มิติ เรืองกฤตยา คือช่างภาพและศิลปินไทยร่วมสมัยที่น่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่ง ผลงานของเขามักจะเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวในสังคมไทย และเลือกถ่ายทอดเฉพาะบางแง่มุมที่ต่างจากศิลปินอื่น เช่น Imagining Flood (2555) และ Thai Politics (2549-2557)

ปีนี้ The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับเขาเกี่ยวกับนิทรรศการใหม่ DREAM PROPERTY ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี ย่านสาทรในวันที่ท้องฟ้าหม่นลงกว่าที่เคย

 มองเมืองมุมใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

“จริงๆ แล้วงานของเราเป็นการทำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาตลอด เราอยู่เมืองนอกมาตั้งแต่เด็ก ถ้าเทียบรูปยุค 60s กับปัจจุบัน จะเห็นว่าตึกและภูมิทัศน์ของเมืองในยุโรปโดยรวมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเยอะมาก อาจเป็นเพราะบ้านเมืองเขาพัฒนามานานแล้ว พอกลับมาเมืองไทย เรารู้สึกได้ว่าเมืองมันโตเร็วและเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก”

มิติเล่าถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากจบการศึกษาและกลับมาอยู่เมืองไทย ซึ่งทำให้เขาตั้งคำถามและเริ่มบันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2557 ก่อนจะนำมาพัฒนาเป็นงานนิทรรศการในวันนี้

ในทรรศนะของเรา DREAM PROPERTY สะท้อนถึง ‘ภาวะกึ่งจริงกึ่งฝัน’ ของกรุงเทพฯ อันประกอบสร้างขึ้นจากความฝันของคนเมืองยุคใหม่ที่ถวิลหา ‘บ้านในฝัน’ ราคาแพงมาประดับฐานะและตัวตน

ขณะเดียวกัน ก็เปรียบเสมือนบทบันทึกถึงการขยายตัวของเมืองและความสัมพันธ์ของคนกับเมือง ผ่าน ‘มิติ’ ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตแบบพุ่งทะยานในกรุงเทพฯ แม้ว่าความเจริญเหล่านี้ดูจะสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจถดถอยและความขัดแย้งทางการเมืองที่สั่งสมบ่มเพาะมานานก็ตาม

“เราอยากเล่นกับพื้นที่ และรู้สึกว่างานชิ้นนี้เหมาะกับแกลเลอรีนี้มาก เพราะถ้ามองในมุมของนักธุรกิจ นักลงทุน มันควรจะเป็นคอนโด ใครจะบ้าทำแกลเลอรี เพราะฉะนั้นมันมีความน่าสนใจมาก มันคงมีโอกาสไม่กี่ครั้งที่งานจะได้เชื่อมโยงกับพื้นที่จัดแสดงโดยตรง แค่เรามองออกไปก็จะเห็นวิวของคอนโดสุโขทัย (The Sukhothai Residences) แล้ว ซึ่งเป็นคอนโดที่สูงสุดในกรุงเทพฯ ก่อนจะมีมหานคร (MahaNakhon) เราเลยรู้สึกว่ามันต้องทำที่นี่”

Photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY

ถอดรื้อความฝันของสังคมทุนนิยม

แม้ว่านิทรรศการนี้จะบอกเล่าถึงอสังหาริมทรัพย์ในฝันของคนกรุง แต่มิติกลับเลือกหยิบเฉพาะ ‘องค์ประกอบบางส่วน’ มานำเสนออย่างเรียบง่าย เน้นเฉพาะคอนโดมิเนียมที่เพิ่งสร้างใหม่ภายใน 4-5 ปี เท่านั้น เพื่อถ่ายทอดทั้งด้านที่เป็นผลกระทบและด้านผลลัพธ์จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง และเว้นที่ว่างให้ผู้ชมตีความเอง

