ตามสถิติ ระยะเวลาที่คู่รักใช้ชีวิตร่วมกันในการสมรสก่อนการหย่าในหลายประเทศ
เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส อเมริกา เม็กซิโก และญี่ปุ่น จะมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงอยู่ที่ 10 ปี

ปี 1995 โกฮยอนจอง นักแสดงหญิงชาวเกาหลี เข้าพิธีแต่งงานกับ จงยงจิน หลานผู้ก่อตั้งบริษัทซัมซุง ทั้งคู่แยกทางกัน 8 ปีหลังจากพิธีแต่งงาน

ข้ามไปฝั่งอเมริกา ปี 2000 แบรด พิตต์ และเจนนิเฟอร์ อนิสตัน เปิดตัวเป็นคู่รักได้ 2 ปี ก่อนจะจัดงานแต่งงานและประกาศแยกทางกันภายใน 5 ปี

อีกคู่ที่ดังไม่แพ้กัน ทอม ครูซ และเคที โฮล์มส์ ตัดสินใจมีลูกร่วมกันหลังจากคบกันได้ 7 เดือน งานวิวาห์ถูกจัดขึ้น ก่อนตามด้วยการแยกทางใน 6 ปีต่อมา

นี่เป็นเรื่องราวน่าเศร้าของคู่รักเพียง 3 คู่ จากจำนวนคู่รักหลายล้านคู่ที่มั่นใจในความสัมพันธ์ของตนจนยอมจดทะเบียนสมรสขึ้นทุกปี สถิติการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา อินเดีย เกาหลีใต้ หรือไทยของเราเอง ทำให้เราเห็นว่าทุกปีมีคู่รักจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความมั่นใจ แต่สุดท้ายต้องผิดหวังจากคำมั่นสัญญาที่ให้กัน

ตามสถิติ ระยะเวลาที่คู่รักใช้ชีวิตร่วมกันในการสมรสก่อนการหย่าในหลายประเทศ เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส อเมริกา เม็กซิโก และญี่ปุ่น จะมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงอยู่ที่ 10 ปี
สงสัยไหมคะว่าวิทยาศาสตร์สามารถบอกอะไรเราได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นดี แต่กลับอยู่ไม่เกิน 10 ปี ของคนจำนวนมาก?

จากการศึกษาคู่รัก นักวิทยาศาสตร์พบว่า ความสัมพันธ์ในช่วงเริ่มต้น และความสัมพันธ์ในระยะยาว เป็นความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากสมองทำงานในสภาวะที่ต่างกัน และมีเป้าหมายทางชีววิทยาที่ไม่เหมือนกัน การจะขยับเขยื้อนออกจากสภาวะแรก ไปเข้าสู่สภาวะที่สอง และสร้างสัมพันธ์ที่มั่นคงยาวนาน แม้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติกับคนหลายกลุ่ม แต่ก็เป็นอุปสรรคของคู่รักหลายคู่เช่นเดียวกัน

ความสัมพันธ์ระยะแรกและระยะหลังต่างกันอย่างไร?

คนที่อยู่ในห้วงรักระยะแรกมีพฤติกรรมคล้ายคนติดยา
นั่นคือ ตื่นตัว สมาธิจดจ่อ เรี่ยวแรงเยอะ ไม่หิว ไม่ง่วง
ในขณะเดียวกันอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นอารมณ์ที่รุนแรง
บางคนถึงกับแต่งเพลงและเขียนอธิบายถึงความรู้สึกว่าเป็น
เหตุการณ์ความเป็นความตาย อยู่ไม่ได้หากขาดคนรัก

ความรักระยะแรก

ผลการสแกนสมองของคนที่อยู่ในห้วงความรักระยะเริ่มต้น แสดงให้เห็นว่าสมองของคนกลุ่มนี้มีภาวะอารมณ์ที่ต่างจากปกติมาก เป็นผลเนื่องมาจากการทำงานที่เพิ่มขึ้นของสมอง 3 ส่วน

ส่วนที่หนึ่งคือ สารสื่อประสาทนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งมีผลกับการตื่นตัวและระบบทางเดินอาหาร ส่วนที่สองคือ บริเวณที่มีชื่อว่า Ventral Tegmental Area ทำหน้าที่สร้างสารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) และส่วนที่สามคือ วงจรโดปามีน ทำงานเกี่ยวกับการสร้างความสุขประเภทแรงขับ กระตุ้นให้คนทำกิจกรรมเพื่อการอยู่รอด

