสำเร็จ?

หนังสือจำนวนมากได้เขียนถึงเทคนิคการสร้างกำลังใจเพื่อให้ตัวเองทำตามเป้าได้สำเร็จ ซึ่งมีเทคนิค 3 ข้อที่ได้รับการเขียนถึงบ่อย คือ

1. หาเพื่อนไปทำกิจกรรมร่วมกัน
2. พูดคุยและป่าวประกาศเป้าหมายกับคนรอบตัว
3. ใช้ปฏิทินจดบันทึกสิ่งที่ทำแต่ละวัน

 

ถามว่า 3 วิธีนี้ได้ผลดีแค่ไหน คำตอบคือขึ้นอยู่กับว่าเรามีอุปนิสัยอย่างไร ดังนั้น จุดเริ่มต้น จึงควรเป็นการถามตัวเองว่า เรามีนิสัยอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจสู้มากที่สุด?

วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีคอนเซปต์แบ่งคนออกเป็น 2 ประเภทคือ คนที่เก็บแต้มชีวิตโดยใช้คนรอบตัวเป็นมาตรฐาน (Outer Scorecard) และคนที่เก็บแต้มชีวิตโดยใช้ตัวเองเป็นมาตรฐาน (Inner Scorecard) คนที่พึ่งพาสังคมในการวัดแต้มชีวิต มักจะเป็นคนที่สร้างพลังใจให้กับตัวเองได้ดีจากการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น นัดเพื่อนไปออกกำลังกายด้วยกัน และพูดคุยและแชร์เป้าหมายกับผู้อื่น

ในขณะที่คนกลุ่มแรกสามารถสร้างกำลังใจให้ตัวเองจากการร่วมด้วยช่วยกันของคนรอบตัว คนกลุ่มสองจะนิยมการใช้สมาธิคุยกับตัวเองและฝึกวินัยตามลำพัง คนกลุ่มหลังนี้ สามารถเพิ่มโอกาสสำเร็จด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ เป็นผู้ช่วยบันทึกข้อมูลพฤติกรรมของตนเอง เช่น การใช้ปฏิธินจดว่าวันไหนออกกำลังกายไปแล้ว หรือการใช้แอปฯ ในโทรศัพท์บันทึกพฤติกรรมรายจ่าย แล้วใช้ข้อมูลเหล่านี้คุยกับตัวเอง เตือนตัวเองให้ทำตามโปรแกรมที่ตั้งไว้จนจบ

ตัวแคทเอง มีทั้ง 2 ด้านในตัว แต่จะค่อนไปทางอยู่กับตัวเองมากกว่า ดังนั้น วิธีที่ได้ผลดีคือ นัดเจอเพื่อน และช่วยกันวางแผนเป้าปีใหม่ในช่วงปลายปีหนึ่งครั้ง เป็นการสร้างแรงกดดันและข้อผูกมัดโดยให้เพื่อนเป็นพยาน หลังจากมีเป้าแล้ว ที่เหลือตลอดปีจะพึ่งสมุดโน้ตที่มีหน้ากระดาษ 365 หน้า เพื่อจดบันทึกสั้นๆ ถึงสิ่งที่ตัวเองทำแต่ละวัน วันไหนที่ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จ เช่น ออกกำลังกายครบ 30 นาที จะติดสติ๊กเกอร์ให้ตัวเอง ปลายปีก็นับดาวที่ตัวเองเก็บได้ สมุดเล่มนี้จะเป็นเพื่อนคนเดียวระหว่างปีที่คอยเตือนเราไม่ให้นอกกรอบ

สุดท้ายนี้ แคทขออวยพรให้ผู้อ่านชาว The Momentum ค้นพบนิยามความสุขในแบบฉบับของตัวเอง ขอให้ปีหน้าเป็นปีที่ดีที่สุดของคุณผู้อ่าน ขอให้ปี 2017 เต็มไปด้วยความสำเร็จและความสมหวังนะคะ

 

ภาพประกอบ: eddy chang

Tags: , , ,