“เวลามีคนมาถามผมว่าเมื่อคราฟต์เบียร์เยอะมากควรเลือกอย่างไร อย่างแรกทำไมต้องคราฟต์ อยากกินเพราะชอบเบียร์จริงๆ หรืออยากกินเพราะมันดูเท่ ถ้าอยากกินเพราะมันเท่ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผมละ”

ก่อนจะเปิดขวด ‘คราฟต์เบียร์’ เครื่องดื่มสุดฮิตประจำปีขึ้นดื่ม ตอบตัวเองได้หรือยังว่าทำไมต้องคราฟต์เบียร์ ถ้ายังไม่แน่ใจ นี่คือ 5 สิ่งที่ควรรู้และเทคนิคการเลือกเบียร์จาก คิว-ณัทธร วงศ์ภูมิ เจ้าของเพจ Beercyclopedia ที่จะทำให้การจิบคราฟต์เบียร์ของคุณนุ่มลึกกว่าที่เคย

1. หาเบียร์ที่ชอบให้เจอ

ลืมคำว่า ‘คราฟต์’ ไปสักครู่ ว่ากันที่เบียร์กว้างๆ ก่อน ลองหารสชาติที่ตัวเองชอบ อาจเริ่มจากเบียร์ที่เคยดื่ม (เช่น เบียร์โลคัลอย่าง สิงห์, ลีโอ, ช้าง, Heineken หรือเบียร์มหาชนอย่าง Hoegaarden, Stella Artois และ Leffe) แล้วดูว่าชอบแบบไหน เพราะทุกยี่ห้อที่ว่ามาเป็นเบียร์คนละสไตล์แทบทั้งหมด มีรสชาติแตกต่างกัน หรือถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน แนะนำให้ลองเบียร์สาย traditional อย่าง German Weizen (เยอรมัน ไวเซ่น) เช่น Paulaner หรือ Belgian Witbier (เบลเยียน วิตเบียร์) เช่น Hoegaarden และ Lager (ลาเกอร์) เช่น Stella Artois, Budweiser และอื่นๆ ที่เราหาได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วหาความชอบของตัวเองให้เจอ

“วิธีที่ง่ายที่สุดคือไปกินกับเพื่อนที่พอจะมีความรู้เรื่องเบียร์ แล้วก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อันนี้ Stout อันนี้ IPA อันนี้ Fruit Beer มันจะเกิดการทดลอง ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนที่จะรักกินเบียร์จริงๆ มันกินอะไรก็ได้ อร่อยไม่อร่อยอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันจะไม่ผิดหวังที่ได้กิน”

2. เข้าใจคำว่า ‘คราฟต์เบียร์’

คราฟต์เบียร์’ ที่เราพูดถึงและกำลังเป็นเทรนวันนี้ หมายถึงการทำเบียร์สไตล์อเมริกัน โดยผู้ผลิตเบียร์ต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่าง (กำหนดโดย Brewers Association) คือเป็นโรงเบียร์ขนาดเล็ก เจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นมากกว่า 75% (Independent) และใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด ห้ามใส่วัตถุดิบสังเคราะห์กลิ่นหรือรสเพื่อลดต้นทุน ถ้าจะใส่ต้องใส่เพื่อให้มีกลิ่นและรสชาติดีขึ้นเท่านั้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคราฟต์เบียร์ถึงรสชาติ ‘เรียล’ กว่า Commercial Beer

“คำว่า ‘คราฟต์เบียร์’ ที่พูดกัน หมายถึงการทำเบียร์สไตล์อเมริกัน แต่ความคราฟต์ในความหมายว่าพิถีพิถัน ที่อื่นก็มีหมดนะ อย่างในเบลเยียมน่าจะมีโรงเบียร์สัก 2,000-3,000 โรง และเบียร์ก็ดีหมด แต่ไม่ได้เรียกตัวเองว่าคราฟต์ เพราะเขาคราฟต์กันมา 500 ปีแล้ว”