“งานของเราจะมีระยะห่างตลอด เราไม่รู้สึกว่าจะต้องพยายามทำให้คนดูพอใจ หรือบอกว่าคุณต้องคิดแบบนี้นะ เราชอบงานที่มีพื้นที่ให้คนหายใจ ดูแล้วกลับไปคิดเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปบังคับหรือชี้นำคนดูมากเกินไป ซึ่งข้อดีของภาพถ่ายคือ มันมีความยืดหยุ่นพอสมควรสำหรับการแปลหรือตีความ บางทีคนดูอาจจะบอกอะไรที่เรานึกไม่ถึงด้วยซ้ำ เราก็เรียนรู้จากคนที่มาดูงานได้”

นิทรรศการนี้ประกอบด้วยจุดโฟกัสสำคัญ 3 ส่วน คือ

EMPTY LOT ภาพของพื้นที่สีเขียวรกร้างก่อนการก่อสร้าง พิมพ์บนกระดาษเยื่อไม้ไผ่ สะท้อนถึงความไม่จีรังของธรรมชาติในบริบทภูมิทัศน์กรุงเทพฯ ในเมือง

EXCERPTS TAKEN FROM BANGKOK REAL ESTATE ADVERTISING ฉายภาพความหวังของชาวกรุงที่มองหา ‘บ้านในฝัน’ ผ่านคำโฆษณาภาษาอังกฤษ ซึ่งเสียดสีค่านิยมของคนกรุงและวงการโฆษณาได้อย่างแสบสันต์ และแฝงด้วยอารมณ์ขันของศิลปิน เช่น “Jump to high-end happiness. Ultimate happiness is waiting for you”

ROOM ห้องสำเร็จของคอนโดใหม่ใจกลางเมืองที่เตรียมออกสู่ตลาด หรือรอการย้ายเข้า ความฝันบรรจุในห้องสี่เหลี่ยมเหล่านี้สนนราคาล้านต้นๆ ถึง 80 ล้านบาท แต่ละห้องปรากฏทัศนียภาพของกรุงเทพฯ ที่สะท้อนถึงการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

“คนทำงานด้านนี้จะถ่ายเก็บตึกจากข้างนอกเข้ามาข้างใน แต่เราอยากจะถ่ายจากข้างในห้องที่กำลังเข้าไปสู่ตลาดในแง่ของการเช่าหรือซื้อ สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเมือง เราไม่ได้จัดไฟหรือว่าใช้เลนส์มุมกว้าง เพราะไม่ได้พยายามจะขายห้อง แต่เป็นการบันทึกภาพในระยะสายตาที่เรามองเห็นห้องทั่วไป”

Photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY

บันทึกความเรืองรองที่รอวันล่มสลาย

แม้จะนำเสนอประเด็นเชิงเศรษฐกิจและสังคมมาโดยตลอด มิติกลับเลือกที่จะบันทึกเสี้ยวส่วนของภาวการณ์ผ่านสายตาของ ‘คนนอก’ ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาตีความและรังสรรค์ผลงานทุกชิ้นได้อย่างมีอิสระ โดยปราศจากอคติหรือการโน้มนำความคิดแบบสุดขั้ว

“เราไม่อยากให้คนมองว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นการแอนตี้ เพราะเราก็โตมากับสิ่งเหล่านี้ เราอยู่คอนโดตั้งแต่เด็ก เป็นคอนโดริมแม่น้ำยุคแรกๆ การมีตึกใหม่เกิดขึ้นก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่อาจเป็นเพราะเรามาจากข้างนอก แล้วรู้สึกว่าอยู่ดีๆ เมืองมันโตเร็วปุบปับมาก มันสะท้อนความฝันของคนเมืองยุคนี้ที่อยากมีคอนโด อยากลงทุน อยากซื้ออยู่เอง ด้วยเศรษฐกิจที่โตจากรถไฟฟ้า เราว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