จากความเปลี่ยนแปลงของสมอง 3 ส่วนนี้ ทำให้คนที่อยู่ในห้วงรักระยะแรกมีพฤติกรรมคล้ายคนติดยา นั่นคือ ตื่นตัว สมาธิจดจ่อ เรี่ยวแรงเยอะ ไม่หิว ไม่ง่วง ในขณะเดียวกันอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นอารมณ์ที่รุนแรง บางคนถึงกับแต่งเพลงและเขียนอธิบายถึงความรู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์ความเป็นความตาย อยู่ไม่ได้หากขาดคนรัก

ในขณะที่สมอง 3 ส่วนนี้มีการทำงานพลุ่งพล่านเพิ่มขึ้น สมองอีก 2 ส่วนก็สวนทางโดยการทำงานลดลง ส่วนที่หนึ่งคือ สมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) เป็นสมองส่วนเหตุผลและการวางแผน เมื่อทำงานลดลง จะส่งผลให้คนที่อยู่ในห้วงรัก แม้ในภาวะปกติจะเป็นคนที่มีเหตุผลและรอบคอบ ก็อาจเปลี่ยนนิสัยเป็นคนกล้าเสี่ยง และไม่ใช้เหตุผลกับความรัก ส่วนที่สองคือ สารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) การที่สารนี้ลดลง ทำให้คนมีสภาพคล้ายกับผู้ป่วยโรค OCD หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ มีพฤติกรรมหมกมุ่นและไม่สามารถหยุดคิดเรื่องของคนรักได้

จากการศึกษาคู่รักหลายคู่พบว่าภาวะนี้จะดำเนินไปโดยเฉลี่ยประมาณ 8 เดือน ถึง 2 ปี ระหว่างนี้เพศชายจะมีพฤติกรรมเป็นฝ่ายบุก ขอความรักด้วยการตามจีบและอุทิศตน ในขณะที่เพศหญิงจะหมกมุ่นวิเคราะห์ทุกคำพูดและการกระทำของฝ่ายชาย จุดประสงค์ของภาวะพิเศษนี้คือ แรงขับอันมหาศาลและความสามารถในการมองข้ามข้อด้อยในตัวคนรักและอุปสรรคทั้งปวง เพิ่มโอกาสความสำเร็จของการจับคู่สืบพันธ์ุ ป้องกันไม่ให้เผ่าพันธ์ุมนุษย์สูญสลายไป

ความสัมพันธ์ระยะแรกเปรียบเหมือนเกมการไล่ล่าที่มีฝ่ายชายเป็นผู้ล่า
และฝ่ายหญิงเป็นผู้มีกลยุทธ์ในการหลบเลี่ยงและเลือกผู้ล่า
ส่วนความสัมพันธ์ระยะต่อมาเปรียบเหมือน
เกมปลูกผักที่คนสองคนต้องช่วยกันขุดดิน
หว่านเมล็ด ใส่ปุ๋ย รอผักโต เก็บผักไปขาย แล้วช่วยกันสร้างกระต๊อบ

ความรักระยะยาว

เมื่อนำคนรักที่ครองคู่กันโดยเฉลี่ย 2.3 ปี มาสแกนสมอง สิ่งที่พบก็คือ การทำงานของสมองเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สมอง 3 ส่วนที่ทำงานเพิ่มขึ้นในช่วงแรกไม่ตอบสนองรุนแรงเหมือนเดิมในช่วงนี้ ขณะเดียวกันสมองส่วนหน้าก็กลับมาตอกบัตรเข้าทำงาน และพฤติกรรมหมกมุ่นก็จางหายไป

ถ้าเลือกได้ หลายคนคงอยากให้ภาวะรักแบบหมกมุ่นคงไว้ตลอดไป แต่ธรรมชาติมีเหตุผลที่ออกแบบให้ภาวะนี้ลดลง

สถิติการหย่าร้างของสำมะโนประชากรไทย พบว่าสถิติการหย่าในปี พ.ศ. 2557
อยู่ที่ 37.74% ของคู่ที่จดทะเบียนสมรส

เพราะภาวะรักระยะแรกมีข้อเสียทำให้คนไม่สามารถคิดโดยใช้เหตุผลและเพ่งสมาธิไปยังสิ่งสำคัญรอบตัวได้ตามปกติ ความบกพร่องนี้ลดประสิทธิภาพการออกหาอาหาร และการเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด ดังนั้นวงจรความสัมพันธ์จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ตามสภาวะการทำงานของสมอง ความรักระยะเริ่มต้นมีหน้าที่จับคู่ส่งต่อพันธุกรรม