3. คราฟต์เบียร์สไตล์อเมริกันที่นิยมทำกันมากจะ ‘ขม’ เพราะเน้นการใช้ฮอปส์

เมื่อรู้จักว่าคราฟต์เบียร์คืออะไรแล้ว ต้องบอกก่อนว่าดื่มเข้าไปแล้วจะเจอรสชาติประมาณไหน 70-80% ของคราฟต์เบียร์ทุกวันนี้มาจากฝั่งอเมริกา ต่อให้คราฟต์เบียร์ยี่ห้อนั้นจะผลิตในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ก็เป็น ‘อเมริกันสไตล์’ คือเน้นการใช้ฮอปส์ (hops) เป็นพระเอก เช่น คราฟต์เบียร์ประเภท IPA (India Pale Ale) ที่มีรสชาติขมเป็นเอกลักษณ์และหอมดอกฮอปส์ชัดเจน แตกต่างจากเบียร์โลกเก่าของเยอรมนีหรือเบลเยียมที่เน้นรสชาติ ความหอมจากมอลต์ แหล่งน้ำ และฮอปส์ แต่กลิ่นและรสชาติของฮอปส์จะไม่ได้โดดเด่นเท่าเบียร์ IPA

“ถ้ามีคนบอกว่าอยากกินคราฟต์เบียร์ แล้วอยากกิน IPA หรือ Pale Ale ก็เรื่องหนึ่ง แต่ตัวเองชอบสไตล์ Weizen ก็ควรจะเลือกที่ดีที่สุด คือไปทางเบียร์เยอรมัน ไม่ต้องจำกัดว่าต้องเป็นคราฟต์ก็ได้ เพราะคราฟต์เบียร์แบบอเมริกันเน้นการใช้ฮอปส์ รสชาติจะขมกว่า ถ้าคุณไม่ได้ชอบทางนี้จะมาฝืนกินทำไม”

4. คราฟต์เบียร์ไม่ได้ดีกว่าเบียร์ทั่วไป

แม้คราฟต์จะมีความโฮมเมดและรสชาติเรียลกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะอร่อยกว่าเบียร์ทั่วไป เพราะสุดท้ายความอร่อยหรือไม่อร่อยขึ้นอยู่กับความชอบและ ‘ลิ้น’ ของแต่ละคน เช่น ถ้าคุณชอบสไตล์ Weizen Beer เช่น Paulaner ซึ่งเป็นเบียร์รสชาติดั้งเดิมสไตล์เยอรมัน ก็ไม่จำเป็นต้องดื่มคราฟต์เบียร์ แต่ถ้าชอบรสชาติขมที่มาจากฮอปส์ของเบียร์ประเภท IPA (คราฟต์เบียร์สไตล์อเมริกัน) แน่นอนคุณอาจจะชอบคราฟต์เบียร์

“คนส่วนใหญ่มองว่าสมัยนี้ต้องกินคราฟต์เบียร์อย่าง BrewDog, Evil Twin, Rogue หรือ Stone ตั้งไว้แล้วมันเท่ ถ้าพูดแบบนี้แปลว่ากินไว้ถ่ายรูปละ ผมว่าคนที่ชอบกินเบียร์จะสนใจสิ่งที่กำลังจะกินเข้าไปมากกว่าขวด สิ่งที่แบรนด์พวกนี้มีคือคอนเซปต์ในการผลิตที่ชัดเจน ซึ่งเป็นตัวแทนแนวคิดของความเป็นขบถ ไม่อยากอยู่กับอะไรเดิมๆ แต่อย่าไปมองว่าคราฟต์เบียร์ดีกว่า อร่อยกว่า เท่กว่า ซึ่งไม่จริง เพราะมันไม่ได้ดีกว่าหรืออร่อยกว่าเสมอไป”

