ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) ที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาท รวมถึงพฤติกรรมและการเรียนรู้ของมนุษย์ เสนอวิธีที่จะทำให้คุณเรียนรู้เร็วขึ้น มีสมาธิมากขึ้น และสามารถตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดขึ้นในปีนี้

การตั้งปณิธานเป็นการบริหารการคิดปรารถนาบางสิ่ง ซึ่งคนมักจะล้มเหลว เพราะไม่มีเป้าหมายและไม่วางแผนที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเพียงข้อเดียวที่ทำให้เราล้มเหลว

ผลการศึกษาของประสาทวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วเราทุกคนสามารถมีสมาธิ มีความคิดสร้างสรรค์  มีความจำที่ดี และสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น เพียงแค่เรารู้จักทำงานร่วมกับสมองของเรามากขึ้นอีกนิดหนึ่งเท่านั้น

นี่คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ตัวคุณเป็นคนเดิมที่ดีขึ้นในปี 2017

การนอนเพียงแค่ 6 ชั่วโมง แย่พอๆ กับการอดนอนทั้งคืนเลยก็ว่าได้

1. เรียนรู้ได้มากขึ้น ถ้าไม่คิดฟุ้งซ่าน

จูดาห์ พอลแล็ก (Judah Pollack) และ โอลิเวีย ฟอกซ์ คาเบน (Olivia Fox Cabane) ผู้เขียนบทความ ‘Your Brain Has a ‘Delete’ Button-Here’s How to Use It’ เปรียบเทียบสมองกับการทำสวนเพื่ออธิบายว่า เซลล์สมองเปรียบได้กับลูกมือที่ต้องตัดแต่งกิ่ง กำจัดวัชพืช บำรุงเซลล์ประสาท เพื่อให้ประสาททำงานได้ดีขึ้น ถ้าหากการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท (synaptic connections) ไม่ได้ถูกใช้ เซลล์ส่วนนั้นจะถูกพักไว้เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับการเรียนรู้

ดังนั้นเราจึงต้องเลือกใช้ความคิดกับเรื่องที่จำเป็นต้องคิด เพราะถ้ายิ่งคิดเกี่ยวกับบางสิ่งมากเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นการใช้เซลล์ประสาทโดยไม่จำเป็น ทำให้เซลล์สมองไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร

“ถ้าคุณทะเลาะกับใครสักคนในที่ทำงาน และเสียเวลาของตัวเองไปกับการคิดแก้แค้นเอาคืน แทนที่จะคิดเกี่ยวกับการทำงานโปรเจกต์ใหญ่ คุณจะลงเอยด้วยการเป็นซูเปอร์สตาร์ด้านการสร้างพล็อตการแก้แค้น แต่ไม่ใช่นักคิดที่ดี”

2. เรียนรู้ดีขึ้น แค่นอนหลับให้เพียงพอ

การทำสวนทั้งหมดจะเกิดขึ้นอย่างแอบๆ ในระหว่างที่เรางีบหลับ ดังนั้นการนอนหลับจึงเป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้ แต่ปัญหาคือเรามักจะนอนหลับไม่เพียงพอ ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า การนอนเพียงแค่ 6 ชั่วโมง แย่พอๆ กับการอดนอนทั้งคืนเลยก็ว่าได้

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรปรับให้มีนิสัยการนอนที่ดี เช่น นอนเป็นเวลาทุกคืน รักษาอุณหภูมิห้องให้สม่ำเสมอ งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน เก็บเครื่องมือสื่อสารอย่างน้อย 30 นาทีก่อนเข้านอน และพยายามลดน้ำหนักส่วนเกิน เพราะโรคอ้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)

กุญแจสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้คุณจดจ่อกับบางสิ่งได้ดีขึ้นคือ เลิกทำงานแบบ multitasking ซะ

