เป็นไปได้ไหมว่าในฐานะสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊ก เราอาจกำลังเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยโดยที่เราไม่รู้ตัว?

คาดว่าหลายคนในสหรัฐอเมริกาคงตอบว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิส่วนบุคคล ด้วยเหตุนี้ทำให้คนจำนวนมากต้องตกตะลึงและออกมาแสดงความเห็นรุนแรง เมื่อพบว่าตนเองมีสิทธิตกเป็นเครื่องมือของงานวิจัยบนเฟซบุ๊กโดยไม่รู้ตัวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

 

งานวิจัยที่ไม่เปิดเผยของเฟซบุ๊ก

การทดลองนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล และองค์กรเฟซบุ๊ก การทดลองเริ่มขึ้นในปี 2012 โดยไม่มีการแจ้งเตือนผู้ใช้เฟซบุ๊กล่วงหน้า ต่อมาผลการทดลองที่ถูกตีพิมพ์ออกมาในปี 2014 ระบุว่า นักวิจัยสุ่มเลือกสมาชิกเฟซบุ๊กมากกว่า 600,000 คน ทุกคนเป็นผู้ใช้ภาษาอังกฤษ แล้วแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม และทำการปรับนิวส์ฟีดของพวกเขา

คนกลุ่มแรกได้รับนิวส์ฟีด ซึ่งเต็มไปด้วยโพสต์จากเพื่อนในเน็ตเวิร์กที่ใช้ภาษาเชิงลบในการพูดคุยและอัพเดตเรื่องราวของตน นักวิจัยจัดกลุ่มโพสต์เหล่านี้ว่าเป็น ‘โพสต์อารมณ์ลบ’ ส่วนสมาชิกในกลุ่มสองจะได้เห็นนิวส์ฟีด ซึ่งเต็มไปด้วยข้อความจากเพื่อนที่เขียนด้วยภาษาเชิงบวก เป็นโพสต์ที่นักวิจัยจัดกลุ่มว่า ‘โพสต์อารมณ์บวก’

หลังจากนั้นนักวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการโพสต์ของคนทั้งสองกลุ่ม เป้าหมายของงานวิจัยนี้คือ การตอบคำถามว่า ‘อารมณ์’ สามารถติดต่อผ่านข้อความที่คนอ่านทางเฟซบุ๊กได้หรือไม่

 

‘การติดต่อทางอารมณ์’ คืออะไร

การติดต่อทางอารมณ์ หรือ Emotional Contagion หมายถึงปรากฏการณ์ที่คนคนหนึ่งส่งต่ออารมณ์ของตนไปสู่อีกคน และอารมณ์เหล่านี้ก็มีผลต่อพฤติกรรมของคนที่เป็นฝ่ายรับ

ย้อนกลับไปตั้งแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาล ฮิปพอคราทีส บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก ได้ตั้งข้อสังเกตทางการแพทย์ซึ่งสะท้อนปรากฏการณ์การติดต่อทางอารมณ์ว่าคนไข้หญิงบางคนสามารถส่งต่อสภาวะโรคประสาท (Hysteria) สู่คนอื่นได้ ทฤษฎีนี้ไม่ได้รับการศึกษาและทดลองอย่างเป็นทางการแต่ค่อยๆ พัฒนามาด้วยการค้นพบและการตั้งสมมุติฐานของนักวิทยาศาสตร์แต่ละยุค ปี ค.ศ. 1700 นักวิจัยเริ่มค้นพบว่ามนุษย์เรามีการสะท้อนอารมณ์กันผ่านสีหน้า เช่น การยิ้ม ร้อยปีต่อมา นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ธีโอเดอร์ ลิปส์ (Theodor Lipps) ช่วยผูกทฤษฎีเมื่อเขาเสนอว่าการเลียนแบบและสะท้อนอารมณ์คือรากฐานของความเห็นใจที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการติดต่อทางอารมณ์ เป็นผลงานของ ดร.อุลฟ์ ดิมเบิร์ก (Ulf Dimberg) นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ที่พบว่า เมื่อเรามองหน้าคนที่กำลังยิ้ม หรือกำลังโมโหอยู่ กล้ามเนื้อใบหน้าของผู้มองมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสีหน้าของคนที่กำลังมองอยู่ เป็นการเปลี่ยนที่เกิดขึ้นเพื่อสะท้อนอารมณ์คนอื่น การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อเหล่านี้อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สามารถตรวจสอบได้จากเครื่องมือวัดปฏิกิริยาการขยับของกล้ามเนื้อ ผลการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าหากเรานั่งจ้องหน้าคนที่ยิ้มแย้ม เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เราจะเกิดความรู้สึกสะท้อนอารมณ์เหล่านี้และรู้สึกสดใสตามไปด้วย

ในขณะเดียวกัน หากทุกๆ วันเราต้องรับรู้ความเครียด และเจอกับใบหน้าที่อมทุกข์ อารมณ์เหล่านั้นสามารถส่งผ่านเข้ามาทำให้เราทุกข์เศร้าไปด้วยเช่นเดียวกัน