5. มีคราฟต์เบียร์ไทยแล้วนะ

วันนี้คราฟต์เบียร์จากญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ มีชื่อเสียงพอๆ กับอเมริกา ส่วนกิจกรรมการต้มเบียร์ในประเทศไทย แม้จะเพิ่งเริ่มต้นช่วงปลายปี 2011 แต่มีคนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจและทำคราฟต์เบียร์ของตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะแค่ Chit Beer แต่ยังมียี่ห้อต่างๆ เพิ่มขึ้นมาให้เห็นเรื่อยๆ อย่าง Devanom, Golden Coins และ Triple Pearl และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่สังเกตพบว่า คราฟต์เบียร์ไทยส่วนใหญ่จะเป็นสไตล์อเมริกัน แต่ก็มีบางเจ้าที่ใช้สูตร German Beer Purity Law ของเยอรมัน เพราะฉะนั้นจะดื่มคราฟต์เบียร์ยี่ห้อไหน จะไทยหรือเทศ หรือจะเลือกดื่มเบียร์ทั่วไป ก่อนจะตอบคำถามนี้ อาจเริ่มจากหาความชอบของตัวเองให้เจอก่อน ด้วยการย้อนกลับไปอ่านข้อที่ 1.

“แรกๆ ที่เราเริ่มกินเบียร์ อาจจะยังหารสที่ชอบไม่เจอ เพราะว่าไม่กล้าลอง แต่วันหนึ่งถ้าเปิดใจลองไปเรื่อยๆ เราอาจจะตอบตัวเองได้ว่าเราชอบอะไร เปิดใจครับ ผมว่าเบียร์เป็นเรื่องสนุก”

 

FACT BOX:

  • Beercyclopedia: เพจให้ความรู้เรื่องเบียร์ รีวิวเบียร์ยี่ห้อต่างๆ และเป็นคอมมูนิตี้ของคนรักเบียร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2011 โดย คิว-ณัทธร วงศ์ภูมิ
  • German Beer Purity Law 1516: กฎควบคุมการผลิตเบียร์ของเยอรมนี (หรือ Reinheitsgebot 1516 ในภาษาเยอรมัน) เริ่มใช้เมื่อปี 1516 กำหนดให้การทำเบียร์ใช้ส่วนผสมแค่ 3 ชนิด ได้แก่ น้ำ มอลต์ และฮอปส์ แต่หลังจากโลกรู้จักยีสต์ (ค.ศ.1857) เมื่อพูดถึงกฎดังกล่าว คนก็มักจะรวมยีสต์เข้าไปเป็นส่วนผสมตัวที่สี่ ถึงแม้ตัวบทจะไม่ได้ระบุไว้ก็ตาม สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Reinheitsgebot 1516: ว่ากันเรื่องของความ ‘บริสุทธิ์’ ในเว็บไซต์ Beercyclopedia
  • Ale vs Lager: สไตล์ของเบียร์ที่แบ่งอย่างกว้างๆ ตามชนิดของยีสต์ที่ใช้ในการหมัก โดยคาแรกเตอร์หลักๆ ของ Ale จะมีความฟรุตตี้ มิติของรสชาติมีความหลากหลายและซับซ้อน ขณะที่รสชาติ Lager จะเข้าถึงได้ง่าย คม และชัดกว่า
  • Pale Ale: เบียร์ในตระกูล Ale มักมีสีค่อนไปทางเหลืองทอง ให้รสชาติระหว่างมอลต์ที่หอมหวานและความขมของฮอปส์ได้อย่างสมดุล และยังมีการแบ่งคาแรกเตอร์ตามวัตถุดิบที่ใช้และสไตล์การปรุง อาทิ English style, American style หรือ Belgian style
  • Indian Pale Ale: เรียกย่อๆ ว่า IPA เป็นขั้นกว่าของ Pale Ale มีคาแรกเตอร์ของฮอปส์ที่ขมขึ้น เป็นสไตล์ยอดฮิตเมื่อพูดถึง ‘อเมริกันคราฟต์เบียร์’
  • Stout: รู้จักกันในนาม ‘เบียร์ดำ’ ต่างจาก Dark Beer ตรงที่ Stout เป็นสไตล์ย่อยของ Ale สีดำของเบียร์มาจากการคั่วมอลต์จนเข้ม เนื้อนุ่ม รสชาติมัน ฟองเนียน ขณะที่ Dark Beer เป็นสไตล์ของ Lager ที่ได้สีดำมาจากการคั่วมอลต์เช่นเดียวกัน แต่ฟองจะซ่ากว่า รสชาตินุ่มและมันน้อยกว่า และไม่เข้มเท่า Stout
  • German Weizen vs Belgian Witbier: เบียร์ที่มีการหมักด้วยยีสต์ประเภท Ale แต่ใช้มอลต์ที่ได้จากข้าวสาลี (wheat) ในปริมาณที่มากกว่ามอลต์จากข้าวบาร์เลย์ ด้วยสไตล์การปรุงเบียร์ของเยอรมันและเบลเยียม ทำให้เบียร์สองชนิดนี้มีรสชาติต่างกัน เบียร์ German Weizen ที่ขึ้นชื่อคือ Paulaner ส่วน Belgian Witbier ที่โด่งดังที่คนไทยรู้จักกันดี ได้แก่ Hoegaarden เป็นต้น