3. จงเชื่อสัญชาตญาณและเหตุผล จะช่วยให้ตัดสินใจดีขึ้น

การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า การเชื่อ ‘กึ๋น’ หรือสัญชาตญาณของตัวเองควบคู่ไปกับการพิจารณาความเป็นจริงอย่างระมัดระวัง จะสามารถพัฒนาทักษะการตัดสินใจได้

ฮานา อายูบ (Hana Ayoub) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาตนเอง ให้ความสำคัญกับการให้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อไตร่ตรองในเรื่องที่ต้องตัดสินใจ

“ให้เริ่มบอกคนอื่นว่า ‘ฉันขอเวลาตัดสินใจหน่อย แล้วจะบอกคำตอบพรุ่งนี้’ โดยเฉพาะกับคนที่คุณทำงานด้วยมากที่สุด”

อายูบแนะนำว่า คนที่ได้ยินมักจะเคารพการตัดสินใจนั้น เพราะมันเป็นการบอกคนอื่นว่า คุณมีวิธีการทำงานอย่างไร

4. เลิกทำงานแบบ multitasking สมาธิจะดีขึ้น

ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าการเรียนรู้และจดจำต้องอาศัยสมาธิ แต่ปัญหาอยู่ที่สมองของคุณนั้นชอบที่จะเตร็ดเตร่ไปมา กุญแจสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้คุณจดจ่อกับบางสิ่งได้ดีขึ้นคือ เลิกทำงานแบบ multitasking ซะ

และในขณะที่คุณกำลังจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ให้เอาข้อมูลที่ได้รับมากลั่นกรองและสรุปใจความดู จงอย่าปฏิเสธการทำงานแบบ ‘monotasking’ และควรรักษาพลังงานทางจิตใจ หรือ mental energy ไว้ให้ดี เพื่อพัฒนาทักษะในเชิงวิเคราะห์กระบวนการทำงาน

การค้นพบความคิดสร้างสรรค์สามารถเกิดขึ้นได้โดยการฝันกลางวัน หรือใช้เวลาอยู่คนเดียว

5. ประเมินตัวเองทุกวัน ช่วยให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จ

ปฏิทินปีใหม่มาพร้อมกับคำสัญญาใหม่ๆ ในการก้าวข้ามหลุมพรางของความล้มเหลว และเพื่อทำสิ่งที่ตั้งใจให้เป็นจริง ไม่ว่าการ ‘เลิกบุหรี่’ หรือ ‘ลดน้ำหนัก’ ซึ่งเป็นคำที่ได้รับการค้นหาใน Google เยอะมากในวันขึ้นปีใหม่

เพื่อจะรักษาความตั้งใจและการลงมือทำให้เกิดขึ้นในทุกๆ วัน บ็อบ นีส (Bob Nease) อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ Express Scripts แนะนำว่า แทนที่จะทำงานแบบวันต่อวันไปเรื่อยๆ เราควรทำเครื่องหมายจุดที่ดีสุดและแย่ที่สุดของสิ่งที่เราทำ เพื่อเป็นการประเมินผล และตอกย้ำให้รู้ว่าเราสามารถทำได้

6. ให้เวลากับตัวเอง จะเกิดไอเดียดีๆ

คุณคงไม่สงสัยหรอกว่า ช่วงที่เกิดไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ หรือ ‘Eureka Moment’ มักจะเกิดขึ้นเวลาที่เรากำลังอาบน้ำและเนื้อตัวเต็มไปด้วยฟองสบู่ เพราะมีคนถึง 72% บอกว่าไอเดียดีๆ มักเกิดขึ้นในเวลานั้น

อย่างไรก็ตามวิทยาศาสตร์บอกว่า การค้นพบความคิดสร้างสรรค์สามารถเกิดขึ้นได้โดยการฝันกลางวัน หรือใช้เวลาอยู่คนเดียว ดังนั้นการอยู่คนเดียวไม่ได้ทำให้ ‘หว่อง’ เพียงอย่างเดียว

แต่บางครั้งคุณอาจเกิดไอเดียดีๆ หรือพลิกโลกในช่วงเวลานั้นได้

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

Tags: ,