ผลงานวิจัยของ ดร.ดิมเบิร์ก เป็นหนึ่งในงานวิจัยหลายชิ้นซึ่งให้ผลสรุปว่า ‘อารมณ์’ เป็นสิ่งที่ถูกส่งผ่านและติดต่อถึงกันได้ไม่ต่างอะไรกับโรคติดต่อ โดยพาหะอารมณ์จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งมี 3 ช่องทาง คือ การแสดงออกทางสีหน้า คำพูด และภาษากาย

ที่ผ่านมาการทดลองทั้งหมดครอบคลุมเพียงการส่งต่อซึ่งเกิดขึ้นจากการพูดคุยต่อหน้าระหว่างคนสองคน ระหว่างคนในกลุ่ม และระหว่างกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง ยังไม่เคยมีการทดลองใช้ทฤษฎีนี้กับโซเชียลมีเดียมาก่อน

ดังนั้นงานวิจัยเฟซบุ๊กจึงเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ทำขึ้น เพื่อพิสูจน์ว่าการติดต่อทางอารมณ์สามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นว่าเราต้องมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อน แค่มีเพียงตัวหนังสือที่เขียนด้วยอารมณ์ก็เพียงพอสำหรับการส่งต่อ และอารมณ์ที่แพร่สะพัดอยู่ในวงจรเหล่านี้ ก็ส่งผลถึงพฤติกรรมของเราได้อีกด้วย

 

การอ่านถ้อยคำมีผลต่ออารมณ์!

หลังจากนักวิจัยทำการวิเคราะห์โพสต์มากกว่า 3,000,000 โพสต์ พวกเขาพบว่า สมาชิกในกลุ่มแรกซึ่งต้องเจอกับนิวส์ฟีดที่เต็มไปด้วยข้อความเชิงลบของคนรอบตัวเป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็ม พวกเขามีพฤติกรรมการโพสต์และอัพเดตเรื่องราวของตนที่เปลี่ยนไปในเชิงลบ โดยเริ่มใช้ถ้อยคำเชิงลบในการพิมพ์มากกว่าปกติ ในทางกลับกัน เมื่อนิวส์ฟีดถูกเปลี่ยนให้นำเสนอโพสต์อารมณ์บวก พฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่มสองก็เปลี่ยนไป พวกเขาอัพเดตเรื่องราวของตนเองโดยการใช้ถ้อยคำเชิงบวกมากขึ้น

จากการทดลองนี้ นักวิจัยสรุปว่าการติดต่อทางอารมณ์เกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำพูดหรือภาษากาย เราสามารถรับอารมณ์ของคนในสังคมเข้ามาสู่ตัวเราโดยมีพาหะเป็นเพียงตัวหนังสือ และอารมณ์ที่เรารับมาจากการอ่านถ้อยคำเหล่านี้ นอกจากจะมีผลต่อพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของเรา ยังอาจส่งผลต่อพฤติกรรมนอกจออีกด้วย

 

เราสามารถนำความรู้นี้มาปรับใช้กับชีวิตได้อย่างไร

เราสามารถสร้างวงจรความอบอุ่นมอบให้กับคนรอบตัวได้ทันที โดยเฉพาะในเวลาที่เรารู้ว่าคนรอบตัวกำลังอยู่ในสถานการณ์โศกเศร้าและสูญเสีย เพียงคำพูดจากปลายนิ้วที่เราพิมพ์ หรือภาษากายที่เราส่งถึงกันเมื่อได้เจอหน้า

เราสามารถลงมือปรับสภาพแวดล้อมของเรา กระตุ้นอารมณ์ที่ต้องการให้เข้ามาสู่ตัว เหมือนกับที่นักวิจัยปรับนิวส์ฟีดของผู้ใช้เฟซบุ๊ก คนแต่ละคนมีความอ่อนไหวต่ออารมณ์และสถานการณ์แตกต่างกัน บางคนดูหนังเศร้าแล้วร้องไห้ แต่อีกคนดูเรื่องเดียวกันกลับไม่สะทกสะท้าน หากเรารู้ตัวว่าเป็นคนไวต่ออารมณ์ เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกเศร้า บอบช้ำ สิ่งที่ทำได้คือการจัดเวลาก่อนนอนอยู่กับภาพถ่าย วิดีโอ เสียงเพลง ภาพเด็ก รูปสัตว์ หนังสือท่องเที่ยว เพลงโปรด หรือสิ่งของใดก็ตามที่กระตุ้นให้เรานึกถึงใบหน้ายิ้มแย้มและความคิดทางบวก ใช้ประโยชน์จากกลไกนี้ซึ่งเป็นสัญชาตญาณประเภทหนึ่ง สร้างภาวะความสุขและอารมณ์อันเบิกบานมอบให้ตัวเรา

แคทหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านที่สนใจเกี่ยวกับการดูสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้าง สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการทดลองเฟซบุ๊กโดยละเอียด สามารถตามไปอ่านได้ในอ้างอิงค่ะ

 

อ้างอิง:
– Dimberg U. (1982). “Facial reactions to facial expressions.” Psychophysiology 19 (6). 643-647.
– Kramer, Adam D.I., Guillory, Jamie E., Hancock, Jeffrey T. (2014). “Experimental evidence of massive-scale emotional contagion through social networks.” PNAS 111 (24): 8788-8790. http://www.pnas.org/content/111/24/8788.full.pdf

 

ภาพประกอบ: eddy chang

Tags: , , , , , , , , , , ,