DID YOU KNOW?

5 คราฟต์เบียร์ไทยที่คุณควรรู้จัก
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มดื่มคราฟต์เบียร์ยี่ห้อใด ขอบอกว่า นี่คือ 5 คราฟต์เบียร์ไทยที่คุณควรลอง

Udomsuk อุดมสุขเบียร์คือคราฟต์ไทยเบอร์แรกๆ ที่บุกเบิกวงการคราฟต์เบียร์ในบ้านเรา อุดมสุขมักจะทำเบียร์สไตล์ใหม่ๆ หมุนเวียนอยู่ตลอด แนะนำว่าอย่ายึดติดและลองสไตล์ที่ใกล้เคียงความชอบ ไม่ผิดหวังแน่นอน
พิกัด: ร้าน Mad Moa และ Seven

Spoons Golden Coins อีกหนึ่งตัวท็อปของวงการ ทำเบียร์สไตล์มาตรฐานออกมาหลายตัวและคนชอบกันเยอะ ที่พลาดไม่ได้คือ IPA ดื่มง่ายแต่ขมลึก และ Stout รสชาตินุ่ม มัน หวาน หอมมาก จนคนที่ไม่ชอบดื่ม Stout ก็อาจเปลี่ยนใจได้ง่ายๆ แต่หากไม่ถนัดหวานอาจจะยากสักหน่อย
พิกัด: ร้าน Let the Boy Die

Triple Pearl หนึ่งในนักเรียนรุ่นแรกของ Chit Beer เกาะเกร็ด ถนัดเบียร์สไตล์ Wheat Beer มากเป็นพิเศษ การันตีด้วยรางวัล Best Wheat Beer จากเวที Beer Camp: Fight Club เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2016
พิกัด: Craft ’N Roll และ Where Do WE Go

Sandport อีกหนึ่งเบียร์หาดื่มยาก แต่ชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องรสชาติมาก โดยเฉพาะ Too Much Coffee Porter เบียร์เข้มหอมกลิ่นกาแฟ ที่ไม่ต้องเป็นคอกาแฟหรือชอบเบียร์ดำก็หลงรสได้ง่ายๆ
พิกัด: Craft ’N Roll และ Where Do WE Go

Devanom เบียร์หน้าใหม่ที่การันตีด้วยรางวัล Best IPA เวที Beer Camp: Flight Club ร่วมกับ Wheat ของ Triple Pearl เป็นอีกหนึ่ง IPA ที่ต้องหามาชิมให้ได้
พิกัด: Changwon Express

ถ้าอ่านยังไม่จุใจ The Momentum ขอชวนคอเบียร์ไปต่อกันที่ รวบรวม Top 10 Thai Craft Beer 10 คราฟต์เบียร์ไทยที่ใครๆ ก็ไม่ควรพลาด!