“หลังจากงานเริ่มแล้ว เราชวนนักวิชาการหรือนักเขียนที่สนใจอย่าง อาจารย์ยรรยง บุญหลง ซึ่งทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับการเชื่อมต่อพวกคลองกับรถไฟฟ้า มาร่วมทำหนังสือของนิทรรศการนี้ด้วย เป็นหนังสือประกอบนิทรรศการหรือแคตตาล็อกที่คนอื่นเอาไปต่อยอดไอเดียได้ ไม่ใช่แค่ straight copy

“ตอนแรกที่หานักเขียน เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีนักเขียนรุ่นใหม่ที่ทำเรื่องพวกนี้เลย หรือว่าคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ อาจจะเห็นเป็นประจำจนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ชินชาไปแล้ว หรือว่ามีแต่เราไม่รู้จัก มันก็น่าสนใจว่าทำไมมันไม่มีใครทำเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้” มิติกล่าวทิ้งท้าย

หลังเดินชมนิทรรศการเสร็จ เราเดินออกจากแกลเลอรีสีขาว มองปลายยอดของตึกระฟ้าที่พยายามแข่งเอื้อมคว้าก้อนเมฆ แล้วอดสงสัยไม่ได้ว่าสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่อนาคตอันเรืองรอง หรือติดหล่มความฝันที่แสนจะเบาหวิวและพร้อมจะปลิดปลิวไปทุกเมื่อกันแน่

นิทรรศการแสดงเดี่ยว DREAM PROPERTY โดย มิติ เรืองกฤตยา จะจัดแสดงที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม – วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2559

DON’T MISS: เราจะได้เห็นผลงานอีก 3 ชิ้นใน Small Gallery ซึ่งจะช่วยให้ผู้ชมเข้าใจไทม์ไลน์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ที่กล่าวถึงนิทรรศการนี้มากขึ้น อาทิ ภาพขยายจากสเกตช์จริงของเดอะ สาทร ยูนีค ทาวเวอร์ หรือ ‘ตึกร้าง’ แห่งย่านสาทร โดยรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘คลื่นลูกแรก’ ของความเรืองรองถึงขีดสุดของอสังหาริมทรัพย์ไทย ก่อนจะหยุดชะงักลงจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และกลายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่แน่นอนทั้งระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างสังคม

GALLERY OWNERS SAY:
อ็อป-อรรคพล สุทัศน์ ณ อยุธยา: “โดยพื้นฐานแล้ว มิติเป็นคนที่มีคาแรกเตอร์ของศิลปินที่เราอยากชวนมาทำงานด้วยกันอยู่แล้ว และที่นี่ก็เป็นแพลตฟอร์มที่แนะนำให้คนได้รู้จักศิลปินสำคัญ”
ลูกตาล-ศุภมาศ พะหุโล: “ส่วนใหญ่ศิลปินที่เราเลือกมาทำงานด้วยคือเราเห็นงานเขาแล้วชอบเลย โดยที่เราอาจจะยังไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำ ซึ่งเราพบว่ามิติทำงานและอธิบายงานของตัวเองได้ดี แล้วแสดงออกมาให้เห็นได้ชัดเจน ไม่ต้องพูดอะไรซับซ้อน เพราะงานศิลปะก็เป็นการตีความหรือตั้งคำถามแบบหนึ่งอยู่แล้ว”

HOW TO VISIT:
BANGKOK CITY CITY GALLERY
Open: Wed-Sun 14:00-20:00 น.
Place: ซอยสาทร 1 – ใกล้รถไฟใต้ดิน สถานีลุมพินี – จอดรถที่ 123 Parking
www.facebook.com/bangkokcitycity

อ้างอิง: ข้อมูลจากนิทรรศการ DREAM PROPERTY

FACT BOX:

แม้ว่ากรุงเทพฯ จะเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การทำรัฐประหารในปี 2557 แต่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ เติบโตแบบพุ่งทะยาน โดยในปี 2557 มีคอนโดมิเนียมเปิดตัวหลายแห่งถึง 50,100 ยูนิต ขณะที่ยอดเปิดตัวในปี 2558 และ 2559 อยู่ที่ 35,000 ยูนิต (ข้อมูลจาก Colliers Forecast 2014-16)