เมื่อผ่านไป 2 ปี (ซึ่งนักวิจัยบางคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นระยะเวลาที่เพียงพอต่อการจับคู่สืบพันธุ์ในมนุษย์พอดี) จะเข้าสู่ความรักระยะที่สอง ความรักระยะนี้มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือการร่วมสร้างชีวิตที่ปลอดภัย แบ่งหน้าที่กันเลี้ยงดูลูกอ่อน โดยเพศชายกลับไปไล่ล่า หาอาหาร และเพศหญิงให้น้ำนมและเลี้ยงลูกอ่อน การทำหน้าที่เหล่านี้ให้สำเร็จล้วนต้องพึ่งพาตรรกะ การวางแผน การเก็บออมพลัง และแบ่งจ่ายในเรื่องที่เหมาะสม แทนที่จะนำไปเสี่ยงและใช้หมดไปกับการย้ำคิดถึงคนเพียงคนเดียว และนี่จึงเป็นคำอธิบายถึงเป้าหมายและภาวะที่ต่างกันในรักระยะเริ่มแรกและรักระยะยาว

ถ้าเทียบความสัมพันธ์ระยะแรกและระยะที่สองเป็นเกม ความสัมพันธ์ระยะแรกเปรียบเหมือนเกมการไล่ล่าที่มีฝ่ายชายเป็นผู้ล่า และฝ่ายหญิงเป็นผู้มีกลยุทธ์ในการหลบเลี่ยงและเลือกผู้ล่า ส่วนความสัมพันธ์ระยะต่อมาเปรียบเหมือนเกมปลูกผักที่คนสองคนต้องช่วยกันขุดดิน หว่านเมล็ด ใส่ปุ๋ย รอผักโต เก็บผักไปขาย แล้วช่วยกันสร้างกระต๊อบ

จากสถิติการหย่าร้างของสำมะโนประชากรไทย พบว่าสถิติการหย่าในปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ 37.74% ของคู่ที่จดทะเบียนสมรส แปลว่าในจำนวนคู่รัก 3 คู่ที่ประสบความสำเร็จจากการหาคู่และจับคู่ในระยะต้น เมื่อสภาพเกมเปลี่ยนไป คู่สมรสอาจพบว่าความต้องการในชีวิตของแต่ละฝ่าย และวิธีการสร้างกระต๊อบที่ต่างคนมีนั้นต่างกันเกินไป และแยกทาง

สำหรับตัวแคท การแยกทางกับคนรักไม่ใช่เรื่องเสียหาย ชีวิตที่ยืนยาวของมนุษย์ยุคปัจจุบันหมายความว่า เรามีโอกาสพบคู่และสร้างความรักที่ดีหลายครั้ง แต่คำถามที่น่าคิดคือ หากต้องการลดความเสี่ยงจากการผิดหวังในระยะยาว มีอะไรบ้างไหมที่เราทำได้?

มีค่ะ นั่นคือ ให้ ‘ชะลอ’ การตัดสินใจเรื่องใหญ่ในชีวิต 2 เรื่อง คือ การแต่งงาน และการมีลูก จนกระทั่งอารมณ์ที่พลุ่งพล่านและสมองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งใช้เวลาโดยเฉลี่ยเพียง 8 เดือน ถึง 2 ปี

ความไม่เข้าใจถึงวัฏจักรความรัก
อาจเพิ่มความเสี่ยงในการตัดสินใจเรื่องใหญ่ในชีวิตคู่
และนำไปสู่การเลิกรา

การชะลอไม่ได้หมายความว่าห้ามเราวางแผน เรายังคงวางแผน พูดคุย ปรึกษา และฝันถึงสิ่งเหล่านี้กับคนที่เรารักได้ แต่ในทางปฏิบัติ ให้รอจนเมื่อตัวเราและคู่รักออกจากภาวะคล้ายคนติดยา แล้วค่อยลงมือทำตามแผนที่วางไว้ก็ยังไม่มีอะไรสายไป การรอจนสมองส่วนเหตุผลกลับมาทำงานได้ตามปกติ จะช่วยให้เราวิเคราะห์ทิศทางและความต้องการของตนเองได้ชัดเจนขึ้น

สรุปแล้ว คำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นดีของบางคู่กลับอยู่ไม่ยาว นั่นเพราะความรักที่ก่อตัวขึ้นในระยะแรก และความรักที่ทำให้คนสองคนครองคู่กันในระยะยาว เป็นความสัมพันธ์ที่มีการใช้ภาวะสมองแตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายของธรรมชาติที่ต่างกัน การจะขับเคลื่อนตัวจากภาวะแรกเข้าสู่ภาวะที่สอง และประคองความสัมพันธ์ให้อยู่อย่างมั่นคง จำเป็นต้องใช้เหตุผลและวินัยช่วยบริหาร

ความไม่เข้าใจถึงวัฏจักรความรัก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการตัดสินใจเรื่องใหญ่ในชีวิตคู่ และนำไปสู่การเลิกรานั่นเอง

 

ภาพประกอบ: Eddy Chang

Tags: , , , , , ,